ไม่แน่ใจว่าท่านที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ จะยังมีสักกี่คนที่รู้จักอุปกรณ์อย่าง วิทยุติดตามตัว หรือ เพจเจอร์ (Pager) กันบ้างหรือไม่ ? ในอดีตที่มือถือเครื่องละเป็นแสน และยังไม่รองรับการส่งข้อความสั้น หรือข้อความ SMS (Short Message Service) การสื่อสารผ่านเพจเจอร์จึงเป็นอีกทางเลือกที่คนทั่วไปส่วนใหญ่เข้าถึงได้ง่ายกว่า
สำหรับในประเทศไทย เพจเจอร์เองก็เป็นไอเทมที่ฮิตกันอยู่พักหนึ่ง แต่พอมือถือราคาลดลงจนทุกคนสามารถจับจองเป็นเจ้าของได้ มีระบบ SMS ให้ใช้ เครื่องเพจเจอร์ก็เลยเลือนหายไป ถ้าจำไม่ผิดบริการเพจเจอร์ในประเทศไทยน่าจะปิดตัวลงในปี ค.ศ. 2002 (พ.ศ. 2545) ส่วนผู้ให้บริการรายสุดท้ายของโลก บริษัท Tokyo Telemessage เพิ่งจะปิดบริการไปเมื่อปี ค.ศ. 2019 (พ.ศ. 2562) นี่เอง
ภาพจาก : https://www.nippon.com/en/news/yjj2018120300557/
แต่เชื่อหรือไม่ว่า ? เพจเจอร์ที่เหมือนจะเป็นของโบราณไม่มีผู้ให้บริการแล้ว แต่ในต่างประเทศก็ยังมีการใช้งานอยู่นะ แถมยังมีจำนวนผู้ใช้งานไม่น้อยด้วย แต่เดี๋ยวก่อน เมื่อสักครู่เราเพิ่งบอกว่าผู้ให้บริการรายสุดท้ายของโลกปิดตัวไปแล้วนี่ แล้วเขาใช้งานกันอย่างไร ? มีเหตุผลอะไรที่ยังใช้งานกันอยู่ เรื่องนี้น่าสนใจ
มาทำความรู้จักกับเพจเจอร์กันก่อนสักเล็กน้อย เผื่อใครเกิดไม่ทันจะได้ยังสามารถเข้าใจเนื้อหาในบทความนี้ได้
เพจเจอร์ (Pager) หรือบีพเพอร์ (Beeper) ส่วนที่ประเทศญี่ปุ่นจะเรียกกันว่า "Pocket bell" เป็นอุปกรณ์สื่อสารชนิดหนึ่ง ที่สามารถรับข้อความได้ แต่ว่ามันไม่ได้รับเป็นข้อความสั้น SMS (Short Message Services) เหมือนกับมือถือนะ แต่จะเป็น โปรโตคอล (Protocol) ของมันเองเลย เป็นระบบการส่งข้อมูลผ่านคลื่นวิทยุแบบ FM ที่เรียกว่า "Paging Systems" ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 (พ.ศ. 2493) แต่กว่าที่มันจะได้รับเริ่มได้รับความนิยมมีการใช้งานอย่างแพร่หลายก็ต้องรอจนกระทั่งปี ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523)
เครื่องเพจเจอร์มีขนาดเล็ก และน้ำหนักเบามาก ในยุคนี้คุณอาจจะรู้สึกว่ามันไม่ใช่อุปกรณ์ขนาดเล็กสักเท่าไหร่ แต่ในยุคที่มือถือยังเครื่องใหญ่เป็นกระติกน้ำ เพจเจอร์ถือว่าเครื่องเล็กกว่ามาก
เครื่องเพจเจอร์ยุคแรก ไม่มีแม้แต่หน้าจอแสดงผล มันทำได้แค่ส่งเสียง "บี๊บ" เพื่อแจ้งเตือนเท่านั้น พอผู้ใช้ได้รับก็จะต้องหาไปหาโทรศัพท์เพื่อโทรกลับไปหาผู้ให้บริการเพื่อสอบถามคอลเซ็นเตอร์ว่าโทรศัพท์เบอร์อะไรที่ส่งแจ้งเตือนมา เพื่อจะได้ติดต่อกลับ ซึ่งยุ่งยาก ใช้งานไม่สะดวกเอาเสียเลย
ผู้ผลิตเพจเจอร์จึงพยายามหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว บ้างก็ใช้วิธีฝากข้อความเสียงให้ผู้รับสามารถกดฟังได้ แต่ดูเหมือนวิธีที่เข้าท่าที่สุดคือการใส่จอแสดงผลขนาดเล็กเข้ามา ซึ่งเพจเจอร์ที่มีหน้าจอในยุคแรกสามารถแสดงผลได้แค่ตัวเลขเพียงอย่างเดียว ในการใช้งาน ผู้ใช้ก็จะกำหนดรหัสขึ้นมา โดยจะรู้กันระหว่างผู้รับ และผู้ส่ง เช่น 24 หมายถึง โทรหาพ่อ, 42 โทรหาแม่, 111 กลับบ้านด่วน ฯลฯ
แม้จะส่งตัวเลขรหัสได้แล้ว แต่ว่ากันตามตรงมันก็ยังใช้งานไม่สะดวก การใช้บริการจึงยังอยู่ในวงแคบส่วนใหญ่ก็จะมีแต่นักธุรกิจที่จำเป็นต้องมีการสื่อสารตลอดเวลาเท่านั้นที่นิยมใช้ จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) ที่บริษัท Motorola ได้เปิดตัวเพจเจอร์รุ่น Motorola Advisor ออกมา มันเป็นเครื่องเพจเจอร์รุ่นแรกของโลกที่สามารถแสดงผลตัวอักษรได้มากถึง 4 บรรทัด บรรทัดละ 20 ตัวอักษร และรวมชุดข้อความได้ด้วย ทำให้ส่งข้อความได้สูงสุดถึง 80 ตัวอักษร มากพอที่จะสื่อสารข้อความที่จำเป็นได้ โดยที่ผู้รับไม่ต้องโทรกลับ แถมยังมาพร้อมกับฟังก์ชันนาฬิกาปลุกในตัว การมาของเพจเจอร์ที่รับข้อความได้ ทำให้มันกลายเป็นอุปกรณ์สุดฮิตอย่างรวดเร็ว ในช่วงพีคคาดการณ์ว่ามีผู้ใช้งานเพจเจอร์มากกว่า 61,000,000 คน เลยทีเดียว
Motorola Advisor เปิดตัวในปี ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533)
ภาพจาก : https://spectrum.ieee.org/the-consumer-electronics-hall-of-fame-motorola-advisor-pager
เพจเจอร์เป็นอุปกรณ์ล้าสมัยที่ไม่มีใครใช้งานกันแล้ว แถมผู้ให้บริการก็ไม่เหลืออีกต่างหาก แต่ในวงการแพทย์ เชื่อหรือไม่ว่า ? เครื่องเพจเจอร์ยังเป็นเครื่องมือสื่อสารที่โรงพยาบาลหลายแห่งนิยมใช้งานกันอยู่ (แน่นอนว่าไม่ใช่โรงพยาบาลในประเทศไทย บ้านเราน่าจะใช้ แอป LINE กันหมด)
มีการสำรวจพบว่ามีผู้ใช้เพจเจอร์หลงเหลืออยู่ประมาณ 5,000,000 เครื่อง เป็นผู้ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกาประมาณ 2,000,000 เครื่อง มีการประเมินว่าโรงพยาบาลประมาณ 90% ยังคงใช้เพจเจอร์ในการสื่อสารภายในกันอยู่ โดยเป็นระบบสื่อสารที่เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลสามารถส่งข้อความไปยังเครื่องเพจเจอร์ที่หมอ และพยาบาลพกอยู่เพื่อแจ้งข้อมูลการทำงานได้ตลอดเวลา นอกจากงานด้านโรงพยาบาลแล้ว หน่วยกู้ภัยก็นิยมใช้เพจเจอร์ด้วยเช่นกัน
Mitel Model 5360 - โทรศัพท์ IP Phone ที่สามารถส่งข้อความเข้าเครื่องเพจเจอร์ได้
ภาพจาก : https://www.mitel.com/organization/configuration/products/mivoice-5360e-ip-phone?v=s
นี่น่าจะเป็นคำถามที่หลายคนสงสัย ในเมื่อยุคนี้มีอุปกรณ์สื่อสารที่ทันสมัยมากมายให้เลือกใช้ สมาร์ทโฟนก็สามารถส่งข้อมูลได้ทั้งข้อความ (Text), ภาพ (Picture), เสียง (Audio) และวิดีโอ (Video) แล้วทำไมถึงยังมีการใช้งานอุปกรณ์ยุคไดโนเสาร์อย่างเพจเจอร์กันอยู่
คำตอบสั้น ๆ คือ เพจเจอร์มันมีจุดแข็งของมันหลายอย่างที่ทำได้ดีกว่าสมาร์ทโฟน
ถ้าอยากรู้ว่าเพจเจอร์มีอะไรดีบ้าง ? รบกวนอ่านต่อเลย
ที่เรากล่าวว่าไว้วางใจได้ นี่ก็หมายถึงในหลายแง่มุมนะ
เครื่องเพจเจอร์เป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ได้ความซับซ้อน ทำให้มันสามารถใช้งานได้อย่างยาวนาน เพจเจอร์ที่ใช้งานกันในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่ก็มีอายุมากกว่า 10 ปี ด้วยซ้ำไป แต่มันก็ยังใช้งานได้ดีอยู่ แถมยังมีราคาไม่แพงอีกด้วย
ระบบรับข้อความของเพจเจอร์นั้นมีโครงสร้างมีโปรโตคอลที่เรียบง่าย และมีปัญหาน้อยกว่าสัญญาณโทรศัพท์ ในสถานการณ์ที่ผิดปกติ อย่างเช่น ประสบภัยพิบัติ, สถานที่ที่มีคนหนาแน่น, อยู่ในสถานที่ที่สัญญาณโทรศัพท์ทะลุไปไม่ถึง, สถานีในป่า ฯลฯ ผลกระทบเหล่านี้ทำให้การรับข้อความบนมือถือ หรือสมาร์ทโฟนเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่บนเพจเจอร์มันจะไม่เกิดปัญหาเหล่านี้
เหตุผลก็เพราะเพจเจอร์สามารถรับข้อความผ่านคลื่นวิทยุแบบ VHF (Very High Frequency) เป็นย่านที่อยู่ในช่วง 138 - 466 MHz (ช่วงเดียวกับคลื่นวิทยุ FM) ที่สามารถส่งสัญญาณได้ไกล และครอบคลุมพื้นที่กว่าสัญญาณโทรศัพท์ และไม่มีปัญหาในการส่งคลื่นทะลุผนังจำนวนมากที่มีอยู่ในโรงพยาบาลอีกด้วย อีกทั้งยังรองรับการส่งข้อความครั้งเดียวไปยังผู้รับแบบเป็นกลุ่มได้อีกด้วย
เพจเจอร์ทำให้ผู้ใช้ไม่ถูกตัดขาดจากการสื่อสาร แม้จะไม่มีสมาร์ทโฟนก็ตาม มันมีอยู่หลายสถานการณ์ที่การหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาใช้เป็นเรื่องที่เสียมารยาท เช่น ในระหว่างการประชุม และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้โรงพยาบาลจำนวนมากเลือกใช้เพจเจอร์
ไม่ต้องคิดไกล แค่ในประเทศไทย ก็มีข่าวดราม่าให้เห็นกันบ่อย ๆ ที่คนไข้โวยวายว่าพยาบาลไม่เอาใจใส่ มัวแต่คุย หรือเล่นโทรศัพท์ ในระหว่างที่หมอกำลังคุยกับคนไข้ถ้าหมอหยิบมือถือขึ้นมาเช็คข้อความ คนไข้ก็คงไม่สบายใจ เพจเจอร์จึงตอบโจทย์กว่า เพราะมันเป็นอุปกรณ์สำหรับรับข้อความโดยเฉพาะ
และด้วยความที่เพจเจอร์ทำได้แค่การรับข้อความ มันช่วยสร้างกำแพงความเป็นส่วนตัวระหว่างการสื่อสารกับผู้อื่น เราไม่จำเป็นต้องใช้เบอร์โทรศัพท์ หรือบัญชี โซเชียลมีเดีย (Social Media) ของเราในการทำงานร่วมกับผู้อื่น เป็นการเพิ่มช่องว่างแต่ไม่ตัดขาดเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวเอาไว้
ทุกวันนี้ การแจ้งเตือนจากสมาร์ทโฟนมีเรื่องอะไรบ้าง ? สายเข้า, อีเมล, SMS พนัน, โฆษณาจากค่ายมือถือ, LINE, Discord, Tinder ฯลฯ ต่อให้ปิดเสียงไว้มันก็สั่นอยู่ดี การแจ้งเตือนที่มากมายทำให้เราต้องเช็คสมาร์ทโฟนบ่อยเกินความจำเป็น จะไม่เช็คก็ไม่ได้ เพราะหนึ่งในนั้นอาจจะเป็นเรื่องงาน
นั่นเป็นเหตุผลที่โรงพยาบาลเลือกใช้เพจเจอร์แทน ส่งข้อมูลคนไข้, ส่งหมายเลขวอร์ดที่หมอต้องไปพบคนไข้ ฯลฯ ถึงมือผู้ทำงานได้โดยตรงทันที
ถึงเราจะบอกว่า เพจเจอร์ยังมีการใช้งานอยู่หลายล้านเครื่อง แต่จากกฏข้อบังคับฉบับใหม่ของของ Health Insurance Portability and Accountability Act (HIPAA) ซึ่งเป็นกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับการบันทึกข้อมูลสุขภาพแบบอิเล็กทรอนิกส์ให้ข้อมูลส่วนตัวของคนไข้ได้รับการปกป้องความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัวของข้อมูลสุขภาพ ที่เพิ่มความเข้มงวดต่อการรับส่งข้อมูลคนไข้ให้สูงขึ้นมาก มากเกินกว่าที่ระบบสื่อสารอย่างเพจเจอร์จะสามารถทำได้
แม้การสื่อสารผ่านเพจเจอร์จะมีการเข้ารหัสข้อมูลเอาไว้ก็จริง แต่มันก็ล้าสมัยสามารถถอดรหัสได้ไม่ยาก แฮกเกอร์สามารถดักสัญญาณเพื่อล้วงเอาข้อมูลคนไข้ไปได้อย่างไม่ยากเย็นนัก แม้ข้อความที่ส่งจะเป็นตัวเลข และรหัสทางการแพทย์ที่ใช้งานเฉพาะแค่ในโรงพยาบาล แต่การสืบหาข้อมูลรหัสเหล่านั้นก็ไม่ใช่เรื่องยากอยู่แล้ว อย่างสถานการณ์ล่าสุด แฮกเกอร์มือดีได้นำข้อมูลคนไข้ที่เรียกรถฉุกเฉินระหว่างเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2020 (พ.ศ. 2563) ถึงเดือนมกราคม ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564) ออกมาเผยแพร่บนเว็บไซต์ แถมยังอัปเดตข้อมูลได้แบบเรียลไทม์อีกต่างหาก
นอกจากปัญหาเรื่องความปลอดภัยแล้ว ทาง HIPAA ยังมองว่า เพจเจอร์มันล้าสมัย, ใช้งานไม่สะดวก และมีต้นทุนในการทำงานของระบบสูง มันจึงควรแก่เวลาที่จะโบกมือลาระบบเพจเจอร์ได้เสียที ซึ่งก็มีกระแสตอบรับบ้างแล้ว อย่างโรงพยาบาล NHS ในประเทศอังกฤษ ที่ยังมีการใช้งานเพจเจอร์กว่า 130,000 เครื่อง ก็ประกาศว่าจะเลิกใช้ระบบเพจเจอร์ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2544)
ซึ่งก็มีการเสนอให้นำระบบสื่อสารแบบเข้ารหัสมาใช้งานแทนแล้ว อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนระบบก็ต้องลงทุนสูง กว่าที่โรงพยาบาลทุกแห่งจะเลิกใช้เพจเจอร์ แล้วเปลี่ยนมาใช้งานระบบใหม่แทนก็คงต้องอีกสักพัก
อย่างไรก็ตาม ต่อให้โรงพยาบาลเลิกใช้งานเพจเจอร์แล้ว แต่คุณผู้อ่านอาจจะแปลกใจ หากเราบอกว่าเพจเจอร์ก็ยังไม่หายไปไหนอยู่ดี เพราะอันที่จริง เพจเจอร์มันก็ยังนิยมใช้งานกันในร้านกาแฟ และร้านอาหาร เพียงแต่มันเป็นระบบเพจเจอร์ง่าย ๆ ที่ไม่ได้มีการส่งข้อความแต่อย่างใด ซึ่งระบบนี้ร้านอาหารหลายแห่งในประเทศไทยก็นิยมใช้งาน
เคยเข้าร้านอาหารที่ต้องรอคิว แล้วได้รับกล่องพลาสติกจากพนักงานบ้างไหมครับ ? ที่เรารับกล่องนั้นมา แล้วสามารถไปนั่งรอที่โต๊ะได้เลย พอกล่องมีไฟกะพริบ หรือเสียงแจ้งเตือน ก็ค่อยเดินไปรับอาหารที่เคาน์เตอร์พนักงาน เราอยากจะบอกว่า นั่นก็เป็นระบบเพจเจอร์นะ
QMTWTFSS Restaurant Pager System
ภาพจาก : https://www.amazon.sa/-/en/QMTWTFSS-Restaurant-Wireless-Rechargeable-Transmitter/dp/B08TV2D2JZ
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |