พอเริ่มจะอากาศเย็นขึ้นมาบ้างก็เผลอคิดไปว่าที่มองตึกฝั่งตรงข้ามไม่ค่อยจะชัดนักเป็นเพราะหมอกยามเช้าที่ลอยต่ำจนสังเกตเห็นได้ชัด แต่พอเริ่มมีสติก็นึกขึ้นได้ว่านี่ประเทศไทยที่ไม่มีฤดูหนาว ดังนั้นสิ่งที่เห็นยามเช้าในช่วงหลายวันมานี้ก็คงหนีไม่พ้น ฝุ่นละออง ที่ลอยตัวอยู่ในอากาศอย่างหนาแน่นจนกลายเป็นมลพิษทางอากาศที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างแน่นอน
ซึ่งฝุ่นละอองในอากาศที่มีความหนาแน่นเกินกว่ามาตรฐานจนก่อให้เกิดปัญหามลพิษทางอากาศในขณะนี้ก็ได้แก่ “ฝุ่น PM 2.5” นั่นเอง
หน่วยงานป้องกันสิ่งแวดล้อม ประเทศสหรัฐอเมริกา US. EPA (United State Environmental Protection Agency) ได้ทำการกำหนดค่ามาตรฐานของฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์เอาไว้โดยใช้ค่า PM (Particulate Matters) เป็นเกณฑ์ในการตรวจวัดคุณภาพอากาศ ดังนี้
ฝุ่น PM 10 หรือที่โดยทั่วไปเรียกว่า “ฝุ่นหยาบ” (Course Particles) คือ อนุภาคฝุ่นละอองในอากาศที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 2.5 - 10 ไมครอน ฝุ่นประเภทนี้เมื่อรวมกันเป็นจำนวนมากแล้วมักจะสังเกตเห็นได้ง่าย เช่น ฝุ่นที่เกาะอยู่ตามข้าวของเครื่องใช้, เกสรดอกไม้ หรือฝุ่นละอองจากงานก่อสร้าง เป็นต้น
ฝุ่น PM 2.5 หรือที่เรียกว่า “ฝุ่นละเอียด” (Final Particles) คือ อนุภาคฝุ่นละอองในอากาศที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางอยู่ที่ 2.5 ไมครอน
เทียบขนาดฝุ่นละอองในอากาศกับเส้นผม, เกลือ, เกสรดอกไม้ และรา จะเห็นได้ว่าทั้ง PM 10 และ PM 2.5 นั้นมีขนาดเล็กมาก
สำหรับแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM 2.5 ก็มักมาจากควันท่อไอเสียรถยนต์, โรงงานไฟฟ้า, โรงงานอุตสาหกรรม, ควันที่เกิดจากการหุงต้มอาหารด้วยฟืน, ควันจากการเผาขยะ, ไฟป่า รวมทั้งการทำปฏิกิริยาของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2), ไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) และสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ก็มีส่วนก่อให้เกิดฝุ่นประเภทนี้ได้ด้วยเช่นกัน
ทางกรมควบคุมมลพิษ (Pollution Control Department) ได้ทำการกำหนดค่า AQI (Air Qulity Index) หรือค่าดัชนีคุณภาพอากาศ เอาไว้ทั้งหมด 6 ระดับ ดังนี้
ค่า AQI | คุณภาพอากาศ | ผลกระทบต่อสุขภาพ (บุคคลทั่วไป) | ผลกระทบต่อสุขภาพ (ผู้มีปัญหาสุขภาพ) |
0 - 50 | ดี | - | - |
51 - 100 | ปานกลาง | - | ลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง |
100 - 150 | แย่ | ลดระยะเวลาการทำกิจกรรม กลางแจ้ง | หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง เป็นเวลานาน |
151 - 200 | แย่มาก | หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน | หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง |
201 - 300 | อันตราย | หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง | หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ทุกรูปแบบ |
300 ขึ้นไป | อันตราย เป็นอย่างมาก | หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งทุกรูปแบบ | หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้ง ทุกรูปแบบ |
แต่ค่า AQI นี้ไม่ได้ตรวจวัดเฉพาะแค่ฝุ่น PM 2.5 เท่านั้น ยังรวมปริมาณฝุ่น PM 10 และก๊าซที่เป็นมลพิษในอากาศอย่าง โอโซน (O3), คาร์บอนมอนออกไซด์ (CO), ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ร่วมด้วย จึงทำให้ปริมาณค่า AQI กับค่าฝุ่น PM 2.5 ในอากาศที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์นั้นมีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก
จะเห็นได้ว่าระดับค่า AQI ที่ปลอดภัยและเหมาะสมกับการใช้ชีวิตนั้นอยู่ที่ 0 - 50 ในขณะที่ค่าฝุ่น PM 2.5 อยู่ที่ 0 - 12.0
และสำหรับผู้ที่ติดตามปริมาณค่าฝุ่นในอากาศมาตลอดก็จะสังเกตเห็นได้ว่าค่า AQI ของพื้นที่ส่วนมากในประเทศไทยโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ ณ ขณะนี้นั้นเป็นสีส้ม-แดง ที่อยู่ในระดับอันตราย (สามารถทำการตรวจเช็คได้จากเว็บไซต์ https://aqicn.org/here/ หรือเช็คผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ได้)
อนุภาคของฝุ่น PM 2.5 นั้นเป็น อันตรายต่อการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็น อาการเคืองตา, คันคอ, คัดจมูก, ไอ, จาม หรือบางคนอาจเกิดอาการ “เลือดออกในโพรงจมูก” หรือเลือดกำเดาไหลจากการได้รับฝุ่นละอองเข้าไปเป็นจำนวนมากในระยะเวลาสั้นๆ
และหากได้รับฝุ่นละอองติดต่อกันเป็นเวลานานก็เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง (โดยเฉพาะมะเร็งปอด), โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจอื่นๆ ตามมาได้ง่าย
ส่วน ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ และมีโรคประจำตัวอย่าง โรคมะเร็งที่เกี่ยวกับทางเดินหายใจ, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD - Chronic Obstuctive Pilmonary Diease), โรคภูมิแพ้เกสรดอกไม้, โรคหัวใจและหลอดเลือด, การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ, โรคหอบหืด หรือผู้สูงอายุและบุคคลที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ การได้รับฝุ่นละอองในอากาศก็จะไปเพิ่มความรุนแรงของอาการป่วยมากขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงในการเสียชีวิตตามไปด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่ออกมาชี้แจงว่าการได้รับ PM 2.5 เป็นระยะเวลานานไม่เพียงแต่จะเป็นสาเหตุของโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อสมองจนอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer), ภาวะสมองเสื่อม (Demantia) และอาการสมองฝ่อ (Brain Atrophy) ได้
รวมทั้งอาจเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคทางจิตเวชอย่างโรคซึมเศร้า, โรคไบโพลาร์, โรคทางบุคลิกภาพ (Personality Disorder), โรคจิตเภท (Schizophrenia) และการได้รับฝุ่นละอองตั้งแต่อายุยังน้อยก็อาจส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กจนทำให้เกิดภาวะสมาธิสั้น (ADHD) และภาวะการปรับตัวผิดปกติในเด็กได้
และไม่เพียงแต่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์เท่านั้น แต่มลพิษทางอากาศอย่างฝุ่น PM 2.5 นี้ยังส่ง ผลกระทบต่อสุขภาพสัตว์เลี้ยง ของเรา รวมทั้งสัตว์ป่าอื่นๆ อีกด้วยเช่นกัน
ฝุ่น PM 2.5 นั้นดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากเนื่องจากมันลอยปะปนอยู่ในอากาศที่เราใช้หายใจในทุกๆ วัน และถึงแม้ว่าในตอนนี้เราจะสวมหน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตนเองจากเชื้อไวรัส COVID-19 ที่กลับมาระบาดหนักอีกครั้งหนึ่งแล้ว แต่หน้ากากอนามัยที่เราสวมใส่กันทุกวันนี้อย่างหน้ากากอนามัยแบบทั่วไป (Face Mask), หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (Surgical Face Mask) และหน้ากากผ้า (Fabric Face Mask) ก็ไม่สามารถป้องกันฝุ่นละอองที่มีอนุภาคขนาดเล็กอย่างฝุ่น PM 2.5 ได้อยู่ดี
สำหรับหน้ากากที่สามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้นั้นจะต้องเป็นหน้ากากที่มีลักษณะแนบสนิทไปกับใบหน้าและมีประสิทธิภาพในการป้องกันฝุ่นละอองและสสารที่มีขนาดเล็กกว่า 0.3 ไมครอนได้อย่างหน้ากากชนิด N-95 ขึ้นไป ที่ผ่านมาตรฐานการรับรองจาก NIOSH (สถาบันอาชีวอนามัยและความปลอดภัยแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา) โดยสามารถแบ่งประเภทของหน้ากากได้ตามประสิทธิภาพการกรอง (95, 99 และ 99.97%) และชนิดของไส้กรอง N (ไส้กรอกที่ไม่ทนต่อน้ำมัน), R (ไส้กรองที่ทนต่อน้ำมัน) และ P (ไส้กรองที่ใช้เมื่อมีน้ำมัน หรือไม่มีน้ำมันก็ได้)
ภาพจาก : bit.ly/385e9Fm และ bit.ly/3oWeQrk
แต่หน้ากากอนามัยชนิดที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นหน้ากากสำหรับสวมใส่ในระยะสั้น (เช่น การทำงานร่วมกับสารเคมี หรือตรวจหาเชื้อ) เนื่องจากเมื่อใส่ติดต่อกันนานๆ จะทำให้รู้สึกหายใจลำบาก ดังนั้นบริษัทต่างๆ จึงได้ผลิต หน้ากากที่มีความสามารถในการกรองฝุ่นละออง PM 2.5 สำหรับใส่ในชีวิตประจำวันออกมา เช่น หน้ากากอนามัยแบบ 3D, หน้ากากที่มีฟิลเตอร์กรองฝุ่น PM 2.5 หรือหน้ากากรุ่นพัดลมที่ช่วยให้หายใจได้สะดวกมากขึ้นออกมาให้เลือกใช้กันอีกด้วย
ภาพจาก : bit.ly/3gRGd2H, bit.ly/3gTehvx และ t.ly/lYSB
อย่างไรก็ตาม หากอยู่ในพื้นที่ปิดอย่างในบ้าน, อาคารสำนักงาน หรือภายในรถก็แนะนำให้ใช้ เครื่องฟอกอากาศ หรือเครื่องกรองอากาศเป็นตัวช่วยแทนน่าจะดีกว่า เพราะหากต้องสวมหน้ากากอนามัยตอนนั้นด้วยคงไม่สบายตัวเท่าไรนัก และการสวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่ตลอดเวลาก็อาจทำให้รู้สึกอึดอัดได้
โดยเครื่องฟอกอากาศนี้จะมีไส้กรอง หรือแผ่นกรองอากาศ HEPA (High Efficiency Particulate Air Filter) ที่ทำหน้าที่ดักจับสสารและฝุ่นละอองที่มีอนุภาคขนาดเล็กตั้งแต่ 0.1 - 0.3 ไมครอน เข้าไปในเครื่องก่อนจะทำการฟอกและปล่อยอากาศที่ผ่านการกรองแล้วออกมา ทำให้ในพื้นที่ที่ใช้งานเครื่องฟอกอากาศมีจำนวนฝุ่นในอากาศที่น้อยกว่า แต่ผู้ใช้ก็ต้องเลือกใช้งานเครื่องฟอกอากาศที่มีขนาดเหมาะสมกับพื้นที่ภายในห้องเพื่อประสิทธิภาพในการฟอกอากาศที่ดีด้วยเช่นกัน
หลักการทำงานของเครื่องฟอกอากาศ
ภาพจาก : https://www.technologydesigner.com/2019/11/12/customizing-indoor-air-quality/
|
... |