Marketing Strategy คืออะไร ? และแตกต่างจาก Marketing Plan อย่างไร ?

เมื่อ :
ผู้เข้าชม : 1,891
เขียนโดย :
Marketing Strategy คืออะไร ? และแตกต่างจาก Marketing Plan อย่างไร ?
Marketing Strategy คืออะไร ? และแตกต่างจาก Marketing Plan อย่างไร ?
เมื่อ :
ผู้เข้าชม : 1,891
เขียนโดย :

Marketing Strategy คืออะไร ? และแตกต่างจาก Marketing Plan อย่างไร ?

การวางกลยุทธ์การตลาด (Marketing Strategy) เป็นหัวใจสำคัญที่ช่วยให้การดูแลลูกค้าของคุณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ, เพิ่มผลกำไรของบริษัท และเพิ่มอัตราการคืนทุน (Return on Investment - ROI) ที่คุณทุ่มเทลงไปได้

กลยุทธ์การตลาดเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่คุณต้องการเพิ่ม ROI ให้สูงขึ้น ด้วยการอาศัยประโยชน์จากวิดีโอสั้น, อินฟูลเอนเซอร์ (Influencer) และโซเชียลมีเดียของแบรนด์ ซึ่งหากต้องการผลลัพธ์อย่างที่คาดหวังไว้ จำเป็นต้องนำแนวโน้มเทรนด์ และกลยุทธ์การตลาดมาใช่ร่วมในแผนการของคุณด้วย

บทความนี้ เรามาเจาะลึกองค์ประกอบสำคัญของการวางกลยุทธ์การตลาดให้ออกมาดี เผื่อจะเป็นแรงบันดาลใจที่ช่วยให้คุณคิดแผนการตลาดได้ง่ายขึ้น

เนื้อหาภายในบทความ

กลยุทธ์การตลาด คืออะไร ? (What is Marketing Strategy ?)

Marketing Strategy เป็นภาพรวมของแผนการประชาสัมพันธ์แบรนด์ไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยมีขั้นตอนที่เกี่ยวข้องตั้งแต่การวิจัย, เป้าหมายของแบรนด์,  ช่องทางในการทำตลาด, วิธีชี้วัดความสำเร็จ และกำหนดตำแหน่งของแบรนด์

โดยหน้าที่หลักของ Marketing Strategy จะประกอบไปด้วย

  • เชื่อมเป้าหมายของทีม ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัท
  • ช่วยปรับให้ความพยายามของคุณ เข้ากับวัตถุประสงค์ของธุรกิจ
  • ช่วยให้คุณสามารถระบุ และทดสอบได้ว่า อะไรที่ทำแล้วโดนใจกลุ่มลูกค้าที่คุณวางเป้าหมายเอาไว้
  • เพิ่มขีดความสามารถในการแสวงหาผลประโยชน์จากเทรนด์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น

หัวข้อสุดท้ายมีความสำคัญมาก เพราะการตามเทรนด์ให้ทันมีความสำคัญมากต่อการวางกลยุทธ์การตลาดในปัจจุบันนี้ จากการสำรวจพบว่า นักการตลาดกว่า 80% กล่าวว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในช่วงเวลา 3 ปีล่าสุด มันมากกว่าที่เคยเกิดขึ้นตลอด 50 ปีที่ผ่านมาเสียอีก ซึ่งอาจเพราะผลกระทบจากอินเทอร์เน็ต และโซเชียลเน็ตเวิร์ก ที่ทำให้โลกการตลาดหมุนเร็วขึ้นกว่าในอดีตมาก

กลยุทธ์การตลาด แตกต่างจาก แผนการตลาด อย่างไร ? (What is the difference between Marketing Strategy and Marketing Plan ?)

อย่าสับสนระหว่าง Marketing Strategy กับ Marketing Plan เพราะมันมีความแตกต่างกัน

Marketing Strategy

Marketing Plan

แผนระยะยาว

แผนระยะสั้น

เป็นภารกิจที่บริษัทต้องการทำให้สำเร็จ

เป็นแผนการระดับแคมเปญ

มีเพื่อสนับสนุนเป้าหมายของบริษัท

แผนสนับสนุน Marketing Strategy

Marketing Strategy เป็นแผนสรุปเป้าหมายในระยะยาว และแนวทางโดยรวม ในขณะที่ Marketing Plan จะเป็นเรื่ององวิธีการ และแผนที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายได้

หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า Marketing Strategy คือแนวทางการทำตลาดของบริษัท ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งเป้าหมาย, วิจัยตลาด, วิจัยคู่แข่ง, กำหนดภาพลักษณ์ และตำแหน่งของแบรนด์ว่าอยากให้ผู้บริโภคมองแบรนด์เป็นอย่างไร

ตัวอย่างเช่น หากคุณสร้างแผน Marketing Strategy สำหรับแบรนด์แฟชั่นหน้าใหม่ ในการวางกลยุทธ์การตลาดของคุณอาจตั้งเป้าไปที่วัยรุ่นที่เพิ่งเริ่มทำงาน ภาพลักษณ์ของแบรนด์คือเสื้อผ้าที่ดูมีความทันสมัย แต่ราคาไม่แพง

ส่วน Marketing Plan สำหรับใช้ใน Marketing Strategy ของแบรนด์แฟชั่นดังกล่าว จะเป็นแผนระยะสั้นที่สามารถปรับเปลี่ยนวิธีการได้ตามสถานการณ์ เช่น การยิงโฆษณาไปยังกลุ่มลูกค้าที่เป็นเป้าหมาย, การหาอินฟลูเอนเซอร์ที่มีภาพลักษณ์เหมาะสมกับแบรนด์มาช่วยประชาสัมพันธ์ เป็นต้น

องค์ประกอบของ กลยุทธ์การตลาด (Marketing Strategy Components)

ตอนนีั้เราเข้าใจแล้วว่า Marketing Strategy คืออะไร ? และมีความสำคัญอย่างไร อย่างไรก็ตาม การวางแผน Marketing Strategy ให้ออกมาดีไม่ใช่เรื่องง่าย มาลองอ่านเคล็ดลับที่เรานำมาฝาก หวังว่ามันจะช่วยให้คุณสามารถวางแผน Marketing Strategy ที่มีความแข็งแกร่งออกมาได้ง่ายขึ้น ก่อนอื่นมาเข้าใจองค์ประกอบที่สำคัญของ Marketing Strategy กันก่อน โดยมันประกอบไปด้วย

Marketing Mix

Marketing Strategy คืออะไร ? และแตกต่างจาก Marketing Plan อย่างไร ?
ภาพจาก : https://courses.lumenlearning.com/clinton-marketing/chapter/outcome-marketing-mix/

Marketing Mix หรือที่อาจรู้จักกันในอีกชื่อว่า 4P เป็นเอกสารที่คุณควรสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ทำความเข้าใจว่าอะไรที่คุณต้องการทำตลาด ?, จะทำตลาดที่ไหน ? และจะทำการตลาดอย่างไร ? โดย 4P จะประกอบไปด้วย

  1. Product : เราขายอะไร ?
  2. Price : จะขายราคาเท่าไหร่ ?
  3. Place : จะนำสินค้าไปวางขายที่ไหน ?
  4. Promotion : จะประชาสัมพันธ์สินค้าที่ไหน ?

หากบริษัทมีสินค้า หรือบริการหลายตัว ก็สามารถทำ Marketing Mix ให้กับทุกช่องทางการขายที่ต้องการได้ เพื่อที่เราจะได้เข้าใจภาพรวมของ Marketing Strategy ได้ชัดเจนมากขึ้น

Product

  • คุณสมบัติ (Features)
  • คุณภาพ (Quality)
  • การสร้างแบรนด์ (Branding)
  • บรรจุภัณฑ์ (Packaging)
  • บริการ (Services)
  • การรับประกัน (Warranties)

Price

  • กลยุทธ์ด้านราคา (Price strategy)
  • การกำหนดราคา (Pricing)
  • เบี้ยเลี้ยง (Allowances)
  • การลดราคา (Discounts)
  • เงื่อนไขการชำระเงิน (Payment terms)

Place

  • ช่องทางการขาย (Channels)
  • ความครอบคลุมตลาด (Market coverage)
  • การแบ่งประเภท (Assortment)
  • ตำแหน่ง (Location)
  • คลังสินค้า (Inventory)
  • การขนส่ง (Transport)

Promotion

  • การส่งเสริมการขาย (Sale promotion)
  • โฆษณา (Advertising)
  • ประชาสัมพันธ์ (Public Relations)
  • การตลาดโดยตรง (Direct marketing)

