นับว่าโรคไวรัส โควิด-19 (COVID-19) ไม่ใช่แค่โรคที่ส่งผลอันตรายต่อมนุษย์โดยตรงเพียงอย่างเดียว แต่เป็น "โรคที่ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนเราเปลี่ยนไป" สร้างขยะนับไม่ถ้วน ดับฝันการรีไซเคิล (Recycle) และการลดใช้ขยะพลาสติก เหลือไว้แค่เพียงความหวังที่ไม่อาจย้อนกลับมาได้ในเร็ววัน
ขอบคุณรูปภาพจาก : Doruk Yemenici on Unsplash
ผลกระทบข้างเคียงจากโรคโควิด ทำให้การจัดการขยะพลาสติกทำได้ยากกว่าที่เคย
มีหลายปัจจัยที่โรค COVID-19 ทำให้ขยะพลาสติกกลับมาระบาดกว่าเดิม เช่น การใส่หน้ากากป้องกันในทุกที่ๆ ไป, ใส่ถุงมือเพื่อลดการสัมผัสเชื้อโรค, กักตุนอาหารช่วงกักตัว, สั่งอาหารมารับประทานที่บ้าน และอื่นๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของโรค ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้
ผู้คนหันกลับมาใช้สิ่งของและพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพิ่มมากขึ้น
นั่นหมายความว่า
คน 1 คน จะมีการสร้างขยะเพิ่มมากขึ้นหลายเท่าตัว เมื่อเทียบกับสมัยก่อนเกิดโรคโควิด
ขยะที่เกิดจากพลาสติก (Plastic) ในช่วงนี้ มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น หน้ากากอนามัย, ถุงมือ, ถุงพลาสติก, ขวดน้ำ, ภาชนะใส่อาหารต่างๆ นี่ยังไม่รวมบรรจุภัณฑ์ห่อหุ้มด้วยพลาสติกประเภทอื่นๆ ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งพลาสติกรูปแบบต่างๆ นานาที่กล่าวมานี้ ส่วนใหญ่ถูกใช้เพียงครั้งเดียว ยากต่อการคัดแยกและนำกลับมาใช้ใหม่ จนท้ายที่สุดก็กลายเป็นกองขยะที่ยากต่อการกำจัดทิ้ง
ขอบคุณรูปภาพจาก : Alin Luna / Unsplash
เราเองก็อาจจะเป็น หนึ่งในคนที่สร้างจำนวนขยะ เพิ่มมากขึ้น
(เพื่อป้องกันโรคร้าย เราไม่อาจเลี่ยงได้ในช่วงแรก)
การรีไซเคิลขยะเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ในช่วงโควิดนั้นได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพื่อนๆ รู้ไหมว่า วัฏจักร (Cycle) กระบวนการรีไซเคิลพลาสติกในช่วงโควิดนั้น "ใช้งบสูงมาก สูงกว่าแต่ก่อนอย่างเทียบไม่ได้เลย"
ขอบคุณรูปภาพจาก : Institute of Making / Flickr
เนื่องจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวหยุดชะงัก ราคาน้ำมันที่ทรุดตัวลง เทคโนโลยีเครื่องจักรมีความทันสมัยมากขึ้น รถยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมกว่ารถยนต์ที่ใช้น้ำมัน ทำให้ความต้องการใช้น้ำมันลดน้อยลง เป็นเหตุผลให้อุตสาหกรรมโรงงานการผลิตที่ใช้น้ำมันและก๊าซ นั้นเลือกลงทุนผลิตสร้างวัตถุดิบพลาสติกใหม่ ด้วยจำนวนเงินมหาศาลกว่า 400 พันล้านดอลลาร์ ในอีก 5 ปีข้างหน้า เป็นหนทางที่ธุรกิจเหล่านี้จะอยู่รอด นั่นทำให้
ต้นทุนการรีไซเคิลขวดพลาสติก "แพงกว่า" การผลิตขวดพลาสติกใหม่
อย่างที่เราเห็น เพราะพลาสติกที่ผลิตใหม่ถูกกว่า อุตสาหกรรมด้านต่างๆ จึงหันไปใช้พลาสติกที่มีราคาถูก มากกว่าการใช้พลาสติกรีไซเคิลซึ่งมีราคาแพง ถึงแม้จะมีขยะพลาสติกมากขึ้น แต่การรีไซเคิลกลับลดน้อยลง โรงงานและผู้บริการที่ดูแลเรื่องการรีไซเคิล มียอดการสั่งรีไซเคิลพลาสติกลดน้อยลง วิกฤตในครั้งนี้สร้างปัญหาอย่างเจ็บปวดให้แก่ผู้ผลิตที่ยังเลือกใช้วัสดุที่มาจากการรีไซเคิลที่มีต้นทุนสูงกว่า ทั้งที่ขยะในช่วงโควิดไม่ได้ลดลงเลยแม้แต่น้อย
ไวรัสโควิดอาจจะทำให้ผู้คนเจ็บป่วย เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่ "ทำลายได้ง่ายกว่าพลาสติก" เพียงแค่ใช้น้ำร้อน หรือ น้ำยาฆ่าเชื้อ ก็สามารถทำลายเชื้อโควิดได้ หากป้องกันอย่างถูกวิธีก็อาจจะใช้เวลาไม่นานเชื้อโรคเหล่านี้ก็จะสลายหายไป แต่ "พลาสติกจะคงอยู่กับเราไปอีกชั่วลูกชั่วหลาน" พลาสติกที่เราใช้กันอยู่ ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 400 ปีในการย่อยสลาย แถมเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมและอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด
ขอบคุณรูปภาพจาก : Dustan Woodhouse / Unsplash
โรคโควิด เราป้องกันได้ แต่ ขยะพลาสติกยังคงทำร้ายเราไปอีกแสนนาน
พูดถึงการลดขยะพลาสติก ก่อนหน้านี้เอง ประเทศไทยเองก็เคยลดปัญหานี้ได้สำเร็จ ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2562 (ค.ศ. 2019) ประเทศไทยได้ถูกลดอันดับประเทศที่เคยทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุดในโลก ลดจากอันดับที่ 6 ลงมาอยู่ที่ 10 แสดงให้เห็นว่า
ประเทศเรามีการพัฒนาและจัดการลดปัญหาขยะได้ดีมากขึ้นกว่าปีก่อนๆ แต่พอช่วงโควิดเข้ามา ปัญหาขยะพลาสติกนี้ก็กลับมาใหญ่และระบาดหนักกว่าเดิม
แต่เรายังพอมีทางแก้ไข เพื่อลดปัญหาพลาสติก ทางสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และกรีนพีช ได้ให้คำแนะนำว่า ผู้บริโภคอย่างเราๆ สามารถลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งได้ เปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รู้จักการคัดแยกประเภทขยะ ช่วยให้กระบวนการรีไซเคิลมีขั้นตอนที่ง่ายขึ้น
ขอบคุณรูปภาพจาก : Guus Baggermans / Unsplash
อีกทั้งศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐ ได้ออกมายืนยันว่า พฤติกรรมการใช้ซ้ำแบบถูกหลักอนามัย ปลอดภัยกว่ารูปแบบการใช้ครั้งเดียวและทิ้ง เราสามารถใช้บรรจุภัณฑ์และสิ่งของต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย ตราบใดที่เราทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ เชื้อโรคก็จะหายไปเอง แถมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตบนโลก มากกว่าการสร้างขยะพลาสติก เมื่อนั้นเราจะผ่านปัญหาโควิดนี้ไปได้ และใช้ชีวิตได้อย่างยั่งยืน
เราทุกคนสามารถ สู้โควิดไปพร้อมกับเอาชนะปัญหาขยะพลาสติก เพื่ออนาคตที่ดีกว่า
|
It was just an ordinary day. |