ทุกคนรู้ หรือไม่ว่าสมองของมนุษย์ถูกออกแบบมาให้เข้าใจโลกในมิติที่ลึกกว่าภาพแบนราบที่มองอยู่บนจอภาพ เราสามารถมองสิ่งต่าง ๆ ด้วยความรู้สึกถึง พื้นที่, ทิศทาง และระยะห่าง หลายทศวรรษที่ผ่านมาวิดีโอ ซึ่งเป็นหนึ่งในสื่อหลักยังยึดติดอยู่กับการมองเรื่องราวผ่านมุมกล้องเพียงมุมเดียว ผู้ชมกลายเป็นผู้สังเกตการณ์อยู่ภายนอกเรื่องราวแทนที่จะเหมือนกับว่ามีส่วนร่วม จนกระทั่งการมาถึงของ "การสร้างวิดีโอแบบมีมิติ (Volumetric Video)"
สำหรับ Volumetric Video คือการยกระดับ "มุมมอง" ที่เราดูวิดีโอนั้นอยู่ โดย Volumetric Video ทำให้วัตถุ และคนในวิดีโอกลายเป็นสิ่งที่มีปริมาตร มีความลึกจริง ๆ และสามารถหมุนมองได้จากทุกทิศทาง ทำให้ผู้ชมนั้นรู้สึกมีส่วนร่วมกับสิ่งที่กำลังชมอยู่ และในบทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักว่า Volumetric Video คืออะไร ? เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลัง, วิธีการทำขึ้นมา และตัวอย่างสื่อที่นำวิธีการนี้ไปใช้แล้ว เพื่อให้ทุกคนเห็นว่า Volumetric Video กำลังเปลี่ยนมุมมองของพวกเราอย่างไร ? ...
(Vการสร้างวิดีโอแบบมีมิติolumetric Video) หรือบางทีอาจเรียกว่า "Volumetric Capture" ซึ่งก็คือ เทคโนโลยีวิดีโอที่สามารถเก็บภาพของวัตถุ, บุคคล หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ในรูปแบบสามมิติ ทำให้ผู้ชมสามารถมองเห็นจากหลายมุม ไม่ใช่แค่ภาพจากมุมกล้องเดียวแบบวิดีโอทั่วไป พูดง่าย ๆ คือ มันเป็นวิดีโอที่ "หมุนดูรอบตัวได้" เหมือนเราเดินดูสิ่งที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์นั้นจริง ๆ นั่นเอง
ภาพจาก : https://medium.com/volumetric-filmmaking/the-brief-history-of-volumetric-filmmaking-32b3569c6831
เทคโนโลยีนี้ทำงานโดยใช้กล้องหลายตัวบันทึกภาพจากรอบทิศทาง จากนั้นนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผลร่วมกันเพื่อสร้างภาพที่มีความลึก และมีมิติสมจริง ผลลัพธ์ที่ได้สามารถรับชมผ่านอุปกรณ์หลากหลายประเภท ได้ตั้งแต่หน้าจอธรรมดาไปจนถึง เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (VR) หรือ เทคโนโลยีความเป็นจริงเสริม (AR) ซึ่งรองรับการเคลื่อนไหวแบบหกทิศทาง (6DoF) ทำให้ผู้ใช้งานสามารถขยับ, เปลี่ยนมุมมอง หรือแม้แต่เคลื่อนไปรอบ ๆ ตัวแบบได้อย่างอิสระเลยทีเดียว
ภาพจาก : https://production.evercoast.com/remote-volumetric-video-production/
และสิ่งที่ทำให้ Volumetric Video มันน่าสนใจมาก ๆ ก็คือ มันสามารถเปลี่ยนการ “ดู” ให้กลายเป็นการ “มีส่วนร่วม” ได้ ผู้ชมไม่จำเป็นต้องนั่งอยู่กับที่เฉย ๆ แต่สามารถสำรวจเหตุการณ์ราวกับอยู่ในโลกเสมือนจริง เทคโนโลยีนี้จึงถูกนำไปใช้ในหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็น เกม, สื่อบันเทิง, การศึกษา และการนำเสนอข้อมูลแบบโต้ตอบได้นั่นเอง
การสร้างวิดีโอแบบมีมิติ (Volumetric Video) เริ่มจากการจับภาพมุมลึก (Depth) และสี (Color) ของวัตถุหรือบุคคลในเวลาเดียวกัน โดยทั่วไปจะใช้กล้องตรวจจับความลึก เช่น Azure Kinect ควบคู่กับกล้องถ่ายภาพสี เพื่อเก็บข้อมูลทั้งรูปร่าง และรายละเอียดพื้นผิวให้แม่นยำมากที่สุด
ภาพจาก : https://github.com/microsoft/Azure-Kinect-Sensor-SDK/issues/803
กระบวนการนี้มักจะไม่ได้ใช้กล้องตัวเดียว แต่จะใช้กล้องหลายมุมล้อมรอบตัวแบบ จากนั้นจึงนำข้อมูลทั้งหมดไปประมวลผลเป็นวิดีโอแบบสามมิติที่หมุนดูได้รอบตัว มีซอฟต์แวร์เฉพาะทางอย่าง Depthkit ที่ช่วยให้ผู้สร้างสามารถนำข้อมูลความลึก และสีจากกล้อง มารวมกันเป็นวิดีโอแบบ Volumetric ได้สะดวกขึ้น ผู้ใช้ทั่วไปที่ไม่ได้เป็นสตูดิโอก็ทำได้
และในส่วนระดับมืออาชีพ บริษัทอย่าง Microsoft ก็ยังได้พัฒนา ห้องสตูดิโอสำหรับ Mixed Reality ที่ติดตั้งกล้องจำนวนมากในห้องที่มีฉากเขียว (Green screen) เพื่อถ่ายทำวิดีโอคุณภาพสูง เหมาะสำหรับงานโฆษณา, การแสดง หรือโปรเจกต์ด้านความบันเทิงที่ต้องการความสมจริง
ในส่วนของการรับชม การสร้างวิดีโอแบบมีมิติ (Volumetric Video) นั้นแตกต่างจากการดูวิดีโอทั่วไป เพราะว่ามันไม่ใช่แค่กด เล่น แล้วนั่งดูเฉย ๆ เท่านั้น แต่จะต้องใช้แพลตฟอร์ม หรือแอปพลิเคชันเฉพาะในการแสดงผล AR หรืออาจจะใช้อุปกรณ์ที่รองรับการแสดงภาพสามมิติอย่างแว่น VR
ภาพจาก : https://www.linkedin.com/pulse/augmented-reality-unleashed-transforming-ar-p-ashokkumar-pash--dos3c
แม้ในปัจจุบันจะสามารถเปิดชมบนสมาร์ทโฟนที่รองรับ AR ได้ แต่ขนาดหน้าจอที่ไม่ได้กว้างนัก อาจยังไม่สามารถสร้างความรู้สึกเหมือนได้เข้าไปอยู่ในฉากได้เต็มที่ ดังนั้น การใช้งานผ่านอุปกรณ์ VR จะให้ประสบการณ์ที่สมบูรณ์กว่ามาก เพราะสามารถหมุนมองรอบทิศ เคลื่อนไหวแบบ 6DoF ได้
ภาพจาก : https://en.wikipedia.org/wiki/Virtual_reality
แต่ปัญหาหลักคือ การแสดงผล Volumetric Video ยังมีข้อจำกัดที่ขนาดไฟล์ ที่ใหญ่ และต้องดาวน์โหลดไว้ล่วงหน้า ทำให้ผู้ใช้ไม่สามารถคลิกดูทันทีแบบที่เคยชินจาก YouTube หรือ Netflix ถึงอย่างนั้น ความแพร่หลายของแว่น VR/AR ก็เริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นสัญญาณบวกว่า Volumetric Video จะได้รับความนิยมมากขึ้นในอนาคต
การสร้างวิดีโอแบบมีมิติ (Volumetric Video) จะช่วยให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนได้อยู่ในฉากจริง มองเห็นจากทุกมุม และเคลื่อนไหวได้อิสระ
สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในวงการบันเทิง, การศึกษา, การท่องเที่ยว, ไปจนถึงสถาปัตยกรรม และวิศวกรรม เช่น อาจจะจำลองสถานที่ท่องเที่ยว ๆ ก่อนโดยไม่ต้องเดินทางไปดูเอง
เมื่อจับภาพเสร็จแล้ว ข้อมูลสามารถนำกลับมาใช้งานใหม่ได้สร้างฉากเสมือน หรือปรับเปลี่ยนเนื้อหาโดยไม่ต้องถ่ายใหม่
แม้จะเป็นเทคโนโลยีใหม่ แต่ยังต้องอาศัยฝีมือด้านการ จัดแสง, ถ่ายทำ, ออกแบบฉาก และการเล่าเรื่อง เพื่อให้ผลงานออกมามีคุณภาพ ทำให้งานเดิมที่เคยมีไม่ได้หายไป
การบันทึกข้อมูลภาพสามมิติต้องใช้พื้นที่จัดเก็บมหาศาล และยังไม่มีมาตรฐานกลางในการสตรีม หรือแสดงผล ทำให้เข้าถึงได้ยากในตอนนี้
การถ่ายทำ, ตัดต่อ และแสดงผลอาจต้องปรับกระบวนการใหม่เกือบทั้งหมด ผู้ผลิตคอนเทนต์ต้องเรียนรู้ และปรับตัวกับเทคโนโลยีใหม่ตลอดเวลา
เนื่องจากเป็นสื่อใหม่ วิธีเล่าเรื่องในรูปแบบนี้ยังอยู่ระหว่างการทดลอง ไม่มีรูปแบบ หรือหลักการที่ชัดเจนเหมือนภาพยนตร์ทั่วไป
ถึงแม้จะมีอุปกรณ์ราคาถูกลงบ้างแล้ว แต่การผลิตระดับคุณภาพยังคงต้องใช้กล้องหลายตัว สตูดิโอเฉพาะ และระบบประมวลผลขั้นสูงซึ่งเพิ่มต้นทุนให้ผู้ผลิตมากขึ้น
หนึ่งในตัวอย่างที่โดดเด่นที่สุดของการใช้ การสร้างวิดีโอแบบมีมิติ (Volumetric Video) คือในวงการกีฬา โดยเฉพาะในลีกอเมริกันฟุตบอล NFL ที่ร่วมมือกับ Intel เพื่อนำเสนอการเล่นในสนาม ผ่านเทคโนโลยีที่เรียกว่า "True View" ลองดูตัวอย่างได้ในคลิปวิดีโอด้านล่างเลย
วิดีโอจาก : https://www.youtube.com/watch?v=zLKYwFjmj1k
โดยระบบนี้จะใช้กล้องที่มี ความคมชัดระดับ 5K จำนวนหลายสิบตัวติดตั้งรอบสนาม เพื่อจับภาพทุกมุมของเกมแบบเรียลไทม์ จากนั้นข้อมูลทั้งหมดจะถูกประมวลผลเป็นวิดีโอสามมิติ ทำให้สามารถ ย้อนดูจังหวะสำคัญจากมุมของผู้เล่นได้ ไม่ว่าจะเป็นมุมมองของผู้เล่นตำแหน่งไหนก็ตาม
อีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจมาจาก Microsoft ร่วมกับทีมสร้างภาพยนตร์ Blade Runner 2049 ซึ่งพัฒนาโปรเจกต์ VR ชื่อว่า Memory Lab เพื่อให้ผู้ชมได้เข้าไปอยู่ในโลกของภาพยนตร์ ด้วยตัวเอง ซึ่งโปรเจกต์นี้ใช้เทคโนโลยีจาก Microsoft Mixed Reality Capture Studio ในการจับภาพนักแสดงที่เป็นคนจริง ๆ ในรูปแบบสามมิติ แล้วนำไปวางในฉากเสมือนที่สร้างขึ้นแบบ 3D เมื่อผู้ชมสวมแว่น VR จะสามารถเดินสำรวจฉาก และพบกับตัวละครในเรื่องแบบใกล้ชิดราวกับยืนอยู่ตรงหน้าเลยทีเดียว
วิดีโอจาก : https://www.youtube.com/watch?v=-YuK-AipQRc
การสร้างวิดีโอแบบมีมิติ (Volumetric Video) นั้นไม่ใช่แค่เทคโนโลยีใหม่ แต่คือการเปลี่ยนวิธีที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับวิดีโอจาก การรับชม ไปสู่ การมีส่วนร่วม มันช่วยให้ผู้ชมได้สำรวจเหตุการณ์จากหลายมุมมอง เหมือนเข้าไปอยู่ในฉากจริง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการดูการแข่งขันกีฬาจากมุมของนักกีฬา หรือการเดินสำรวจโลกภาพยนตร์แบบสมจริง
แม้ปัจจุบันจะยังมีข้อจำกัดเรื่องขนาดข้อมูล แต่แนวโน้มในอนาคตชี้ชัดว่า เมื่อเทคโนโลยี AR/VR แพร่หลายมากขึ้น Volumetric Video จะกลายเป็นแกนหลักของประสบการณ์สื่อใหม่ ท้ายที่สุดแล้ว Volumetric Video คือสะพานที่เชื่อมโลกจริง กับโลกเสมือนเข้าด้วยกัน และเป็นเครื่องมือที่เปิดโอกาสใหม่ให้กับผู้สร้างสรรค์ยุคถัดไปได้เล่าเรื่องในรูปแบบที่เราไม่เคยสัมผัสมาก่อน
|