เวลาที่คุณไปเลือกซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก (Notebook) นั้น คนขาย หรือร้านค้าที่อยู่ใกล้เคียงมักจะจะวางขาย แผ่นระบายความร้อน (Cooling Pad) อยู่ด้วยเสมอ โดยคนขายก็จะแนะนำว่ามันช่วยลดอุณหภูมิให้โน้ตบุ๊กได้
ในบทความนี้เราก็จะมาแนะนำให้คุณผู้อ่านได้รู้จักกับ Cooling Pad กันมากขึ้น ว่ามันคืออะไร ? ช่วยลดความร้อนให้กับโน้ตบุ๊กของเราได้จริงหรือเปล่า ? แล้วจะเลือกใช้งาน Cooling Pad แบบไหนดี ?
มาหาคำตอบกันได้ในบทความนี้ครับ ...
ก่อนอื่น เราต้องเข้าใจก่อนว่าระบบระบายความร้อนของโน้ตบุ๊กนั้นค่อนข้างเสียเปรียบเมื่อเทียบกับคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ ด้วยความที่มันเป็นอุปกรณ์แบบพกพา จึงต้องออกแบบให้มีขนาดเล็กทำให้ การระบายความร้อนคอมพิวเตอร์ (Air Flow) ที่จำเป็นต่อการระบายความร้อนมีประสิทธิภาพด้อยกว่า
สามารถกล่าวได้ว่าฮาร์ดแวร์ที่มีอัตราการพลังงานเท่ากัน หากออกแบบให้มันมีขนาดเล็กลง อุณหภูมิความร้อนก็จะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมันถูกจำกัดไว้ในพื้นที่ขนาดเล็กกว่า ทำให้ความร้อนถ่ายเทได้ช้าลง
อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่จะไม่ถูกกับความร้อน และแน่นอนว่า หน่วยประมวลผลกลาง (CPU) หรือแม้แต่ หน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) ของคอมพิวเตอร์ก็เช่นกัน เมื่อมันร้อน จนอุณหภูมิสูงเกินระดับที่ปลอดภัย ระบบก็จะบังคับปรับความเร็วในการทำงานของซีพียูให้ลดลงชั่วคราวจนกว่าความร้อนลดต่ำลงมาถึงระดับปลอดภัย ถ้าคุณใช้งานโน้ตบุ๊กจนเครื่องร้อน แล้วรู้สึกว่าระบบทำงานช้ากว่าปกติ เหตุผลก็มาจากสาเหตุที่ว่านี้นี่เอง ซึ่งปัญหานี้มีชื่อเรียกว่า "Thermal Throttling"
ข้อมูลเพิ่มเติม : CPU ร้อน หรือ ความร้อนขณะที่ CPU ทำงาน เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
ความเร็วของซีพียู จะปรับลดตามอุณหภูมิ
ภาพจาก : https://www.cgdirector.com/laptop-cooling-pads/
นั่นเป็นเหตุผลให้ มีสินค้าอย่าง Cooling Pad ถูกผลิตออกมาวางจำหน่าย เพื่อใช้มันในการช่วยลดอุณหภูมินั่นเอง
คำตอบ คือ "ได้" แต่ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขด้วย
ประการแรก คือ หากความร้อนในโน้ตบุ๊กของคุณเกิดจากการที่ฮาร์ดแวร์ภายในเครื่องโน้ตบุ๊กมีปัญหา การนำ Cooling Pad มาใช้ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้มากนัก โดยมากปัญหาจะเกิดจาก Thermal Paste ที่อยู่ภายในเครื่องมันเสื่อมสภาพไปแล้ว ทำให้การถ่ายเทความร้อนจาก CPU/GPU ไปยังแผ่นนำความร้อนมีประสิทธิภาพต่ำลงเป็นอย่างมาก
Thermal Paste ที่อยู่บน CPU
ภาพจาก : https://espritgamer.com/en/how-to-apply-thermal-paste/
โดยปกติแล้ว Thermal Paste (สารนำความร้อนที่ใช้ทาเพื่อลดช่องว่างในการเชื่อมต่อระหว่างแผ่นระบายความร้อน และแหล่งความร้อน) จะมีอายุการใช้งานประมาณ 2-5 ปี ก่อนที่มันจะเริ่มเสื่อมสภาพลง พอมันเสื่อมความร้อนจากซีพียูก็จะส่งไปยังแผ่นนำความร้อนได้ไม่เต็มที่ Cooling Pad ที่ช่วยให้การดึงความร้อนออกจากแผ่นนำความร้อนรวดเร็วขึ้น จึงไม่สามารถช่วยให้อุณหภูมิของโน้ตบุ๊กลดลง
อายุการใช้งานของ Thermal Paste ยี่ห้อต่าง ๆ
ภาพจาก : https://www.cgdirector.com/how-long-does-thermal-paste-last/
การสังเกตเบื้องต้นง่าย ๆ หากโน้ตบุ๊กของคุณมีอุณหภูมิสูงถึงระดับ 80 °C - 90 °C ในการใช้งานทั่วไปที่ไม่ได้ใช้ทรัพยากรเครื่องสูง โดยที่ก่อนหน้านี้อุณหภูมิของมันไม่ได้สูงถึงระดับนี้ ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า Thermal paste ได้เสื่อมสภาพลงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางแก้ก็ไม่ยาก แค่แกะเครื่องออกมาเพื่อทา Thermal Paste ลงไปใหม่เท่านั้นเอง
ประการที่สอง คือการออกแบบระบบระบายความร้อนของตัวโน้ตบุ๊ก และประเภทของตัว Cooling Pad ที่คุณมี โน้ตบุ๊กแต่ละรุ่นจะมีการออกแบบช่องระบายความร้อนที่แตกต่างกันออกไป หรืออาจจะไม่มีพัดลมระบายความร้อนเลยด้วยซ้ำไป MacBook รุ่นใหม่ ๆ ที่ใช้ชิป M1 หรือ M2 ขอยกตัวอย่างเป็น โน้ตบุ๊กของ MSI รุ่น GP65 ที่มีช่องระบายความร้อนขนาดใหญ่อยู่ด้านล่างของตัวเครื่อง
ด้านล่างของโน้ตบุ๊ก MSI รุ่น GP65
ภาพจาก : https://www.notebookcheck.net/How-well-does-a-laptop-cooling-pad-work-We-Amazon-d-one-ourselves-to-find-out.464231.0.html
มาวางบน Cooling Pad จากการทดสอบ พบว่ามันก็จะช่วยลดอุณหภูมิได้ประมาณ 10 °C - 12 80 °C
อุณหภูมิเฉลี่ย CPU | อุณหภูมิเฉลี่ย GPU | |
เล่นเกม Witcher 3 (ไม่ใช้ Cooling Pad) | 92 °C | 76 °C |
เล่นเกม Witcher 3 (ใช้ Cooling Pad) | 80 °C | 70 °C |
แต่ถ้าโน้ตบุ๊กมีการระบายความร้อนในทิศทางอื่น เช่น ด้านข้าง หรือด้านหลัง ผลลัพธ์ที่ได้ก็อาจจะแย่กว่านี้ หรือไม่มีผลเลย
อย่างไรก็ตาม หากเราใช้โน้ตบุ๊กทำงานที่หนักหน่วง ต้องอาศัยพลังในการประมวลผลสูง เช่น ขุดบิตคอยน์ (Bitcoin) ก็ต้องยอมรับว่า Cooling Pad นั้นก็เอาไม่อยู่ มันช่วยได้แค่ลดเวลาในการเข้าสู่สภาวะ Thermal throttling ให้ช้าลงเท่านั้นเอง
แต่ถ้าถามว่า สรุปแล้วควรซื้อพวก Cooling Pad มาใช้ไหม ? โดยส่วนตัวก็คิดว่า น่าซื้อนะ เพราะราคามันก็ไม่ได้แพง และก็ช่วยลดอุณหภูมิได้จริง เพียงแต่ต้องเลือกซื้อให้เหมาะสมกับโน้ตบุ๊กของเราด้วย
ในหัวข้อถัดไป เราก็จะแนะนำให้รู้จักกับประเภทของ Cooling Pad
Cooling Pad แบบ Passive นั้นหมายถึงแผ่นระบายความร้อนแบบที่ไม่มีพัดลม หรือกลไกอะไรเลย จุดประสงค์หลักของมัน คือช่วยยกตัวเครื่องให้สูงขึ้นเพื่อให้อากาศภายใต้ตัวเครื่องสามารถไหลเวียนได้ดีกว่าเดิม
Alsop 32147
ภาพจาก : https://www.walmart.com/ip/Allsop-ALS32147-Metal-Art-Adjustable-Laptop-Stand-Black-Holes-improve-airflow-By-Visit-the-Allsop-Store/945239908
ส่วนใหญ่แล้ว Cooling Pad แบบ Passive จะทำการตลาดโดยบอกว่ามันเป็น "แท่นวางโน้ตบุ๊ก" ที่ระบายอากาศได้ดี ถ้าหากโน้ตบุ๊กมีช่องระบายความร้อนอยู่ด้านล่าง Cooling Pad แบบ Passive ก็จะช่วยลดความร้อนได้ดีในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม มันไม่ค่อยช่วยอะไรได้มากนัก หากโน้ตบุ๊กที่นำมาวางมีพัดลมระบายความร้อนที่รอบต่ำมาก ๆ หรือไม่มีพัดลมระบายความร้อนในตัว อีกประเด็นหนึ่งคือ โน้ตบุ๊กที่ออกแบบให้มีช่องระบายความร้อนด้านล่างนั้น มีค่อนข้างน้อย ทำให้ Cooling Pad แบบ Passive นี้ หาโอกาสใช้งานได้ยากหน่อย
Cooling Pad แบบ Active น่าจะเป็น Cooling Pad แบบที่คุณน่าจะจินตนาการถึงเป็นอันดับแรก เพราะน่าจะหาซื้อได้ง่ายที่สุด มันจะเป็นกล่องแบน ๆ ที่หุ้มด้วยตะแกรง ภายใต้ตะแกรงจะมีพัดลมติดตั้งเอาไว้ จำนวนพัดลมก็แล้วแต่ทางผู้ผลิตจะออกแบบ และอาจมีการใส่ไฟ RGB มาเพื่อเพิ่มความสวยงามด้วย
IPOW 12
ภาพจาก : https://www.amazon.com/dp/B08CXPJNX3?
Cooling Pad ประเภทนี้เป็นตัวเลือกที่ดี และมีประสิทธิภาพในการทำงานสูงกว่า Cooling Pad แบบ Passive เนื่องจากมันช่วยเสริมระบบการไหลเวียนของอากาศที่มีอยู่เดิมในโน้ตบุ๊กได้ด้วย
โดยโน้ตบุ๊กส่วนใหญ่จะออกแบบให้ดูดอากาศเย็นเข้าจากใต้ตัวเครื่อง และระบายอากาศร้อนออกทางด้านข้าง หรือไม่ก็ด้านหลังของตัวเครื่อง อย่างไรก็ตาม ถ้าโน้ตบุ๊กที่คุณมีใช้วิธีระบายความร้อนใต้ตัวเครื่อง ก็ไม่ควรใช้แท่นวางแบบนี้ เพราะทิศทางลมมันจะต้านกัน ทำให้อากาศไหลเวียนได้ยากขึ้นกว่าเดิม ในกรณีแบบนั้นควรเลือกใช้ Cooling Pad แบบ Passive แทน
มาถึงประเภทสุดท้าย จะเป็นตัวช่วยระบายความร้อนแบบแปะ (Attachable) หรืออาจจะเรียกว่าแบบดูด (Vacuum) ก็ได้ หลักการทำงานของมันจะแตกต่างกับ Cooling Pad ทั้งสองรูปแบบก่อนหน้านี้ ที่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการดูดอากาศเย็นเข้าไปภายในเครื่องโน้ตบุ๊ก
โดยแทนที่จะช่วยให้การเติมอากาศเย็นเข้าเครื่องมีประสิทธิภาพดีขึ้น Attachable Cooler หรือ Vacuum Cooler จะแปะติดกับช่องระบายความร้อน แล้วช่วยดูดอากาศร้อนออกจากเครื่องแทน เพื่อให้อากาศไหลออกจากโน้ตบุ๊กได้เร็วกว่าความสามารถของพัดลมที่อยู่ภายในเครื่อง
Xubmarine Multi-function Radiator
ภาพจาก : https://www.lazada.co.th/products/notebook-cooler-laptop-cooling-pad-stand-speed-gaming-laptop-tablet-phone-cooler-pad-holder-desk-fan-turbo-macbook-pro-air-i3129323926-s11646003149.html
อย่างไรก็ตาม ระบบระบายความร้อนแบบนี้ ค่อนข้างหาตัวเลือกที่เหมาะสม สามารถทำงานร่วมกับโน้ตบุ๊กได้ยาก เช่นช่องดูดลม กับช่องปล่อยลมไม่ตรงกัน ฯลฯ
อีกอย่างปัญหาของโน้ตบุ๊กส่วนใหญ่ ไม่ใช่เรื่องของการระบายอากาศร้อนออก แต่จะเป็นปัญหาการนำอากาศเข้ามากกว่า
สรุปได้ว่า Cooling Pad เป็นอุปกรณ์ที่สามารถใช้ในการช่วยลดอุณหภูมิให้กับโน้ตบุ๊กได้จริง เพียงแต่คุณต้องพิจารณาด้วยว่า โน้ตบุ๊กที่มีอยู่มีระบบระบายความร้อนแบบไหน ดูดลม และปล่อยลมออกทางไหน ? แล้วเลือกซื้อ Cooling Pad ให้เหมาะสมด้วย
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |