ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

สินค้าไอทีสำหรับองค์กร และ สินค้าไอทีสำหรับคนทั่วไป ต่างกันอย่างไร ?

สินค้าไอทีสำหรับองค์กร และ สินค้าไอทีสำหรับคนทั่วไป ต่างกันอย่างไร ?

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 7,640
เขียนโดย :
0 %E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%AD%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C%E0%B8%81%E0%B8%A3+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0+%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%AD%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B9%84%E0%B8%9B+%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

สินค้าไอทีสำหรับองค์กร และ สินค้าไอทีสำหรับคนทั่วไป ต่างกันอย่างไร ?

หลายๆ คนอาจจะเคยมีคำถามเวลาเลือกซื้อสินค้าไอทีว่า "ทำไม สินค้าไอที บางอย่างถึงมีราคาแพง ?" แค่เห็นราคาก็ทำให้ตกใจ ราคาแพงขนาดนั้นจะมีใครมาซื้อ ทำสินค้าออกมาขายใคร หรือ สินค้าแพงเพราะอะไร ?

อย่างสินค้าในวงการไอที Mac Pro รุ่นปี 2019 จากบริษัท Apple ที่ขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพและราคาที่สุดแสนจะแพง (ด้วยเหตุผลบางอย่าง) ก็เปิดตัวราคาเริ่มต้นที่ราวๆ 5,999 เหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 188,xxx บาทไทย!) ราคาคนละโลกเลยถ้าเทียบกับคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะทั่วไปๆ ที่วางขายอยู่ก็มีราคาอยู่แค่เพียง 1x,xxx - 2x,xxx บาท โดยประมาณ ก็สามารถซื้อคอมพิวเตอร์มาใช้งานได้สักเครื่องแล้ว

สินค้าไอทีสำหรับองค์กร และ สินค้าไอทีสำหรับคนทั่วไป ต่างกันอย่างไร ?
ขอบคุณรูปภาพจาก : James Martin/CNET

ซึ่งแน่นอนว่าพอเห็นราคาแบบนี้แล้ว คนทั่วไปไม่น่าจะมีเงินหรือตัดสินใจซื้อสินค้าราคาแพงแบบนี้แน่ๆ แต่เพราะอะไรถึงยังมีสินค้ารูปแบบนี้ออกมาวางขายกันอยู่ ? คำตอบสั้นๆ ที่พอจะตอบได้นั่นก็คือ

สินค้าและผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นนั้น "มีการสร้างและแบ่งประเภทสินค้าให้เหมาะกับกลุ่มลูกค้า"
โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ ก็คือ ลูกค้าด้านธุรกิจ (Business or Corporate Customer) และ ผู้บริโภคทั่วไป (Consumer)

ซึ่งสินค้าไอที นั้นก็มีหลากหลายประเภท ทั้งคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ, คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ค, เครื่องพิมพ์ (Printer), โปรเจคเตอร์, มอนิเตอร์, เครื่องเซิร์ฟเวอร์เก็บข้อมูล แถมยังมี แกดเจ็ต อื่นๆ อีกมากมายที่ยังไม่ได้พูดถึง และด้วยเหตุผลนี้เอง บทความนี้จะพาไปดู ข้อแตกต่างของสินค้าไอทีระหว่างองค์กรธุรกิจ (Business) และ สินค้าไอทีสำหรับคนทั่วไป (Consumer) ว่ามีประเภทอะไรบ้าง ? ทำไมถึงมีราคาแพงกว่า และ เพราะอะไร ?

เนื้อหาภายในบทความ

สินค้าไอทีสำหรับองค์กร และ คนทั่วไป แตกต่างกันอย่างไร ? แบบสั้นๆ

ความแตกต่างแบบสั้นๆ สำหรับสินค้าที่สร้างมาเพื่อขายให้กับองค์กร กับขายให้คนทั่วไป นั้น หลักๆ จะอยู่ที่จุดประสงค์การใช้งาน, คุณภาพ, ความทนทาน, ราคา และ การบริการหลังการขาย (After Sale Service)

ซึ่งจุดประสงค์ของการใช้งานสำหรับองค์กร จะเน้นไปทางด้านการใช้งานที่สมบุกสมบัน ใช้งานหนัก ระยะยาว แข่งขันกับเวลา ทำให้สินค้าจำเป็นต้องมีคุณภาพและความทนทานที่เหนือกว่าการใช้งานของคนทั่วไป

เป็นเหตุผลทำให้สินค้าสำหรับองค์กรมีราคาสูงกว่า อีกทั้งยังรวมไปถึงบริการหลังการขายเพิ่มเติมที่ครอบคลุมการรับประกัน การซ่อมแซม การสนับสนุนต่างๆ ที่มากกว่าลูกค้าแบบทั่วไป นั่นเอง

ตัวอย่างสินค้าไอทีสำหรับใช้งานในองค์กรธุรกิจ และ คนทั่วไป

รูปภาพทางด้านล่างนี้ จะเป็นการเปรียบเทียบระหว่างสินค้าไอทีที่เหมาะกับการใช้งานในองค์กรธุรกิจ และ แบบที่เหมาะกับคนทั่วไป ซึ่งจะมีหลายเกรด คุณภาพหลายระดับ ลองดูตัวอย่างกันแบบคร่าวๆ ได้ที่นี่ครับ

สินค้าไอทีสำหรับองค์กร และ สินค้าไอทีสำหรับคนทั่วไป ต่างกันอย่างไร ?