Marketing Objectives

เราสามารถกำหนดวัตถุประสงค์ทางการตลาด (Marketing Objectives) ร่วมกับ Marketing Mix ได้ โดยควรเริ่มจากการกำหนดภาพรวมเป้าหมายทางการตลาดที่ต้องการขึ้นมาก่อน แล้วค่อยวางแผน Marketing Strategy เหตุผลก็เพราะเป้าหมายจะช่วยกำหนดทิศทางต่าง ๆ ของแผน รวมไปถึงงบประมาณ และกระบวนการคิดด้วย

ตัววัตถุประสงค์เองก็ควรมีความเจาะจงให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ อาจจะลองกำหนดวัตถุประสงค์ด้วยการแบ่งช่องทางการขาย หรือวิธีประชาสัมพันธ์ก่อน

นอกจากนี้ อย่ากลัวที่จะแก้ไขเป้าหมายใหม่ เพราะแผนการควรถูกปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ถ้าหากเป้าหมายสำคัญที่คุณต้องการเกิดความเปลี่ยนแปลง

Marketing Budget

Marketing Strategy คืออะไร ? และแตกต่างจาก Marketing Plan อย่างไร ?
ภาพจาก : https://marketing.com.au/7-free-marketing-budget-templates/

เรื่องเงินเป็นเรื่องสำคัญมาก คิดแผนไว้ดีแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีงบประมาณจ้างคนเก่งมาทำงาน, ซื้อซอฟต์แวร์ที่จำเป็น, ยิงโฆษณาในช่องทางที่เหมาะสม ฯลฯ แผน Marketing Strategy ก็ยากที่จะได้ผลลัพธ์อย่างที่มันควรจะเป็น หากต้องการผลตอบแทนที่ดี สิ่งแรกที่ต้องทำคือต้องลงทุน

ทั้งนี้ ไม่ได้เราไม่ได้หมายความว่า เราต้องมีเงินก้อนโตมาลงทุน เราสามารถเริ่มจากนำเงินทุนก้อนเล็กไปใช้กับแผนการที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนก่อน เมื่อเกิด ROI ก็พยายามนำผลกำไรที่ได้มาลงทุนเพิ่มต่อในภายหลัง

Competitive Analysis

ซุนวู (孙武) ปราชญ์ชาวจีนเคยกล่าวเอาไว้ในตำราพิชัยสงครามซุนวูว่า "รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ก็ไม่แพ้" มันเป็นสัจธรรมที่ยังใช้ได้เสมอ

การรู้จักคู่แข่งเป็นกุญแจสำคัญในการวางแผน Marketing Strategy เพราะหากไม่มีการเปรียบเทียบกับคู่แข่ง คุณจะไม่รู้เลยว่าสิ่งที่คุณทำแตกต่างจากคู่แข่งอย่างไร ? ทำได้ดี หรือแย่กว่า ไม่ต่างอะไรจากการปิดตาเดินแล้วคิดไปเองว่าเดินถูกทางแล้ว

ส่วนใหญ่เราจะรู้อยู่แล้วแหละ ว่าธุรกิจของเรามีใครเป็นคู่แข่งบ้าง แต่ส่วนใหญ่เราจะรู้แค่ชื่อของคู่แข่งรายใหญ่เท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริง มันมักจะมีคู่แข่งรายย่อยที่ทำธุรกิจเหมือนเราด้วย เราควรวิเคราะห์จุดแข็ง และจุดอ่อน ของคู่แข่งที่เรามีไม่ว่าจะรายใหญ่ หรือรายย่อย เพื่อนำมาพัฒนาเป็นจุดขายที่เราสามารถใช้ดึงดูดลูกค้าได้

Segmentation, Targeting และ Positioning (STP)

Marketing Strategy คืออะไร ? และแตกต่างจาก Marketing Plan อย่างไร ?
ภาพจาก : https://www.kelvinindia.in/blog/what-is-stp-segmentation-targeting-positioning-how-to-use-stp-model/

การแบ่งส่วน (Segmentation), กำหนดเป้าหมาย (Targeting) และการวางตำแหน่ง (Positioning) หรือเรียกโดยย่อว่า STP หมายถึงกระบวนการที่จะส่งสารที่มีความเกี่ยวข้อง และเหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย คือแทนที่เราจะหว่านแหส่งข้อความเดียวกันไปยังลูกค้าทุกกลุ่ม เราควรคิดข้อความที่เหมาะสมกับแต่ละเป้าหมายที่แตกต่างกัน

พิจารณาว่าแบรนด์ของเราอยู่ในตำแหน่งไหน เมื่อเทียบกับคู่แข่ง ? อะไรที่คิดว่าเราทำได้ดีกว่า ? แล้วนำข้อมูลที่ได้มาใช้ร่วมกับการวางแผน Marketing Strategy

Content Creation

เมื่อเรากำหนดงบประมาณ, วิเคราะห์คู่แข่ง และมีข้อมูล STP แล้ว ก็ได้เวลาที่เราจะมาคิดเนื้อหาสำหรับใช้ในการตลาดแล้ว ซึ่งมี 2 สิ่งที่ควรระลึกไว้ อย่างแรกคือ ไม่ควรเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่มีประโยชน์ หรือช่วยแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้า และอีกอย่างคือ ฉวยโอกาสจากกระแสใหม่ที่เกิดขึ้นเพื่อเพิ่มโอกาสที่แบรนด์ของคุณจะถูกมองเห็นมากขึ้น

สำหรับประเภทของเนื้อหา จากการวิจัยของ HubSpot Research พบว่า "นักการตลาดกว่า 50% ใช้วิดีโอ, 47% ใช้รูปภาพ, บทความ 33%, อินโฟกราฟิก 30% และ Podcasts/สื่อเสียง 28%" โดยวิดีโอเป็นสื่อที่มีอัตรา ROI สูงมากที่สุด

Marketing Strategy คืออะไร ? และแตกต่างจาก Marketing Plan อย่างไร ?
ภาพจาก : https://blog.hubspot.com/marketing/hubspot-blog-marketing-industry-trends-report

Metrics & Key Performance Indicators (KPIs)

สุดท้าย แต่ไม่ท้ายสุด เมื่อได้แผน Marketing Strategy มาแล้ว ก็ควรคิดด้วยว่าจะวัดผลความสำเร็จอย่างไร ? ด้วยการนำ Metrics หรือ Key Performance Indicators (KPIs) มาใช้ชี้วัด ส่วนจะกำหนด KPIs อย่างไร ? มีหัวข้ออะไรบ้าง ? ก็ขึ้นอยู่กับรูปแบบธุรกิจ และช่องทางการขาย

KPIs พื้นฐานที่นิยมใช้ชี้วัดก็อย่างเช่น

  • Customer Acquisition Cost (CAC) : ต้นทุนที่ต้องจ่ายเพื่อที่ให้ได้ลูกค้าใหม่ เช่น ค่าโฆษณา, ค่าออกอีเวนต์, กิจกรรมชิงโชค ฯลฯ
  • Organic Traffic : จำนวนผู้เข้าชม หรือลูกค้าที่มาเข้าใช้บริการเองโดยตรง ไม่ได้มาจากการโฆษณา หรือจากกิจกรรมต่าง ๆ ที่บริษัทได้ลงทุนไป
  • Conversion Rate : อัตราส่วนระหว่างผู้เข้าชม กับผู้ที่ซื้อสินค้า หรืออาจยังไม่ซื้อ แต่มีการลงทะเบียนสอบถามข้อมูล, ขอใบเสนอราคา ฯลฯ
  • Marketing Qualified Leads (MQLs) : กลุ่มลูกค้าที่นักการตลาดวิเคราะห์แล้วว่า มีโอกาสซื้อสูง สามารถส่งลูกค้าต่อให้กับทีมฝ่ายขายให้ดำเนินการขั้นตอนถัดไปได้

ทั้งนี้ KPIs ที่ดี จะต้องสามารถวัดค่าได้อย่างชัดเจน และหัวข้อที่นำมาตั้ง KPIs ก็ต้องมีความสอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัทด้วย

8 ขั้นตอนการวาง กลยุทธ์การตลาด (8 Steps of making Marketing Strategy)

1. วิจัยตลาด (Conduct Market Research)

Marketing Strategy คืออะไร ? และแตกต่างจาก Marketing Plan อย่างไร ?

ก่อนที่เราจะเริ่มสร้างแผน Marketing Strategy เราควรเริ่มที่การรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาให้เรียบร้อยก่อน เพื่อนำมันมาช่วยตัดสินใจสิ่งที่เราจะใส่ในแผนการทำวิจัยด้านการตลาด (Market Research) อันที่จริง การวิจัยตลาดก็ไม่ต่างจากการเล่นเป็นนักสืบ เพียงแค่เราไม่ได้สืบคดี แต่เป็นการสืบหารายละเอียดของลูกค้าแทน

การวิจัยตลาดทำให้คุณสามารถธุรกิจตัดสินใจแผนธุรกิจโดยอาศัยข้อมูล ซึ่งมันเป็นเรื่องดีกว่าการคาดเดาโดยที่ไม่มีข้อมูลอ้างอิง นอกจากนี้ มันยังช่วยให้คุณเข้าใจตลาดที่คุณตั้งไว้เป้าหมายง่ายขึ้น หาช่องว่างในตลาด และใช้ทรัพยากรที่คุณมีได้อย่างคุ้มค่า

และเมื่อคุณได้ข้อมูลวิจัยตลาดมาแล้ว คุณก็จะพร้อมสำหรับการกำหนดเป้าหมายทางการตลาด

2. กำหนดเป้าหมายที่ต้องการ (Define your Goals)

หาคำตอบให้เจอก่อน ว่าคุณต้องการอะไรจากความพยายามในการทำตลาด เพราะมีเป้าหมายได้หลายอย่าง อยากให้แบรนด์มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก, ต้องการเพิ่มยอดขาย, ต้องการขยายฐานลูกค้า ฯลฯ เป้าหมายที่ชัดเจนจะนำทางไปสู่การวางแผน Marketing Strategy ให้ออกมาในทิศทางเดียวกัน

ยกตัวอย่างเช่น หากคุณต้องการแย่งส่วนแบ่งในตลาดให้ได้ 20% ภายในหนึ่งปี เป้าหมายที่นำมาใช้ได้ก็อย่างการเจาะตลาดแห่งใหม่, อัปเดตแบรนด์ให้มีความทันสมัยมากขึ้น หรือเพิ่มจำนวนพนักงานขาย

3. ค้นหาว่าลูกค้าของเราคือใคร และมีบุคลิกเป็นอย่างไร ?
(Identify your target audience and create buyer personas)

ในการคิดแผน Marketing Strategy ให้มีประสิทธิภาพดีได้นั้น เราต้องเข้าใจลูกค้าเสียก่อน ซึ่งข้อมูลนี้เราสามารถหาได้จากการทำวิจัยตลาด จากนั้นเราก็จะมองเห็นภาพรวมของตลาดง่ายขึ้น และรู้ว่าลูกค้าของเราคือใคร ?

แต่แค่รู้ว่าลูกค้าเป็นใคร ? มันก็ยังไม่พอ เราต้องหาข้อมูลต่อไปว่าพวกเขาต้องการอะไร ? ไม่ใช่แค่สิ่งที่เขาชอบ หรือปัญหาที่พวกเขามี แต่เราต้องรู้ด้วยว่าสินค้า หรือบริการที่คุณมี จะช่วยแก้ปัญหาให้พวกเขาได้อย่างไร ?

เมื่อเราเข้าใจว่าลูกค้าเราเป็นใคร ? เราก็สามารถสร้างบุคลิกลูกค้าที่เป็นอุดมคติของธุรกิจเราขึ้นมาได้ละเอียดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอายุ, อาชีพ, รายได้, ที่อยู่, ความสนใจ ฯลฯ 

4. วิเคราะห์คู่แข่ง (Conduct Competitive Analysis)

หลังจากที่เข้าใจแล้วว่าลูกค้าของเราคือใคร ? ก็ถึงเวลาศึกษาคู่แข่งของเรา

โดยเริ่มจากค้นหาก่อนว่าใครคือคู่แข่งเบอร์หนึ่งของเรา ด้วยการสำรวจหน้าเว็บไซต์, เนื้อหา, โฆษณา และราคาของคู่แข่ง มันช่วยให้เราเข้าใจความแตกต่างระหว่างเรากับคู่แข่งมากขึ้น และยังมีประโยชน์ต่อการมองหาช่องว่างที่เราสามารถใช้ประโยชน์กับธุรกิจของเราได้

5. พัฒนาคีย์เมสเสจ (Develop Key Messaging)

เมื่อถึงขั้นตอนนี้ เราน่าจะรู้จักลูกค้าของเราเป็นอย่างดีแล้ว ก็ถึงเวลาที่เราจะแสดงเอกลักษณ์ธุรกิจให้ลูกค้าของเราได้รับรู้บ้างแล้ว

โดยเราต้องคิดคีย์เมสเสจที่สามารถอธิบายผลประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับจากสินค้า หรือบริการของคุณ ซึ่งคีย์เมสเสจนี้จะสามารถส่งอิทธิพลให้กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ขนาดไหน ? ก็ขึ้นอยู่ผลการวิจัยทั้งหมดที่เราได้ทำมาตลอดในช่วงก่อนหน้านี้

คีย์เมสเสจที่ดี จะมีคุณลักษณะดังต่อไปนี้

  • แสดงให้เห็นว่าธุรกิจของคุณแตกต่างจากคู่แข่งอย่างไร ?
  • โดนใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
  • มีความยืดหยุ่น สามารถนำใช้งานได้กับทุกช่องทางการตลาด
  • สามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์ได้
  • สร้างความรู้สึกที่ลูกค้ามีอารมณ์ร่วมได้
  • กระตุ้นให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้

6. เลือกช่องทางการตลาดของคุณ (Choose your Marketing Channels)

เมื่อได้คีย์เมสเสจมาแล้ว ขั้นตอนถัดไป เราจะมาค้นหาช่องทางการตลาดที่เหมาะสมที่สุด เป้าหมายแรกในขั้นตอนนี้คือการคัดเลือกช่องทางการตลาดที่เข้าคู่กับพฤติกรรมในการบริโภคสื่อของกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้ดีที่สุด

โดยอาจเริ่มจากช่องทางการตลาดที่คุณใช้งานอยู่แล้ว จากนั้นก็พิจารณาช่องทางอื่นเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นช่องทางดั้งเดิมอย่างสื่อโทรทัศน์, สิ่งพิมพ์ ฯลฯ หรือช่องทางดิจิทัลอย่างโซเชียลมีเดีย, Podcast ฯลฯ

เราอาจแบ่งช่องทางการตลาดได้ออกเป็น 3 หมวดหมู่ คือ เสียเงิน (Paid), เป็นเจ้าของ (owned) และสื่อที่ได้รับจากผู้อื่น (Earned)

เสียเงิน (Paid)

หมายถึงช่องทางใดก็ตาม ที่คุณต้องเสียเงินเพื่อดึงดูดให้กลุ่มลูกค้าเป้าหมายเกิดความสนใจ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นสื่อโฆษณานั่นเอง เช่น

  • โฆษณาทางโทรทัศน์
  • จดหมายตรง เช่น จดหมายแจ้งข่าว, โบรชัวร์, ไปรษณียบัตร ฯลฯ
  • ป้ายบิลบอร์ด
  • โฆษณาบนโซเชียลมีเดีย
  • การตลาดผ่านเครื่องมือค้นหา (Search Engine Marketing - SEM)
  • โฆษณาบน พอดแคสต์ (Podcast Advertising) 

สื่อที่เป็นเจ้าของ (Owned Media)

หมายถึงสื่อที่เราครอบครองเป็นเจ้าของเอง ส่วนใหญ่ก็จะเป็น

  • บล็อก (Blog)
  • เว็บไซต์
  • โซเชียลมีเดียของแบรนด์

นอกจากนี้ ยังรวมถึงสื่อที่ฝ่ายการตลาดเป็นผู้คิดขึ้นมาด้วย อย่างเช่น

  • วิดีโอ
  • อินโฟกราฟิก
  • พอดแคสต์

สื่อที่ได้รับจากผู้อื่น (Earned)

สื่อที่ได้รับจากผู้อื่น (Earned) อาจจะดูเข้าใจยากว่ามันคืออะไร ? อีกนัยหนึ่งคือมันคือเนื้อหาของแบรนด์ที่ผู้อื่นสร้างขึ้นมาให้เราฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เช่น

  • โพสต์ที่ถูกแชร์ออกไปบนโซเชียลมีเดียต่าง ๆ
  • โพสต์ที่กล่าวถึงธุรกิจของคุณบนโซเชียลมีเดียต่าง ๆ
  • โพสต์ที่มีการ "Mention" มาที่บัญชีของแบรนด์

การตัดสินใจเลือกช่องทางการตลาดของคุณควรเลือกด้วยความระมัดระวัง สำรวจทุกช่องทางที่มี และพิจารณาให้ดีว่าช่องทางไหนที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่คุณกำลังมองหาอยู่ได้ดีที่สุด อย่าลืมคำนึงถึงงบประมาณด้วยว่าเพียงพอกับช่องทางที่เลือกหรือไม่ ? เพราะราคาของแต่ละช่องทางก็มีความแตกต่างลดหลั่นกันไป ซึ่งการจ่ายแพงกว่า ไม่ได้หมายความว่ามันจะช่วยให้ธุรกิจเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่เป็นเป้าหมายของเราได้มากขึ้นเสมอไป

ตัวอย่างเช่น หากต้องการเจาะกลุ่มลูกค้าวัยรุ่น ก็ควรเล็งช่องทางไปที่ TikTok หรือ Reddit เป็นต้น

หรือหากคุณมี Blog (Owned Media) ที่คิดว่ามีประโยชน์ต่อคนทั่วไป เผยแพร่เป็นประจำอยู่แล้วทุกสัปดาห์ ก็ควรจะที่จะนำมาแชร์ลงในช่องทางอื่น ๆ ด้วย เช่นบน สตอรี่ (Stories) ซึ่งมันช่วยเพิ่มโอกาสที่ลูกค้าของคุณจะทำการแชร์มันอีกครั้ง (Earned)

7. สร้าง, ติดตาม และวิเคราะห์ KPIs

เราจะไม่รู้เลยว่าแผนการตลาดที่เราคิดขึ้นมาได้ผลลัพธ์ดีขนาดไหน หากเราไม่มีเครื่องมือในการชี้วัด

ในขั้นตอนนี้เราจะแปลงร่างจากนักสืบมาเป็นคนบ้าตัวเลขแทน กำหนด KPIs ขึ้นมา แล้วติดตามวัดผลว่าทำตัวเลขได้เข้าเป้าตามที่เราคาดหวังไว้หรือไม่ ?

โดยหลังจากที่กำหนดแผน Marketing Strategy เสร็จแล้ว ก็มาเลือก KPIs ที่มีความเหมาะสมกับแผนการของเรา จากนั้นนำผลลัพธ์ที่ได้มาขัดเกลา หรือปรับปรุง Marketing Plan อีกครั้ง เพื่อให้สามารถเข้าใกล้เป้าหมายที่วางไว้มากขึ้น

8. นำเสนอกลยุทธ์ทางการตลาดของคุณ

ขั้นตอนสุดท้ายของการทำ Marketing Strategy คือการสรุปรวมส่วนประกอบทั้งหมดที่ผ่านเป็นครั้งสุดท้าย โดยไล่มาตั้งแต่ภาพรวมของแผนกลยุทธ์, กลุ่มลูกค้าที่เป็นเป้าหมาย, อะไรที่เป็นหัวใจสำคัญของกลยุทธ์, ภาพลักษณ์ของแบรนด์ ฯลฯ

นำ Marketing Plan มาวิเคราะห์ว่ามันสอดคล้อง และช่วยให้ Marketing Strategy ประสบความสำเร็จได้มากขนาดไหน มันครอบคลุมแคมเปญ และช่องทางการตลาดครบถ้วนหรือไม่ ?

หลังจากนั้นก็คำนวณงบประมาณให้สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัท พิจารณาดูว่าต้องจัดสรรการใช้เงินอย่างไรถึงได้ประสิทธิภาพดีที่สุด

เรื่องสุดท้ายคือการขีดเส้นไทม์ไลน์ และหมุดหมายในการทำงานด้วย ว่าจะต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ ? และหากทำได้ไม่ทันตามกำหนด จะแก้ไขปัญหาปรับแผนการทำงานอย่างไร ? เพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้ตามที่คาดหวังไว้


กว่าจะสร้างแผน Marketing Strategy ให้เสร็จออกมาสมบูรณ์ได้ ไม่ใช่สิ่งที่สามารถทำเสร็จได้ในชั่วข้ามคืน มันเป็นงานที่ต้องใช้เวลาในการคิด, วิเคราะห์ และแยกแยะ เพื่อให้ได้แผนการที่ดี มีโอกาสประสบความสำเร็จเข้าถึงกลุ่มลูกค้าตามที่คาดหวังได้

ต้นฉบับ :