การใช้งาน สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) อย่าง Facebook และ Instagram แทบจะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของหลาย ๆ คนไปแล้ว เพราะเวลาว่าง ๆ ไม่รู้จะทำอะไรก็มักจะหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาเปิด Facebook หรือไล่ดูสตอรีบน แอป Instagram กันเพลิน ๆ รู้ตัวอีกทีก็ผ่านไปหลายชั่วโมงแล้วเสียอย่างนั้น ซึ่งในระหว่างนั้นก็เห็นว่าเพื่อนคนอื่น ๆ หรือคนรู้จักของเราก็โพสต์หรือลงสตอรีว่าได้นั่นทำนี่มากมาย ถ้ามองผ่าน ๆ แบบไม่ได้คิดอะไรมากก็ถือว่าได้อัปเดตชีวิตเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันนาน
แต่สำหรับบางคนที่เผลอนำเอาตัวเองที่นอนเล่นโซเชียลใช้ชีวิตผ่านไปวัน ๆ ไม่ได้ออกไปทำกิจกรรมน่าตื่นเต้นหรือมีเรื่องน่ายินดีในชีวิตให้โพสต์ลงเฟซหรืออัปสตอรีอยู่บ่อย ๆ ก็อาจพาลคิดไปว่าเราแตกต่างออกไปจากเพื่อนหรือชีวิตดีไม่เท่าคนอื่นจนรู้สึกบั่นทอนจิตใจจนเริ่มรู้สึกหดหู่หรือเศร้าหมองขึ้นมาได้ ซึ่งสำหรับประเด็นนี้ก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่เรา "คิดไปเอง" แต่อย่างใด
ภาพจาก : https://www.dazeddigital.com/life-culture/article/40020/1/instagram-and-mental-health
เพราะสำนักข่าวชื่อดังเจ้าหนึ่งก็ได้หยิบยกเอางานวิจัยที่ทางบริษัท Facebook ได้ทำการสำรวจและศึกษาเกี่ยวกับอิทธิพลการใช้งานแอปพลิเคชัน Instagram ที่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของวัยรุ่นในช่วงปี ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) ออกมาชี้ให้เห็นว่า Instagram นั้นเป็นแพลตฟอร์มที่ค่อนข้าง Toxic หรือส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจของวัยรุ่น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กผู้หญิงค่อนข้างมากเลยทีเดียว !
ภาพจาก : https://www.wsj.com/articles/facebook-knows-instagram-is-toxic-for-teen-girls-company-documents-show-11631620739
ซึ่งทาง Facebook ที่เป็นเจ้าของ Instagram ก็ได้ออกมาแย้งว่าสิ่งที่สำนักข่าวออกมาประโคมข่าวกันนั้นเป็นการบิดเบือนจุดประสงค์ที่แท้จริงของการวิจัยในครั้งนี้ออกไป เพราะความจริงแล้วทางบริษัทเพียงแค่ต้องการรายงานเกี่ยวกับ “ความเป็นอยู่ที่ดี (Well-Being)” ของวัยรุ่นที่ใช้งาน Instagram เท่านั้น และสำนักข่าวนั้นก็ได้หยิบยกเอาประเด็นเพียงบางส่วนมาใส่สีตีไข่เพิ่มเติมจนทำให้ผู้คนเข้าใจผิด
ดังนั้นเราก็เลยไปดูว่าแท้จริงแล้วงานวิจัยของ Facebook นี้แสดงให้เห็นว่า Instagram ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของวัยรุ่นอย่างที่ทางสำนักข่าวกล่าวเอาไว้ หรือว่ามันจะช่วยแสดงถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของวัยรุ่นอย่างที่ทางบริษัทระบุไว้กันแน่ ?
