ก่อนหน้านี้หลายๆ คนน่าจะเคยได้ยินทฤษฎีการคำนวณหาอายุสุนัขเทียบกับอายุมนุษย์แบบคร่าวๆ กันมาบ้างว่า "สุนัขอายุ 1 ปี เทียบเท่ากับอายุมนุษย์ราว 7 ปี" เช่น สุนัขอายุ 5 ปี 6 เดือน ก็จะเทียบเท่าอายุมนุษย์เกือบๆ 40 ปี แต่ทฤษฎีการคำนวณอายุนี้ก็ไม่ได้มีหลักฐานยืนยันที่ชัดเจนออกมาแต่อย่างใด (คาดว่าน่าจะเป็นการนำเอาอายุไขเฉลี่ยของสุนัขมาเทียบกับอายุไขเฉลี่ยของมนุษย์และคำนวณเทียบกันอย่างคร่าวๆ)
ภาพจาก : https://www.cell.com/cell-systems/fulltext/S2405-4712(20)30203-9
และในงานวิจัยสัตวเภสัชศาสตร์ ของมหาวิทยาลัย California, San Diego ชิ้นล่าสุดที่ได้ตีพิมพ์ลงในวารสาร Cell Press (วารสารทางวิชาการที่รวบรวมผลการวิจัยเชิงชีววิทยา) ก็ได้ออกมาแย้งสูตรการคำนวณอายุดังกล่าวนี้ว่าเราไม่สามารถใช้การคูณด้วย 7 เพื่อคำนวณอายุสุนัขอย่างคร่าวๆ ได้ เพราะช่วงอายุของสุนัขได้มีการแบ่ง “ขั้นพัฒนาการ (Development Stage)” ที่ต่างออกไปจากมนุษย์โดยสิ้นเชิง
โดยในช่วงชีวิตของทั้งมนุษย์และสุนัขนั้นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงของ DNA ไปมากเท่าไรนัก แต่ร่องรอยทางเคมีบน DNA ที่เรียกว่า Methylation Mark นั้นมีการสึกหรอไปตามช่วงอายุ (คล้ายกับการหย่อนคล้อยของกล้ามเนื้อหรือการเสื่อมของเม็ดสีภายในเส้นผมที่ก่อให้เกิดผมหงอกตามอายุที่เพิ่มขึ้น)
ภาพจาก : https://www.cell.com/cell-systems/fulltext/S2405-4712(20)30203-9
ซึ่งจากการศึกษาวิจัยสุนัขพันธุ์ลาบาดอร์ (Labrador Retriever) ทั้งหมด 104 ตัวในช่วงอายุที่แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ลูกสุนัขอายุไม่กี่สัปดาห์ไปจนถึงอายุสูงสุดที่ 16 ปี มาเทียบรูปแบบการสึกหรอของ Methylation Mark บน DNA ระหว่างสุนัขและมนุษย์ในช่วงอายุต่างๆ ก็พบว่าสุนัขอายุ 1 ปีนั้นสามารถเทียบเท่าได้กับมนุษย์อายุ 30 ปีเลยทีเดียว โดย Trey Ideker หนึ่งในนักวิจัยอาวุโสได้กล่าวว่า
ด้วยช่วงการพัฒนาการและการเจริญเติบโตของสุนัขจะเห็นได้ว่า (ลูก) สุนัขอายุเพียงแค่ 9 เดือนก็สามารถตั้งครรภ์ได้แล้ว ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าสุนัข 1 ปีจะถือว่าโตเต็มวัยได้แค่ไหน -- มันก็เทียบเท่ากับมนุษย์อายุราวๆ 30 ปีนั่นละ
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถนำเอาอายุของสุนัขไปคูณกับ 30 เพื่อเทียบอายุได้แต่อย่างใด เพราะมันมีสูตรการคำนวณที่ซับซ้อนกว่านั้นอยู่มาก โดยงานวิจัยชิ้นนี้ได้ระบุถึงสูตรการคำนวณเทียบหาอายุของสุนัขและมนุษย์เอาไว้ว่าจะต้องนำเอา Natural Logarithm เข้ามาคำนวณร่วมด้วย ตามสูตรดังนี้
อายุมนุษย์ = 16 ln(อายุสุนัข) + 31
และสำหรับใครที่ไม่มีหัวทางด้านคณิตศาสตร์ (เช่นเรา) ที่คืนความรู้เรื่องลอการึทึมและการคิดคำนวณสูตรต่างๆ ให้อาจารย์ไปเรียบร้อย ก็แนะนำให้ใช้บริการโปรแกรมหรือเว็บไซต์เพื่อช่วยคิดคำนวณ (https://www.symbolab.com/solver/logarithms-calculator/%5Cln%28e%29) น่าจะดีกว่า เพราะนอกจากจะไม่ทำให้ปวดหัวแล้วมันยังช่วยประหยัดเวลาในการคำนวณได้อีกด้วย
ตัวอย่างการคำนวณ จะเห็นได้ว่าสุนัขอายุ 5 ปี มีอายุเทียบได้กับมนุษย์ราว 56 ปี
จากสูตรการคำนวณแบบใหม่นี้ สุนัขอายุ 8 สัปดาห์จะเทียบเท่าได้กับเด็กอายุ 9 เดือน (ในขณะที่สูตรการคำนวณแบบเดิมจะถือว่าสุนัขอายุ 8 สัปดาห์เท่ากับเด็กอายุ 4 ขวบกว่า) ซึ่งเมื่อเทียบกับลักษณะการเติบโตและพัฒนาการ ในช่วงอายุดังกล่าวก็เป็นช่วงที่ทั้งลูกสุนัขและเด็กทารกกำลังมีการเจริญเติบโตของฟันด้วยกันทั้งคู่ ดังนั้นทฤษฎีนี้จึงดูมีความน่าเชื่อถือมากกว่าทฤษฎีการคูณด้วย 7 ที่ไม่มีหลักฐานยืนยันอย่างชัดเจน
ซึ่งสูตรการคำนวณใหม่นี้จะเห็นได้ว่าอายุสุนัขในช่วง 1 ปีแรกนั้นมีการพัฒนาการที่ก้าวกระโดดมากกว่ามนุษย์อยู่หลายเท่า ในขณะที่เมื่อผ่านพ้น 1 ปีไปแล้ว อายุสุนัขก็ดูเหมือนจะคงที่และเพิ่มขึ้นได้ช้าลงจากเดิมมาก เพราะอายุ 2 ปีจะเทียบเท่ากับอายุของมนุษย์ราว 40 ปี, สุนัขอายุ 5 ปีจะคิดเป็นอายุมนุษย์ได้ราว 56 ปี ส่วนสุนัขอายุ 14 ปี น่าจะเทียบได้กับอายุมนุษย์ประมาณ 73 ปีนั่นเอง
ภาพจาก : https://www.cell.com/cell-systems/fulltext/S2405-4712(20)30203-9
การคำนวณอายุรูปแบบใหม่นี้น่าจะมีประโยชน์สำหรับสัตวแพทย์อยู่ไม่น้อย เพราะสัตว์ที่มีอายุที่ต่างกันก็มีผลต่อการรับโดสยาที่แตกต่างกันออกไป แต่อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยก็ได้ทิ้งท้ายว่าการศึกษาอายุจาก Methylation Mark นี้ก็สามารถทำได้เพียงแค่ในสัตว์บางสปีชีส์เท่านั้น และไม่แน่ว่าสุนัขสายพันธุ์ที่แตกต่างกันก็อาจมีการสึกหรอของ DNA ที่ต่างกันด้วย แต่ในเบื้องต้นก็ถือว่าสูตรการคำนวณนี้มีความน่าเชื่อถือกว่าทฤษฎีคำนวณอายุแบบเก่าอยู่มากเลยทีเดียว
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |