Metaverse คืออะไร ? รู้จักของเมตาเวิร์ส โลกใบใหม่ ที่ไม่ได้ไกลตัว

เมื่อ :
ผู้เข้าชม : 24,859
เขียนโดย :
Metaverse คืออะไร ? รู้จักของเมตาเวิร์ส โลกใบใหม่ ที่ไม่ได้ไกลตัว
Metaverse คืออะไร ? รู้จักของเมตาเวิร์ส โลกใบใหม่ ที่ไม่ได้ไกลตัว
เมื่อ :
ผู้เข้าชม : 24,859
เขียนโดย :

Metaverse คืออะไร ? โลกใบใหม่ที่ไม่ได้ไกลตัว

หลายคนน่าจะได้ยินว่า Metaverse (อ่านออกเสียงภาษาไทยว่า "เมตาเวิร์ส") ผ่านหูกันมาบ้างแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง จากข่าวที่ทางบริษัท Facebook ประกาศรีแบรนด์ใหม่ (Rebrand) และเปลี่ยนชื่อบริษัทแม่เป็น "Meta (เมตา)" เพื่อไม่ให้ผู้ใช้งานสับสนเวลาพูดถึงชื่อบริษัทแม่กับบริการย่อยของทางบริษัทอย่าง Facebook เพราะในหลาย ๆ ครั้งที่มีประเด็นเกี่ยวกับบริษัทลูกอย่าง Instagram หรือ WhatsApp แต่ก็ได้มีชื่อของ Facebook พ่วงติดมาก็ทำให้หลาย ๆ คนเกิดความสับสนว่าสรุปแล้วกำลังพูดถึงบริการใดอยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว

บทความเกี่ยวกับ Metaverse อื่นๆ

ข้อมูลเพิ่มเติม : ราชบัณฑิตยสภา ได้บัญญัติศัพท์ "Metaverse (เมตาเวิร์ส)" ในภาษาไทยว่า "จักรวาลนฤมิต" เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564)

แต่อันที่จริงแล้ว Metaverse นี้ไม่ได้เป็นของทาง Meta (Facebook) เพียงผู้เดียว เพราะบริษัทไอที หรือ เทคโนโลยี ชั้นนำอย่าง Apple, Google, Microsoft, Valve และบริษัท Startup จำนวนหนึ่งเองก็กระโดดเข้ามาร่วมวงกับ Metaverse ด้วยเช่นกัน

และไม่เพียงเท่านั้น เรายังสามารถพบเห็นคำว่า Metaverse ในนิยายไซไฟ, ภาพยนตร์ รวมไปถึงเกมต่าง ๆ อีกด้วย ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่าแท้จริงแล้ว Metaverse คืออะไรกันแน่นะ ?

เนื้อหาภายในบทความ

Metaverse คืออะไร ?

Metaverse นั้นมาจากคำว่า Meta ที่แปลว่า “เหนือกว่า (Beyond)” ในภาษากรีก รวมกับคำว่า Universe (จักรวาล) ซึ่งเมื่อนำเอามาควบรวมกันแล้วก็อาจแปลได้ว่า “จักรวาลที่เหนือกว่า” และมันยังได้นำเอามาใช้ในการอธิบายถึงคอนเซปต์ของ "โลกเสมือน (Virtual World)" ที่ตั้งอยู่บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและสามารถเข้าถึงได้ผ่านอุปกรณ์ VR (Virtual Reality), AR (Augmented Reality) และ PC (Personal Computer) โดยภายใน Metaverse นั้นจะมีการแสดงผลในรูปแบบ 3 มิติที่ผู้ใช้สามารถสร้างอวตาร์ (Avatars) ขึ้นมาเป็นตัวแทนบุคคลในการพูดคุยติดต่อสื่อสารหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันกับผู้อื่นได้

ในส่วนของที่มาของ Metaverse นั้นมีต้นกำเนิดมาจาก “นิยาย” แนวดิสโทเปียไซเบอร์พังค์ที่มีชื่อเรื่องว่า “Snow Crash” จากปลายปากกาของ Neal Stephenson ที่ตีพิมพ์เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1992 (พ.ศ. 2535)  และเป็นต้นแบบของนิยายไซไฟเรื่องดังอย่าง Ready Player One ของ Earnest Cline ที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554) และได้นำเอาไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561) ด้วยฝีมือการกำกับของ Steven Spielberg จนได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ในสาขา Best Achievement in Visual Effects (เทคนิคสมจริงยอดเยี่ยม) แต่ก็พ่ายแพ้ให้กับ หนัง ภาพยนตร์ First Man ไปอย่างน่าเสียดาย

มาถึงตรงนี้ถ้าใครเคยได้ดูหนังเรื่อง Ready Player One แล้วก็น่าจะเข้าใจถึงคอนเซปต์ของ Metaverse กันแล้วอย่างแน่นอน เพราะในหนังนั้นมีทั้งการจำลองโลกเสมือนที่สามารถเข้าถึงได้ผ่านการสวมอุปกรณ์ Headset และสามารถสร้างอวตาร์ของเราขึ้นมาได้ตามใจชอบ (ทั้งมนุษย์และอมนุษย์) อีกทั้งยังสามารถพูดคุยสื่อสาร, เล่นเกม และล่าสมบัติร่วมกันบนโลกเสมือนได้อย่างอิสระ เรียกได้ว่าตัวหนังค่อนข้างจำลองภาพของ Metaverse ออกมาให้เห็นแบบย่อยง่ายมาก ๆ เลยทีเดียว

Metaverse อนาคตอันใกล้ที่ไม่ไกลเกินเอื้อม

สำหรับใครที่สนใจและอยากพาตัวเองเข้าไปในโลกของ Metaverse กันแล้วนั้นก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เพราะในปัจจุบันที่ได้มีการพัฒนาอุปกรณ์ Headset รวมไปถึงแว่น VR และ AR ต่าง ๆ ก็ทำให้เราสามารถที่จะเข้าไปสัมผัสโลกของ Metaverse กันได้ภายในเกมชื่อดังอย่าง Fortnite, Roblox, Minecraft และเกมอื่น ๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยผู้ใช้สามารถเปิดเกมและสวมอุปกรณ์ชุดหูฟัง (Headset) แล้วดำดิ่งลงสู่โลกของ Metaverse กันได้เลย

Metaverse อนาคตอันใกล้ที่ไม่ไกลเกินเอื้อม
ภาพจาก : https://jezaniahtransmediablog.files.wordpress.com/2019/03/pqojqm3.gif

ส่วนทางด้านของบริษัทชื่อดังอย่าง Meta (Facebook), Google, Apple และ Microsoft นั้นดูเหมือนว่าจะไม่ง้อบริษัทเกมเหล่านี้ในการสรรค์สร้างโลกใบใหม่ แต่ได้มีการพัฒนาโปรเจค Metaverse เพื่อสร้างโลกเสมือนบนแพลทฟอร์มของตนเองขึ้นมาพร้อมทั้งเตรียมเปิดตัวอุปกรณ์ชุดหูฟัง (Headset) ของทางบริษัทมาควบคู่กันด้วย

Apple กับ Metaverse

แน่นอนว่าบริษัท Apple เองก็ไม่มีทางพลาดโอกาสในการก้าวสู่โลกแห่ง Metaverse ด้วยเช่นกัน โดยทาง Apple ได้พัฒนาโปรเจค Apple Glasses หรือแว่นตา AR ของบริษัทที่คาดว่าจะเปิดตัวในปี ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565) นี้ และได้เพิ่ม ARKit เข้ามาบน Framework ให้ Developer สามารถพัฒนาแอปพลิเคชันที่รองรับการทำงานของระบบ AR กันตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 (พ.ศ. 2560) แล้ว

Google กับ Metaverse

ในส่วนของทาง Google เองก็ได้มีการพัฒนาแว่น AR/VR มาระยะหนึ่งแล้วเช่นกัน โดยในปี ค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557) บริษัท Google ได้ทำการเปิดตัว Google Cardboard โปรเจคแว่น VR ที่เปิดให้ผู้ใช้ที่สนใจสามารถสร้างแว่น VR ของตนเองด้วยตนเองแบบ DIY และได้มีข่าวลือเกี่ยวกับการเปิด ๆ ยุบ ๆ โปรเจค Google Glass หรือแว่นตา AR ของทางบริษัทออกมาอยู่เป็นระยะ

และในที่สุดทางบริษัทก็ได้ ซื้อกิจการของ North ไปแล้ว แต่นอกเหนือจากนั้นก็ยังไม่มีอัปเดตความคืบหน้าเกี่ยวกับอุปกรณ์ Headset ของทางบริษัทเพิ่มเติมออกมาให้เห็นกัน อย่างไรก็ตาม ทาง Google ก็ยังคงอัปเดต ระบบ AR อยู่เรื่อย ๆ คาดว่าน่าจะต้องรอดูกันต่อไปว่าในอนาคตทาง Google จะเดินเกมบน Metaverse กันในรูปแบบใด (แต่ที่แน่ ๆ คือน่าจะล้มเลิกความตั้งใจกับอุปกรณ์ Headset กันไปแล้ว)

Meta (Facebook) กับ Metaverse

อย่างที่เราได้กล่าวไปข้างต้นว่า ทาง Mark Zuckerburg ได้ตัดสินใจเปลี่ยนชื่อบริษัทแม่จาก Facebook เป็น Meta ไปเป็นที่เรียบร้อยก็น่าจะทำให้หลาย ๆ คนเดาได้ว่าทางบริษัทจะต้องพัฒนา Metaverse ขึ้นมาให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้ง่าย ๆ อย่างแน่นอน

และอีกทั้งทาง Meta เองก็มีอุปกรณ์อย่างแว่น Oculus เป็นหนึ่งในไลน์ย่อยของบริษัทอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นการเชื่อมต่อเข้าสู่โลก Metaverse ของ Meta ก็น่าจะไม่มีปัญหาน่าปวดหัวมากนัก เพราะหากพัฒนาระบบจนเสร็จสิ้นผู้ใช้ก็สามารถสวมแว่น Oculus แล้วล็อกอินเข้าใช้งานบัญชี Facebook เพื่อสร้างอวตาร์ของตนเองขึ้นมาและนัดเจอพูดคุยกับเพื่อน ๆ หรือเล่นเกมร่วมกันบน Metaverse ได้อย่างไร้ปัญหา

Microsoft กับ Metaverse

ทาง Microsoft ก็ได้มีการเปิดตัวอุปกรณ์อย่าง Hololens ที่เป็นแว่นตาแบบ Mixed Reality ไปเมื่อปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) และได้มีการพัฒนาอุปกรณ์และระบบอย่างต่อเนื่องโดยจับกลุ่มลูกค้าภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก ซึ่ง Microsoft ก็ระบุว่าบริษัทที่นำเอา Hololens เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการผลิต, ประกอบชิ้นส่วน หรือซ่อมแซมรถยนต์ ก็มีทั้ง Kenworth, Suntory และที่เราคุ้นเคยกันดีอย่าง Toyota ก็เป็นหนึ่งในลูกค้าคนสำคัญของ Microsoft ด้วยเช่นกัน

แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ทาง Microsoft ก็มีแผนว่าจะขยายฐานการใช้งานของ Metaverse ออกไปในกลุ่มผู้ใช้ทั่วไปผ่านบริการต่าง ๆ ของทางบริษัทด้วย ดังนั้นก็คาดว่าอีกไม่นานเราก็น่าจะสามารถเรียกประชุมงานบน Microsoft Teams ผ่านโลก Metaverse ได้แล้ว อีกทั้งทาง Microsoft ก็ยังมีอุปกรณ์เสริมอย่างเครื่องเล่น X-box ที่น่าจะทำให้การเล่นเกมต่าง ๆ บน Metaverse น่าตื่นตาตื่นใจมากขึ้นอย่างแน่นอน

Metaverse ตลาดแห่งใหม่ของโลกอนาคต

เมื่อดูจากรายชื่อของบริษัทเกมและบริษัทชั้นนำจำนวนมากที่พากันตบเท้าก้าวเข้าสู่โลกของ Metaverse แล้วก็ทำให้มีการคาดการณ์ว่ามันจะกลายเป็น “ตลาดแห่งใหม่ของโลกอนาคต” ที่ผู้คนจากทั่วโลกให้ความสนใจกันเป็นอย่างมาก และไม่ใช่เพียงแค่ในวงการเกมเท่านั้น แต่หากทางบริษัทโซเชียลมีเดียต่าง ๆ มีโลก Metaverse เป็นของตัวเองแล้วก็น่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจที่น่าจับตามองไม่น้อยเลยทีเดียว

ตัวอย่างเช่น ธุรกิจบันเทิงอย่างวงการเพลงก็เคยได้มีการจัดคอนเสิร์ตบน Metaverse ที่เข้ามาเปิดประสบการณ์ใหม่ในการไปคอนเสิร์ตขึ้นไปอีกระดับหนึ่งกันไปแล้วผ่านทางเกม Fornite ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) และได้มีอีเวนท์คอนเสิร์ตในรูปแบบนี้ออกมาอยู่เรื่อย ๆ บนแพลทฟอร์มที่ต่างกันออกไป

นอกจากนี้ ทางด้านของแบรนด์เสื้อผ้าชื่อดังอย่าง Nike เองก็ได้หันมาจับตลาดบนโลก Metaverse แล้ว เพราะล่าสุดได้มีการประกาศรับสมัครงานในตำแหน่ง “Virtual Designer” หรือนักออกแบบเครื่องแต่งกายแบบเสมือนจริงมาร่วมทีมในการสรรค์สร้างเสื้อผ้าและรองเท้าบน “Nikeland” หรือ Metaverse ของบริษัทบนเกม Roblox ที่เปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถสร้างอวตาร์ของตัวเองภายในเกม Roblox ขึ้นมาและเลือกซื้อสินค้าต่าง ๆ ของ Nike มาสวมใส่กันในเกมได้

อีกทั้งทางบริษัทยังได้ "จดสิทธิบัตร" แบรนด์เสื้อผ้าและรองเท้าของตนเองเป็นหนึ่งใน Virtual Good (สินค้าในโลกเสมือนจริง) แล้วเป็นที่เรียบร้อย

ไม่เพียงแต่ธุรกิจบันเทิงและแบรนด์เสื้อผ้าเท่านั้นที่เล็งเห็นว่า Metaverse เป็นตลาดแห่งใหม่ในการเติบโต แต่ในอนาคตอันใกล้นี้เราน่าจะได้เห็นกลุ่มธุรกิจใหม่ ๆ ลงมาเล่นในตลาดนี้กันมากขึ้นอย่างแน่นอน ไม่แน่ว่าเราอาจได้จับจองที่นั่งและรับชมกีฬารูปแบบต่าง ๆ กันผ่าน Metaverse หรืออาจได้ไปเที่ยวในสถานที่แปลกใหม่กันบนโลกเสมือนนี้ก็เป็นได้

NFT กับ Metaverse

ในเมื่อเราสามารถที่จะสร้างอวตาร์ของเราขึ้นมาบนโลกของ Metaverse แล้วก็คงจะดีไม่น้อยหากเราจะสามารถมี “พื้นที่ส่วนตัว” กันบนโลก Metaverse ได้ ดังนั้น NFT (Non-Fungible Token) จึงเข้ามามีบทบาทในฐานะของสื่อกลางการแลกเปลี่ยนซื้อขาย "ที่ดิน" บนโลก Metaverse นั่นเอง

โดยในเกม The Sandbox หรือ Horizon Worlds นั้นก็ได้มีการเปิดขายพื้นที่บนโลกเสมือนที่ให้เราสามารถจับจองเพื่อเป็นเจ้าของที่ดินผืนนั้น ๆ แต่เพียงผู้เดียว และสามารถสร้างบ้านหรือตกแต่งพื้นที่ได้ตามต้องการ

ข้อมูลเพิ่มเติม : NFT (Non-Fungible Token) คืออะไร ? ทำไมถึงพิเศษกว่า Cryptocurrency ?

ไม่เพียงเท่านั้น ที่ดินบนโลก Metaverse นั้นไม่จำเป็นต้องอิงตามหลักความเป็นจริง แต่จะมีขนาดที่ดินแต่ละผืนตามแต่ที่ทางผู้พัฒนากำหนดเอาไว้ จึงทำให้เราสามารถจะสร้างบ้านในฝันขึ้นบน Metaverse ได้อย่างอิสระ (ตามจำนวนที่ดินที่ซื้อบนโลก Metaverse) แต่จำนวนผืนที่ดินบน Metaverse ก็ถูกกำหนดโดยผู้พัฒนาด้วยเช่นกัน จึงทำให้มันมี "จำนวนจำกัด" ที่หากใครตัดสินใจเร็วก็ได้เป็นเจ้าของที่ดินไปก่อน จึงทำให้ผู้เล่นสามารถที่จะเลือกซื้อที่ดินบนเกมเพื่อเก็งกำไรขายต่ออสังหาริมทรัพย์บนเกมได้อีกต่อหนึ่งอีกด้วย