สำหรับผู้ที่เคยเดินทางไปต่างประเทศเป็นครั้งแรก หากไม่ได้ทำการบ้านให้ดีก่อนเดินทางไป เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยมีประสบการณ์งุนงงกับปลั๊กไฟที่สนามบิน หรือโรงแรม ที่หน้าตาประหลาดแตกต่างไปจากปลั๊กที่เราใช้กันที่บ้านเรา ก่อนอื่นต้องอธิบายก่อนว่ารูปลั๊กไฟของประเทศไทยบ้านเรานั้น เป็นเอกลักษณ์หนึ่งเดียวในโลก ไม่ตรงกับมาตรฐานของประเทศอื่นเลย ในต่างประเทศเราจะเจอรูปลั๊กแบบขาแบน หรือไม่ก็แบบขากลมอย่างใดอย่างหนึ่ง ในขณะที่บ้านเรานั้นรูปลั๊กถูกออกแบบมาให้เสียบได้ไม่ว่าจะขากลม หรือขาแบนก็ตาม
คำตอบของเรื่องนี้เป็นเรื่องของมาตรฐานแรงดันไฟฟ้าที่แตกต่างกัน โดยค่าแรงดันไฟฟ้าที่นิยมใช้งานกัน จะมี 220V และ 110V ซึ่งการที่แรงดันไฟฟ้าไม่เท่ากัน มันส่งผลไปถึงรูปลั๊กของเต้าเสียบได้อย่างไร ? เราจะมาอธิบายให้ฟังในบทความนี้ ...
ในโลกปัจจุบันนี้ ระบบไฟฟ้าส่วนใหญ่ของประเทศต่าง ๆ จะมีแรงดันไฟฟ้าอยู่ 2 แบบ แบบแรกจะเรียกว่า "แรงดันไฟฟ้าสำหรับที่อยู่อาศัย (Residential Voltage)" เป็นแรงดันไฟฟ้าที่ใช้ในระบบไฟฟ้าภายในบ้าน หรือที่อยู่อาศัยทั่วไป ส่วนแบบที่สองเรียกว่าระบบไฟฟ้าแบบ 3 เฟส (Three-Phase Voltage ) ซึ่งเป็นระบบการจ่ายไฟฟ้าที่ใช้ในอุตสาหกรรม หรือที่อยู่อาศัยที่ต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงกว่าปกติ
แรงดันไฟฟ้าสำหรับที่อยู่อาศัย (Residential Voltage) นั้นยังมีการแยกย่อยออกเป็น 8 ระดับ 100 โวลต์ (Volts หรือ V) มีประเทศญี่ปุ่นใช้เพียงที่เดียว, 110V, 115V, 120V, 127V, 220V, 230V และ 240V สำหรับในประเทศไทย แรงดันไฟฟ้าสำหรับที่อยู่อาศัยมาตรฐานจะอยู่ที่ 230V และ 230V/400V สำหรับระบบไฟฟ้าแบบ 3 เฟส
แต่ละประเทศจะเลือกใช้แรงดันไฟฟ้าแตกต่างกัน ทำให้หลายคนน่าจะมีคำถามตามมาว่า แล้วทำไมไม่ใช้แรงดันไฟฟ้าเดียวกันให้เป็นมาตรฐานเดียวทั้งโลกไปเลย แม้จะมีหลายประเทศที่ใช้แรงดันไฟฟ้าเดียวกัน แต่บางประเทศก็เลือกที่จะแตกต่าง ตัวอย่างเช่น เยอรมนี, ฝรั่งเศส, สหราชอาณาจักร หรือแม้แต่ประเทศนิวซีแลนด์ ก็ใช้แรงดันไฟฟ้าสำหรับที่อยู่อาศัยที่ 230V ในขณะที่ อารูบา, เม็กซิโก และซูรินาม ใช้แรงดันไฟฟ้าที่ 127V คำตอบของคำถามนี้ต้องย้อนกลับไปประวัติศาสตร์ของการผลิตพลังงานไฟฟ้า
ระบบไฟฟ้าที่พวกเราใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา และยุโรป
ย้อนกลับไปในสมัยยุคบุกเบิกพลังงานไฟฟ้า มีวิศวกรสองคนที่เป็นหัวหอกแข่งขันกัน นั่นคือโทมัส เอดิสัน (Thomas Edison) กับนิโคลา เทสลา (Nikola Tesla) ทั้งคู่นำเสนอไอเดียที่แตกต่างกัน โดยเอดิสันเชื่อมั่นในไฟฟ้ากระแสตรง (Direct Current) ขนาด 110V ในขณะที่เทสลานำเสนอ ไฟฟ้ากระแสสลับ (AC Current) ขนาด 240V แม้ระบบของเอดิสันจะมีจุดอ่อนด้านประสิทธิภาพในการจ่ายกระแสไฟฟ้าทางไกล แต่สงครามในครั้งนั้น เอดิสัน ก็เป็นผู้ที่ชนะไปด้วยการใช้อุบายปล่อยข่าวในแง่ลบว่าระบบไฟฟ้าของเทสลาที่ใช้แรงดัน 240V นั้นเป็นอันตรายต่อผู้ใช้งาน เช่น ผลิตวิดีโอที่นำช้างมาช๊อตด้วยไฟฟ้า DC ของเทสลาจนตาย
เป็นผลให้ประเทศสหรัฐอเมริกาตัดสินใจใช้ระบบไฟฟ้าแบบ 110V AC ซึ่งก็ถูกใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้ ในขณะที่ในแถบยุโรปหลายประเทศเลือกใช้ระบบไฟฟ้าแรงดันสูงของเทสลา ซึ่งในยุคของการบุกเบิกพลังงานไฟฟ้านั้น ก็เป็นสมัยเดียวกันกับที่มีการล่าอาณานิคมกันอยู่ เมื่อเข้ายึดครองประเทศใดได้ ประเทศฝ่ายปกครองก็จะนิยมนำระบบไฟฟ้าที่ประเทศตัวเองใช้งานอยู่ไปพัฒนากับประเทศเมืองขึ้นด้วย นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมหลายประเทศถึงเลือกใช้ระบบไฟฟ้าคล้ายคลึงกัน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาพภูมิประเทศ, ระยะทางจากโรงงานผลิตไฟฟ้า และบ้านเรือน ของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ค่าแรงดันไฟฟ้ามีความแตกต่างกันอยู่เล็กน้อย เพื่อสร้างสมดุลระหว่างประสิทธิภาพ และความปลอดภัย
ข้อมูลในตารางด้านล่างนี้ อ้างอิงจากมาตรฐานของ International Electrotechnical Commission (IEC) ซึ่งเป็นองค์กรมาตรฐานสากลที่ควบคุม และดูแลมาตรฐานสากลสำหรับเทคโนโลยีไฟฟ้า และอิเล็กทรอนิกส์ ครอบคลุมตั้งแต่เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้า ไปจนถึงการผลิต และจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ
อัฟกานิสถาน | 220V | แอลเบเนีย | 230V | แอลจีเรีย | 230V |
อเมริกันซามัว | 120V | อันดอร์รา | 120 | แองโกลา | 220V |
แองกวิลลา | 110V | แอนติกา และบาร์บูดา | 230V | อาร์เจนตินา | 220V |
อาร์เมเนีย | 230V | อารูบา | 127V | ออสเตรเลีย | 240V |
ออสเตรีย | 230V | อาเซอร์ไบจาน | 220V | บาฮามาส | 120V |
บาห์เรน | 230V | บังคลาเทศ | 220V | บาร์เบโดส | 115V |
บาร์เบโดส | 115V | เบลารุส | 220V | เบลเยี่ยม | 230V |
เบลีซ | 110V/220V | เบนิน | 220V | เบอร์มิวดา | 120V |
ภูฏาน | 230V | โบลิเวีย | 115V /230V | บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา | 230V |
บอตสวานา | 230V | หมู่เกาะบริติชเวอร์จิน | 110V | บรูไน | 240V |
บัลแกเรีย | 230V | บูร์กินาฟาโซ | 220V | บุรุนดี | 220V |
กัมพูชา | 230V | แคเมอรูน | 220V | แคนาดา | 120V |
เคปเวิร์ด | 220V | หมู่เกาะเคย์แมน | 120V | สาธารณรัฐแอฟริกากลาง | 220V |
ชาด | 220V | ชิลี | 220V | จีน | 220V |
โคลัมเบีย | 110V | คอโมโรส | 220V | สาธารณรัฐคองโก | 230V |
หมู่เกาะคุก | 240V | คิวบา | 110V | ไซปรัส | 240V |
สาธารณรัฐเช็ก | 230V | สาธารณรัฐคองโก | 220V | เดนมาร์ก | 230V |
ดิจบูตี | 220V | โดมินิกา | 230V | สาธารณรัฐโดมินิกัน | 110V |
เอกวาดอร์ | 120V | อียิปต์ | 220V | เอลซัลวาดอร์ | 115V |
อิเควทอเรียลกินี | 220V | เอริเทรีย | 220V | เอสโตเนีย | 230V |
เอธิโอเปีย | 220V | หมู่เกาะฟอล์กแลนด์ | 240V | หมู่เกาะแฟโร | 230V |
ฟิจิ | 240V | ฟินแลนด์ | 230V | ฝรั่งเศส | 230V |
เฟรนช์เกียนา | 220V | กาบอง | 220V | แกมเบีย | 220V |
จอร์เจีย | 220V | เยอรมนี | 230V | กาน่า | 230V |
ยิบรอลตาร์ | 240V | กรีซ | 230V | กรีนแลนด์ | 230V |
เกรเนดา | 230V | กัวเดอลูป | 230V | กวม | 110V |
กัวเตมาลา | 120V | กินี | 220V | กินี-บิสเซา | 220V |
กายอานา | 240V | เฮติ | 110V | ฮอนดูรัส | 110V |
ฮ่องกง | 220V | ฮังการี | 230V | ไอซ์แลนด์ | 230V |
อินเดีย | 230V | อินโดนีเซีย | 220V | อิหร่าน (สาธารณรัฐอิสลาม) | 220V |
อิรัก | 230V | ไอร์แลนด์ | 230V | เกาะแมน | 240V |
อิสราเอล | 230V | อิตาลี | 230V | จาเมกา | 110V |
ประเทศญี่ปุ่น | 100V | จอร์แดน | 230V | คาซัคสถาน | 220V |
เคนย่า | 240V | คิริบาติ | 240V | เกาหลี, พรรคเดโมแครต | 220V/110V |
เกาหลี | 220V | คูเวต | 240V | คีร์กีซสถาน | 220V |
ลาว | 230V | ลัตเวีย | 230V | เลบานอน | 220V |
เลโซโท | 220V | ไลบีเรีย | 120V/220V | ลิเบีย | 127V/230V |
ลีชเตสสไตน์ | 230V | ลิทัวเนีย | 220V | ลักเซมเบิร์ก | 230V |
มาเก๊า | 220V | มาซิโดเนีย | 230V | มาดากัสการ์ | 127V/220V |
มาลาวี | 230V | มาเลเซีย | 240V | มาร์ตินีก | 220V |
มอริเตเนีย | 220V | มอริเชียส | 230V | เม็กซิโก | 127V |
ไมโครนีเซีย | 120V | โมนาโก | 230V | มองโกเลีย | 220V |
มอนเตเนโกร | 230V | มอนต์เซอร์รัต | 230V | โมร็อกโก | 127V/220V |
โมซัมบิก | 220V | พม่า | 230V | นามิเบีย | 220V |
ประเทศนาอูรู | 240V | เนปาล | 230V | เนเธอร์แลนด์ | 230V |
เนเธอร์แลนด์แอนทิลลิส | 127V/220V | นิวแคลิโดเนีย | 220V | นิวซีแลนด์ | 230V |
นิการากัว | 120V | ไนจีเรีย | 230V | นอร์เวย์ | 230V |
โอมาน | 240V | ปากีสถาน | 230V | ปาเลา | 120V |
ปานามา | 110V | ปาปัวนิวกินี | 240V | ปารากวัย | 220V |
เปรู | 220V | ฟิลิปปินส์ | 220V | โปแลนด์ | 230V |
โปรตุเกส | 230V | เปอร์โตริโก | 120V | กาตาร์ | 240V |
สาธารณรัฐมอลโดวา | 220V | สาธารณรัฐไนเจอร์ | 220V | เรอูว์นียง | 220V |
โรมาเนีย | 230V | รัสเซีย | 220V | รวันดา | 230V |
เซนต์คิตส์และเนวิส | 230V | เซนต์ลูเซีย | 240V | เซนต์มาร์ติน | 120V/220V |
เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์ | 230V | ซามัว | 230V | ซานมารีโน | 230V |
เซาตูเมและปรินซิปี | 220V | ซาอุดิอาระเบีย | 220V/230V | เซเนกัล | 230V |
เซอร์เบีย | 230V | เซเชลส์ | 240V | เซียร์ราลีโอน | 230V |
สิงคโปร์ | 230V | สโลวาเกีย | 230V | สโลวีเนีย | 230V |
หมู่เกาะโซโลมอน | 220V | โซมาเลีย | 220V | แอฟริกาใต้ | 230V |
สเปน | 230V | ศรีลังกา | 230V | ซูดาน | 230V |
ซูรินาม | 127V | สวาซิแลนด์ | 230V | สวีเดน | 230V |
สวิตเซอร์แลนด์ | 230V | สาธารณรัฐอาหรับซีเรีย | 220V | ไต้หวัน | 110V |
ทาจิกิสตา | 220V | ไทย | 220V | ติมอร์-เลสเต | 220V |
โตโก | 220V | ตองกา | 240V | ตรินิแดดและโตเบโก | 115V |
ตูนิเซีย | 230V | ตุรกี | 220V | เติร์กเมนิสถาน | 220V |
หมู่เกาะเติกส์และเคคอส | 120V | ตูวาลู | 220V | ยูกันดา | 240V |
ยูเครน | 220V | สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ | 230V | สหราชอาณาจักร | 230V |
สาธารณรัฐแทนซาเนีย | 230V | ประเทศสหรัฐอเมริกา | 120V | หมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐอเมริกา | 110V |
อุรุกวัย | 230V | อุซเบกิสถาน | 220V | วานูอาตู | 220V |
เวเนซุเอลา | 120V | เวียดนาม | 220V | เยเมน | 230V |
แซมเบีย | 230V | ซิมบับเว | 220V | - | - |
การจะตอบคำถามนี้ได้ เราต้องทำความเข้าใจกับ "แรงดันไฟฟ้า (Voltage - V)", "กระแสไฟฟ้า หรือแอมแปร์ (Amperes - A)" และ "กำลังไฟฟ้า (Watt - W)" กันเสียก่อน
ทีนี้เรามาดูสมการกัน
W = V x A (กำลังไฟฟ้า = แรงดันไฟฟ้า x ปริมาณกระแสไฟฟ้า)
V = W / A (แรงดันไฟฟ้า = กำลังไฟฟ้า / ปริมาณกระแสไฟฟ้า)
A = W / V (ปริมาณกระแสไฟฟ้า = กำลังไฟฟ้า / แรงดันไฟฟ้า)
สมมติว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าของเราต้องใช้กำลังไฟฟ้า 1000W ในการทำงาน
ถ้าเป็นประเทศที่ใช้ระบบไฟ 220V ก็ต้องใช้กระแสไฟฟ้า "1000W / 220V = 4.54A"
แต่ถ้าเป็นประเทศที่ใช้ระบบไฟ 110V จะต้องใช้กระแสไฟฟ้า "1000W / 110V = 9.09A"
จะเห็นได้ว่าที่แรงดันไฟฟ้า (V) สูงกว่า จะใช้กระแสไฟฟ้า (A) น้อยกว่า ในการบรรลุกำลังไฟฟ้า (W) ขนาดที่ต้องการ ซึ่งการที่ค่า A แตกต่างกันนั้น ส่งผลต่อการออกแบบระบบการส่งพลังงานไฟฟ้าเป็นอย่างมาก
ภาพจาก : loper.wildernesslabs.co/Hardware/Tutorials/Electronics/Part2/Wattage/
ข้อได้เปรียบของแรงดันไฟฟ้า 220V คือตัวสายไฟจะเล็กกว่า โครงสร้างเรียบง่าย ทำให้การเดินสายทำได้ง่ายกว่า และราคาของสายไฟก็ถูกกว่าด้วย ในขณะที่แรงดันไฟฟ้า 110V จำเป็นต้องทำให้ตัวสายไฟรองรับกระแสไฟฟ้าที่มีค่าสูงได้ วัสดุที่เป็นพาหะนำไฟฟ้าจะมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้สายมีความหนา เดินสายไฟยาก และต้นทุนการผลิตสายแพงขึ้นตามไปด้วย
ในทางทฤษฏีแล้วแรงดันไฟฟ้ายิ่งสูงก็ยิ่งอันตราย ดังนั้น การบอกว่าไฟ 220V อันตรายกว่าไฟ 110V ก็ไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ประเทศส่วนใหญ่บนโลกใบนี้ต่างก็ใช้ไฟ 220V เป็นหลักอยู่ดี เพราะในแง่ความปลอดภัยแล้ว 220V ก็ไม่ได้อันตรายไปกว่า 110V มากนัก มันไม่เหมือนกับที่ทางเอดิสันพยายามปั่นเรื่องให้ดูรุนแรงเกินความเป็นจริง ยิ่งในปัจจุบันนี้มีระบบป้องกันอันตรายเข้ามาช่วยปกป้องผู้ใช้ด้วยอีกหลายอย่าง
เหตุผลคือ อันตรายจากการถูกไฟฟ้าช๊อต ไม่ว่าจะ 220V หรือ 110V มันก็อันตรายเหมือนกัน หากถูกไฟฟ้าดูแค่เพียงชั่ววูบ ก็อาจได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เปรียบได้กับการกระโดดตึก ตกจากตึกความสูง 10 ชั้น หรือจะตกจากความสูง 20 ชั้น ผลลัพธ์ก็ต่างกันไม่มาก
แรงดันไฟฟ้าที่ปลอดภัยต่อร่างกายของมนุษย์อยู่ที่เพียง 36V เท่านั้น ดังนั้นการที่ประเทศอเมริกาที่ยังคงใช้ระบบไฟฟ้าแบบ 110V การบอกว่ามีเหตุผลมาจากความปลอดภัยเป็นหลักจึงอาจไม่ถูกสักทีเดียว
ภายใต้สถานการณ์ที่การจ่ายกระแสไฟฟ้า (Current) การไหลของอิเล็กตรอนผ่านตัวนำไฟฟ้าในวงจรของระบบไฟ 220V จะมีเพียงครึ่งเดียวของวงจรแบบ 110V พออัตราการไหลเวียนต่ำ ทำให้สายมีขนาดเล็กลง และความร้อนที่เกิดขึ้นจากความต้านทานก็จะต่ำลงด้วย ซึ่งความร้อนสามารถส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการไหลเวียนของอิเล็กตรอนด้วย
ภาพจาก : https://www.askmediy.com/electrical-wire-size-calculator/
จากเหตุผลที่ว่ามาทำให้มองว่าระบบไฟ 110V ไม่ได้ปลอดภัยกว่า 220V มากนัก แต่ระบบ 220V มีประสิทธิภาพในการรับส่งที่ดีกว่า ดังนั้นระบบไฟแบบ 220V จึงดีกว่า 110V นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมประเทศส่วนใหญ่ในโลกนี้ที่เข้าถึงระบบไฟฟ้าได้ เลือกใช้ระบบไฟแบบ 220V
ภาพจาก : https://wikitravel.org/en/File:800px-Map_of_the_world_coloured_by_voltage_and_frequency.png
ทิ้งท้ายกันที่เกร็ดความรู้น่าสนใจ เคยสงสัยไหมว่าทำไมแต่ละประเทศออกแบบปลั๊กไม่เหมือนกัน ? อันที่จริงสาเหตุก็มาจากระบบไฟฟ้านี่แหละ หากเคยสังเกตเราจะพบว่าส่วนใหญ่แล้วปลั๊กขาแบนจะอยู่ในอุปกรณ์ที่มาจากประเทศที่ใช้ระบบไฟ 110V ส่วนปลั๊กขากลมจะมาจากประเทศ 220V
ก่อนอื่น ต้องบอกก่อนว่าในทางเทคนิคแล้ว จะขาปลั๊กแบบแบน หรือแบบกลม มันก็สามารถรองรับแรงดันไฟได้ทั้ง 220V และ 110V แต่ที่มันถูกออกแบบให้แตกต่างกัน เป็นเรื่องของการออกแบบเพื่อความปลอดภัย โดยตามปกติแล้วปลั๊กขาแบนจะในเครื่องใช้ไฟฟ้าแบบ 110V ส่วนปลั๊กขากลมจะใช้กับ 220V วิศวกรจึงออกแบบให้ตัวเต้ารับของรูปลั๊กมีความแตกต่างกัน ไม่สามารถใช้งานร่วมกันได้ เพราะหากนำปลั๊กของเครื่องใช้ไฟฟ้า 220V ไปเสียบกับเต้ารับ 110V หรือเอาเครื่องใช้ไฟฟ้า 110V ไปเสียบกับเต้ารับ 220V มันมีความอันตรายอาจทำให้เกิดการลัดวงจรจนอุปกรณ์เกิดความเสียหาย หรือหากรุนแรงก็เกิดเพลิงไหม้ได้
ทั้งนี้มีวิศวกรมากมายหลายพันคนทั่วโลก ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบจ่ายไฟฟ้าตามบ้านเรือน ด้วยมาตรฐานที่มีความแตกต่างกัน ทำให้ตัวปลั๊ก และเต้ารับ มีการออกแบบมาหลายรูปแบบ แต่หลัก ๆ ก็จะมีอยู่ 15 ประเภท ดังภาพด้านล่าง
ภาพจาก : https://www.airsime.com/index.php?route=bossblog/article&blog_article_id=9
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |