หากคุณเป็นคนที่เคยซุกซนกับระบบปฏิบัติการ Windows มาบ้าง พยายามจะรีดเค้น หาทางปรับแต่งให้ระบบทำงานดี มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ก็น่าจะรู้ดีว่า มันมีหลายวิธีในการปรับแต่งการใช้งาน Windows ให้ดีขึ้น ตั้งแต่การปรับเปลี่ยนการตั้งค่า (Settings) แบบง่าย ๆ ไปจนถึงการแก้ไข รีจิสทรี (Registry) และการสรรหา ซอฟต์แวร์เพิ่มประสิทธิภาพ มาใช้งาน อย่างไรก็ตาม มีบางวิธีที่อาจทำให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี
แม้ว่าหลังจากทำแล้ว ผู้ใช้อาจเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นในระยะแรก แต่ผลกระทบในระยะยาวอาจแย่ลงกว่าเดิมมาก บทความนี้จะมาอธิบายวิธีการปรับแต่ง Windows ที่ในความเป็นจริงแล้ว "อาจ" ไม่เป็นผลดีต่อระบบของคุณ จะมีอะไรบ้าง ? มาอ่านกัน
โดย Page File (Pagefile.sys) คือ หน่วยความจำเสมือนที่ Windows ใช้ในการเก็บกระบวนการต่าง ๆ ที่ไม่ได้ต้องการใช้งานในทันที นอกเหนือจากการเก็บไว้บน แรม (RAM) มีหลายคนแนะนำให้ปิดใช้งานคุณสมบัติ Page File ถ้าหากว่าระบบคอมพิวเตอร์มี RAM มากพอ เพื่อช่วยลด การทำงานของดิสก์ (Disk I/O) เพิ่มความรวดเร็วในการตอบสนอง และยืดอายุการใช้งานของ อุปกรณ์เก็บข้อมูลแบบ SSD
แม้ว่าการปิดใช้งาน Page File จะดูเหมือนเป็นความคิดที่ดี แต่การทำแบบนั้นอาจส่งผลกระทบต่อความเสถียรของระบบได้ ประการแรกคือ เราไม่มีทางมั่นใจได้เลยว่า RAM ที่มีจะเหลือที่เพียงพอตลอดเวลา หากเปิดโปรแกรม หรือเกมที่ใช้ทรัพยากรหนักในภายหลังจนพื้นที่ของ RAM เต็ม ก็อาจทำให้ระบบล่มได้ทันที
ภาพจาก : https://www.maketecheasier.com/windows-optimization-mistakes/
นอกจากนี้ ซอฟต์แวร์หลายตัว รวมถึงส่วนประกอบของ Windows เอง ถูกออกแบบโดยสมมติว่า หน่วยความจำเสมือน (Virtual Memory) ถูกเปิดใช้งานอยู่ ดังนั้น หากเราปิดใช้งานมันเอาไว้ อาจทำให้ซอฟต์แวร์เหล่านั้นทำงานผิดปกติได้ ตัวอย่างเช่น Windows ใช้ Page File ในการบันทึกข้อมูล เคอร์เนล (Kernel) Memory Dumps เมื่อเกิดข้อผิดพลาดร้ายแรง อย่างเช่น หน้าจอฟ้าแห่งความตาย (BSOD)
ยิ่งไปกว่านั้น ข้อดีของการปิดใช้งาน Page File ในปัจจุบันนั้นไม่ได้มีความสำคัญมากนัก เพราะหากเราใช้ SSD ความเร็วในการโหลดนั้นรวดเร็วพอจนไม่เห็นผลแตกต่างระหว่างการปิด หรือเปิด Page File เลย นอกจากนี้ ผลกระทบต่ออายุการใช้งานของ SSD ก็ถือว่ามีน้อยมาก เพราะด้วยเทคโนโลยีของ SSD รุ่นใหม่ในปัจจุบันนี้ มันมีความทนทาน อายุการใช้งานสูงมาก
หากเราต้องการปรับแต่ง Page File การทำแค่ย้ายตำแหน่ง หรือปรับขนาด Page File เป็นตัวเลือกที่ดีกว่าการปิดใช้งานมันโดยสิ้นเชิง
จริง ๆ แล้ว การปิดใช้งานคุณสมบัติการควบคุมบัญชีผู้ใช้ หรือ User Account Control (UAC) ดูเหมือนจะมีเหตุผล เพราะท้ายที่สุดมันก็เป็นเพียงหน้าต่างยืนยันเท่านั้น ซึ่งปกติเราก็จะกด "ใช่" (Yes) โดยตลอดอยู่แล้ว แทบไม่เคยจะปฏิเสธคลิก "ไม่" (No) กันอยู่แล้ว ซึ่งหน้าต่างนี้จะปรากฏขึ้นทุกครั้งที่กมีการดำเนินการใด ๆ ก็ตามที่ต้องการขออนุญาตสิทธิ์ผู้ดูแล แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า การดำเนินการนั้นจะเป็นสิ่งที่อันตรายต่อระบบ
นั่นเป็นเหตุผลว่า บางคนแนะนำให้ปิดการทำงานของคุณสมบัติ UAC ไปเลย เพื่อตัดความน่ารำคาญของหน้าต่างแจ้งเตือนการขออนุญาตจาก UAC
นี่คือเหตุผลที่บางคนแนะนำให้ปิดการใช้งาน UAC เพื่อหลีกเลี่ยงหน้าต่างป๊อปอัปที่น่ารำคาญบนบัญชีผู้ดูแลระบบ
ภาพจาก : https://www.maketecheasier.com/windows-optimization-mistakes/
อย่างไรก็ตาม หน้าต่างป๊อปอัปที่น่ารำคาญนี้ยังทำหน้าที่เป็นจุดตรวจสอบแบบ Manual สำหรับการดำเนินการที่ผู้ใช้ไม่ได้เป็นผู้สั่งการเอง เมื่อเปิดใช้งาน UAC เอาไว้มัลแวร์ยังคงต้องได้รับอนุญาตจากคุณก่อนที่จะทำการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในระบบของคุณ ดังนั้น หากเราได้รับหน้าต่างป๊อปอัปของ UAC โดยที่ไม่ได้สั่งการใด ๆ เลย ก็จะทำให้เราสังเกตเห็นความผิดปกติได้ในทันที
ซึ่งถ้าปิดใช้งานคุณสมบัติ UAC เอาไว้ มัลแวร์สามารถทำการเปลี่ยนแปลงได้อย่างอิสระโดยที่ผู้ใช้ไม่รู้ตัวเลย ดังนั้น การอดทนกับป๊อปอัปที่น่ารำคาญนี้จึงดีกว่า
การอัปเดต Windows สามารถดาวน์โหลด และติดตั้งได้ในขณะที่เราใช้งาน คอมพิวเตอร์ (PC) และบางครั้งอาจรีสตาร์ทเครื่องในระหว่างที่ผู้ใช้กำลังทำงาน ซึ่งไม่เพียงแค่นั้น ปัญหาเกี่ยวกับการอัปเดต Windows ก็ยังพบได้บ่อย นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมผู้ใช้บางคนถึงแนะนำให้ปิดการอัปเดต และเปิดใช้งาน เมื่อพร้อมที่จะติดตั้งการอัปเดตเท่านั้น
แม้ว่าการอัปเดต Windows อาจจะดูเหมือนรบกวนการทำงานของเรา แต่การปิดการอัปเดตไปเลยก็ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ถูกต้อง เพราะนอกจากการ เพิ่ม คุณสมบัติใหม่ ๆ (Feature Update) แล้ว การอัปเดตเหล่านี้ยังมี การปรับปรุงด้านความปลอดภัย (Security Update) เพื่อแก้ไขช่องโหว่ และ บัค (Bug) ต่าง ๆ รวมถึงการโจมตีแบบ ช่องโหว่ Zero-Day ช่องโหว่เหล่านี้สามารถสร้างความเสียหายได้มากกว่า ความไม่สะดวกที่ระบบการอัปเดตของ Windows อาจจะก่อขึ้น
สำหรับคนที่มีปัญหาด้านการอัปเดต แทนที่จะปิดการอัปเดตไปเลย การปรับกำหนดการอัปเดตให้เหมาะสมกับพฤติกรรมการใช้งานเป็นทางเลือกที่ดีกว่าจะปิดการอัปเดต Windows ไปเลย
หนึ่งในคำแนะนำที่เรามักได้ยินกันบ่อย ๆ เมื่อค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับการปรับแต่งระบบปฏิบัติการ Windows คือ การใช้แผนพลังงานแบบประสิทธิภาพสูงสุด (Best Performance) แม้ว่าทางเทคนิคแล้วมันจะทำให้ระบบปฏิบัติการ Windows อยู่ในสถานะที่ให้ประสิทธิภาพสูงสุดตลอดเวลา แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ผู้ใช้จำเป็นต้องใช้แผนพลังงานดังกล่าว
การใช้แผนพลังงาน Best Performance ไม่ได้ช่วยให้ซอฟต์แวร์โหลดเร็วขึ้น หรือช่วยเพิ่ม ค่า FPS ได้อย่างที่ผู้ใช้คาดหวัง แม้จะอยู่ในแผนพลังงานแบบสมดุล (Balanced) ระบบคอมพิวเตอร์ก็ยังสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพเมื่อถึงคราวจำเป็น ความแตกต่างหลักระหว่างโหมดนี้คือ Best Performance จะทำให้ระบบทำงานใกล้เคียงกับความเร็วสูงสุดตลอดเวลา ในขณะที่แผน Balanced จะปรับเปลี่ยนความเร็วแบบไดนามิกตามความต้องการของซอฟต์แวร์ที่กำลังทำงานอยู่
ภาพจาก : https://www.maketecheasier.com/windows-optimization-mistakes/
สำหรับการใช้งานทั่วไป เช่น การท่องเว็บไซต์, รับชมวิดีโอ และแม้แต่การเล่นเกมที่มีกราฟิกเรียบง่าย โหมด Balanced จะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า เนื่องจากช่วยประหยัดพลังงาน และลดการเกิดความร้อน ที่เกิดจากการประมวลผลเกินความจำเป็น ข้อเสียเดียวคือ การปรับเปลี่ยนแบบไดนามิกของโหมด Balanced อาจทำให้เกิดความหน่วงเล็กน้อยในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงภาระงานอย่างรวดเร็ว เช่น ในเกมที่มีกราฟิกหนัก ๆ
ในขณะที่แผนการทำงานแบบ Best Performance ระบบจะทำงานที่ความเร็วสูงสุดตลอดเวลา ซึ่งอาจทำให้การทำงานในเกมที่กินกราฟิกหนัก ๆ หรือซอฟต์แวร์ ทำได้ราบรื่นกว่าเล็กน้อย เนื่องจากการใช้พลังงานของ CPU จะไม่ถูกปรับลดลง ดังนั้น หากคุณไม่ได้เล่นเกมอย่างจริงจังห้ามหน่วงแม้แต่นิดเดียว หรือตัดต่อวิดีโอความละเอียดสูง การใช้แผน Best Performance ก็อาจเกินความจำเป็น เปลืองไฟโดยใช่เหตุ
Superfetch เป็น บริการ (Service) ในระบบปฏิบัติการ Windows ที่ทำหน้าที่โหลดข้อมูลของโปรแกรมที่ใช้งานบ่อยไว้ใน RAM เพื่อให้ซอฟต์แวร์โหลดเร็วขึ้น กระบวนการนี้ใช้ RAM เพิ่มขึ้น และทำให้ CPU และ Disk I/O ทำงานมากขึ้นเล็กน้อย ดังนั้น บางคนจึงแนะนำให้ปิดการทำงาน เพื่อประหยัดทรัพยากรของระบบ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
ในความเป็นจริง Superfetch มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพเพียงเล็กน้อย แต่ประโยชน์ของมันมีมากมาย มันอาจทำให้ RAM ถูกเติมเต็มอย่างรวดเร็วก็จริง แต่นั่นถือเป็นเรื่องดี เพราะ RAM ที่ไม่ได้ใช้งานถือว่าเป็น RAM ที่สูญเปล่า เพราะไม่ได้ช่วยอะไรต่อระบบ เมื่อ Superfetch ใช้ RAM ที่ไม่ได้ใช้งานนี้ในการโหลดข้อมูล มันกำลังใช้ทรัพยากรที่สูญเปล่าให้เกิดประโยชน์ และหาก RAM ลดลงจากการใช้งานโปรแกรม ระบบสามารถล้างข้อมูลเหล่านี้ออกได้อย่างรวดเร็วเพื่อเพิ่ม RAM
Superfetch เป็น Service ที่มีผลกระทบต่อประสิทธิภาพของระบบเพียงเล็กน้อย และโดยปกติมักทำงานในสถานะที่ไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบ เราสามารถเปิด Task Manager ด้วยการกด "ปุ่ม Ctrl+Shift+Esc" และค้นหา "sysmain" เพื่อดูว่า Superfetch ใช้ทรัพยากรในการทำงานเท่าไหร่ ? ซึ่งเราจะสังเกตได้เลยว่ามันใช้พลังงาน CPU ในการทำงานเพียงนิดเดียว
สรุปง่าย ๆ ว่า Superfetch ไม่ได้ใช้ทรัพยากรมากเยอะเลย แต่สามารถเพิ่มความเร็วในการโหลดแอปพลิเคชัน และการทำงานหลายอย่างพร้อมกันได้อย่างมาก จึงไม่คุ้มค่าที่จะปิดมันทิ้งเลยสักนิด
หากคุณมีพื้นที่จัดเก็บข้อมูลใน ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (HDD) เหลือน้อย อาจได้รับคำแนะนำว่า ถ้าหากมีแผนการสำรองข้อมูลที่เชื่อถือได้อยู่แล้ว สามารถปิดการใช้งาน คุณสมบัติ System Restore หรือ ปรับลดพื้นที่จัดเก็บของ Restore Points ให้น้อยลงได้ โดยค่าเริ่มต้น System Restore จะใช้พื้นที่ประมาณ 5% ของพื้นที่จัดเก็บทั้งหมด ซึ่งจะเยอะ หรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับขนาดของไดรฟ์จัดเก็บข้อมูล เช่น 25 GB สำหรับพื้นที่จัดเก็บ 500 GB
แม้ว่าการกู้คืนพื้นที่เก็บข้อมูลหลายสิบ GB กลับคืนมาได้อาจดูเหมือนเป็นความคิดที่ดี แต่การปิดการใช้งาน System Restore ไปเลยนั้นไม่คุ้มค่า เพราะ System Restore เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการกู้คืนระบบให้กลับสู่สถานะปกติ เช่น ระบบเสียหาย, ติดมัลแวร์ หรือไดรเวอร์เสียหาย
ภาพจาก : https://www.maketecheasier.com/windows-optimization-mistakes/
นอกจากนี้ ที่ไม่แนะนำให้ตั้งค่าลดขนาดพื้นที่จัดเก็บ เนื่องจากเราจำเป็นต้องมี Restore Point ที่เชื่อถือได้ เพื่อคืนค่าระบบได้อย่างถูกต้องในเวลาที่ระบบมีปัญหา เมื่อปรับลดพื้นที่ลง ก็หมายความว่าจำนวน Restore Point ลดลง นั่นอาจทำให้เวลาที่เราพลาด โอกาสในการกู้คืนระบบก็จะลดลงตามไปด้วย
อีกหนึ่งคำแนะนำเกี่ยวกับการปรับแต่งระบบปฏิบัติการ Windows ที่มักพบเห็นได้บ่อยครั้งคือ การปิดคุณสมบัติ จำศีล (Hibernation) เนื่องจากคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้ใช้งานคุณสมบัติ กันเท่าไหร่นัก
ในการทำงานของ Hibernation มันจำเป็นต้องใช้พื้นที่ในไดรฟ์เท่ากับขนาดของความจุ RAM เช่น ถ้าแรมมีขนาด 8 GB ก็จะใช้พื้นที่บนฮาร์ดไดร์ฟ 8 GB ถ้าแรมขนาด 64 GB ก็ต้องใช้พื้นที่ 64 GB ตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ต่อให้เราจะไม่ได้ใช้งานคุณสมบัติ Hibernation ก็ไม่ควรปิดใช้งานมันอยู่ดี เพราะ Hibernation มันเป็นส่วนประกอบที่สำคัญต่อการทำงานของระบบ
ภาพจาก : https://www.maketecheasier.com/windows-optimization-mistakes/
โดยการปิดใช้งาน Hibernation จะส่งผลกระทบทางอ้อมต่อคุณสมบัติสำคัญในระบบดังนี้
คุณสมบัติ Fast Startup ใช้ Hibernation ในการจัดเก็บข้อมูล เพื่อการเริ่มต้นระบบที่รวดเร็ว หากปิด Hibernation เอาไว้ คุณสมบัตินี้จะไม่สามารถใช้งานได้ ซึ่งจะทำให้ต้องใช้เวลาในการบูตเครื่องนานขึ้น
เมื่อแบตเตอรี่เหลือน้อยจนอยู่ในระดับวิกฤต โน้ตบุ๊ก (Notebook) จะบันทึกข้อมูลทั้งหมด และเข้าสู่โหมด Hibernate เพื่อป้องกันการสูญหายของข้อมูล ถ้าหากไม่มี Hibernation เครื่องจะปิดตัวลงทันที ซึ่งทำให้ข้อมูลที่ยังไม่ได้บันทึกสูญหายได้
ในหารตั้งค่าเริ่มต้น แล็ปท็อป หรือเดสก์ท็อปจะเข้าสู่โหมด Hibernate โดยอัตโนมัติ จากโหมด Sleep หลังจากไม่มีการใช้งานเป็นเวลาหลายชั่วโมง คุณสมบัติมีความสำคัญต่อการประหยัดแบตเตอรี่ หากอุปกรณ์ไม่ได้รับการใช้งานเป็นเวลานาน ซึ่งมันไม่สามารถใช้งานได้หากผู้ใช้ปิดโหมด Hibernation เอาไว้
จะเห็นได้ว่า ต่อให้เราไม่ได้ใช้คุณสมบัติ Hibernate ก็ไม่ได้หมายความว่า เราควรปิดใช้งานมันเพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บข้อมูลเพียงเล็กน้อยไม่กี่กิกะไบต์
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |
ความคิดเห็นที่ 1
วันนี้ 10:47:50
|
||
GUEST |
![]() |
Madison
Concert Attire Stamford360 Fairfield Ave, Stamford, CT 06902, United Ⴝtates +12033298603 Tuba ѕection |