ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

Standing Ovation คืออะไร ?

Standing Ovation คืออะไร ?

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 6,368
เขียนโดย :
0 Standing+Ovation+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

Standing Ovation คืออะไร ?

การปรบมือแสดงความยินดีหรือชื่นชมอะไรบางอย่างจะเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมสากลก็คงไม่ผิด แต่ขั้นกว่าของการปรบมือชื่นชมคือการยืนขึ้นและปรบมือไปด้วย หรือเรียกกันว่า Standing Ovation

ภาพกลุ่มคน Standing Ovation ในโรงละคร
ภาพกลุ่มคน Standing Ovation ในโรงละคร
ที่มาภาพ: Vlah Dumitru/Unsplash

เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนมากขึ้น เคยไหมเวลาดูหนังจบสักเรื่องแล้วผู้คนในโรงหนังต่างยืนปรบมือ หรือหลังละครเวทีจบเหล่าคนดูก็ยืนขึ้นปรบมือให้ เวลาดูฟุตบอลตอนยอดนักเตะถูกเปลี่ยนตัวเดินออกจากสนามเหล่าคนดูก็ยืนปรบมือให้ หรือตามงานประกาศรางวัลบางก็มีการยืนปรบมือให้เกียรติผู้ที่ได้รับรางวัลสิ่งเหล่านั้นแหละเรียกว่า Standing Ovation แล้วคำนี้มันหมายความว่าอะไร ? ต้นกำเนิดมาจากไหน ? ใครเป็นคนเริ่ม ? ในบทความนี้เราจะมาหาคำตอบไปพร้อมกัน

เนื้อหาภายในบทความ

ความหมายของ Standing Ovation

คำว่า Standing Ovation หากค้นหาตาม Google ก็จะแปลว่า “การยืนปรบมือแสดงความชื่นชมหรือให้เกียรติ” แยกจากศัพท์คำว่า "Standing" ที่แปลว่า "ยืนขึ้น" ส่วนคำว่า "Ovation" แปลว่า "การปรบมือ" มีรากศัพท์มาจากภาษาละตินของคำว่า ovo ที่แปลว่า “I rejoice” แปลว่า “ฉันชื่นชมยินดี” พอมารวมกันแบบตรง ๆ ก็จะมีความหมายว่าการยืนขึ้นปรบมือด้วยความชื่นชมยินดี 

ซึ่งศัพท์คำว่า Standing Ovation ในภาษาอังกฤษ ก็ได้ถูกบัญญัติไว้อย่างน้อยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1831 (พ.ศ. 2374)

และการกระทำเช่นนี้ก็ได้ถูกใช้อย่างแพร่หลายในหลากหลายวงการหลากหลายสถานที่ ไม่ว่าจะในการแสดงบนเวทีต่าง ๆ ละครเวทีเอย คอนเสิร์ตเอย แวดวงกีฬาเอย ในวงการหนังเอย หรือในที่ประชุมเล็ก ๆ ก็ตาม

ต้นกำเนิด Standing Ovation

การ Standing Ovation ถูกพบเห็นครั้งแรกที่ไหน ? มันไม่ปรากฏเป็นที่แน่ชัดว่าครั้งแรกของการ Standing Ovation เกิดขึ้นที่ไหนหรืออย่างไร บ้างก็บอกว่าครั้งแรกที่ได้ถูกบันทึกไว้คือการแสดงของพระเมสสิยาห์ของ Handel หลังแสดงเสร็จกษัตริย์ George รู้สึกเร้าใจ สนุก จนอยู่ไม่เป็นสุก เขาเลยลุกขึ้นยืน พอเห็นแบบนั้นทุกคนเลยทำตามกัน

แต่ชนชาวกรีกเป็นคนคิดค้นโรงละครขึ้น และชาวโรมันก็มีโคลอสเซียม ไม่แน่พวกเขานี่แหละคือจุดเริ่มต้นของการ Standing Ovation ผ่านการแสดงหรือการประลองต่าง ๆ 

ในช่วงโรมันโบราณ การกลับมาบ้านของเหล่าผู้บัญชาการทหาร (เช่น Marcus Licinius Crassus หลังจากพ่ายแพ้ Spartcus) ถึงแม้จะแพ้ แต่การกลับมาของเขาก็ได้รับเสียงปรบมือเพื่อการยกย่องและให้เกียรติ เช่นเดียวกันกับผู้ชนะที่ได้รับการปรบมือสรรเสริญแสดงความยินดีเช่นกัน 

ในปี ค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546) บทความจาก New York Times ที่เขียนโดย Jesse McKinley สันนิษฐานว่า Standing Ovation เกิดขึ้นในช่วงศตวรรษที่ 17 แต่นักประวัติศาสตร์การละครอ้างว่าการ Standing Ovation ที่เราเห็นกันในทุกวันนี้มาจากละครบรอดเวย์ไม่กี่ปีหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในตอนแรกเกิดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่การแสดงละครคลาสสิคของ Fredric March และ Florence Eldridge เรื่อง Lond Day’s Journey Into Night ค.ศ. 1956 (พ.ศ. 2499) กับ Zero Mostel เรื่อง Rhinoceros ค.ศ. 1961 (พ.ศ. 2504)

จากคำกล่าวของ McKinley ระบุว่านักวิชาการดนตรีทางอเมริกัน Ethan Mordden ได้นำเสนอทฤษฏี “Big Lady Theory” กับการแสดงในช่วงปี ค.ศ. 1950s (พ.ศ. 2493-2502) ละครเวทีจะมีช่วงที่ถูกเรียกว่า Curtain Call เป็นช่วงที่เกิดขึ้นหลังจากละครเวทีจบลง เหล่านักแสดงจะออกมาโค้งคำนับให้คนดู แต่ก่อนมีช่วงเวลาในส่วนนี้น้อยมาก แต่ภายหลังก็ได้ถูกพัฒนาขึ้นให้ความสำคัญกับช่วงนี้โดยเฉพาะ บ้างก็ปูเหตุการณ์ไคลแม็กแล้วจบแต่ละช่วงด้วยการ Curtain Call เลยทีเดียว

ทุก Curtain call ถูกสร้างขึ้นเพื่อจุดไคลแม็ก

- Mordden กล่าว

เหล่านักแสดงนำโดยนักแสดงนำชายโค้งคำนับ นักแสดงสมทบหญิง และทุก ๆ อย่างมันสร้างมาเพื่อให้ทุกคนสนใจบนเวที คนดูจึงไม่มีทางเลือกนอกจากต้องลุกขึ้นยืนปรบมือให้ 

ช่วง Curtain Call ของเหล่านักแสดงจากละครเวทีเรื่อง Hamilton
ช่วง Curtain Call ของเหล่านักแสดงจากละครเวทีเรื่อง Hamilton
ที่มาภาพ: Walter Mcbridge/Wireimage

และการ Curtain Call ในแต่ละที่ก็ไม่เหมือนกัน เช่นในแถบยุโรปบางที่ก็จะยังคงปรบมือ แต่จะปรบเป็นจังหวะพร้อมกระทืบเท้าไปด้วย หรือผู้ชมชาวญี่ปุ่นก็อาจจะปรบมือยาวนานถึง 20 ครั้งในช่วง Curtain Call โดยที่ไม่ลุกจากที่นั่ง เพราะทีมงานแต่ละส่วนจะออกมา Curtain Call คนละช่วงหรือคนละองค์ไปเลย บางที่ก็จะปรบมือยาวจนกว่าจะสิ้นเสียงเหล่าทีมงานและนักแสดงผู้เกี่ยวข้องกับละครเวทีถึงจะกลับไปหลังเวทีได้

การ Standing Ovation ที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์วงการหนัง

ในวงการหนัง ภาพยนตร์ การ Standing Ovation ถูกพบเห็นได้บ่อยครั้ง ทั้งงานประกาศรางวัลหนัง, เทศกาลหนัง, งานรอบปฐมทัศน์เปิดตัวหนัง เป็นต้น แต่รู้หรือไม่ว่าการ Standing Ovation ที่ยาวนานที่สุดในวงการหนังคือเรื่องอะไร...