ภายในเว็บไซต์ของ Facebook ที่ได้ออกมาประกาศข่าวนี้ได้แบ่งการวิจัยออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน โดยส่วนแรกจะกล่าวถึง การใช้งาน Instagram ว่ามันมีผลกระทบต่อสุขภาพจิต (ทั้งในแง่บวกและลบ) ของผู้คนที่มีปัญหาชีวิตจริงหรือไม่ ? และส่วนที่สองจะเป็นเรื่องของความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพจิตในกลุ่มวัยรุ่น
ในส่วนของหัวข้อแรกที่ทาง Facebook ได้ทำการศึกษานั้นก็ได้ทำการสำรวจกับผู้คนในช่วงอายุตั้งแต่ 13 - 65 ปีขึ้นไปในแถบอเมริกา (USA), บราซิล (Brazil), ญี่ปุ่น (Japan), อินโดนีเซีย (Indonesia), ตุรกี (Turkey) และอินเดียกว่า 2 หมื่นคน โดยกลุ่มตัวอย่างนี้เป็นบุคคลที่มีปัญหาชีวิต (มีความยากลำบากในการใช้ชีวิตในช่วง 30 วันที่ผ่านมา) ดังนี้
นอกจากนี้ยังได้แบ่งกลุ่มย่อยออกเป็นกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มผู้ใหญ่อีกด้วย (ไม่มีการแบ่งประเภทย่อยตามประเทศที่ใช้งานแต่อย่างใด)
ภาพจาก : https://about.fb.com/wp-content/uploads/2021/09/Instagram-Teen-Annotated-Research-Deck-1.pdf
ซึ่งผลวิจัยก็ออกมาว่าผู้ที่มีปัญหาด้านการเรียน/ทำงานก็มักจะมีการเข้าใช้งานแอปพลิเคชันมากที่สุด โดยวัยรุ่นมักมีพฤติกรรมการเล่น Instagram มากกว่ากลุ่มผู้ใหญ่ ส่วนเหตุผลที่เลือกใช้งาน Instagram ก็เพราะต้องการที่จะเบี่ยงความสนใจของตนเองออกไปจากสิ่งที่กำลังกระทำหรือรู้สึกอยู่ ณ ขณะนั้น (หรืออาจเรียกง่าย ๆ ว่าหนีความจริงหรืออู้งานและโดดเรียนมาไถไอจีเล่นก็ได้) แต่บางคนก็ระบุว่าพวกเขาเล่น Instagram เพื่อช่วยหาแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ด้วยเช่นกัน
ภาพจาก : https://about.fb.com/wp-content/uploads/2021/09/Instagram-Teen-Annotated-Research-Deck-1.pdf
ในส่วนของกลุ่มที่มีแนวโน้มในการฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตนเอง (SSI) นั้นพบว่าการใช้งาน Instagram ส่งผลต่ออารมณ์ของพวกเขาค่อนข้างมาก (ทั้งกลุ่มวัยรุ่นและผู้ใหญ่) และผู้ใช้ที่มีปัญหาด้านการติดการใช้งานโซเชียลมีเดียกว่า 30% ก็พบว่าการใช้งาน Instagram นั้นยิ่งส่งเสริมให้เกิดปัญหาด้านการติดโซเชียลมีเดียของพวกเขาเพิ่มมากขึ้นไปอีก อีกทั้งวัยรุ่นหญิงราว 30% ก็ระบุว่าการใช้งาน Instagram ทำให้พวกเธอรู้สึกไม่พึงพอใจในรูปร่างของมากกว่าเดิมด้วยเช่นกัน
ภาพจาก : https://about.fb.com/wp-content/uploads/2021/09/Instagram-Teen-Annotated-Research-Deck-1.pdf
ส่วนกลุ่มคนที่ชอบเปรียบเทียบตนเองกับผู้คนอื่น ๆ นั้น ระบุว่าพวกเขาต้องการให้ยอดการเข้าถึง (ยอด Reach) Instagram ของพวกเขาสูงขึ้น เพราะมันอาจนำมาซึ่งการซัพพอร์ทอย่างการคอมเมนท์หรือรีแอคชันโต้ตอบจากผู้ใช้คนอื่น ๆ มากขึ้น และจากผลสำรวจโดยรวมก็พบว่ามันเป็นสิ่งที่ผู้ใช้ Instagram ส่วนใหญ่ต้องการด้วย
สำหรับความคาดหวังต่อการใช้งาน Instagram นั้น กลุ่มผู้ใช้ที่เป็นวัยรุ่นคาดหวังว่าการใช้งาน Instagram จะช่วยให้พวกเขาผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากไปได้ ส่วนผู้ใช้ที่เป็นผู้ใหญ่คาดหวังให้ทาง Instagram ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้ใช้ที่มีปัญหาด้านการใช้งานโซเชียลมีเดีย, ผู้ที่ชอบเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น, ผู้ที่มีแนวโน้มการฆ่าตัวตายและกลุ่มผู้มีภาวะซึมเศร้ามากเป็นพิเศษ
นอกจากนี้แล้ว ผู้ใช้ Instagram ส่วนมากยังต้องการที่จะเป็นผู้ควบคุมการตั้งค่าการมองเห็นโพสต์ต่าง ๆ บน Instagram ด้วยตนเองเพื่อให้พวกเขาสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือหรือสามารถติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่น ๆ ที่กำลังประสบภาวะเดียวกันได้เพื่อช่วยเหลือแลกเปลี่ยนประสบการณ์แก่กันและกันได้อีกด้วย
ถ้าดูจากผลของการสำรวจในครั้งนี้ก็คงจะพูดได้อย่างเต็มปากว่าการใช้งาน Instagram นั้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้ใช้จริง แต่มันก็ไม่ได้มีแค่ผลในทางลบเท่านั้น บางครั้งผู้คนก็ใช้งาน Instagram เพื่อให้ตนเองรู้สึกดีขึ้นจากเดิม (หนีความจริงชั่วคราว) หรือใช้งานเพื่อหาแรงบันดาลใจในการทำสิ่งใหม่ ๆ
แต่แน่นอนว่ามันก็มีข้อเสียอย่างการทำให้ผู้ที่ติดโซเชียลมีเดียอยู่แล้วติดหนักมากขึ้นไปอีก หรือบางคนก็ไม่กล้าที่จะอวดเรือนร่างลง Instagram ส่วนตัวเพราะรู้สึกไม่พึงพอใจในรูปร่างของตนเองเมื่อนำเอาไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ๆ และผู้ใช้ส่วนมากก็ต้องการที่จะได้รับความสนใจจากบุคคลอื่น ๆ บนโซเชียลมีเดีย ซึ่งหากไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้ก็อาจรู้สึกผิดหวังจนเกิดอารมณ์ทางลบขึ้นมาได้
ส่วนอีกหัวข้อหนึ่งที่ทาง Facebook ได้ทำการสำรวจวิจัยเรื่องความรู้ความเข้าใจเรื่องสุขภาพจิตของวัยรุ่นนั้น กลุ่มตัวอย่างเป็นเพียงแค่วัยรุ่นในช่วงอายุ 13-17 ปี ที่อาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรราว 2,500 กว่าคนที่ใช้งาน Instagram เป็นประจำเท่านั้น
ภาพจาก : https://about.fb.com/wp-content/uploads/2021/09/Instagram-Teen-Annotated-Research-Deck-2.pdf
โดยผลการวิจัยก็ออกมาว่าวัยรุ่นส่วนมากมีความรู้และความเข้าใจในเรื่องสุขภาพจิต โดยเฉพาะสิ่งที่ก่อให้เกิดอารมณ์ทางลบ อีกทั้งยังพบว่าวัยรุ่นราว 82% มีความรู้สึกทางลบในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา (1 ใน 5 มีความคิดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตายหรือการทำร้ายตนเอง) และเพศหญิงมีความเข้าใจในเรื่องของการอธิบายถึงความรู้สึกที่หลากหลายและชัดเจนกว่าเพศชาย
แต่โดยรวมแล้วการใช้งานโซเชียลมีเดียอย่าง Instagram ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของวัยรุ่นกลุ่มนี้มากนัก เพราะพวกเขาระบุว่าสิ่งที่มีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตของพวกเขาเป็นอันดับต้น ๆ คือเพื่อนและครอบครัว ส่วนโซเชียลมีเดียนั้นเป็นลำดับท้ายสุด
ภาพจาก : https://about.fb.com/wp-content/uploads/2021/09/Instagram-Teen-Annotated-Research-Deck-2.pdf
และ 70% ของวัยรุ่นก็ระบุว่าการโพสต์รูปหรือสตอรีของพวกเขาขึ้นอยู่กับความรู้สึกของพวกเขาในขณะนั้น โดยส่วนมากรู้สึกว่าการใช้งาน Instagram ช่วยให้พวกเขารู้สึกดียิ่งขึ้นเพราะพวกเขาเลือกที่จะติดตามแอคเคาท์ที่ชื่นชอบเพื่อช่วยผ่อนคลายความเครียด หรือพูดคุยโต้ตอบกับเพื่อน ๆ ด้วยมีม (Meme) ตลก ๆ และได้แชร์ภาพและวิดีโอต่าง ๆ ของตนเองที่เก็บประสบการณ์ดี ๆ เอาไว้บนโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้การใช้งาน Intragram ในบางครั้งยังช่วยให้พวกเขารู้สึกดีขึ้นและสร้างเสียงหัวเราะให้กับพวกเขาได้ในตอนที่รู้สึกแย่
ภาพจาก : https://about.fb.com/wp-content/uploads/2021/09/Instagram-Teen-Annotated-Research-Deck-2.pdf
แต่ก็มีวัยรุ่นส่วนหนึ่งที่เกิดความรู้สึกไม่พึงพอใจในตนเองเมื่อเล่น Instagram ด้วย โดยพวกเขาระบุว่าการเล่น Instagram นั้นก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล ซึ่งอาจเป็นเพราะภายใน Instagram นั้นมักจะมีรูปที่สวย, ดูดี, น่าดึงดูด หรือดูมีฐานะสูงจนทำให้วัยรุ่นส่วนหนึ่งรู้สึกแย่เมื่อเปรียบเทียบตนเองกับเพื่อนคนอื่น ๆ และนำมาสู่การเกิดภาวะซึมเศร้า, ความรู้สึกโดดเดี่ยว, รู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่ามากเพียงพอหรือทัดเทียมกับผู้อื่น, การถูกกลั่นแกล้งทางออนไลน์ (Cyberbullying) จากคนอื่น ๆ หรือการพบเห็นข้อความ, รูปภาพ หรือวิดีโอที่เกี่ยวเนื่องกับการฆ่าตัวตายหรือการทำร้ายตนเองบน Instagram ก็ยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกแย่มากขึ้นไปอีกโดยเฉพาะในหมู่ผู้ที่รู้สึกว่าตนเองดีไม่พอจนรู้สึกแย่เมื่อเล่น Instagram ได้
ภาพจาก : https://about.fb.com/wp-content/uploads/2021/09/Instagram-Teen-Annotated-Research-Deck-2.pdf
และถึงแม้ว่าพวกเขาจะรู้สึกว่าจำเป็นที่จะต้องจัดการกับความคิดและอารมณ์ทางลบนี้ด้วยตนเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการความช่วยเหลือจากภายนอก เช่น จากเพื่อน, ครอบครัว, ผู้เชี่ยวชาญ หรือบุคคลอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน และมีวัยรุ่นส่วนหนึ่งที่คิดว่าทาง Instagram ควรที่จะลงโทษแอคเคาท์ที่มีพฤติกรรมแย่ ๆ (เช่น แอคเคาท์สแปม, แอคเคาท์โป๊ หรือแอคเคาท์ที่มีพฤติกรรมการกลั่นแกล้งผู้อื่น)
ซึ่งเมื่อผลสรุปรวมออกมาดังนี้แล้วทางบริษัทก็น่าจะต้องทำการปรับเปลี่ยนรูปแบบของแอปพลิเคชันบางอย่างให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้อย่างการส่งเสริมและแนะนำแอคเคาท์ที่คาดว่าน่าจะช่วยให้ผ่อนคลายความเครียดหรืออารมณ์ให้กับผู้ใช้เพิ่มมากขึ้น หรือเพิ่มฟิลเตอร์ตลก ๆ ลงบน IG Stories ให้ผู้ใช้ได้เล่นกันมากขึ้น
ถ้าอ้างอิงจากผลวิจัยข้างต้นที่ค่อนข้างมีความหลากหลายในการสำรวจด้านเชื้อชาติ, การใช้ภาษา และพฤติกรรมต่าง ๆ ของผู้ใช้กลุ่มหนึ่งที่มีปัญหาในการใช้ชีวิต (ในช่วงเวลาที่ทำแบบทดสอบ) และความรู้ความเข้าใจด้านสุขภาพจิตของกลุ่มตัวอย่างแล้วก็อาจสรุปได้ว่า Instagram นั้นส่งผลต่อสุขภาพจิตของผู้ใช้ ทั้งในทางบวกและทางลบได้จริง (ขึ้นอยู่กับผู้ใช้งาน)
แต่นอกเหนือไปจากงานวิจัยของ Facebook แล้วก็ยังมีผลงานวิจัยอื่น ๆ อีกมากมายที่ออกมาสนับสนุนในประเด็นนี้ด้วย ซึ่งทางบริษัทเองก็สังเกตเห็นถึงผลกระทบในจุดนี้และได้เพิ่มฟีเจอร์บางส่วนเข้ามาช่วยเหลือผู้ใช้กลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็น ฟีเจอร์ช่วยรับมือกับการถูก Cyberbullying, การลดอคติทางเชื้อชาติ, การคัดกรองอายุผู้ใช้งาน และ การกำจัดการส่ง DM หาเยาวชน เป็นต้น
แต่ไม่ใช่แค่ Instagram เท่านั้น เพราะโซเชียลมีเดียอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Twitter, YouTube, Line, Snapchat หรือแอปพลิเคชันอื่น ๆ นั้นมันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียในตัวของมันเอง
ซึ่งนอกจากที่ผู้พัฒนาควรจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาฟีเจอร์ต่าง ๆ เพื่อลดการเกิดความขัดแย้งภายในแพลทฟอร์มและป้องกันการแสดงผลสิ่งที่อาจกระทบกระเทือนจิตใจของผู้ใช้จนก่อให้เกิดความรู้สึกแย่เมื่อใช้งานแล้ว อาจต้องพิจารณาในเรื่องของการให้สิทธิในการตั้งค่าและจัดการการมองเห็นโพสต์ของผู้ใช้เพิ่มขึ้นจากเดิมด้วย
อีกทั้งทางฝั่งผู้ใช้เองก็ควรมีวิจารณญาณในการใช้งานโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน พิจารณาข้อมูลให้รอบด้านก่อนเลือกเชื่อถือข้อมูลใด ๆ บนโซเชียล รวมทั้งไม่ควรนำเอาความคิดหรือความรู้สึกของตนเองไปผูกติดกับโซเชียลมีเดียมากจนเกินไป ใช้โซเชียลมีเดียอย่างพอประมาณ หรือทำ Social Detox (ลดการเล่นโซเชียลลง) ในบางเวลาก็ช่วยให้สุขภาพจิตดีมากขึ้นได้ไม่น้อยเลย
ภาพจาก : https://www.verywellmind.com/why-and-how-to-do-a-digital-detox-4771321
อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยที่หยิบยกมาพูดถึงในครั้งนี้นั้นเป็นการสำรวจในช่วงปี ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) ที่ยังไม่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ไปทั่วโลก ไม่แน่ว่าหากมีการวิจัยซ้ำในประเด็นเดิมช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในกลุ่มตัวอย่างที่หลากหลายจากเดิมก็อาจทำให้เรามองเห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้นจากเดิมก็เป็นได้ เพราะในช่วงเวลาดังกล่าวที่หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกมีการจัดการกับสถานการณ์การระบาดที่ต่างกันก็น่าจะส่งผลต่อทั้งพฤติกรรมการใช้งานและสุขภาพจิตของผู้ใช้งาน Instagram ในช่วงอายุและพื้นที่ที่ต่างกันด้วย
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |