นับตั้งแต่ที่มนุษย์ค้นพบอิเล็กตรอน นักวิทยาศาสตร์ก็หาทางใช้ประโยชน์จากมันมาโดยตลอด มีการประดิษฐ์ "สวิตช์" สำหรับควมคุมการเคลื่อนที่ของอิเล็กตรอน เพื่อสร้างเป็นสิ่งที่เราเรียกว่าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมา
ในยุคสมัยเริ่มต้นก็จะใช้หลอดสุญญากาศมาทำเป็นสวิตช์ แต่มันก็มีประสิทธิภาพในการทำงานต่ำ เกิด ความร้อนสูง ในขณะใช้งาน แถมยังต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ในการติดตั้ง จนกระทั่งในช่วงยุค '50 ที่ทรานซิสเตอร์ถูกคิดค้นสำเร็จ ทำให้วงจรอิเล็กทรอนิกส์มีขนาดเล็กลง และมีประสิทธิภาพที่สูงขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า
ปัจจุบันนี้ทรานซิสเตอร์ก็จะมีพื้นฐานผลิตโดยการใช้สารกึ่งตัวนำ (เซมิคอนดักเตอร์) คือ ซิลิคอน (Silicon) ในการผลิต เป็นหลัก แต่ตอนนี้มีสารกึ่งตัวนำชนิดใหม่ (จริงๆ ก็ไม่ได้ใหม่มาก) ที่ว่ากันว่าจะเป็นกุญแจสำคัญสำหรับเทคโนโลยีในยุคถัดไป นั่นก็คือ GaN เชื่อว่าหลายคนน่าจะยังไม่รู้จักมันดีนัก และสงสัยว่า GaN คือ อะไร? มันช่วยให้เทคโนโลยีก้าวไปข้างหน้าได้ไวขึ้นอย่างไร มาอ่านคำตอบกันได้ในบทความนี้ครับ
คำว่า "GaN" ย่อมาจาก Gallium Nitride (อ่านออกเสียงภาษาไทยว่า "แกลเลียมไนไตรด์") เป็นสารกึ่งตัวนำที่เริ่มเป็นที่รู้จักกันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) เนื่องจาก LEDs สีขาวตัวแรกถูกประดิษฐ์ด้วย GaN ซึ่งมันยังถูกใช้ในการผลิตเลเซอร์กำลังสูง (Blue lasers), จอ LED แบบสีที่สามารถมองเห็นได้แบบกลางแจ้ง, เป็นตัวสร้างแสงฟ้าในหัวอ่านของเครื่องเล่น Blu-ray DVD
ในภาคการผลิตหลายอย่าง ความนิยมในการใช้งาน GaN แทน Silicon นั้นเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมานี้ ผู้ผลิตทรานซิสเตอร์จากซิลิคอนได้มีความพยายามในการปรับปรุงประสิทธิภาพให้ดีขึ้นเรื่อยๆ อ้างอิงจาก "กฎของมัวร์" (ถูกตั้งโดยกอร์ดอน มัวร์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Intel) เขาได้กล่าวว่า "ปริมาณทรานซิสเตอร์ที่สามารถจุลงในแผ่นวงจรซิลิคอนได้จะมีอัตราสูงขึ้นกว่าเดิมสองเท่าทุกๆ สองปี"
ภาพจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Moore%27s_law
กฎของมัวร์เริ่มมีการติดตามผลตั้งแต่ปี ค.ศ. 1965 (พ.ศ. 2508) และมันก็เกิดขึ้นจริงมายาวนานกว่า 50 ปี จนเริ่มชะลอไม่สามารถทำตามเป้าได้เป็นครั้งแรกในช่วงปี ค.ศ. 2010 (พ.ศ. 2553) มีหลายฝ่ายวิเคราะห์ (รวมไปถึงตัวมัวร์เองด้วย) ได้คาดการณ์ว่ากฎของมัวร์จะกลายเป็นเรื่องล้าสมัยในปี ค.ศ. 2025 (พ.ศ. 2568)
แต่เมื่อนักวิทยาศาสตร์วิจัย GaN เริ่มรู้จักมันมากขึ้น มีการคิดค้นวิธีนำ GaN มาทำทรานซิสเตอร์ ประสิทธิภาพของมันสูงขึ้นกว่าการใช้ซิลิคอนมาก และนั่นอาจจะเป็นสิ่งที่ช่วยต่ออายุขัยให้กฏของมัวร์มีอายุยืนยาวต่อไปได้อีกครั้ง ซึ่งขณะนี้มีการวิจัยพัฒนากระบวนการผลิตทรานซิสเตอร์จาก GaN ให้ไม่แตกต่างไปจากการผลิตด้วยซิลิคอน ทำให้ต้นทุนการผลิตลดต่ำลงมาก ทำให้ผู้ผลิตหลายรายเริ่มหันมาให้ความสนใจในการใช้ GaN มากขึ้นเรื่อยๆ
คุณสมบัติสำคัญที่ทำให้ GaN เหนือกว่าซิลิคอน (Silicon) คือ ประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน (Power efficiency) ก่อนอื่นเราคงต้องอธิบายคุณสมบัติของสารกึ่งตัวนำให้เข้าใจกันก่อน
สารกึ่งตัวนำ (Semiconductor) คือ วัสดุที่มีความกว้างของช่องว่างระหว่างแถบพลังงาน (Bandgap) อยู่ระหว่างสารนำไฟฟ้า (Conductor) กับฉนวน (Insulator) สารกึ่งตัวนำจะไม่นำไฟฟ้าในสภาวะปกติ แต่สามารถนำไฟฟ้าได้เมื่อได้รับการกระตุ้นด้วยแสง, ไฟฟ้า หรือความร้อน ที่มีพลังงานเท่ากับ หรือมากกว่าช่องว่างระหว่างแถบ
พลังงานอิเล็กตรอนในแถบวาเลนซ์ ที่ได้รับพลังงานกระตุ้นจะหลุดจากโครงสร้างอะตอมข้ามช่องว่างระหว่างแถบพลังงานขึ้นไปอยู่ในแถบนำไฟฟ้า (conduction band) ที่มีระดับพลังงานสูงกว่า และสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระทำให้เกิดสภาพนำไฟฟ้าได้ ธาตุที่มีสมบัติดังกล่าว ได้แก่ ซิลิคอน (Si) และเจอร์มาเนียม (Ge) ซึ่งใช้เป็นวัสดุหลักในชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
ที่มา https://ienergyguru.com/2015/06/สารกึ่งตัวนำ/
หากพูดแบบง่ายๆ Bandgap จะเป็นค่าที่บ่งชี้ได้ว่าสารกึ่งตัวนำนั้นจะสามารถนำไฟฟ้าได้ดีขนาดไหนนั่นเอง ซึ่งซิลิคอนที่เรานิยมใช้กันในปัจจุบันนี้จะมีค่า Bandgap อยู่ที่ 1.12 eV ส่วน Gallium nitride (GaN) จะอยู่ที่ 3.4 eV ซึ่งหมายความว่า GaN สามารถรองรับแรงดันไฟฟ้าได้สูงกว่า และทนต่ออุณหภูมิได้สูงกว่าซิลิคอน
ค่า Bandgap ที่สูงกว่า หมายความว่ากระแสอิเล็กตรอนที่สามารถเคลื่อนที่ไหลผ่านชิป GaN จะมีความเร็วสูงกว่าชิปจากซิลิคอน ทำให้มีความเป็นไปได้ที่ในอนาคต จะสามารถนำ GaN มาผลิตชิปที่มีความเร็วสูงขึ้น, ขนาดเล็กลง, ประหยัดพลังงาน และมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าการใช้ซิลิคอนอย่างในปัจจุบัน
เรื่องนี้ Efficient Power Conversion Corporation หนึ่งในผู้ผลิต GaN ก็ได้ออกมาระบุว่า GaN มีความสามารถในการจัดการอิเล็กตรอนได้ประสิทธิภาพสูงกว่าซิลิคอนถึง 1,000 เท่า และยังมีต้นทุนเริ่มต้นในการผลิตที่ต่ำกว่าอีกด้วย เพราะเมื่อสามารถผลิตชิปที่มีขนาดเล็กลงกว่าเดิมได้ ปริมาณชิปที่สามารถผลิตได้ต่อหนึ่ง แผ่นเวเฟอร์ (Wafer) ก็จะมีจำนวนมากขึ้น
เทคโนโลยี GaN ไม่ใช่อนาคตอันไกล แต่มีการนำมาใช้งานกันอย่างแพร่หลายแล้วในปัจจุบัน โดยที่เราน่าจะเห็นกันย่อยสุดในขณะนี้ก็คือ อะแดปเตอร์สำหรับชาร์จแบตเตอรี่
ด้วยประสิทธิภาพของ GaN ทำให้วงจร และประสิทธิภาพในการแปลงพลังงานไฟฟ้าดีขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า GaN อะแดปเตอร์ จึงมีขนาดที่เล็กกว่าเดิมมาก ในขณะที่ประสิทธิภาพในการชาร์จกลับสูงขึ้นกว่าเดิม
อย่างภาพด้านล่างนี้ จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าอะแดปเตอร์แบบ 30 วัตต์ (Watts) ที่ใช้ GaN กับซิลิคอน นั้นมีขนาดที่แตกต่างกันมาก
ภาพจาก https://www.autorunner.co/whats-gan-technology/
เทคโนโลยี 5G ที่กำลังเริ่มทยอยแทนที่ 4G ก็เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ได้ประโยชน์จาก GaN ด้วยเช่นกัน เนื่องจาก การรับส่งข้อมูลของ 5G มีขนาด และความเร็วที่สูงกว่า 4G หลายเท่า การประมวลผลข้อมูลที่เสาสถานีต้องทำจึงหนักมาก และเมื่อมีการประมวลผลเกิดขึ้น ความร้อนก็ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่ง GaN ก็เลยถูกนำมาเพื่อใช้แก้ไขปัญหานี้ (ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยกำลังแข่งขันกับเทคโนโลยี LDMOS ที่มีอยู่เดิม)
ภาพจาก https://compoundsemiconductor.net/article/108936/5G_Evolution_then_revolution/feature
ส่วนชิปประมวลผลแบบ GaN นั้น หนทางยังอีกยาวไกล แม้ทรานซิสเตอร์แบบ GaN จะมีแล้ว แต่ CPU ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เนื่องจากโครงสร้างในการทำงานที่แตกต่างกัน ซึ่งการออกแบบชิปประมวลผลสิ่งเป็นสิ่งที่มีความซับซ้อนขึ้นมาใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย ในอนาคตมันอาจจะเกิดขึ้นได้ แต่มันยังเร็วเกินไปสำหรับปัจจุบันนี้ มีนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอาจจะต้องเวลาเป็นสิบปีเลยทีเดียว
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |