ช่วงหลายวันมานี้พอเปิดเข้า Twitter ไปก็เจอทวีตของหลาย ๆ คนที่พูดถึง NFT เต็มไทม์ไลน์ไปหมด แถมบางคนยังเตือนให้ระวังเกี่ยวกับแอคเคาท์บอท NFT ด้วย จนอดสงสัยไม่ได้ว่ามันคืออะไรกันแน่นะ ? แล้วทำไมเราถึงต้องระวังแอคเคาท์พวกนี้ด้วย ?
NFT หรือที่ย่อมาจากคำว่า "Non-Fungible Token" มันเป็นเหรียญดิจิทัล (Digital Token) ใน Blockchain ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับสกุลเงินคริปโต (Cryptocurrency) อย่าง Bitcoin, Dogecoin หรือ Ethereum ที่เราคุ้นเคยกันดี แต่ NFT นี้ถูกพัฒนามาใช้สำหรับแลกเปลี่ยนและซื้อขายงานด้านดิจิทัล (Digital Works) ชนิดต่าง ๆ เช่น รูปวาด, ภาพถ่าย, ลายเซ็น, เพลง, ฟุตเทจวิดีโอ, ไอเทมภายในเกม หรือสิ่งอื่น ๆ ที่อยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์
ข้อมูลเพิ่มเติม : รวมศัพท์ในวงการ สกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี ( Cryptocurrency Terms you should know)
โดยการซื้อขายด้วย NFT นี้จะต่างจากการซื้องานแบบทั่วไปที่เจ้าของผลงานจะต้องส่งมอบของหรือไฟล์งานให้กับผู้ซื้อ เพราะมันเป็นการซื้อขาย "สิทธิการเป็นเจ้าของ Token" ที่แสดงถึงผลงานชิ้นนั้น ๆ โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีไฟล์ของสิ่งนั้นภายในมือของตนเอง เช่น การซื้อตัวละครในเกมโดยใช้ NFT ก็ทำให้สิทธิในการเป็นเจ้าของ Token ของตัวละครนั้น ๆ เป็นของผู้ซื้อ และทางผู้พัฒนาเกมไม่สามารถที่จะลบตัวละครนั้นออกไปได้ หรือหากเกมปิดตัวลง ตัวละครในเกมที่ผู้ซื้อได้ทำการซื้อด้วย NFT นั้นก็จะไม่หายไปตามเกมด้วยเช่นกัน
ปกติแล้วการซื้อขาย NFT จะไม่จำเป็นต้องมีไฟล์ของสิ่งนั้นในมือ แต่ Beeple ก็ขาย Token ผลงานของเขา และส่ง Art Kit พร้อม Token จำลองแนบไปพร้อมกันด้วย
ภาพจาก : https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-03-02/nft-art-boom-is-the-same-concept-as-the-photography-market
และระบบของ NFT นั้นก็จะต่างจาก Cryptocurrency อื่น ๆ ตรงที่มันเป็น Token ดิจิทัลที่ ไม่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งอื่น ที่สามารถจับต้องได้ (Non-Fungible) ในขณะที่ Cryptocurrency ที่เรารู้จักกันส่วนมากจะเป็น Fungible Token ที่สามารถแปลงค่าเป็นเงินจริงหรือนำเอาไปใช้เพื่อจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ ผ่าน Crypto Card (หรือบัตร Mastercard) ได้
แม้ว่ามันจะไม่สามารถแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งอื่น ๆ ได้แต่ก็มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ตัดสินใจลงทุนกับ NFT ด้วยเหตุผลเรื่อง “คุณค่าทางจิตใจ” และเป็นความพึงพอใจของผู้ซื้อที่ได้สนับสนุนศิลปินที่ชื่นชอบ อีกทั้งยังได้สิทธิในการถือครอง Token ของผลงานชิ้นนั้น ๆ (ถึงผู้อื่นจะสามารถดาวน์โหลดรูปเดียวกันกับที่เราซื้อลงเครื่องได้ แต่สิทธิในการถือครอง Token ที่แสดงถึงของรูปนั้น ๆ ก็เป็นของผู้ซื้ออยู่ดี)
ตัวอย่างเช่น Meme ชื่อดังอย่าง Nyancat ที่ลงประมูลผ่าน NFT และทำราคาไปได้ถึง 590,000 ดอลลาห์สหรัฐ (หรือกว่า 18 ล้านบาท) เราก็ยังสามารถที่จะดาวน์โหลดมาแปะในบทความได้ตามปกติ แต่ Token ของมันก็มีเจ้าของแค่เพียงผู้เดียวเท่านั้น
ภาพจาก : https://www.creativebloq.com/features/what-are-nfts
นอกจากนี้ ความพิเศษอีกอย่างหนึ่งของ NFT นี้ก็คือ แต่ละ Token จะมีค่าไม่เท่ากัน อีกด้วย เพราะมันจะมีความ “พิเศษเฉพาะ” สำหรับผลงานชิ้นนั้น ๆ ที่ไม่สามารถลอกเลียนแบบได้นั่นเอง ซึ่งผู้ซื้อหลาย ๆ คนก็คาดเดาว่าในอนาคตมันอาจมีมูลค่าที่สูงขึ้นจากเดิม และอาจมีการนำเอาโมเดลดังกล่าวนี้ไปปรับใช้กับการซื้อขายสิ่งอื่น ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลงานต่าง ๆ มากขึ้นด้วย เช่น ผู้ก่อตั้ง Twitter อย่าง Jack Dorsey เองก็ได้เปิดประมูล “ทวีตแรก” ของตัวเองไปด้วย (ตอนนี้สนนราคาอยู่ที่ราว 2.5 ล้านดอลลาห์ หรือกว่า 76 ล้านบาทแล้ว)
ภาพจาก : https://v.cent.co/tweet/20
ระบบของ เหรียญดิจิทัล NFT นี้ไม่ได้เพิ่งเริ่มก่อตั้งขึ้นมาในช่วงนี้แต่อย่างใด เพราะมันได้มีการพัฒนามาตั้งแต่ราวช่วงปี ค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2555) แล้ว ซึ่งเหตุผลที่ทำให้ NFT เริ่มโด่งดังและเป็นที่พูดถึงในวงกว้างนี้ก็เป็นเพราะการเติบโตของตลาด Crypto ในช่วงนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นจนทำให้นักวาดเจ้าของผลงานแบบศิลปะดิจิทัล (Digital Arts) หลาย ๆ คนถูกแอคเคาท์ Bot ของ NFT ทำการ ขโมยสิทธิการเป็นเจ้าของ Token ของภาพ ไปและนำเอาภาพนั้น ๆ ไปวางขายในตลาด NFT นั่นเอง
Cool new scam artists should be aware of. Any rando can now turn your tweet and by extension, your artwork into an NFT by tagging this account @/tokenizedtweets
— RJ Palmer (@arvalis) March 9, 2021
Block this guy pic.twitter.com/JeHXwcoYFV
เนื่องจากระบบของ NFT นั้นได้เปิดให้ บุคคลใดก็ตาม สามารถแปลงผลงานดิจิทัลให้เป็น Token ของ NFT เพื่อจำหน่ายต่อไป และถึงแม้ว่าบางแพลตฟอร์มจะอนุญาตให้ผู้ผลิตผลงานสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนหากผลงานถูกนำเอาไปปล่อยขายได้ แต่ทางที่ดีหากไม่ต้องมาคอยกังวลว่าจะถูกขโมยผลงานไปก็คงจะเป็นเรื่องดีกว่า ดังนั้นจึงได้มีคนออกมาเตือนให้ทำการบล็อกแอคเคาท์ดังกล่าวเพื่อป้องกันการถูก “ขโมยสิทธิ” และนำเอาภาพไปปล่อยขายโดยพลการ
มาถึงตรงนี้หลาย ๆ คนก็อาจมองว่าถ้าเราชิงขาย Token ผลงานของเราก่อนที่จะโดนผู้อื่นแอบอ้างสิทธิก็น่าจะไม่มีปัญหาอะไร แถมอาจยังได้รายได้เพิ่มเติมหากมีผู้สนใจขอซื้อต่อได้อีกด้วย แต่อันที่จริงแล้วหากไม่ได้เป็นศิลปินที่ลงผลงานต่าง ๆ บนโซเชียลมีเดียอยู่เป็นประจำก็ไม่ได้จำเป็นที่จะต้องระวังแอคเคาท์บอทของ NFT มากนัก (แต่จะบล็อกแอคเคาท์พวกนี้เพื่อความปลอดภัยก็ได้เช่นกัน)
ซึ่งหากใครสนใจก็สามารถนำเอา Digital Work ของตนเองไปแปลงเป็น Token เพื่อวางขายในตลาด NFT ได้ทั้งบน OpenSea, Rarible, Grimes’ choice, Nifty Gateway หรือเว็บไซต์อื่น ๆ โดยภายในเว็บไซต์เหล่านี้ก็จะใช้ Blockchain ที่ต่างกันออกไป เช่น Ethereum, Binance Smart Chain, Flow by Dapper Labs, Tron, EOS, Polkadot, Tezos, Cosmos หรือ WAX (ส่วนมากมักจะใช้งาน Ethereum เป็นหลัก)
แต่สำหรับผู้ที่ให้ความสำคัญในเรื่องของ “ปัญหาสิ่งแวดล้อม” ก็อาจต้องลองพิจารณาเรื่องการซื้อขายในตลาด NFT เสียใหม่ เพราะจากที่มีผู้ที่ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการระบบทำงานของ NFT ก็พบว่ามันปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint) ลงสู่สิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการใช้งาน Ethereum Blockchain ที่มีการ ปล่อย Carbon Footprint เฉลี่ยราว 35 กิโลวัตต์ต่อชั่วโมง โดยคิดเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้าในครัวเรือน (ของทวีปยุโรป) ราว 4 วันเลยทีเดียว
และอันที่จริงแล้วไม่ใช่แค่ NFT เท่านั้นที่ปล่อย Carbon Footprint ออกมาเป็นจำนวนมาก แต่การขุด Cryptocurrency ในประเภทอื่น ๆ อย่างการขุด Bitcoin ที่ยังคงเป็นกระแสอย่างต่อเนื่องในช่วงนี้เองก็ปล่อย Carbon Footprint สู่สิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมากด้วย เพราะหลักการทำงานของมันคือการ “ปล่อยให้คอมพิวเตอร์ทำการวิเคราะห์และคำนวณ” ไปเรื่อย ๆ ซึ่งก็ถือว่าเปลืองพลังงานไฟฟ้าอย่างมากเลยทีเดียว
For anyone lost on the "how does NFT contribute to climate change?" here is a clear video of the computational power needed to solve a block from a blockchain: https://t.co/1AvWcwQIZV
— xan (@xandrei) March 9, 2021
แม้ว่าจะมีผู้คนส่วนหนึ่งออกมาแย้งว่าพลังงานที่ใช้ในการขุด Cryptocurrency ส่วนมากนั้นเป็นพลังงานส่วนเกินที่หากไม่นำเอามาใช้งานก็จะกลายเป็นพลังงานสิ้นเปลืองที่ปล่อยทิ้งเปล่า แต่จากการเติบโตของตลาด Crypto ในช่วงนี้ก็คาดว่าแค่การใช้งานพลังงานส่วนเกินเพียงอย่างเดียวคงไม่สามารถตามคนอื่นทันอย่างแน่นอน
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |