ในแต่ละปี เมื่อผ่านปีใหม่สากลไปแล้วก็ยังมีเทศกาลปีใหม่อีกเทศกาลหนึ่งตามมานั่นติด ๆ ก็คือ ปีใหม่จีน (Chinese New Year) หรือเทศกาลตรุษจีนที่ลูกหลายคนไทยเชื้อสายจีนรอคอย เพราะเป็นเทศกาลพบปะญาติประจำปีที่มีของล่อใจอย่างซองแดงจากญาติผู้ใหญ่นั่นเอง (สำหรับหลาย ๆ คนที่ก้าวเข้าสู่วัยทำงานคงไม่ตั้งตารอตรุษจีนเหมือนตอนเรียนแล้ว เพราะต้องเปลี่ยนจากคนรับมาเป็นคนให้แทน)
ซึ่ง ซองแดง (Red Envelope) ในเทศกาลตรุษจีนนั้น บางบ้านก็เรียกว่าอั่งเปา แต่หลาย ๆ บ้านก็เรียกว่าแต๊ะเอีย ทำให้รู้สึกสงสัยขึ้นมาว่าสองคำนี้แตกต่างกันอย่างไร และควรจะต้องเรียกว่าอะไรกันแน่ รวมทั้งผู้ที่เพิ่งเริ่มทำงานที่ต้องเปลี่ยนมาเป็นคนให้ซองแทนแล้วก็อาจมีคำถามว่าควรใส่เงินในซองเท่าไรดี และอาจมีข้อสงสัยอื่น ๆ เกี่ยวกับเทศกาลตรุษจีน ดังนั้นเราจึงได้รวบรวมข้อมูลมาให้อ่านกันในบทความนี้
เทศกาลตรุษจีน หรือวันที่ 1 เดือน 1 ตามปฏิทินแบบจันทรคติ (Lunar Calendar) ที่เป็นที่นิยมใช้ในแถบเอเชีย อย่างประเทศจีนและเกาหลี (ญี่ปุ่นเองก็เคยฉลองปีใหม่โดยยึดตามรูปแบบเดียวกันนี้ แต่ภายหลังได้ปรับมาฉลองปีใหม่ตามปฏิทินสากล) ซึ่งสำหรับประเทศไทยที่ได้รับอิทธิพลจากชาวจีน (เชื้อสายแต้จิ๋ว) ค่อนข้างมากและมีชาวไทยเชื้อสายจีนกระจายตัวอยู่เกือบทั่วประเทศแล้วก็ทำให้เรียกต่อ ๆ กันมาว่า “วันตรุษจีน” หรือวันปีใหม่ของประเทศจีนนั่นเอง
ซึ่งธรรมเนียมในการฉลองเทศกาลตรุษจีนในประเทศจีน, ไต้หวัน, ฮ่องกง, สิงคโปร์ หรือประเทศอื่น ๆ ที่ใช้วัฒนธรรมจีนนั้นก็มีความแตกต่างกันออกไป แต่สำหรับใน ประเทศไทย แล้ว ก่อนหน้าที่จะทำการฉลองตรุษจีนก็จะต้องทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่เพื่อปัดกวาดสิ่งร้าย ๆ ในปีเก่าออกไปและต้อนรับสิ่ง ดี ๆ ที่จะเข้ามา โดยในวันส่งท้ายปี (วันไหว้) ก็จะมีการรวมญาติและทำการไหว้เทพเจ้าเพื่อขอพรรับปีใหม่ ก่อนที่ญาติทุกคนก็จะร่วมรับประทานอาหารมงคลร่วมกัน
ส่วนในวันถัดมาที่ถือได้ว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ (วันเที่ยว) ทุกคนในครอบครัวก็จะสวัสดีปีใหม่พร้อมอวยพรญาติ ๆ ให้มีสุขภาพแข็งแรง โดยหลังจากที่ลูกหลาน (วัยเรียน) ได้อวยพรญาติผู้ใหญ่เป็นที่เรียบร้อยก็จะได้รับซองแดง (ที่หลาย ๆ บ้านเรียกกันว่าอั่งเปา หรือแต๊ะเอีย) เป็นของขวัญรับปีใหม่
สำหรับคำว่า อั่งเปา (Ang Pao) นั้น หมายถึงสิ่งของมงคลที่ชาวจีนนิยมมอบให้แก่กันในงานเทศกาลและงานมงคลต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน หรืองานขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น โดยคำว่า “อั่ง” ในภาษาจีนมีความหมายว่าสีแดง ซึ่งเป็นสีแทนสัญลักษณ์ความเป็นสิริมงคล, ความมีชีวิตชีวา และสื่อถึงความโชคดีของชาวจีน ส่วนคำว่า “เปา” ในภาษาจีนแปลว่าซองหรือกระเป๋า ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วก็จะได้คำว่า “อั่งเปา” ที่หมายถึง “ซองแดง” นั่นเอง
ส่วนคำว่า แต๊ะเอีย (Tae Ear) นั้น คำว่า “แต๊ะ” ในภาษาจีนหมายถึง ทับหรือกด และคำว่า “เอีย” ในภาษาจีนแปลว่า เอว ซึ่งเมื่อนำเอาทั้งสองคำนี้มารวมกันก็จะหมายความว่า “สิ่งของที่กดหรือทับอยู่บริเวณเอว” ซึ่งแม้ว่าจะดูเหมือนไม่เกี่ยวข้องอะไรกับวันตรุษจีนหรือซองแดง แต่ในอดีตชาวจีนนิยมพกเงินติดตัวด้วยการร้อยเหรียญเข้ากับเชือก (เงินตราจีนในสมัยก่อนมีลักษณะเป็นเหรียญที่มีรูตรงกลาง จึงสามารถร้อยเชือกเข้ากับเหรียญได้) จากนั้นผูกไว้ที่เอวเพื่อป้องกันเงินหาย
ซึ่งในเทศกาลตรุษจีนหรือเทศกาลมงคลต่าง ๆ ก็นิยมนำเอาเชือกสีแดงมาร้อยเหรียญเข้าด้วยกันและมอบให้กับผู้อื่น ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป สภาพของเงินตราก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัยด้วย แต่ก็ยังมีชาวจีนไม่น้อยที่นิยมเรียกเงินเหล่านี้ว่าแต๊ะเอีย ดังนั้นคำว่า “แต๊ะเอีย” จึงหมายถึงเงิน (ภายในซอง) ที่มอบให้แก่กันในเทศกาลต่าง ๆ
และไม่เพียงแต่ผู้ที่อยู่ในวัยทำงานจะมอบอั่งเปาหรือแต๊ะเอียให้กับลูกหลานหรือญาติ ๆ ที่ยังอยู่ในวัยเรียนเท่านั้น แต่ญาติผู้น้อยยังก็สามารถมอบอั่งเปาให้กับผู้ที่อาวุโสกว่าเพื่อแทนคำอวยพรให้สุขภาพแข็งแรงและอายุยืนยาวได้อีกด้วยเช่นกัน
ในส่วนของจำนวนเงินที่นิยมใส่ในซองส่วนมากมักเป็นเลขคู่ เพราะสำหรับคนจีนแล้ว เลขคู่เปรียบเสมือนเลขมงคล ที่สื่อความหมายถึงการทวีคูณ และตัวเลขที่นิยมมากที่สุดได้แก่ “เลข 8” เพราะเลขแปดในภาษาจีนนั้นพ้องเสียงกับคำศัพท์ในภาษาจีนที่มีความหมายว่าความร่ำรวย, รุ่งโรจน์, รุ่งเรือง นอกจากนี้ ยังนิยมเลข 2 ที่สื่อถึงโชคทวีคูณ และเลข 4 (ซี่สี่ หรือคู่สี่) ที่สื่อถึงความเป็นสิริมงคล
ส่วนจำนวนหลักของเงินก็ควรใส่ตามความเหมาะสมของกำลังทรัพย์ ไม่ได้มีเลขหลักมงคลแต่อย่างใด นอกจากนี้แล้ว เงินภายในซองก็ควรจะแยกกันในแต่ละซอง เช่น หากได้รับเงินมาจากญาติผู้ใหญ่คนหนึ่ง ก็ควรแยกเงินในซองนั้นเก็บเอาไว้ ไม่ควรนำเอาเงินมาใส่คืนหรือมอบให้กับญาติคนอื่น ๆ ต่อ
นอกเหนือไปจากการมอบอั่งเปาแล้ว ในวันขึ้นปีใหม่ (วันเที่ยว) ของบางบ้านก็ยังมีประเพณี การแลกส้ม กันอีกด้วย โดยบ้านนั้น ๆ จะทำการสวมชุดใหม่ (เน้นโทนสีแดงเพื่อสื่อถึงความเป็นมงคล) จากนั้นเดินทางไปหาญาติผู้ใหญ่ที่เคารพรักและนำเอาส้มทั้งหมด 4 ผล ห่อใส่ผ้าเช็ดหน้าผืนใหญ่เพื่อมอบให้แก่ผู้ใหญ่ที่เป็นเจ้าบ้าน ส่วนทางฝั่งญาติก็จะเปลี่ยนส้ม 2 ลูกในห่อให้เป็นส้มของตนเองแล้วส่งกลับให้แขก ซึ่งคำว่าส้มเป็นคำพ้องเสียงกับคำว่าทองในภาษาจีน ดังนั้นการแลกส้มจึงเป็นการอวยพรและแลกเปลี่ยนโชคลาภให้แก่กันและกัน
แน่นอนว่าในเทศกาลมงคลอย่างตรุษจีนก็ย่อมเต็มไปด้วยคำกล่าวอวยพรซึ่งกันและกัน ซึ่งคำที่เรามักได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ ก็ได้แก่ “ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดใช้” ที่มีความหมายว่า “ขอให้ประสบโชคดี ขอให้มั่งมีปีใหม่” แต่บางครั้งก็อาจได้ยินคำว่า “เกียฮ่อซินนี้ ซินนี้ตั้วถั่น” ที่แปลว่า “สวัสดีปีใหม่ ขอให้ร่ำรวย” ด้วยเช่นกัน และฝั่งที่ได้รับคำอวยพรก็จะตอบกลับไปว่า “ตั่งตังยู่อี่” หรือที่แปลว่า “ขอให้สุขสมหวังเช่นกัน”
ส่วนเด็ก ๆ ที่รอรับอั่งเปาก็อาจมีคำพูดต่อท้ายคำอวยพรปีใหม่กับญาติผู้ใหญ่เพิ่มเติมเข้ามาว่า “อั่งเปาตั่วตั่วไก๊” ที่หมายความว่า “ขออั่งเปาเยอะ ๆ 🥺” ตามมาด้วยเช่นกัน (ถ้าให้อั่งเปา (ซองแดง) เพิ่มอีกหลาย ๆ ซองแต่ไม่เพิ่มเงินข้างใน (แต๊ะเอีย) ได้ไหมนะ..)
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |