ในสถานการณ์ที่เชื้อไวรัสอย่างโควิด-19 (COVID-19) กำลังระบาดอย่างหนัก ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละวัน และก็ยังมีการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสอย่างต่อเนื่อง มีข้อมูลที่น่าสนใจคือ ในช่วงแรก ๆ ของการระบาดโรค COVID-19 ประเทศในแถบยุโรปมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ป่วยที่กักตัว หรือพักรักษาตัวอยู่ที่บ้าน พบว่าผู้เสียชีวิตมีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้กว่าจะนำผู้ป่วยไปเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลก็สายเกินไปเสียแล้ว
ลักษณะของผู้ป่วย COVID-19 ที่มีอาการทรุดลง และเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว เราเรียกอาการเช่นนี้ว่า Happy Hypoxemia หรือ Silent Hypoxemia หรือตามชื่อในภาษาไทยว่า ภาวะพร่องออกซิเจนแบบไม่แสดงอาการจากการติดเชื้อ COVID-19
จากงานสำรวจของนักวิจัยพบว่า ผู้ป่วย COVID-19 หลายราย ไม่พบอาการผิดปกติใด ๆ เลย หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย เหมือนไม่ได้ป่วยอะไรเลย แต่หากมีการวัดปริมาณออกซิเจนในเลือด กลับพบว่ามีอาการต่ำผิดปกติมาก ๆ และเมื่อผ่านไปไม่นาน ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยหอบอย่างรุนแรง ตามมาด้วยระบบหายใจล้มเหลว แล้วเสียชีวิตหลังจากแสดงอาการไม่นาน
ทำให้ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว (Fingertip Pulse Oximeter) เป็นอุปกรณ์ราคาถูก (ในเพียงหลักร้อยบาท) ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการเฝ้าระวังอาการของผู้ป่วย COVID-19 ที่พักรักษาตัวอยู่บ้าน ด้วยความจริงที่ว่าผู้ป่วยอาจแสดงอาการเพียงเล็กน้อย แต่ปริมาณออกซิเจนในเลือดลดลงต่ำมาก ซึ่งเป็นตัวชี้วัดขั้นต้นว่าอาการของผู้ป่วยอาจจะกำลังเข้าสู่ขั้นวิกฤติ และด้วยความที่เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว เป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานง่าย ไม่ต้องมีความเชี่ยวชาญทางการแพทย์เพื่อการใช้งาน จึงน่าจะดีหากมีอุปกรณ์นี้ติดบ้านไว้
อย่างไรก็ดี เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ไม่สามารถวินิจฉัยว่าติดเชื้อ COVID-19 หรือไม่ ? แต่เหมาะสำหรับการติดตาม และเฝ้าระวังอาการของผู้ป่วย COVID-19
เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว สามารถตรวจวัดระดับออกซิเจนในกระแสเลือดของเราได้โดย การปล่อยคลื่นแสงจากทางด้านบนนิ้วของเรา คลื่นแสงนี้จะเดินทางผ่านหลอดเลือดแดงที่อยู่ในนิ้ว โดยที่คลื่นแสงบางส่วนจะถูก ฮีโมโกลบิน ที่จับตัวอยู่กับออกซิเจนในเลือด (Oxyhemoglobin) ดูดซับไว้ และคลื่นแสงบางส่วนที่ไม่ถูกดูดซับ ก็จะเคลื่อนผ่านนิ้วของเราไปยังตัวรับเซนเซอร์คลื่นแสงที่อยู่ทางด้านล่าง
ขอบคุณภาพต้นฉบับจากเว็บไซต์ How Equipment Works
โดยเราได้ปรับปรุงรายละเอียดบางส่วนในภาพ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
ดังนั้นปริมาณแสงที่เซนเซอร์ตรวจจับได้จึงแปรผกผันกับปริมาณออกซิเจนในกระแสเลือด (แสงส่องผ่านนิ้วได้น้อย = ออกซิเจนมาก | แสงส่องผ่านนิ้วได้มาก = ออกซิเจนน้อย) จากนั้นจึงนำปริมาณแสงที่อุปกรณ์เซนเซอร์วัดได้ มาคำนวณหาค่าความเข้มข้นของออกซิเจนภายในเลือด (หรือที่เรียกว่าค่า SpO2) ในหน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์ (%) แล้วแสดงค่าผ่านหน้าจอของตัวเครื่อง
โดยปกติแล้ว ปริมาณออกซิเจนในกระแสเลือด (หรือค่า SpO2) ของคนเราจะอยู่ที่ระดับ 95% ขึ้นไป แต่ถ้าระดับออกซิเจนในกระแสเลือดต่ำกว่า 95% ร่างกายจะอยู่ในภาวะได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ หรือเรียกว่าเป็น ภาวะพร่องออกซิเจน (Hypoxemia)
และในกรณีถ้าระดับออกซิเจนในกระแสเลือดอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 90% อาจเป็นจากความผิดปกติของร่างกาย ที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โรคปอดบวม และอาการของผู้ป่วย COVID-19 โดยที่การใช้งานเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว เพื่อเฝ้าระวังอาการของผู้ป่วย COVID-19 มีข้อสรุปดังนี้
