HDR ย่อมาจากคำว่า High Dynamic Range คุณสมบัติของมันก็เป็นไปตามคำแปลเลย "High" แปลว่า "สูง" ส่วน "Dynamic Range" จะหมายถึงขอบเขตระหว่างค่าสูงสุดกับค่าต่ำสุด ส่วนใหญ่จะนิยมใช้กับค่าสัญญาณ เช่น ข้อมูลเสียง ข้อมูลภาพ ซึ่ง HDR ที่เราได้ยินกันบ่อยๆ เวลาซื้อหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือโทรทัศน์ จะเป็นเรื่องของการแสดงผลบนจอ
หน้าจอแบบ HDR คือ หน้าจอที่รองรับขอบเขตการแสดงผลส่วนที่สว่างที่สุด กับส่วนที่มืดที่สุด ได้กว้างกว่าปกติ ช่วยให้ภาพที่เรารับชมผ่านจอมีรายละเอียดแสงดีขึ้น, รายละเอียด และความคมชัด สวยงามกว่าภาพแบบมาตรฐาน SDR (Standard Dynamic Range)
หรือพูดง่ายๆ ว่า จอ HDR ทำให้ภาพที่เราเห็น "สวย" ขึ้น
ภาพจาก https://www.studiodaily.com/2018/12/ready-hdr-delivery/
วิดีโอ SDR จะใช้ข้อมูลสีระดับ 8 บิต ในขณะที่ HDR จะเริ่มต้นที่ 10 บิต (บางมาตรฐานรองรับถึง 12 บิต) ซึ่งยิ่งค่าบิตนี้ยิ่งสูงก็หมายความว่าข้อมูลของระดับเฉดสีก็จะไล่ได้กว้างขึ้น ซึ่งมีผลสำคัญต่อการเกิด Banding ในการแสดงผล
Banding เป็นปรากฏการณ์ที่เการแสดงผลแบบไล่สีเห็นขอบอย่างชัดเจนเป็นแถบๆ (ฝั่งซ้าย) ซึ่งความจริงมันควรจะเกลี่ยเนียนไม่เห็นรอบต่อ (ฝั่งขวา)
ภาพจาก https://adobelessons.com/can-we-really-remove-banding-photoshop-tutorial/
วิดีโอที่ใช้ค่าสีระดับ 8 บิต จะแสดงค่าได้ 256 เฉด ต่อ 1 สี เทียบกับ HDR ที่ทำได้ถึง 1,024 เฉด ต่อ 1 สี ทำให้รอยต่อของเฉดสีมีความเนียนสบายตา ภาพดูสวยงามสมจริงมากขึ้น
ภาพจาก https://www.bhphotovideo.com/explora/video/tips-and-solutions/8-bit-10-bit-what-does-it-all-mean-for-your-videos
ทีนี้ เจ้า HDR ที่เราว่ามาเนี่ย มันก็มีอยู่หลายมาตรฐาน โดยที่รู้จักกันก็จะมี HDR10, HDR10+, Dolby Vision, HLLG และ SL-HDR1 แล้วจะเลือกใช้แบบไหนดี เชิญอ่านต่อได้เลยครับ
ภาพจาก https://www.howtogeek.com/690215/hdr-formats-compared-hdr10-dolby-vision-hlg-and-technicolor/
มาตรฐาน HDR10 เป็นเหมือนกับค่าเริ่มต้นของหน้าจอที่รองรับเทคโนโลยี HDR เลยก็ว่าได้ มันเป็นมาตรฐานที่หน้าจอทุกรุ่นที่รองรับ HDR สามารถใช้งานได้อย่างแน่นอน หากเห็นสัญลักษณ์ HDR แปะอยู่แต่ไม่บอกว่าเป็น HDR อะไร สามารถสันนิษฐานไว้ก่อนได้เลยว่าน่าจะเป็น HDR10
เนื้อหาที่ผลิตมารองรับ HDR10 จะถูกบันทึกโดยมีค่าความสว่างสูงสุด 1,000 nits แล้วใช้ค่านี้แบบ Static metada มาเฉลี่ยเป็นค่าแสงสำหรับแสดงผลภาพทั้งหมดทุกเฟรม แม้วิธีการนี้จะถือว่าเป็น "งานหยาบ" แต่มันก็ช่วยให้การแสดงผลทั้งหมดดูดีกว่า SDR มาก
ด้วยความที่ HDR10 เป็น Open format เปิดกว้างให้ทุกคนสามารถใช้งานได้ฟรี มันจึงได้รับการสนับสนุนจากผู้ผลิต อุปกรณ์ที่รองรับการบันทึก HDR10 มีให้เลือกใช้มากมาย พวกจอมอนิเตอร์, จอโทรทัศน์ ก็รองรับ HDR10 ทุกรุ่น
ผลก็คือ เราสามารถหาเสพย์เนื้อหา HDR10 ได้ง่ายมาก Netflix, YouTube, เกมที่รองรับ HDR ฯลฯ ส่วนใหญ่ที่เราเจอก็จะเป็น HDR10 นี่แหละ
ภาพจาก https://www.howtogeek.com/690215/hdr-formats-compared-hdr10-dolby-vision-hlg-and-technicolor/
HDR10+ เป็นอีกหนึ่ง Open format ที่สามารถใช้งานได้ฟรีเช่นกัน โดยได้นำ HDR10 มาพัฒนาต่อยอด ให้ทำงานได้แบบ Dynamic metadata มีข้อมูลค่าแสงสำหรับแต่ละเฟรมแยกกัน โดยการสร้างไฟล์ JSON (JavaScript Object Notation ) ขึ้นมาเก็บข้อมูล เรียกว่า HDR10+ metadata จากนั้นก็นำไปฝังในเนื้อหา HDR10 อีกที
ภาพจาก https://www.aten.com/global/en/resources/feature-articles/true-4k-hdr/
มาตรฐาน HDR10+ ยังรองรับค่าสีได้ถึงระดับ 16 บิต, ความละเอียดระดับ 8K และค่าความสูงสุดถึง 10,000 nits อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ยังไม่มีการทำโปรดักชันระดับนี้ออกมาให้รับชมกันนะ
ข้อเสียของ HDR10+ คือ มันยังไม่แพร่หลายมากนัก ในตอนนี้มีแค่บริการ Amazon Prime Video, Rakuten TV และในแผ่น 4k Blu-ray (บางเรื่อง) เท่านั้น
ส่วนหน้าจอที่รองรับ HDR10+ ก็มี Samsung ที่ผลิตออกมาเยอะที่สุด ตามด้วย Panasonic, Vizio และ Oppo ที่มีผลิตออกมารองรับเหมือนกันในบางรุ่น
ภาพจาก https://www.howtogeek.com/690215/hdr-formats-compared-hdr10-dolby-vision-hlg-and-technicolor/
มาตรฐาน Dolby Vision เป็นคู่แข่งโดยตรงกับ HDR10+ หากมองในด้านเทคนิคการทำงานก็มีความคล้ายคลึงกันอีกด้วย ในขณะนี้ เนื้อหาที่ใช้ Dolby Vision จะถูกบันทึกข้อมูลที่ระดับความสว่างสูงสุด 4,000 nits แต่ในอนาคตมันจะทำได้ถึง 10,000 nits รวมไปถึงรองรับความละเอียดระดับ 8K ระดับสี 12 บิต
Dolby Vision มีรูปแบบการทำงานเป็น Dynamic metadata เพื่อปรับปรุงภาพในแต่ละเฟรมเหมือนกับ HDR10+ อย่างไรก็ตาม Dolby Vision เป็น Proprietary format ที่ผู้ผลิตจำเป็นต้องจ่ายเงินก่อนถึงจะมีสิทธิ์ในการใช้งาน
แม้ว่า Dolby Vision จะไม่ใช่มาตรฐานฟรี แต่มันกลับได้รับความนิยมจากผู้ผลิตหลายราย โดยเราจะเห็น Dolby Vision ในหน้าจอระดับไฮเอนด์ ทั้ง LG, Sony, TCL. Hisense. Panasonic และ Philips มีแค่ Samsung รายเดียวเท่านั้นที่ไม่สนับสนุน Dolby Vision ผลิตแค่ HDR10+ เพียงอย่างเดียว
ในส่วนของเนื้อหาที่รองรับ Dolby Vision ก็หาชมได้ง่าย มีให้ชมทั้งใน Netflix, Disney+, Amazon Prime Video และ VUDU เพราะ Dolby Vision นั้นก็มีความใกล้ชิดกับระบบ Dolby Cinemas ที่เหล่าผู้กำกับนิยมใช้ในการสร้างภาพยนตร์กันอยู่แล้ว ทำให้มีเนื้อหาให้รับชมเยอะกว่า
นอกจากนี้ Dolby Vision ยังรองรับการทำงานบนเครื่องเกมคอนโซลรุ่นใหม่ทั้ง Xbox Series X และ Series S โดยเคลมว่ามันจะให้ประสบการณ์การเล่นเกมในคุณภาพระดับ Dolby Vision เป็นครั้งแรกของโลกอีกด้วย
ภาพจาก https://www.filmtechapp.com/article.php?id=181&lang=en
แม้ระบบสัญญาณที่ใช้ในการออกอากาศ จะมีแนวทางการพัฒนาที่แตกต่างจากการทำโปรดักชัน แต่ก็ไม่ใช่ว่าสัญญาณโทรทัศน์จะอยู่กับที่ใช้สัญญาณระดับ SDR ตลอดไป และนั่นทำให้มาตรฐาน HLG (Hybrid Log-Gamma) ถูกสร้างขึ้นมา
HLG (Hybrid Log-Gamma) ระบบ Open-broadcast format ที่พัฒนาขึ้นมาจากความร่วมมือของ BBC จากสหราชอาณาจักร และ NHK จากญี่ปุ่น ความเจ๋งของ HLG คือ มันรองรับ Backward-compatible สามารถใช้ออกอากาศวิดีโอ HDR ของเดิมที่มีอยู่ได้เลย ในด้านคุณภาพ HLG ออกแบบมาให้รองรับความสว่างสูงสุด 1,000 nits เหมือนกับ HDR10
การรับชม HLG แน่นอนว่าสามารถรับชมผ่านช่องของ BBC และ NHK แต่บริการสตรีมมิ่งอย่าง YouTube และ BBC iPlayer ก็รองรับ HLG เหมือนกันนะ สถานีโทรทัศน์บางรายก็เริ่มใช้บ้างแล้วเช่นกัน เช่น Eutelsat, DirecTV และ Sky U.K.
ในส่วนของหน้าจอ/โทรทัศน์ ส่วนใหญ่หากแสดงผล HDR ได้ รองรับ HDR10 ก็มักจะรองรับ HLG ด้วยอยู่แล้วครับ
ภาพจาก https://www.howtogeek.com/690215/hdr-formats-compared-hdr10-dolby-vision-hlg-and-technicolor/
SL-HDR1 เป็นมาตรฐาน HDR ที่เกิดจากการพัฒนาร่วมกันระหว่าง LG และ Technicolor ถูกเปิดตัวเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559) และมีให้ใช้งานแค่ในโทรทัศน์ของ LG จนถึงกระทั่งปี ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) ซึ่งในปีนี้ ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) ก็ไม่มีโทรทัศน์รุ่นใหม่ของ LG ที่รองรับมันอีกแล้ว โดนตัดออกไปแบบเงียบๆ
ปัญหาใหญ่ของ SL-HDR1 คือ ไม่มีผู้ผลิตเนื้อหาให้ความสนใจ จนถึงขณะนี้ (ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563)) ยังไม่มีภาพยนตร์เรื่องไหน หรือผู้ให้บริการสตรีมมิ่งสักเจ้าที่รองรับมาตรฐาน SL-HDR1 เลย
ก็น่าเป็นห่วงว่า อนาคตของ SL-HDR1 จะอยู่รอดไปได้หรือเปล่า
ถ้าคุณซื้อหน้าจอ หรือโทรทัศน์แบบ HDR ในปี ค.ศ.2020 (พ.ศ. 2563) หรือหลังจากนั้น ทุกรุ่นจะรองรับ HDR10 อยู่แล้ว สิ่งที่เราควรพิจารณา คือ ความสว่างของหน้าจอควรจะทำได้ถึง 1,000 Nits เพื่อให้การแสดงผลสามารถตอบสนองต่อคุณสมบัติของ HDR10 ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ถัดมาคือ Dolby Vision มันเป็นมาตรฐานที่มีเนื้อหารองรับจำนวนมากกว่า HDR10+ หลายเท่า ไม่เพียงแค่หน้าจอเท่านั้น ผู้ผลิตหน้าจอส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะสนับสนุน Dolby Vision ด้วยเช่นกัน ทำให้ผู้ซื้อมีตัวเลือกในการตัดสินใจมากกว่า อย่างไรก็ตาม หน้าจอบางรุ่นสามารถรองรับการทำงานได้ทั้ง Dolby Vision และ HDR10+
ส่วน HLG เป็นสิ่งสุดท้ายที่เราจะคิดถึง หากคุณไม่ได้อยู่ในประเทศที่มีช่องออกอากาศสัญญาณ HLG ก็สามารถมองข้ามเรื่องนี้ไปได้เลย
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |