ทุกคนลองจินตนาการถึงวัตถุที่สามารถเปลี่ยนรูปร่าง หรือปรับตัวเองได้ตามสภาพแวดล้อมโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องใช้มอเตอร์ หรือระบบไฟฟ้าใด ๆ ที่พูดมานี่ไม่ใช่แนวคิดจากภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ใด ๆ แต่จริง ๆ แล้วมันคือ การพิมพ์ 4 มิติ (4D Printing) เทคโนโลยีการพิมพ์ที่ก้าวล้ำไปอีกขั้นจาก การพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) ที่มีการเพิ่มมิติของ "เวลา" เข้าไป ทำให้วัตถุที่พิมพ์ออกมา สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้เมื่อเจอกับปัจจัยภายนอก
ว่าแต่ 4D Printing มันคืออะไรกันแน่ ?, ทำงานอย่างไร? มันถูกนำไปใช้อย่างไรบ้าง? มาหาคำตอบไปพร้อมกันในบทความนี้เลย !
การพิมพ์ 4 มิติ (4D Printing) เป็นเทคโนโลยีการพิมพ์ที่พัฒนาต่อยอดมาจาก 3D Printing โดยใช้เครื่องพิมพ์แบบสามมิติสร้างวัตถุจาก วัสดุอัจฉริยะ (Smart Material) ที่สามารถ เปลี่ยนรูปร่าง หรือคุณสมบัติได้เองเมื่อได้รับแรงกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมภายนอก อาจเป็น ความชื้น, อุณหภูมิ, แรงดัน หรือแสง ก็ได้
ภาพจาก : https://www.mdpi.com/polymers/polymers-14-04698/article_deploy/html/images/polymers-14-04698-g001.png
วัสดุที่ใช้ใน 4D Printing มักเป็น พอลิเมอร์อัจฉริยะ, ไฮโดรเจล หรือวัสดุชีวภาพ ซึ่งได้รับการออกแบบให้ตอบสนองต่อปัจจัยภายนอก ทำให้วัตถุสามารถ งอ, พับ, ขยายตัว, ซ่อมแซมตัวเอง หรือแม้แต่สลายตัวได้ โดยอัตโนมัติ ซึ่งเทคโนโลยีนี้กำลังถูกนำไปใช้ในหลายอุตสาหกรรม เช่น การแพทย์ เอาไป สร้างอวัยวะเทียมที่ปรับตัวได้, วิศวกรรม นำไปทำโครงสร้างอาคารที่เปลี่ยนรูปตามสภาพอากาศ และแฟชั่นสร้างเสื้อผ้าที่เปลี่ยนรูปร่างได้ นั่นเอง
โดยที่มานั้น 4D Printing เป็นแนวคิดที่ริเริ่มโดย Skylar Tibbits นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์จาก MIT และผู้ร่วมก่อตั้ง Self-Assembly Lab ซึ่งเปิดตัวเทคโนโลยีนี้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) และในปัจจุบันยังอยู่ในช่วงการวิจัยพัฒนา แต่คาดว่าในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) จะมีการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการแพทย์, ก่อสร้าง และการทหาร
ภาพจาก : https://www.youtube.com/watch?v=0gMCZFHv9v8
แนวคิดของ 4D Printing คือการเพิ่ม "มิติของเวลา" ให้กับ 3D Printing ทำให้วัตถุที่พิมพ์ออกมา สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ตามสภาพแวดล้อม โดยไม่ต้องใช้หุ่นยนต์ หรือมนุษย์เข้ามาช่วย ปัจจุบัน Self-Assembly Lab กำลังพัฒนาเทคนิคใหม่ เช่น Rapid Liquid Printing ซึ่งช่วยให้สามารถพิมพ์วัตถุขนาดใหญ่เช่น โซฟา ภายในเวลาเพียงไม่กี่นาที รวมถึงการใช้วัสดุที่ยืดหยุ่นได้ เช่น พลาสติก, ยาง และโฟม เพื่อสร้างชิ้นงานที่ปรับตัวได้ตามการใช้งานจริง
ภาพจาก : https://www.youtube.com/watch?v=MyK4BzbxcdU
การพิมพ์ 4 มิติ (4D Printing) ใช้หลักการของ Stereolithography (SLA) ซึ่งเป็นเทคนิคการพิมพ์ 3 มิติที่ใช้ แสงอัลตราไวโอเลต (UV) ในการทำให้วัสดุแข็งตัวเป็นชั้น ๆ จุดเด่นของ 4D Printing คือการจัดเรียงวัสดุในระดับไมโคร (ระดับที่เล็กมาก Micromiter) ให้มีทิศทางเฉพาะ ทำให้ชิ้นงานสามารถ เปลี่ยนรูปร่างได้เองเมื่อได้รับแรงกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม เราลองมาดูวัสดุที่นำมาทำกัน
ภาพจาก : https://technologystudent.com/despro_3/stereo1.html
วัสดุใน 4D Printing มักใช้เครือข่ายเส้นใยที่มี ขนาด และคุณสมบัติแตกต่างกัน เพื่อออกแบบการเปลี่ยนแปลงของวัตถุเมื่อได้รับแรงกระตุ้น
นักวิจัยจาก MIT ได้พัฒนา พอลิเมอร์แบบผสม ที่สามารถ พองตัวได้มากถึง 150% เมื่อแช่น้ำ โดยใช้วัสดุที่มีทั้งองค์ประกอบที่ดูดซับน้ำ และแข็งตัว ซึ่งช่วยให้วัตถุเปลี่ยนรูปร่างได้ ตัวอย่างเช่น โซ่ที่พิมพ์ออกมาแช่น้ำ แล้วจะเรียงตัวเป็นตัวอักษร "MIT"
วัสดุเซลลูโลสถูกนำมาใช้ใน 4D Printing เพื่อให้ชิ้นงาน ตอบสนองต่อระดับความชื้น โดยออกแบบให้มีฟิล์มสองชั้น ด้านหนึ่งดูดซับน้ำได้ดี (ไฮโดรฟิลิก) อีกด้านกันน้ำ (ไฮโดรโฟบิก) เมื่ออุณหภูมิ และความชื้นเปลี่ยนไป ฟิล์มนี้สามารถ ม้วนตัวหรือคลายตัวได้เอง ซึ่งสามารถนำไปใช้ในวัสดุที่ต้องการปรับรูปร่างตามสภาพแวดล้อมนั่นเอง
พอลิเมอร์ชนิดนี้สามารถ เปลี่ยนสถานะเมื่ออุณหภูมิเปลี่ยนแปลง ตัวอย่างเช่น Poly(N-isopropylacrylamide) หรือ pNIPAM เป็นไฮโดรเจลที่ พองตัวในน้ำที่อุณหภูมิ 32°C และหดตัวเมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น ใช้ในการพิมพ์ วาล์วอัจฉริยะ ที่สามารถ ปิดเมื่อสัมผัสน้ำร้อน และเปิดเมื่อสัมผัสน้ำเย็น
พอลิเมอร์ชนิดนี้สามารถ คืนรูปร่างเดิมหลังจากถูกบิดงอ เมื่อได้รับแรงกระตุ้น เช่น ถูกความร้อน ตัวอย่างการใช้งาน ได้แก่ กล่องพับอัตโนมัติ ที่สามารถพับ และกางออกเอง
พอลิเมอร์ชนิดนี้สามารถ โค้งงอได้เมื่อได้รับแสงความเข้มสูง โดยใช้สารเคมีที่ทำให้วัสดุเกิดแรงตึงในทิศทางที่กำหนด
การพิมพ์ 4 มิติ (4D Printing) กำลังจะเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ ด้วยคุณสมบัติที่ทำให้วัตถุสามารถ เปลี่ยนรูปร่าง และปรับตัวเองได้ตามสภาพแวดล้อม จึงสามารถนำไปใช้ได้ในหลากหลายสาขา เราลองมาดูตัวอย่างที่ถูกนำไปใช้งานจริง ๆ กัน
ในปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) ทีมแพทย์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนประสบความสำเร็จในการช่วยชีวิตทารกที่มีปัญหาทางเดินหายใจ ด้วยการใช้ อุปกรณ์ฝังด้านใน พิมพ์ด้วย 4D Printing ทำจาก พอลีคาโปรแลคโตน (Polycaprolactone) ซึ่งสามารถขยายตัวตามการเจริญเติบโตของเด็ก และสลายตัวไปเองเมื่อไม่จำเป็นอีกต่อไป นอกจากนี้ 4D Printing ยังถูกนำมาใช้ในการอัลตราซาวด์ เพื่อช่วยให้แพทย์มองเห็นโครงสร้าง และพัฒนาการของระบบประสาทของทารกในครรภ์ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นอีกด้วย
ภาพจาก : https://www.iberdrola.com/innovation/what-is-print-4d
นอกเหนือจากนั้น มีการพัฒนา ขดลวดขยายหลอดเลือด (Stent) ที่สามารถปรับตัวเองให้เหมาะกับร่างกายของผู้ป่วยโดยอาศัยความร้อนจากร่างกาย ทำให้สามารถขยายตัวได้อย่างเหมาะสม และลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน
4D Printing ช่วยให้สามารถผลิตเสื้อผ้าที่สามารถ ปรับตัวเข้ากับรูปร่าง และการเคลื่อนไหวของร่างกาย ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทหาร ที่กำลังมีการพัฒนาเครื่องแบบที่สามารถเปลี่ยนสีตามสภาพแวดล้อม หรือปรับการระบายอากาศ และความหนาของเนื้อผ้าตามอุณหภูมิได้ ลดอัตราการเต้นของหัวใจของผู้สวมใส่ เทคโนโลยีนี้ยังสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมแฟชั่น เพื่อสร้างเสื้อผ้าที่สามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะพื้นผิว หรือปรับตัวตามแสง และอุณหภูมิ
ภาพจาก : https://www.iberdrola.com/innovation/what-is-print-4d
NASA ได้พัฒนา ผ้าโลหะอัจฉริยะ (Smart Metallic Fabric) โดยใช้ การพิมพ์ 4 มิติ (4D Printing) เพื่อสร้างวัสดุที่มีคุณสมบัติเป็นฉนวน ช่วยปกป้องนักบินอวกาศจากอุณหภูมิที่รุนแรงในอวกาศ ผ้าชนิดนี้ยังมีศักยภาพในการนำไปใช้ป้องกันยานอวกาศจากอุกกาบาต นอกจากนี้ Airbus ก็กำลังทดสอบวัสดุที่สามารถตอบสนองต่ออุณหภูมิ เพื่อช่วยควบคุมอุณหภูมิของเครื่องยนต์ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องบิน
ภาพจาก : https://www.iberdrola.com/innovation/what-is-print-4d
ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ก็มีแนวคิดในการนำ 4D Printing มาใช้เพื่อพัฒนาถุงลมนิรภัยอัจฉริยะ ที่สามารถรับรู้แรงกระแทก และปรับตัวได้ล่วงหน้าเพื่อลดความรุนแรงของการบาดเจ็บ เทคโนโลยีนี้ยังสามารถนำไปใช้กับวัสดุภายในรถยนต์ เช่น เบาะนั่งที่สามารถปรับรูปร่างให้เหมาะกับสรีระของผู้ขับขี่โดยอัตโนมัตินั่นเอง
ภาพจาก : https://www.youtube.com/watch?v=Z2oWlpRYGc4
การพิมพ์ 4 มิติ (4D Printing) เป็นเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ต่อยอดจาก 3D Printing โดยเพิ่ม "มิติของเวลา" ทำให้วัตถุสามารถเปลี่ยนรูปร่างได้เองเมื่อได้รับแรงกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม โดยไม่ต้องใช้พลังงานไฟฟ้า หรือมอเตอร์ เทคโนโลยีนี้อาศัยวัสดุอัจฉริยะที่ถูกออกแบบให้ปรับตัวเองได้ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และความสามารถในการใช้งานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ
4D Printing ถูกนำมาใช้ในหลายวงการทั้ง การแพทย์ เช่น ผลิตอวัยวะเทียม และอุปกรณ์ฝังภายในที่สามารถปรับขนาดได้เอง ลดความเสี่ยง และเพิ่มความสะดวกในการรักษา ด้านแฟชั่น และสิ่งทอ ที่มีการพัฒนาเสื้อผ้าที่สามารถปรับเปลี่ยนรูปร่าง หรือการระบายอากาศตามอุณหภูมิร่างกาย และในอุตสาหกรรมยานพาหนะเช่นกัน แม้ว่าในปัจจุบัน 4D Printing จะยังอยู่ในช่วงการพัฒนา แต่ในอนาคต เทคโนโลยีนี้จะถูกนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น และอาจกลายเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่สำคัญที่สุดของยุคต่อไปเลยก็ได้
|