แนวทางการประเมินค่าออกซิเจนในกระแสเลือด เพื่อเฝ้าระวังอาการของผู้ป่วย COVID-19
- ค่า SpO2 95% ขึ้นไป : ออกซิเจนในเลือดปกติดี
- ค่า SpO2 ในช่วง 90 – 94% : ให้ระมัดระวังอาการผิดปกติ
- ค่า SpO2 น้อยกว่า 90% : มีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
นอกจากการวัดออกซิเจนในกระแสเลือดจะมีประโยชน์สำหรับการเฝ้าระวังอาการของผู้ป่วย COVID-19 แล้ว ยังช่วยแพทย์วินิจฉัยผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อภาวะการหยุดหายใจขณะนอนหลับ และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ในเบื้องต้น
นอกจากการใช้งานเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วเพื่อวัดค่า SpO2 แล้ว ใน สมาร์ทวอทช์ (Smartwatch) หลาย ๆ รุ่นในปัจจุบันก็มีความสามารถในการวัดค่า SpO2 เช่นเดียวกัน (โดยที่สมาร์ทวอทช์ของแบรนด์ Garmin เรียกว่าเป็นการวัดค่า Pulse Ox)
เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วรุ่น Fingertip Pulse Oximeter YK-81C
รองรับทั้งการวัดปริมาณออกซิเจนในกระแสเลือด และการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ
เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วโดยส่วนใหญ่ จะมีความสามารถในการวัดอัตราการเต้นของหัวใจได้ด้วย ซึ่งมีหน่วยวัดเป็นจำนวนครั้งการเต้นต่อนาที หรือ BPM (Beats Per Minute) โดยที่คุณประโยชน์หลักของการวัดอัตราการเต้นของหัวใจ (Pulse Rate) คือ การชี้วัดระดับความเข้มข้นของการออกกำลังกาย เพราะหัวใจของเราจะเต้นเร็วขึ้น เมื่อเราออกกำลังกายหนักขึ้น เพื่อสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงร่างกายให้มากขึ้น ทำให้มีความนิยมใช้อัตราการเต้นหัวใจมาชี้วัดความหนักหน่วงในการออกกำลังกาย และระดับอัตราการเต้นของหัวใจที่แตกต่างกัน ก็จะให้ผลลัพธ์ของการออกกำลังกายที่แตกต่างกัน
*หมายเหตุ : ไม่ควรหนีบเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วเอาไว้ตลอดเวลาขณะที่ออกกำลังกาย เพราะตัวเครื่องอาจหลุดกระเด็นออกจากนิ้ว ทำให้เกิดความเสียหายได้ เราอาจหนีบนิ้วในช่วงจังหวะหยุดพัก หรือใช้สมาร์ทวอทช์เพื่อวัดอัตราการเต้นหัวใจขณะออกกำลังกาย ก็จะเหมาะสมกว่า
นอกจาก เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว จะมีประโยชน์สำหรับการวัดอัตราการเต้นหัวใจขณะออกกำลังกายแล้ว การวัดอัตราการเต้นของหัวใจในช่วงที่เรากำลังพักผ่อน หรือ RHR (Resting Heart Rate) ก็ยังมีประโยชน์สำหรับการตรวจสอบปัญหาเรื่องสุขภาพด้วย
โดยที่ปกติแล้ว RHR ของผู้ชายจะอยู่ในช่วง 60 - 70 BPM (ครั้งต่อนาที) ส่วนของผู้หญิงจะอยู่ที่ 72 - 80 BPM สาเหตุที่อัตราการเต้นหัวใจช่วงพักของผู้หญิงสูงกว่าผู้ชาย ก็เนื่องมาจากขนาดหัวใจของผู้หญิงเล็กกว่า ปริมาณของเลือดที่ไหลเวียนในร่างกายน้อยกว่า
โดยที่ตัวชี้วัดปัญหาด้านสุขภาพ ที่ตรวจสอบได้จากอัตราการเต้นของหัวใจ ก็มีหลักการดังนี้
แนวทางการประเมินค่าอัตราการเต้นหัวใจในขณะพัก เพื่อเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพ
- RHR ต่ำกว่า 60 BPM : อัตราการเต้นของหัวใจต่ำกว่าปกติ
- RHR ในช่วง 60 - 100 BPM : อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ในเกณฑ์ปกติ
- RHR เกินกว่า 100 BPM : อัตราการเต้นของหัวใจสูงกว่าปกติ ควรพบแพทย์ โดยสิ่งที่ต้องสังเกตร่วมด้วยคือ หากหัวใจเต้นเร็วบ้างช้าบ้าง ก็อาจบ่งบอกว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะ
จะเห็นได้ว่าการตรวจวัดอัตราการเต้นของหัวใจในขณะพักด้วยเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ก็ช่วยเตือนเราเกี่ยวกับอาการเบื้องต้นของปัญหาสุขภาพได้ดีไม่น้อยเลย แต่อย่างไรก็ดี การวินิจฉัยโรคควรทำโดยแพทย์
|
ไม่เสพติดไอที แต่ชอบเสพข่าวเทคโนโลยี หาความรู้ใหม่ๆ มาใส่สมอง |