การแชทคุยกันหรือการโพสต์สเตตัสต่าง ๆ บนโซเชียลมีเดีย หรือ โปรแกรมแชท (Instant Messaging Software) ของทุกคนนั้นแทบจะเป็นเรื่องปกติที่ทำกันรายวันรายชั่วโมงไปแล้ว ซึ่งนอกจากตัวอักษรแล้วหลาย ๆ คนก็เลือกที่จะใช้งาน Emoticon, Kaomoji หรือ Emoji ประกอบไปด้วยเพื่อแสดงอารมณ์หรือสื่อความหมายต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจนมากกว่าแค่ตัวอักษร ซึ่งถ้าพูดถึง Emoticon ขึ้นมาแล้วก็เชื่อว่าชาว MSN และผู้ที่ติดนิยายรักวัยรุ่นของค่ายสีสัม ๆ ก็น่าจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีแน่นอน ส่วน Kaomoji ก็ได้รับความนิยมตามมาติด ๆ แต่อีกสิ่งที่แซงโดดขึ้นไปจนทุกวันนี้แทบขาดไปไม่ได้แล้วก็ได้แก่ Emoji รูปแบบต่าง ๆ นั่นเอง
Emoticon คือการใช้ตัวอักษรและสัญลักษณ์บนคีย์บอร์ดผสมผสานกันขึ้นมาให้เป็นรูปแบบต่าง ๆ ที่แสดงถึงอารมณ์ของผู้ส่งสาร เช่น :-) (หน้ายิ้ม), :P (แลบลิ้น), ^ ^ (ยิ้มตาปิด), - - (มองนิ่ง ๆ), >w< (หน้าแมว), =__= (สีหน้าเบื่อหน่าย) หรือ T^T (ร้องไห้) เป็นต้น โดยคำว่า Emoticon นี้ก็ได้ลดทอนมาจากคำเต็ม ๆ ที่ว่า Emotional Icon หรือไอคอนแสดงอารมณ์ต่าง ๆ นั่นเอง
และด้วยข้อจำกัดของแป้นพิมพ์ที่เราใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันนี้ทำให้เราต้องเอียงคอมอง Emoticon บางตัวในการทำความเข้าใจความหมายของ Emoticon นั้น ๆ ในขณะที่ Emoji นั้นเป็นไอคอนรูปที่แสดงผลอย่างตรงไปตรงมา (หากอุปกรณ์ที่ใช้งานรองรับการแสดงผล Emoji นั้น) ไม่ต้องเอียงคอให้เมื่อยเพื่อทำความเข้าใจกับความหมายของมัน แต่ถึงแม้จะมี Emoji ถือกำเนิดขึ้นมาแล้วก็ตาม แต่ในปัจจุบันนี้ก็ยังมีการใช้งานกันทั้ง Emoji และ Emoticon ผสมปนกันไปอยู่ดี
สำหรับต้นกำเนิดของ Emoticon นั้นก็ต้องย้อนไปถึงราว 100 กว่าก่อนปีเลยทีเดียว โดยมันได้มีการถกเถียงกันเรื่องที่มาของเจ้า Emoticon กันพอสมควรว่าเริ่มต้นมาจากปีใดกันแน่ เพราะในปี ค.ศ. 1684 (พ.ศ. 2227) นั้น Robert Herrick ได้เขียนกลอนขึ้นมาวรรคหนึ่ง ความว่า
Tumble me down, and I will sit Upon my ruins, (smiling yet:)
หรือที่แปลคร่าว ๆ ได้ว่า “ล้มฉัน, แล้วฉันจะนั่งลง ท่ามกลางความยับเยินนั้น, (ฉันยังคงยิ้ม :)” ซึ่งจากท้ายบทที่ปิดด้วยเครื่องหมาย Colon “:” และวงเล็บปิด “)” ก็ดูมีลักษณะคล้าย Emoticon ใบหน้ายิ้ม :) เป็นอย่างมากจนทำให้หลายคนสงสัยว่ามันอาจเป็นการริเริ่มใช้งาน Emoticon ครั้งแรก
รวมไปถึงในปี ค.ศ. 1862 (พ.ศ. 2405) ที่ได้มีการตีพิมพ์ในสุนทรพจน์ของ Abraham Lincoln ลงในหนังสือพิมพ์ New York Times เองก็มีการใช้สัญลักษณ์คล้ายกันนี้ด้วยเช่นกัน โดยในข้อความนั้นมีการวงเล็บว่า (Applause and laugher ;) ที่สื่อว่าในขณะที่ Lincoln กำลังพูดสุนทรพจน์อยู่นั้น ผู้ฟังได้ปรบมือและหัวเราะไปกับถ้อยคำเหล่านั้น
ในขณะที่ท้ายวงเล็บก็มีการใช้เครื่องหมาย Semicolon “;” และวงเล็บปิด “)” ที่มีความคล้ายกับ Emoticon ใบหน้ายิ้มแบบขยิบตาข้างหนึ่ง ;) ด้วย (บ้างก็ว่าเป็นการพิมพ์ผิดในหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น ไม่ได้ตั้งใจพิมพ์ให้เป็น Emoticon แต่อย่างใด)
ภาพจาก : https://en.wikipedia.org/wiki/Emoticon
แต่จากหลักฐานที่ชัดเจนถึงการใช้งาน Emoticon อย่างจงใจ (ที่ไม่ได้เป็นการปิดท้ายประโยคที่อาจทำให้หลายคนคิดไปเองว่าเป็นการใช้งาน Emoticon) นั้นเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1881 (พ.ศ. 2424) โดยมันถูกตีพิมพ์ออกมาจาก Puck ที่เป็นนิตยสารล้อเลียนเสียดสีของสหรัฐอเมริกาถึง 4 รูปหน้าด้วยกัน ซึ่ง Emoticon ที่ทาง Puck ได้ตีพิมพ์ออกมานั้นถูกเรียกว่า “Typographical Art” (ศิลปะการพิมพ์) ที่เป็นลักษณะ “ใบหน้าตรง” ที่ไม่ต้องเอียงคอมองแต่อย่างใด (แต่สัญลักษณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ยังคงเดิม เพียงแต่ตีพิมพ์ออกมาให้ดูง่ายเท่านั้น)
ภาพจาก : https://www.collecteurs.com/article/a-brief-history-of-emoji
ถัดมาในปี ค.ศ. 1912 (พ.ศ. 2455) นักเขียนชาวอเมริกัน Ambrose Bierce ก็ได้ออกมาพูดแนะนำว่าการใช้เครื่องหมายวงเล็บนั้นน่าจะแทนลักษณะของใบหน้ายิ้มแย้มได้ และการปรับเครื่องหมายวรรคตอนหรือขีด “-” เองให้เป็นรูปแบบ ‿ แทนก็ทำให้มันยิ่งคล้ายกับรอยยิ้มขบขันมากขึ้นไปอีกเมื่อใช้งานร่วมกับเครื่องหมายจุด “.” ซึ่งจากการเสนอแนะของ Bierce ที่มีลักษณะคล้าย Typographical Art ที่ทาง Puck ได้ตีพิมพ์บนนิตยสารมาก่อนหน้านี้ก็ทำให้เหล่านักเขียนจำนวนหนึ่งหันมาสนใจการใช้เครื่องหมายวงเล็บกันมากขึ้นเพื่อสื่อถึงอารมณ์กันมากยิ่งขึ้น
โดยในปี ค.ศ. 1936 (พ.ศ. 2479) Alan Gregg ก็ได้เสนอว่าแทนที่จะพลิกด้านของเครื่องหมายวงเล็บก็ใช้มันแทนแก้มทั้งสองข้างก็น่าจะได้ อย่าง (-) แทนการยิ้ม และ (--) แทนการหัวเราะ รวมไปถึงเรื่องหมาย # ก็น่าจะแทนการขมวดคิ้วและ * น่าจะแทนการขยิบตาได้ และถัดมาในช่วงปี ค.ศ. 1940 (พ.ศ. 2483) เป็นต้นมาก็เริ่มมีการใช้ Emoticon ในแวดวงชาว Sci-Fi คล้ายสัญลักษณ์แทนในกลุ่มแฟนด้อม
หลังจากเดือนกันยายนของปี ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) ที่ Mad Magazine ได้เขียนบทความเรื่อง “Typewri-toons” ก็เริ่มนำเอาตัวอักษรอื่น ๆ ในภาษาอังกฤษเข้ามาใช้ร่วมด้วย โดยให้เครดิตกับทาง Royal Portable ไป ซึ่งตัวอย่างของตัวอักษรที่นำเอามาใช้แทนความหมายต่าง ๆ ก็ตัวอย่างเช่น “P” แสดงถึงผู้หญิงที่มีหน้าอก และ “I” แสดงถึงผู้หญิงอกแบนหรือผู้ชาย และตัวอักษร “b และ d” ก็ตีความหมายว่าเป็นคนท้อง หรือ “n” แสดงถึงนักเรียนในห้องเรียนทั่วไปและ “h” แทนนักเรียนที่ยกมือขึ้นนั่นเอง
เราพยายามหารูป Mad Maggazine ปี ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) แล้วไม่เจอ ใกล้เคียงสุดคือในปี ค.ศ. 1965 (พ.ศ. 2508) ที่มีการพูดถึง Typewri-toons แต่เนื้อความก็มีความคล้ายคลึงกัน
ภาพจาก : https://www.madcoversite.com/features-typewri-toons.html
จะเห็นได้ว่าส่วนมากนั้นมักใช้ Emoticon ต่าง ๆ ในรูปแบบของการเขียนและการตีพิมพ์หนังสือพิมพ์หรือนิตยสารต่าง ๆ แต่ในช่วงปี ค.ศ. 1972 (พ.ศ. 2515) ก็ได้มีการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ PLATO IV ที่เมื่อพิมพ์ตัวอักษรหรือสัญลักษณ์ตามที่ระบบกำหนดไว้ก็จะมี Emoticon ปรากฏขึ้นมาแสดงบนหน้าจอ (ส่วนตัวคิดว่าการแสดงผลมันค่อนข้างคล้าย Emoji มากกว่า แต่หลักการพิมพ์เหมือนการใช้ Emoticon จึงขอนับรวมเป็นหนึ่งใน Emoticon)
แต่กว่า Emoticon จะได้รับความนิยมขึ้นสูงจนนำเอามาบัญญัติใช้งานกันทั่วไปก็อยู่ที่ราวช่วงปี ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525) เลยทีเดียว โดย Scott Fahlman ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon (เมือง Pittsburgh รัฐ Pennsylvania ประเทศสหรัฐอเมริกา) ได้ส่งอีเมลไปหา Computer Bulletin Board หรือกระดานข่าวคอมพิวเตอร์ที่คล้ายเว็บบอร์ดที่ในการกระจายข่าวสารต่าง ๆ ในวันที่ 19 กันยายน ปี ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525) เวลา 11:44 น. ความว่า
19-Sep-82 11:44 Scott E Fahlman :-)
From: Scott E Fahlman
I propose that the following character sequence for joke markers :-)
Read it sideways. Actually, it is probably more economical to mark things that are NOT jokes, given current trends. For this, use :-(
หรือที่แปลคร่าว ๆ ได้ว่าเขาแนะนำให้ใช้ Emoticon :-) ในเรื่องดี ๆ หรือเรื่องสนุกสนาน โดยให้เอียงคออ่านจะมองเห็นชัดเจนกว่า และกับเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องตลกหรือน่าสนุกให้ใช้ :-( แทน โดย Fahlman ได้เสนอความคิดนี้ขึ้นมาหลังจากที่อ่านบอร์ดแล้วรู้สึกว่ามันค่อนข้างที่จะจืดชืดมากเกินไปเพราะผู้คนส่วนมากไม่สามารถจับความรู้สึกจากตัวอักษรได้แม้จะเป็นการเล่าเรื่องตลกก็ตาม ดังนั้นเขาจึงคิดว่าการเพิ่ม Emoticon เข้ามาประกอบการเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ก็น่าจะทำให้ผู้คน “อิน” กับเรื่องนั้น ๆ มากขึ้นได้
ซึ่งแน่นอนว่าความคิดนี้ของ Fahlman ก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจนมีคนสนใจหยิบนำเอาไปใช้งานกันแพร่หลายทั่วเว็บบอร์ด อีกทั้งยังลามไปใช้งานบนยังเว็บไซต์อื่น ๆ นอกเหนือจากนี้อีกมากมาย ทำให้ Emoticon เป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมในการใช้งานบนโลกอินเทอร์เน็ตอย่างรวดเร็ว
ถัดมาหลังจากที่การใช้งาน Emoticon เริ่มแพร่หลาย อีกสิ่งที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันก็ได้แก่ Kaomoji ที่มีลักษณะคล้าย Emoticon คือ เป็นการนำเอาตัวอักษรและสัญลักษณ์ต่าง ๆ มาผสมเข้าด้วยกันเพื่อสื่อความหมายต่าง ๆ ออกมา แต่ Kaomoji นั้นจะนำเอาตัวอักษรของประเทศอื่น ๆ เข้ามาใช้งานร่วมด้วย (ในขณะที่ Emoticon ใช้เฉพาะตัวอักษรภาษาอังกฤษและสัญลักษณ์บนคีย์บอร์ดที่เราคุ้นเคยกันดีเท่านั้น)
ซึ่งที่มาของ Kaomoji นี้ก็ถือกำเนิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นในราวช่วงปี ค.ศ. 1986 (พ.ศ. 2529) หลังจากที่ได้มีการใช้งาน Emoticon กันอย่างแพร่หลายมาสักระยะหนึ่ง ชาวญี่ปุ่นก็เกิดความคิดขึ้นมาว่าตัวอักษรต่าง ๆ ของภาษาตนเองนั้นมีความน่ารักและสามารถนำเอามาดัดแปลงให้มีลักษณะคล้าย Emoticon ได้เช่นกัน จึงเริ่มนำเอาตัวอักษรในภาษาญี่ปุ่นมาใช่ร่วมกับสัญลักษณ์เพื่อดัดแปลงเป็น Kaomoji ที่สื่ออารมณ์ได้หลากหลายและแปลกใหม่กว่า Emoticon นั่นเอง
และไม่เพียงแต่จะนำเอาตัวอักษรของประเทศตัวเองมาประกอบขึ้นเป็น Kaomoji เท่านั้น ทางญี่ปุ่นยังนำเอาตัวอักษรจากหลาย ๆ ประเทศมาปรับใช้งานด้วย ไม่ว่าจะเป็น เกาหลี, จีน, ไทย, อาหรับ หรือประเทศอื่น ๆ เองก็ถูกนำเอาตัวอักษรมาดัดแปลงเป็นส่วนหนึ่งของ Kaomoji ไปเสียแล้ว
https://soranews24.com/2019/09/03/japanese-survey-finds-top-10-emoji-that-make-you-look-like-an-old-man/
ส่วนน้องใหม่ในวงการนี้อย่าง Emoji ที่ได้รับความนิยมพุ่งสูงขึ้นมาอย่างรวดเร็วด้วยความที่มันสามารถสื่อความหมายได้อย่างตรงไปตรงมาและประหยัดตัวอักษรไม่ต้องมาเอียงคอมองหรือคอยนั่งเดาว่ามันหมายถึงอะไรกันแน่นั้นได้ถือกำเนิดขึ้นมาในปี ค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2542) โดย Shigetaka Kurita ครีเอเตอร์ชาวญี่ปุ่น ซึ่งคำว่า Emoji นั้นก็แปลงมาจากคำว่า 絵 (เอะ) ที่หมายถึงรูปภาพในภาษาญี่ปุ่น รวมกับคำว่า 文字 (โมจิ) ที่หมายถึงตัวอักษร (รวมกันแล้วสามารถแปลได้คร่าว ๆ ว่าอักษรภาพ)
และเมื่อเขียนเป็นภาษาอังกฤษแล้วจะอยู่ในรูปคำว่า Emoji ซึ่งคำว่า Emo นี้ก็ไปฟ้องเสียงกับคำว่า Emotion ที่แปลว่าการแสดงอารมณ์ในภาษาอังกฤษอีกด้วย ทำให้หลาย ๆ คนเรียก Emoji ว่า อิโมจิ หรือ อีโมจิ แทนภาษาต้นที่ควรออกเสียงว่า “เอะโมจิ” ไปโดยปริยาย
แม้ว่าผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ Emoji ขึ้นมาจะตั้งใจเอาไว้ว่าจะนำเอามาใช้งานเพื่อประหยัดพื้นที่ตัวอักษรในการส่งข้อความทางโทรศัพท์ด้วยตัวอักษรภาพ (Emoji) รูปแบบต่าง ๆ โดยเริ่มต้นมันมีขนาดเพียงแค่ 12 x 12 พิกเซล และเป็นรูปทรงพิกเซลเหลี่ยม ๆ เท่านั้น แต่หลังจากที่มีคนพบเห็นความน่ารักและความสะดวกในการใช้งานสื่อสารของเจ้า Emoji นี้ก็ทำให้มันขยายความนิยมไปทั่วญี่ปุ่นด้วยความรวดเร็ว
ภาพจาก : https://www.collecteurs.com/article/a-brief-history-of-emoji
และไม่เพียงแค่ประเทศญี่ปุ่นเองที่ให้ความสนใจกับเจ้า Emoji เหล่านี้ เพราะหลังจากในปี ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) ที่ทางบริษัทสมาร์ทโฟนค่ายดังจากสหรัฐอเมริกาอย่าง Apple ได้นำเอาแป้นพิมพ์ Emoji เข้ามาเพิ่มสีสันในการตอบข้อความระหว่างกันก็ทำให้มันกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้บนสมาร์ทโฟนทุกรุ่นไปเสียแล้ว และสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งของ Emoji บนสสมาร์ทโฟนก็คือ “รูปร่างหน้าตา” ที่มีความแตกต่างกันไปตามระบบปฏิบัติการที่ใช้งานนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ Emoji ต่าง ๆ จะมีการปรับปรุงตามลักษณะเฉพาะของสมาร์ทโฟนค่ายต่าง ๆ แต่ผู้ที่ให้การดูแลจัดการสร้างสรรค์การคิดค้น Emoji ต้นแบบก็ได้แก่องค์กร Unicode Consortium ที่เข้ามามีบทบาทในการปล่อย Emoji ต่าง ๆ ให้ออกมาใช้งานกันในทุก ๆ ปี
และหลังจากที่ทาง Unicode ได้ประกาศ Emoji ต่าง ๆ แล้ว ทางบริษัทสมาร์ทโฟนก็จะเริ่มนำเอา Emoji เหล่านี้ไปปรับปรุงให้เป็นรูปแบบเฉพาะของตัวเองอีกทีหนึ่งและทยอยปล่อยใช้งานตามกำหนดเวลาของตนเอง (สำหรับสมาร์ทโฟนรุ่นเก่า ๆ ที่ยังไม่รองรับ Emoji ใหม่ ๆ ก็จะเห็นเป็นรูปกล่องสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ แทน)
ในปัจจุบันนี้จะเห็นได้ว่าถึงแม้จะมีการพัฒนาของทั้ง Emoticon, Kaomoji และ Emoji ขึ้นมาในรูปแบบต่าง ๆ มากมาย ซึ่งจะสังเกตได้ว่าหลาย ๆ ครั้งที่เราพิมพ์ Emoticon ลงในโซเชียลมีเดียต่างมันก็จะเปลี่ยนรูปแบบจาก Emoticon ให้กลายเป็น Emoji โดยอัตโนมัติ เช่น เมื่อเราพิมพ์ :) มันก็จะกลายเป็น Emoji หน้ายิ้ม (🙂) ขึ้นมาแทน หรือ <3 ก็เปลี่ยนเป็น emoji รูปหัวใจ (❤) แต่ก็เฉพาะกับ emoticon และ ยอดนิยมที่มีการใช้งานบ่อย ๆ เท่านั้นที่จะมีการเปลี่ยนแบบอัตโนมัติ ส่วนอันไหนที่แอดวานซ์หน่อยก็ยังมีการแสดงผลเป็น ดังเดิม
ภาพจาก : https://mcollier.blogspot.com/2013/05/personalize-mood-and-activities-to.html
แต่ Kaomoji นั้นก็ไม่ได้เข้ามาร่วมกระบวนการ “แปลงร่า
ง” เหมือนกับ Emoticon แ ละ Emoji แต่อย่างใด เพราะมันเป็นสิ่งที่ค่อนข้างที่จะแตกต่างไปจาก Emoticon และ Emoji เพราะ ผู้ใช้จำเป็นที่จะต้องดาวน์โหลดแป้นพิเศษสำหรับ Kaomoji มาใช้งานโดยเฉพาะ หรืออาจเลือกเปิดใช้งานแป้นพิมพ์ภาษาญี่ปุ่น / เกาหลี / จีน หรือภาษาอื่น ๆ ที่มี Kaomoji รองรับและพิมพ์สัญลักษณ์บางอย่างให้ขึ้น Kaomoji ขึ้นมาให้เลือกใช้ (ส่วนผู้ที่มีความรู้พื้นฐานของภาษานั้น ๆ ก็จะใช้งาน Kaomoji ได้ง่ายหน่อยโดยการพิมพ์คีย์เวิร์ดเข้าไปก็จะมี Kaomoji ให้ เลือกใช้ตามความหมายที่ต้องการสื่อที่สะดวกขึ้น)
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |