ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

Abandonware คืออะไร ? มารู้จักซอฟต์แวร์ที่ถูกทอดทิ้งกัน มันเป็นยังไงน้า

Abandonware คืออะไร ? มารู้จักซอฟต์แวร์ที่ถูกทอดทิ้งกัน มันเป็นยังไงน้า

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 647
เขียนโดย :
0 Abandonware+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%8B%E0%B8%AD%E0%B8%9F%E0%B8%95%E0%B9%8C%E0%B9%81%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99+%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

Abandonware คืออะไร ?

ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยี และซอฟต์แวร์ มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และอัตราการแข่งขันสูงมาก จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากจะมีซอฟต์แวร์ หรือเกมจำนวนมากมายเคยใช้งานกันอย่างแพร่หลาย แต่เมื่อเวลาผ่านไป พวกมันก็ถูกทอดทิ้งเอาไว้ในความทรงจำไม่ได้รับการพัฒนาต่อ หรือมีการวางจำหน่ายอีกต่อไป เนื่องจากผู้พัฒนาไม่ได้อัปเดต หรือให้การสนับสนุนต่อ ซอฟต์แวร์เหล่านี้ถูกเรียกว่า "Abandonware" นั่นเอง

บทความเกี่ยวกับ Software อื่นๆ

ในบทความนี้จะพาคุณผู้อ่านไปรู้จักว่า Abandonware คืออะไร ? และเรายังควรหามันมาใช้งานหรือไม่ ? ..

เนื้อหาภายในบทความ

Abandonware คืออะไร ? (What is Abandonware ?)

Abandonware มาจากคำว่า "Abanddon (ละทิ้ง)" มารวมกับคำว่า Software (ซอฟต์แวร์) รวมกันก็เป็น "ซอฟต์แวร์ที่ถูกละทิ้ง" ไปแล้วนั่นเอง

คำนี้เริ่มต้นขึ้นจากซอฟต์แวร์เกมที่รันบน ฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์ (Computer Hardware) รุ่นเก่า ๆ สมัยปลาย ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) แต่ซอฟต์แวร์ทุกประเภทสามารถอยู่จัดให้ในหมวดหมู่นี้ได้ Abandonware เปรียบเหมือนชีวิตที่ของซอฟต์แวร์ที่พิสูจน์ถึงความเจ๋ง หรือเสน่ห์ของมัน แม้ว่าจะไม่มีการอัปเดต หรือการสนับสนุนจากผู้พัฒนาอย่างเป็นทางการแล้ว แต่เกมเหล่านี้ยังคงมีบางอย่างที่ดึงดูดใจให้นักเล่นเกมกลับไปเล่นพวกมันใหม่อีกครั้งเสมอ ไม่ว่าจะเป็นระบบการเล่นที่เรียบง่าย, กราฟิกแบบเก่า หรือเนื้อเรื่องที่น่าสนใจ ทำให้เกมที่เป็น Abandonware มอบความบันเทิงที่แตกต่างไปจากเกมในยุคนี้

ปัจจุบัน Abandonware คำนี้ครอบคลุมถึงซอฟต์แวร์ทุกประเภท แต่ที่เรามักจะได้ยินกันบ่อย ๆ มักจะมาจากแวดวงเกมเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะหากเป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้ทำงาน เรามักจะต้องการของใหม่ที่เป็นเวอร์ชันล่าสุด มีคุณสมบัติ หรือเครื่องมือใหม่ ๆ ให้ใช้งาน ทำให้ Abandonware ไม่ได้รับความสนใจมากนัก แต่สำหรับซอฟต์แวร์เกมนั้นจะต่างออกไป หลายคนคิดถึงเกมเก่า ๆ ที่เคยเล่นตอนเด็ก ผ่านมาหลายสิบปีอยากจะเล่นมันอีก แต่มันก็ไม่มีให้หาซื้อแล้ว บางเกมสตูดิโอผู้พัฒนาก็เลิกกิจการไปแล้วด้วยซ้ำ เกมเก่าเหล่านี้ก็จัดว่าเป็น Abandonware ได้เช่นกัน

Abandonware คืออะไร ? มารู้จักซอฟต์แวร์ที่ถูกทอดทิ้งกัน มันเป็นยังไงน้า
ภาพ AI Image จาก Copilot

ดังนั้น ถ้าจะนิยาม Abandonware มันก็หมายถึง ซอฟต์แวร์ที่ไม่มีการสนับสนุน หรือการบังคับใช้ลิขสิทธิ์อีกต่อไป เนื่องจากบริษัทที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ปิดกิจการ หรือถูกขายให้กับเจ้าของกิจการรายใหม่ที่ไม่สนใจจะพัฒนาต่อ

ทำให้กล่าวได้ว่ามันเป็นซอฟต์แวร์ที่ถูกทอดทิ้งโดยผู้พัฒนาเดิม กลายเป็นซอฟต์แวร์ที่ไม่มีการสนับสนุน หรืออัปเดตอย่างเป็นทางการอีกแล้ว ส่งผลให้ผู้ที่สนใจไม่สามารถหา "ซื้อ" หรือ "ดาวน์โหลด" จากแหล่งที่มาอย่างเป็นทางการได้อีกต่อไป อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมันจะเป็นซอฟต์แวร์ที่ถูกทอดทิ้ง แต่ซอฟต์แวร์หลายตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับซอฟต์แวร์เกม มันยังคงสามารถดึงดูดความสนใจจากนักเล่นเกมที่ยังมีความทรงจำดี ๆ เกี่ยวกับประสบการณ์ในการเล่นเกมเก่า ที่เคยสัมผัสมาตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็ก

อนึ่ง Abandonware ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของงานกำพร้า (Orphan Work) ที่อาจจะมาจาก ซอฟต์แวร์ หรือฮาร์ดแวร์เก่าแก่ ที่พิพิธภัณฑ์ หรือองค์กรต่าง ๆ ช่วยกันรักษาพวกมันเอาไว้ให้คนรุ่นหลังสามารถเข้าถึงพวกมันได้

Abandonware เกิดจากอะไร ? (What Causes Software to be Abandoned ?)

มีหลายเหตุผลที่ทำให้ซอฟต์แวร์กลายเป็น Abandonware

อายุขัย

อายุขัยของฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ มักจะได้รับการสนับสนุนจากผู้พัฒนาอยู่เพียงไม่กี่ปี โดยเมื่อเวอร์ชันเก่าถูกแทนที่ด้วยเวอร์ชันที่ใหม่กว่า ซอฟต์แวร์ใหม่จะถูกพัฒนาให้ใช้ประโยชน์จากคุณสมบัติของฮาร์ดแวร์ที่ดีขึ้น เช่น หน่วยประมวลผลกลาง (CPU) ที่มีความเร็วมากขึ้น, หน่วยความจำหลัก (RAM) ที่มากขึ้น, หรือแม้แต่มี หน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) ที่ดีกว่า

ส่งผลให้ซอฟต์แวร์เก่าในที่สุดก็จะล้าสมัย หรือตกรุ่นไปในที่สุด หลังจากได้รับการอัปเกรดไปสักหนึ่ง หรือสองครั้ง เนื่องจากมันไม่ได้สร้างมาสามารถเข้าถึงทรัพยากรของระบบคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ ๆ ได้อย่างสมบูรณ์

สตูดิโอผู้พัฒนาเลิกกิจการ

สตูดิโอเกม และบริษัทพัฒนาซอฟต์แวร์ เป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มที่จะเลิกกิจการ หรือขายกิจการให้กับบริษัทอื่นค่อนข้างสูง ดังนั้นสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของซอฟต์แวร์จึงถูกเปลี่ยนมือบ่อยครั้ง บริษัทบางแห่งอาจไม่ทราบด้วยซ้ำว่าพวกเขาเป็นเจ้าของซอฟต์แวร์ หรือเกมอะไรอยู่บ้าง โดยเฉพาะถ้าพวกเขาไม่ได้เป็นผู้สร้างผลงานนั้นขึ้นมา และมันไม่ได้อยู่ในตลาดมาระยะเวลาหนึ่งแล้ว

ไม่คุ้มค่าต่อการพัฒนา

อีกสาเหตุหนึ่งที่ซอฟต์แวร์ถูกละทิ้งได้คือ บริษัทได้ตัดสินใจแล้วว่ามันไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ที่จะใช้เวลา และเงินในการโฆษณา, แจกจ่าย และสนับสนุนเกมเก่า หรือพอร์ตไปยังแพลตฟอร์มใหม่อีกต่อไป แม้แต่เกมใหม่ที่มีความคาดหวังสูงบางครั้ง ก็ยังอาจถูกยกเลิกก่อนวางจำหน่ายเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของสตูดิโอ แม้ว่าจะลงทุนเงินไปแล้วเป็นจำนวนมาก

ต้องการกระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อเวอร์ชันใหม่

เจ้าของลิขสิทธิ์อาจตั้งใจทำให้เกมเก่าใช้งานไม่ได้เพื่อกระตุ้นการซื้อภาคต่อ เช่น ปิดเซิร์ฟเวอร์ที่ให้บริการ ซึ่งอาจเป็นการชั่วคราว ก่อนที่จะนำกลับมาปัดฝุ่นใหม่เปิดให้เล่นได้อีกครั้งบนเครื่องเกมรุ่นใหม่

Abandonware ต่างจาก Orphaned Work อย่างไร ? (What is the difference between Abandonware and Orphaned Work ?)

แนวคิดของงานกำพร้าหรือ Orphaned Work มีความคล้ายคลึงกันกับ Abandonware แต่ว่ามีความแตกต่างกันอยู่

Orphaned Work

คือ งานที่ไม่ทราบที่มา หรือไม่สามารถค้นหาผู้ถือครองลิขสิทธิ์ได้ Abandonware บางตัวก็จัดว่าเป็น Orphaned Work ได้

 Abandonware

มีซอฟต์แวร์หลายตัว เรารู้ว่าใครเป็นเจ้าของ เพียงแต่พวกเขาไม่ได้แจกจ่ายหรือสนับสนุนมันอีกต่อไป และบางครั้ง ซอฟต์แวร์ที่เคยถูกละทิ้งไปแล้ว แต่วันดีคืนดีก็ถูกเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือผู้พัฒนานำมาเปิดให้เข้าถึงได้โดยสาธารณะแบบ โอเพ่นซอร์ส (Open-Source) หรือแจกฟรีไปเลย ทำให้มันเป็น ซอฟต์แวร์ฟรี (Freeware) แทนที่จะเป็น Abandonware

Abandonware ถูกกฏหมายหรือไม่ ? (Is Abandonware Legal?)

ทันทีที่ซอฟต์แวร์ หรือเกมที่คุณครอบครองไม่ถูกแจกจ่าย หรือสนับสนุน โดยผู้พัฒนาดั้งเดิมอีกต่อไป ในทางนิยามแล้วพวกมัน ก็สามารถเรียกได้ว่าเป็น Abandonware อย่างไรก็ตาม มันเป็นการจัดประเภทที่อาจคลุมเครือเกินไป เนื่องจากแต่ละประเทศก็มีกฎหมายที่แตกต่างกัน

ดังนั้น คำตอบแบบตรงไปตรงมาคือ ผิดแน่นอน

วิดีโอเกมเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ ในปี ค.ศ. 2024 (พ.ศ. 2567) ตลาดวิดีโอเกมคาดว่าจะสร้างรายได้สูงถึง $282,300,000,000 (หรือประมาณ 9,770,120,107,170 บาท แต่เช่นเดียวกับหนังสือ, ภาพยนตร์, เพลง และงานศิลปะอื่น ๆ วิดีโอเกมก็จัดเป็นซอฟต์แวร์ก็อยู่ภายใต้กฎหมายลิขสิทธิ์ การละเมิดซอฟต์แวร์ที่ยังมีจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และมีความเสี่ยงอย่างชัดเจน แต่ในกรณีของ Abandonware จริยธรรม และความเสี่ยง กลายเป็นสิ่งที่ค่อนข้างคลุมเครือในสายตาของใครหลายคน แม้ว่าข้อกฎหมายจะมีการระบุอย่างชัดเจนก็ตาม

ทางเทคนิคแล้ว ทรัพย์สินทางปัญญาใดๆ  ที่ยังอยู่ภายใต้ลิขสิทธิ์ สามารถถูกสร้างซ้ำ และแจกจ่ายได้อย่างถูกกฎหมายโดยเจ้าของเท่านั้น หรือโดยบุคคลใดก็ตาม ที่ได้รับสิทธิ์ในการแจกจ่ายจากเจ้าของลิขสิทธิ์ให้อนุญาต นอกจากนี้ ยังมีเรื่องกฏหมายคุ้มครองเครื่องหมายการค้า (Trademark) เข้ามาเอี่ยวอีกด้วย เช่น ชื่อ หรือโลโก้บริษัท ที่ปรากฏภายในเกม

สำหรับในประเทศสหรัฐอเมริกา ลิขสิทธิ์มีอายุยาวนานกว่าที่ซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่มีอยู่ เพราะตั้งแต่พระราชบัญญัติขยายระยะเวลาลิขสิทธิ์ซอนนี่ โบโน (Sonny Bono Copyright Term Extension Act) ในปี ค.ศ. 1998 (พ.ศ. 2541) ลิขสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกาสำหรับผลงานส่วนใหญ่ ที่สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 1978 (พ.ศ. 2521) หรือหลังจากนั้น จะมีอายุการคุ้มครอง 70 ปี หลังจากเจ้าของลิขสิทธิ์เสียชีวิต

หรือถ้าหากเป็นในกรณีของผลงานที่สร้างโดยบริษัท หรืองานที่ถูกว่าจ้าง จะมีอายุการคุ้มครอง 95 ปี นับจากวันที่เผยแพร่ หรือ 120 ปีนับจากวันที่ผลงานถูกสร้างขึ้นมา แล้วแต่ว่าอายุไหนจะหมดก่อน นั่นหมายความว่า Abandonware ส่วนใหญ่ยังคงมีลิขสิทธิ์ และกว่าอายุของลิขสิทธิ์จะหมดลงก็อย่างน้อยในปี ค.ศ. 2048 (พ.ศ. 2591) 

Abandonware คืออะไร ? มารู้จักซอฟต์แวร์ที่ถูกทอดทิ้งกัน มันเป็นยังไงน้า
ภาพจาก : https://en.wikipedia.org/wiki/Copyright_Term_Extension_Act

แน่นอนว่าการแจกจ่าย และการดาวน์โหลดผลงานที่มีลิขสิทธิ์โดยไม่ได้รับอนุญาต ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ดังนั้น ในทางเทคนิคแล้ว ถ้าคุณได้รับซอฟต์แวร์จากแหล่งที่ไม่ได้รับอนุญาต มันยังสามารถถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์สามารถมาเรียกร้องเอาผิดได้

แม้ว่าในปี ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) หอสมุดรัฐสภา (Library of Congress) จะแก้ไขข้อยกเว้นใน "พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ดิจิทัลมิลเลนเนียม (Digital Millennium Copyright Act) ฉบับ ปี ค.ศ.1998 (พ.ศ. 2541)" เพื่ออนุญาตให้ผู้ใช้สามารถเจาะ การป้องกันการคัดลอกบนซอฟต์แวร์สำหรับคอมพิวเตอร์ (DRM) ที่ไม่มีการวางจำหน่าย หรือได้รับการสนับสนุนจาผู้พัฒนาอีกต่อไป เพื่อวัตถุประสงค์ในการเก็บถาวร 

อย่างไรก็ตาม บริษัทซอฟต์แวร์บางแห่งมองว่าการปล่อยให้เกมเก่าสามารถดาวน์โหลดได้อย่างอิสระ จะเป็นการแข่งขันกับเกมใหม่ที่มีในตลาด และบริษัทที่ไม่ปกป้องสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาก็กังวลว่าจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงที่จะสูญเสียสิทธิ์บางอย่างไป จึงพยายามสกัดกั้นกับการรละเมิดลิขสิทธิ์ กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และองค์กรเหล่านี้ได้ส่งจดหมายเตือนไปยังเว็บไซต์ ทำให้เว็บไซต์ส่วนใหญ่ที่แจกจ่าย Abandonware ต้องถูกปิดตัวลง อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงมีเว็บไซต์ Abandonware เกิดใหม่มาแทนที่อยู่ตลอดเวลา

มีเว็บไซต์ Abandonware หลายแห่ง ที่ยังคงให้บริการเกม Abandonware ด้วยการหลีกเลี่ยงกฎหมายระหว่างประเทศ โดยใช้บริการ โฮสติ้ง (Hosting) ในประเทศที่มีการบังคับใช้กฏหมายเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์แบบไม่เข้มงวดมากนัก

แน่นอนว่า ถ้านักพัฒนาสมัครปล่อยซอฟต์แวร์ให้ใช้งานได้ฟรี เรื่องราวก็จะแตกต่างออกไป แม้ว่าจะหายาก แต่ก็มีเกมบางเกมที่ถูกปล่อยภายใต้ใบอนุญาตสาธารณะทั่วไป (General Public License), Creative Commons และใบอนุญาตสาธารณะอื่น ๆ เมื่อเกมถูกปล่อยออกมาในลักษณะนี้ มันจะไม่สามารถถูกเรียกคืนได้อีกต่อไป แต่ผู้พัฒนาอาจยังคงถือสิทธิ์ลิขสิทธิ์ในเวอร์ชันใหม่ หรือเวอร์ชันที่ถูกแก้ไขเพิ่มเติม

อีกเหตุผลหนึ่ง ที่ทำให้เว็บไซต์ Abandonware ยังอยู่รอด ก็อาจเป็นความต้องการที่จะรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนักพัฒนา กับผู้เล่น เพราะในทางเทคนิคแล้ว นักพัฒนาที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เกมเก่า สามารถสั่งปิดเว็บไซต์ Abandonware ได้อย่างง่ายดาย แต่ประเด็นคือ การดำเนินการทางกฎหมายอาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ที่มีต่อผู้เล่นได้ เพราะมองอีกมุม ผู้เล่นเหล่านี้คือผู้ที่รักในเกม หรือซอฟต์แวร์ของคุณนี่แหละ ก็ในเมื่อคุณไม่ขาย ไม่ทำต่อ ไม่พัฒนาแล้ว แต่อยากเล่น จะให้ทำอย่างไรได้ล่ะ

ทำให้ในทางกฏหมาย Abandonware จึงดู "เหมือน" จะค่อนข้างปลอดภัย ผู้ที่แจกจ่าย Abandonware ไม่น่าจะถูกดำเนินคดีในศาลหากพวกเขาปฏิบัติตามเมื่อถูกสั่งให้ยุติการแจกจ่าย


ที่มา : www.makeuseof.com , plarium.com , en.wikipedia.org , www.pcmag.com , computer.howstuffworks.com

0 Abandonware+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%81%E0%B8%8B%E0%B8%AD%E0%B8%9F%E0%B8%95%E0%B9%8C%E0%B9%81%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99+%E0%B8%A1%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น