คำตอบคือ Pan's Labyrinth ที่ได้รับการ Standing Ovation ยาวนานถึง 22 นาที เกิดขึ้นในงานเทศกาลหนังเมืองคานส์ในปี ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) ช่วงหลังการฉายรอบปฐมทัศน์ของตัวหนังจบลง 

ฉากจากหนัง ภาพยนตร์ Pan's Labyrinth ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549)
ฉากจากหนัง ภาพยนตร์ Pan's Labyrinth ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549)
ที่มาภาพ: imdb.com

หนัง ภาพยนตร์ Pan's Labyrinth - อัศจรรย์แดนฝัน มหัศจรรย์เขาวงกต ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) เป็นผลงานการกำกับและเขียนบทของ Guillermo del Toro กับเรื่องราวที่บอกเล่าถึงเด็กสาวที่อยู่กับแม่ ทั้งสองต้องเดินทางมาอยุ่กับพ่อเลี้ยงที่เป็นผู้กองสุดเหี้ยม เธอได้พบกับนางฟ้าที่บอกว่าเธอคือเจ้าหญิงแห่งดินแดนลึกลับ เธอได้รับภารกิจบางอย่างเพื่อจะได้กลับมายังดินแดนเหนือจินตนาการนี้ 

หลายคนที่เคยได้ดูคงจะสัมผัสได้ถึงความยอดเยี่ยม และทั้งทึ่งบวกอึ้งกับเรื่องนี้ เพราะเราโดนหลอกด้วยชื่อภาษาไทย และภาพของเด็กสาวในดินแดนอัศจรรย์ แต่แท้จริงแล้ว หนังมีทั้งความโหดร้าย ฉากรุนแรง สยอง และสะท้อนภาพสงครามด้วย ซึ่งความยอดเยี่ยมของเรื่องนี้ก็คว้ารางวัลออสการ์ 3 สาขา จากการเข้าชิงทั้งหมด 6 สาขา และเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำอีก 1 สาขา 

[OSCAR - WINNER]

  • Best Achievement in Cinematography 
  • Best Achievement in Art Direction 
  • Best Achievement in Makeup 

[OSCAR - NOMINEE]

  • Best Writing, Original Screenplay
  • Best Achievement in Music Written for Motion Pictures, Original Score

[GOLDEN GLOBE - NOMINEE]

  • Best Foreign Language Film

บนเวทีออสการ์ก็มีเช่นกัน แต่ไม่ใช่ตัวหนังแต่เป็นการ Standing Ovation นักแสดงชื่อดังอย่าง Charlie Chaplin ที่ได้รับรางวัลเพื่อเป็นเกียรติแก่การแสดงอย่าง Honorary Award ในงานประกาศรางวัลออสการ์ประจำปี ค.ศ. 1972 (พ.ศ. 2515) จากข้อมูลของ Harper’s Bazaar เขาได้รับการ Standing Ovation ยาวนานถึง 12 นาที

Charlie Chaplin การ Standing Ovation จากรางวัล Honorary Award ในงาน Oscars ครั้งที่ 44

การ Standing Ovation ในวงการอื่น ๆ

โอเปร่า

ในวงการอื่น ๆ อย่างวงการโอเปร่า การ Standing Ovation ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด Placido Domingo นักร้องโอเปร่าชื่อดังชาวสเปน เขาได้แสดงในโรงละครโอเปร่าที่มีชื่อเสียงหลายแห่งทั่วโลก ในช่วงปี ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) เขาได้แสดงนำในเรื่อง Otello ของ Guiseppe Verdi ในกรุงเวียนนา หลังแสดงจบเขาออกมา Curtain Calls ถึง 101 ครั้งและได้รับการ Standing Ovation ถึง 80 นาที

Placido Domingo กับการได้รับการ Standing Ovation
จากละครเวทีเรื่อง Otello ที่ Madrid ในปี ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534)

หรือการ Standing Ovation ที่เรามักจะได้เห็นกันในคอนเสิร์ต ไม่ว่าจะเล็ก จะใหญ่ การแสดงอันสุดแสนประทับใจระหว่างเพลงหรือหลังจบคอนเสิร์ต ก็ทำให้เกิดการ Standing Ovation อยู่บ่อยครั้งเช่นกัน

กีฬา

หรือในแวดวงการกีฬา การ Standing Ovation ถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีอยู่ไม่น้อย อย่าง Cal Ripken Jr. เป็นหนึ่งในนักกีฬาที่ได้รับการ Standing Ovation ยาวนานที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์วงการกีฬา ในวันที่ 6 กันยายน ค.ศ. 1995 (พ.ศ. 2538) Ripken ได้ทำลายสถิติ Lou Gehrig กับการลงเล่นติดต่อกันยาวนานมากที่สุดใน Major League Baseball กับจำนวน 2,131 เกม และตลอดระยะเวลามากกว่า 16 ปี เขาเล่นไปทั้งสิ้น 2,632 เกม ทั้งสนามยืน Standing Ovation เพื่อเป็นการคารวะ ให้เกียรติ เป็นระยะเวลายาวนานถึง 22 นาที

Cal Ripken Jr. ได้รับ Standing Ovation จากการทำลายสถิติการลงเล่นครบ 2,131 เกม

Standing Ovation คือเครื่องการันตีความยอดเยี่ยมของหนังเรื่องนั้น ?

ดูเหมือนว่าการ Standing Ovation นอกจากจะเป็นการให้เกียรติหรือการคาระวะผู้คนหรือผลงานนั้น ๆ แล้ว มันก็เหมือนจะเป็นความพึงพอใจ ชื่นชอบ และชื่นชมสิ่งเหล่านั้นด้วย มันจึงเกิดคำถามว่าหนังแต่ละเรื่องที่เข้าฉายในงานรอบปฐมทัศน์ที่ได้รับการ Standing Ovation เป็นการการันตีหรือสะท้อนหรือเปล่าว่าหนังเรื่องนั้นดี ? หรือเป็นแค่การให้เกียรติทีมงานและนักแสดงหนังเรื่องนั้นเฉย ๆ 

ในงานเทศกาลหนังเมืองคานส์ หนังหลายเรื่องก็ได้รับการ Standing Ovation แต่ถึงกระนั้น…หนังแต่ละเรื่องก็ได้การ Standing Ovation ก็มีระยะเวลาที่ไม่เท่ากัน บางเรื่อง 10 นาทีกว่า บางเรื่องไม่ถึง 3 นาที ดูจากภายนอกมันเลยกลายเป็นเหมือนมาตรวัดเปรียบเทียบว่าหนังเรื่องไหนดีก็จะ Standing Ovation นานไปโดยปริยาย 

...จริงหรือ ?

เวลาหนังเรื่องไหนจะเข้าฉาย บางเรื่องก็จะมีการโปรโมทว่าหนังเรื่องนั้น ๆ ได้รับการ Standing Ovation นานเป็นนาทีอยู่เหมือนกัน เพื่อเป็นการดึงความสนใจของหนังเรื่องนั้น 

Standing Ovation เหมือนกลายเป็นประเพณีไปแล้วสำหรับงานเทศกาลหนัง ทางด้าน Shirley Li ได้เขียนบทความเอาไว้ในเว็บ The Atlantic ว่าการ Standing Ovation อาจไม่สะท้อนความรู้สึกของผู้ชมที่มีต่อหนังเรื่องนั้นอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่รอบที่ดูนั้นมีทั้งผู้อำนวยการสร้าง ผู้กำกับและนักแสดงร่วมชมอยู่ด้วย

Eric Kohn ก็ได้เขียนไว้ใน Indie Wire เรียกการ Standing Ovation ว่าเป็น “out-of-control hype tactic” หรือ “กลอุบายที่ควบคุมไม่ได้”

Pan's Labyrinth - อัศจรรย์แดนฝัน มหัศจรรย์เขาวงกต | ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549)

ขอยกตัวอย่างหนังที่ได้กล่าวไปถึงมาก่อนหน้านี้อย่าง หนัง ภาพยนตร์ Pan’s Labyrinth ผลงานของ Guillermo del Toro เป็นหนังที่ได้รับการ Standing Ovation นานสุดในประวัติศาสตร์วงการหนัง ยาวนานถึง 22 นาที นั่นถือว่าเป็นเครื่องการันตีความยอดเยี่ยมไหม ? มาดูกัน

Ivana Baquero ในบท Ofelia จากหนัง ภาพยนตร์ Pan's Labyrinth ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549)
Ivana Baquero ในบท Ofelia จากหนัง ภาพยนตร์ Pan's Labyrinth ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549)
ที่มาภาพ: imdb.com

แน่นอนว่าการคว้ารางวัลออสการ์ 3 สาขาจากการเข้าชิงทั้งหมด 6 สาขา และคว้ารางวัลลูกโลกทองคำอีก 1 สาขา จะขอหยิบยกคะแนนคำวิจารณ์จากเว็บ IMDb ที่ได้ 8.2/10 ส่วนในเว็บ Rotten Tomatoes ได้มะเขือสดจากฝั่งนักวิจารณ์สูงถึง 95% และฝั่งคนดูสูงถึง 91% เลยทีเดียว ถ้ามองจากแค่เรื่องนี้ก็คงพอสรุปได้ว่าเวลา Standing Ovation ก็เป็นเครื่องการันตีความยอดเยี่ยมของหนังอย่างนึงเช่นกัน

The Neon Demon - สวยอันตราย | ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559)

เรื่องต่อมาอย่างหนัง ภาพยนตร์ The Neon Demon ผลงานการกำกับของ Nicolas Winding Refn นำแสดงโดย Elle Fanning ได้รับการ Standing Ovation ยาวนานถึง 17 นาทีในงานเทศกาลหนังเมืองคานส์ในปี ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559)

The Neon Demon ได้รับการ Standing Ovation ในงานเทศกาลหนังเมืองคานส์ปี ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559)

ถ้ามองแค่นี้ก็นับว่าคงยอดเยี่ยมใช่มั้ย แต่…หากวัดจากคะแนนวิจารณ์ ทาง IMDb ได้คะแนนไป 6.1/10 ส่วนในเว็บ Rotten Tomatoes ก็ได้มะเขือเน่าจากฝั่งนักวิจารณ์ไป 58% ส่วนทางด้านฝั่งคนดูนั้น 51% เท่านั้น แถมยังไม่ได้เข้าชิงรางวัลจากเวทีใหญ่ด้วย นั่นหมายความว่าการ Standing Ovation เกิน 10 นาที ก็ไม่ใช่เครื่องการันตีความยอดเยี่ยมของหนังเรื่องนั้นเสมอไป

Elvis - เอลวิส | ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565)

ขอยกตัวอย่างอีกหนึ่งเรื่อง กับหนัง ภาพยนตร์  Elvis ผลงานการกำกับของ Baz Luhrmann นำแสดงโดย Austin Butler และ Tom Hanks ได้รับการ Standing Ovation ยาวนาน 12 นาที ในงานเทศกาลหนังเมืองคานส์ในปี ค.ศ.  2022 (พ.ศ. 2565)

Elvis ได้รับการ Standing Ovation ในงานเทศกาลหนังเมืองคานส์ประจำปี ค.ศ. 2022 (พ.ศ. 2565)

ถึงแม้ว่าจะได้รับการ Standing Ovation น้อยกว่า The Neon Demon ถึง 5 นาที แต่คะแนนวิจารณ์กลับดีกว่าอย่างเห็นได้ชัด ทาง IMDb ได้คะแนน 7.5/10 ส่วนทาง Rotten Tomatoes ก็คว้ามะเขือสดจากฝั่งนักวิจารณ์ไป 77% ส่วนทางฝั่งคนดูเทคะแนนถึง 94% เลยทีเดียว   

สรุป Standing Ovation ไม่ได้เป็นมาตรวัดความยอดเยี่ยมของตัวหนัง

เพราะฉะนั้น คงจะพอสรุปได้ว่าการ Standing Ovation ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นเครื่องการันตีว่าหนังเรื่องนั้น “ดี” หรือ “ยอดเยี่ยม” เสมอไป ถึงแม้จะ Standing Ovation นานแค่ไหนก็ตาม มันไม่ได้หมายความว่าระยะเวลาสั้นกว่าจะชอบน้อยกว่า มันมีหลายปัจจัยที่ก่อให้เกิดการ Standing Ovation ทั้งทางด้านของตัวบุคคล ความชอบส่วนตัว หรือเห็นข้าง ๆ ยืนขึ้นปรบมือก็ทำบ้าง รวมถึงอาจจะเพราะมีทีมงานของหนังเรื่องนั้น ผู้อำนวยการสร้าง ผู้กำกับ มือเขียนบทและนักแสดงนั่งดูอยู่ด้วย เหมือนกับที่ Shirley Li ได้กล่าวไว้ในบทความของเขา Standing Ovation แบบนั้นมันก็เป็นการ “ให้เกียรติ” “ชื่นชม” “ให้กำลังใจ” คนเหล่านั้น และบ้างก็เป็นเหมือนมารยาท ประเพณี วัฒนธรรมอย่างนึงเช่นกัน

สรุป Standing Ovation คืออะไร ?

สรุปในสรุป Standing Ovation อย่างเข้าใจง่าย ๆ คือการ "การยืนปรบมือแสดงความชื่นชมหรือให้เกียรติ" ต่อเหตุการณ์ตรงหน้า ที่ระยะเวลาในการ Standing Ovation ไม่ได้เป็นเครื่องการันตีความยอดเยี่ยมของเรื่องนั้น ๆ และก็ไม่ได้เป็นตัวบ่งบอกด้วยว่าชอบไม่ชอบ

Standing Ovation
Standing Ovation
ที่มาภาพ: https://www.thestage.co.uk/opinion/does-a-standing-ovation-mean-anything-anymore

เพราะบางครั้งการ Standing Ovation ก็เป็นการให้เกียรติต่อตัวหนัง ต่อเจ้าของผลงานและอื่น ๆ แต่เช่นเดียวกันบางครั้งก็ชื่นชมมากจนอยากลุกปรบมือให้ไม่หยุดเลย (ตัวผู้เขียนก็เป็นเฉกเช่นนั้นทั้งสองแบบเหมือนกัน)

แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่าเวลาเห็นการ Standing Ovation ทีไรมันน่าตื้นตันใจทุกครั้งไป

แล้วคุณล่ะ เคย Standing Ovation ให้กับหนังเรื่องไหนหรือเหตุการณ์ใดไหม ?

ถึงไม่ชอบก็ปรบมือให้เกียรติ แสดงความเคารพ

ถ้าชอบ มันคงเป็นเรื่องที่สร้างความประทับใจให้ตัวคุณไม่น้อยเลยใช่ไหมล่ะ


ที่มา : en.wikipedia.org , www.almanac.com , collider.com , pathofex.com , www.indiewire.com , faroutmagazine.co.uk , www.deseret.com , www.mentalfloss.com , www.nytimes.com


0 Standing+Ovation+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
สมาชิก : Member    สมาชิก
สบายสบายให้มันสมายเวลาสบายแล้วจะได้สบายสมาย... :)
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น