ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

5 ขั้นตอน รับมือกับเพื่อนร่วมงานแสนขี้เกียจ

5 ขั้นตอน รับมือกับเพื่อนร่วมงานแสนขี้เกียจ

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 10,662
เขียนโดย :
0 5+%E0%B8%82%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%99+%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%82%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%88
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

5 ขั้นตอน ในการรับมือเพื่อนร่วมงานแสนขี้เกียจ

ลองคิดย้อนไปในสมัยที่เรายังเรียนหนังสือกันอยู่ เมื่ออาจารย์ได้สั่งทำงานกลุ่มที่เราจะต้องทำให้เสร็จภายใน 1 เดือน เรื่องนี้คงไม่มีปัญหาอะไร หากว่าเราได้อยู่ในกลุ่มที่ทุกคนช่วยกันทำงานอย่างขยันขันแข็ง แต่หากเราต้องจับคู่ทำงานกับเพื่อนที่เรารู้ดีว่าขี้เกียจมาก และไม่ค่อยช่วยเหลืออะไร เราก็คงจะเซ็งอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

ซึ่งบางครั้ง ชีวิตการทำงานของเราก็ไม่ต่างจากสมัยเรียนสักเท่าไหร่ เป็นเรื่องธรรมดาที่มักจะมีเพื่อนร่วมงาน (อย่างน้อย) สักหนึ่งคนในแผนกเดียวกันที่พยายามทำตัวเหมือนทำงาน แต่ที่จริงแล้วแทบไม่ได้ทำอะไร แถมยังทำได้เนียนราวกับเรียนการแสดงชั้นสูงมาเสียด้วยสิ

คุณคงเกือบจะประทับใจในฝีมือการแสดงของเขา หากว่าเราไม่จำเป็นต้องพยายามทำงานเพิ่มเพื่อชดเชยในส่วนที่เพื่อนร่วมงาน "ทำขาด" ไป แล้วเราควรทำตัวอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ นั่นเป็นสิ่งที่เราจะมีวิเคราะห์กันในบทความนี้

เราได้สรุปแผนการแก้ปัญหาออกมาเป็น 5 ขั้นตอน และคำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าจะช่วยให้เราคุณผ่านสถานการณ์นี้ไปได้ด้วยดีอย่างมืออาชีพ ควรทำอย่างไรมาดูกัน


1. เข้าหาพวกเขาแบบมืออาชีพ

อย่าเพิ่งชงเรื่องไปยังฝ่ายจัดการทรัพยากรมนุษย์โดยตรง แต่ควรเริ่มจากการพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานที่มีปัญหาโดยตรงก่อน อธิบายให้เขาเข้าใจว่านิสัยการทำงานของเขาส่งผลกระทบต่อตัวคุณ และทำให้คุณไม่สามารถทำงานได้ราบรื่นอย่างไรบ้าง

สิ่งสำคัญ คือ อย่าเข้าหาพวกเขาด้วยอารมณ์รุนแรง เราควรจะพูดตรงๆ ว่าปัญหาคืออะไร และพยายามควบคุมอารมณ์ให้ดี อย่าให้ความโกรธเกิดขึ้นในระหว่างสนทนา เพราะนั่นจะทำให้แย่ขึ้นกว่าเดิม

เราขอแนะนำให้คุณใช้ไหวพริบในการบอกปัญหาโดยไม่พูดในเชิงที่ตัดสินพฤติกรรมของเขา เพราะมันจะทำให้ผู้ฟังเกิดอารมณ์ต่อต้านคุณได้ง่ายๆ หากว่าเขายังไม่เข้าใจ อย่างแย่ที่สุด คือ บอกไปเลยว่าการที่เขาทำงานไม่เสร็จส่งผลกระทบต่องานของคุณด้วยโดยตรง

บางครั้ง หากคุณโชคดีพอ แค่การแสดงออกให้เขารู้ว่าคุณมีความคับข้องใจจากความขี้เกียจของเขา ก็อาจจะมากพอให้เขารู้สึกตัว แล้วพยายามปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นได้

5 ขั้นตอน รับมือกับเพื่อนร่วมงานแสนขี้เกียจ
ภาพโดย Daria Shevtsova จาก https://www.pexels.com/photo/adult-black-and-white-dalmatian-licking-face-of-woman-1389994/

2. ลองจินตนาการว่าตัวเองอยู่ในฐานะเดียวกับพวกเขา

บางทีสิ่งที่เราเห็น หรือรู้สึกจากมุมมองของเราอาจจะเป็นสิ่งที่ผิดก็ได้ การลองคิดว่าตัวเองอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับเขา อาจจะทำให้เราเข้าใจได้ว่า ในหัวของพวกเขากำลังคิดอะไรอยู่ อะไรคือสิ่งที่ทำให้เขาเกิดความขี้เกียจ ความจริงเขาอาจจะไม่ได้ขี้เกียจก็ได้ แต่มีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นที่ทำให้งานของเขามีปัญหา

ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจจะมีปัญหาส่วนตัวอยู่ ซึ่งมันรุนแรงจนส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานของตัวเขา บางทีเขาอาจจะเพิ่งอกหักมา, เขาอาจจะเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เหนื่อยจากการจัดการทุกอย่างในบ้านเพียงลำพัง ทำให้เขาสะสมความเหนื่อยล้ามายังที่ทำงานด้วย

พวกเขาอาจจะไม่ได้พยายามหลีกเลี่ยงภาระในหน้าที่การงาน เพียงแต่ว่าเขาอ่อนล้าจากภาระทั้งหมดที่เขามีอยู่ ซึ่งเมื่อเรารู้เหตุผลของเขาแล้ว การหาทางออกให้เพื่อให้ทุกฝ่ายพึงพอใจย่อมมีความเป็นได้

5 ขั้นตอน รับมือกับเพื่อนร่วมงานแสนขี้เกียจ
ภาพโดย Pixabay จาก https://www.pexels.com/photo/adult-anger-art-black-background-356147/

3. ขอคำปรึกษาจากผู้อื่น

หลังจากที่ได้พูดคุยกับเพื่อนร่วมงานที่ขี้เกียจไปแล้ว ลองปรึกษากับเพื่อนร่วมงานคนอื่นดูว่าพวกเขารู้สึกแบบเดียวกันกับคุณบ้างหรือไม่ งานของพวกเขาได้รับผลกระทบบ้างหรือเปล่า?

ระวังอย่าให้การปรึกษาของคุณ กลายเป็นการติฉินนินทา เพราะเรื่องเหล่านี้มักจะเป็นความลับได้ไม่นาน ท้ายที่สุดผู้ถูกนินทาก็จะรู้ตัวว่าถูกนินทาอยู่ด้วยวิธีการใด วิธีการหนึ่ง ซึ่งนั่นจะทำให้ปัญหาเลวร้ายยิ่งกว่าเดิม ดังนั้นจงปรึกษาด้วยข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง โดยไม่แต่งสีตีไข่ เพื่อให้เราได้คำตอบที่ชัดเจนว่า มีคนรู้สึกเหมือนคุณด้วยหรือไม่

หากเป็นไปได้ ลองปรึกษาคนที่เคยเผชิญสถานการณ์เดียวกับคุณมาก่อน คำตอบจากผู้ที่มีประสบการณ์มาก่อน จะช่วยให้คุณรับมือกับปัญหาได้อย่างมืออาชีพ

คุณต้องตระหนักเอาไว้ในใจว่า หากคุณร้องเรียนไปยังบริษัทโดยตรง แม้ว่าคำร้องของคุณจะมีเหตุผล และเป็นเรื่องจริงก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวจะสร้างความรู้สึกด้านลบแก่เพื่อนร่วมงานของคุณอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ควรระมัดระวังให้ดีหากว่าคุณไม่อยากเจอปัญหา และมีความจำเป็นในการทำงานร่วมกันกับเพื่อนร่วมงานคนดังกล่าวอยู่

5 ขั้นตอน รับมือกับเพื่อนร่วมงานแสนขี้เกียจ
ภาพโดย Rawpixel.com จาก https://www.freepik.com/free-vector/group-people-holding-question-mark-icons_3530048.htm#page=1&query=advice&position=14

4. คุยกับหัวหน้าของคุณ

ขั้นตอนถัดไป หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น คือ การรายงานให้ผู้บังคับบัญชาของคุณทราบ แต่จงจำไว้เลยว่า ไม่มีหัวหน้าคนไหนอยากจะมาไล่แก้ปัญหาที่เกิดขึ้นระหว่างลูกน้องของเขาหรอก หากคุณไม่มีแผนการชี้แจงที่ดีพอ มันจะทำให้คุณดูเป็นคนงี่เง่าในทันที นั่นหมายถึงชื่อเสียงของคุณก็จะเสียหายตามไปด้วย แถมมีสิทธิที่หัวหน้าของคุณจะยิ่งรำคาญปัญหาของคุณอีกต่างหาก

ดังนั้น การพูดกับหัวหน้า เราจะต้องอธิบายให้เขาเข้าใจอย่างชัดเจนว่า คุณพยายามจัดการปัญหาด้วยตนเองก่อนแล้ว และอธิบายให้เขาเข้าใจว่าความเกียจคร้านของพนักงานจะส่งผลเสียต่อบริษัทได้อย่างไร โดยควรพูดในมุมมองขององค์กร อย่าพูดในแง่ของความรู้สึกส่วนตัวที่คุณต้องพบความลำบาก เพราะสุดท้ายแล้วฝ่ายบริหารของบริษัทจะต้องเป็นคนตัดสินประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานแต่ละคน ไม่ใช่อำนาจของคุณที่จะไปคิดแทนได้

5. บันทึกกระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้น

สุดท้ายแล้ว คุณควรจะบันทึกกระบวนการทั้งหมดของสิ่งที่เกิดขึ้นเอาไว้ด้วย คุณควรบันทึกข้อมูลเพื่อยืนยันสิ่งที่คุณพยายามแก้ไขปัญหากับเพื่อนร่วมงานเอาไว้เป็นหลักฐาน เพื่อเป็นสิ่งยืนยันสิ่งที่เกิดขึ้นว่ามันเป็นเรื่องจริง

คุณไม่ใช่นักสืบ หรือว่าเจมส์ บอนด์ ดังนั้นไม่จำเป็นต้องไปสืบละลาบละล้วงชีวิตส่วนตัวเขาจนลึกขนาดนั้น สิ่งที่จำเป็น คือ สถานการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อคุณว่ามันกระทบตัวคุณได้อย่างไร และจะส่งผลเสียต่อบริษัทอย่างไร

5 ขั้นตอน รับมือกับเพื่อนร่วมงานแสนขี้เกียจ
ภาพโดย Noelle Otto จาก https://www.pexels.com/photo/photography-of-person-peeking-906018/


คำแนะนำเพิ่มเติม

อย่าให้ตนเองได้รับอิทธิพลจากคนขี้เกียจ

มันอาจจะเป็นเรื่องยากเสียหน่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากว่าหัวหน้าของคุณไม่ได้สนใจกับสิ่งที่คุณพยายามชี้แจงมากนัก แต่ถึงกระนั้น อย่าให้ตัวคุณเองได้รับอิทธิพลจากคนขี้เกียจ แม้ว่าเขาจะทำตัวขี้เกียจได้ ไม่ได้หมายความว่าคุณควรจะทำตามเขาไปด้วย

แต่จงคิดว่าการทำงานแบบขี้เกียจจะส่งผลต่อชื่อเสียงของตัวคุณเองด้วย แถมยังสร้างนิสัยเสียให้เกิดขึ้น ซึ่งมันจะส่งผลกระทบทั้งชีวิตในที่ทำงาน และชีวิตส่วนตัวของคุณ ดังนั้นจงทำทุกอย่างให้เต็มที่ แล้วในอนาคตคุณจะได้สิ่งตอบแทนมาอย่างแน่นอน

5 ขั้นตอน รับมือกับเพื่อนร่วมงานแสนขี้เกียจ
ภาพโดย Pixabay จาก https://www.pexels.com/photo/white-and-tan-english-bulldog-lying-on-black-rug-164446/

อย่าเฉยเมยต่อความขี้เกียจ

บางคนอาจจะคิดว่าการเพิกเฉย หรือไม่สนใจนิสัยขี้เกียจของเพื่อนร่วมงานเป็นทางเลือกที่ดี และทำได้ง่าย แต่การที่เราพยายามทำงานแทน หรือโทษว่าเป็นความผิดของเพื่อนร่วมงานที่ทำให้งานไม่เสร็จ รังแต่จะทำให้คนเหล่านั้นขี้เกียจมากขึ้น

คุณควรจะจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าวให้เสร็จสิ้น มันไม่ได้ดีแค่ต่อตัวคุณ แต่ยังดีต่อบริษัทที่จ่ายเงินเดือนให้คุณอีกด้วย ประโยคง่ายๆ อย่างเช่น "ขอโทษนะ ฉันก็อยากจะช่วย แต่งานของฉันกำลังถึงเส้นตายแล้วเหมือนกัน" หรือ  "ฉันอยากช่วยเธอนะ แต่ตอนนี้งานฉันล้นมือแล้ว" เป็นคำพูดที่ไม่รุนแรง และไม่เปิดช่องให้เพื่อนร่วมงานที่แสนขี้เกียจของคุณ เอาเปรียบคุณได้

มันมีความแตกต่างบางๆ อยู่นะ ระหว่างการช่วยเหลือเพื่อนร่วมงาน กับการทำงานแทนคนขี้เกียจ เราสามารถช่วยเหลืองานของเพื่อนได้หากมันมีเหตุผลที่สมควร แต่อย่าช่วยเหลือพร่ำเพรื่อ เพราะมันจะทำให้เขาติดนิสัยขี้เกียจได้

รักษาทัศนคติด้านการทำงานให้ดีเข้าไว้

โอเค มันเป็นเรื่องชวนหงุดหงิดสุดๆ ในขณะที่คุณปั่นงานหัวหมุน แต่เพื่อนร่วมงานของคุณกลับเอาแต่นั่งชิวๆ และจะหงุดหงิดจนแทบบ้าเมื่อความเกียจคร้านของเขาทำให้คุณต้องตกอยู่ในที่นั่งลำบาก เช่น จำนวนงานของคุณถูกเพิ่มขึ้น หรืองานที่เขาส่งต่อให้คุณมีคุณภาพไม่ดีพอ

แต่ สิ่งสำคัญที่สุด คือ อย่าให้สุขภาพจิตของคุณสั่นคลอน อย่าให้ความขี้เกียจของพวกเขาทำให้คุณตกต่ำไปด้วย ทำงานอย่างมืออาชีพต่อไป และมองหาแต่ความสุขดีกว่า

จงระลึกเอาไว้ว่า แม้เพื่อนร่วมงานของคุณจะไม่ถูกฝ่ายบริหารจัดการ แต่สุดท้ายพวกเขาก็จะไม่ได้รับการประเมินที่ดีอยู่ดี ในขณะที่คุณตั้งใจทำงาน และได้รับการยอมรับ นั่นหมายถึงโอกาสทางการก้าวหน้าในสายงานของคุณ จงมองการมีเพื่อนร่วมงานขี้เกียจว่าเป็นแรงผลักดันให้คุณก้าวหน้าในอนาคตเถอะ

วางแผนกระตุ้นเพื่อนร่วมงานให้ตั้งใจมากขึ้น

บางทีหัวหน้าของคุณก็ยุ่งจนไม่มีเวลาที่จะมาจัดการกับปัญหาเพื่อนร่วมงานของคุณ หรือไม่ได้มองว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นปัญหาแต่อย่างใด การพยายามหาทางแก้ปัญหาด้วยตัวคุณเอง อาจจะเป็นสิ่งเดียวที่คุณสามารถทำได้

การเดินไปบอกพวกเขาว่า "เฮ้ ตั้งใจทำงานหน่อยสิ" ไม่น่าจะทำให้พวกเขาขยันขึ้นได้ สิ่งที่คุณต้องการคือแผนการ และเป็นแผนที่ดีพอที่จะสร้างความอยากทำงานให้เพื่อนร่วมงานของคุณได้ คำชม, การให้ผลตอบแทน, สนับสนุน, ให้โอกาส ฯลฯ สิ่งเหล่านี้สามารถช่วยให้เพื่อนร่วมงานของคุณที่คิดแต่จะทำงานให้หมดไปวันๆ เปลี่ยนแปลงได้ โดยเราต้องวางแผนให้เหมาะกับลักษณะนิสัยของเขาด้วย บางคนขี้เกียจเพราะรู้สึกว่าขยันไปแล้วไม่ได้อะไร, บางคนขี้เกียจเพราะรู้สึกว่างานที่กำลังทำอยู่มันไร้ประโยชน์, บางคนไม่ยอมทำงานหากไม่มีคนตาม หรือบางคนอยากทำงานที่ตนเองอยากทำ ไม่ใช่งานที่ถูกสั่งให้ทำ ซึ่งหากเราวางแผนดีๆ คนขี้เกียจเหล่านั้น อาจจะขยันกว่าที่เราคิดก็เป็นได้


สรุป

การรับมือกับเพื่อนร่วมงานที่แสนขี้เกียจไม่ใช่เรื่องสนุก แต่ก็เป็นเรื่องที่จำเป็น ลองทำตาม 5 ขั้นตอน ที่เราแนะนำดู และอย่าลืมสิ่งสำคัญ คือ ควรทำทุกขั้นตอนอย่างมืออาชีพ อย่าให้อารมณ์ และความรู้สึกส่วนตัวมาใช้ในระหว่างการแก้ปัญหา


ที่มา : blog.toggl.com


0 5+%E0%B8%82%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%99+%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%81%E0%B8%AA%E0%B8%99%E0%B8%82%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%88
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น