ส่วนใครที่อยากดูรายละเอียดความหมาย เหตุผลเชิงลึกของการจำแนกองค์ประกอบสินค้าในตลาด ตามความต้องการและลักษณะประเภทต่างๆ สามารถอ่านได้ทางด้านล่างนี้

ความหมายของ สินค้าสำหรับผู้บริโภคทั่วไป (Consumer Product)

Consumer Products คือ สินค้าผลิตภัฑณ์ที่ผู้บริโภคอย่างคนทั่วไปซื้อไปใช้ จะเป็นการซื้อไปใช้งานส่วนตัว ใช้ในครอบครัว หรือ สิ่งที่ใช้เฉพาะในครัวเรือน แต่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อใช้งานเชิงพาณิชย์ หรือ ด้านธุรกิจโดยตรง โดยสามารถแบ่งตามพฤติกรรมการซื้อของผู้ใช้งานได้ 4 อย่าง ดังนี้

สินค้าสะดวกซื้อ (Convenience Products)

เป็นประเภทสินค้าที่หาได้ง่าย หาซื้อได้แทบจะทุกที่ ตามร้านสะดวกซื้อ ไม่ต้องเปรียบเทียบหรือมีตัวเลือกซื้อมากมาย ซื้อได้ในจำนวนที่พอเหมาะ ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าประเภทที่ไม่มีความคงทนสูง ราคาไม่แพง และใช้เป็นประจำอยู่บ่อยๆ โดยจะแบ่งออกเป็นประเภทย่อยๆ อีก 3 ประเภท ได้แก่

  1. สินค้าอุปโภคประจำ (Staple Goods) คือ สินค้าที่เราต้องซื้อเป็นประจำในปริมาณมาก หรือ น้อย หาซื้อได้ง่าย และใช้อยู่บ่อยๆ ในการดำเนินชีวิต มักจะจดเป็นรายการของที่ต้องใช้ก่อนจะเข้าร้าน เช่น อาหาร จำพวก นม ไข่ เนื้อสัตว์ ขนมปัง เป็นต้น
  2. สินค้าดลใจซื้อ (Impulse) คือ สินค้าที่ไม่ได้คิดมาก่อนจะซื้อ แต่ก็ซื้อเมื่อพบเจอ เช่น ขนม น้ำอัดลม วารสาร หนังสือขายดี อะไรต่างๆ นานา ที่มักล่อตาล่อใจผู้ซื้อ มีจุดเด่น ด้วยสี รูปร่าง กลิ่น ฯลฯ
  3. สินค้าฉุกเฉิน (Emergency Goods) คือ สินค้าที่ต้องการทันที แบบเร่งด่วน หรือ ไม่ได้คาดคิดไว้ว่าต้องการเดี๋ยวนั้น เช่น ทิชชู่หยอดเหรียญ, ผ้าคลุมกันฝน, ไฟฉายแบบฉุกเฉิน เป็นต้น

โดยสินค้าสะดวกซื้อด้านไอทีที่เราเห็นกันได้ตามร้านสะดวกซื้อ หรือ ที่หาซื้อได้ง่ายๆ ก็คงหนีไม่พ้น ก้อนแบตเตอรี่แบบใช้แล้วทิ้ง ถ่านแบตเตอรี่ขนาด AA หรือ AAA, แผ่นซีดีเปล่า, แฟลชไดร์ฟราคาถูก, สายชาร์จ, หูฟัง ที่ใช้งานได้และมีราคาไม่แพงมาก ซึ่งคุณภาพก็ขึ้นอยู่กับราคาตามที่เราเห็น ข้อดี คือ หาซื้อได้ง่าย และ เป็นของที่ใช้งานบ่อย

สินค้าเปรียบเทียบซื้อ (Shopping Products)

เป็นประเภทสินค้าที่ต้องการการเปรียบเทียบ หลังจากลูกค้าเปรียบเทียบสินค้าระหว่างแบรนด์ หรือ ร้านค้าอื่นๆ เสร็จแล้วถึงจะตัดสินใจซื้อ ส่วนใหญ่มักจะเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูงกว่าของใช้ทั่วไป ซื้อไม่บ่อย และ มีความทนทานมากกว่า ซึ่งเหตุผลที่ใช้ประกอบการเปรียบเทียบและตัดสินใจส่วนใหญ่ จะมี ดังนี้

  • เรื่องราคา (Price)
  • เรื่องคุณภาพ (Quality)
  • เรื่องสไตล์การออกแบบ (Style)
  • เรื่องสีสัน โทนสี (Color)

ตัวอย่างสินค้าไอทีที่ผ่านการเปรียบเทียบตัดสินใจก็จะมี ตั้งแต่ โทรศัพท์, โทรทัศน์, กล้อง, คอมพิวเตอร์, ลำโพง, ตู้เย็น, เครื่องซักผ้า, เตียงนอน, หุ่นยนต์ดูดฝุ่น, เครื่องฟอกอากาศ, เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทต่างๆ ส่วนใหญ่จะซื้อและใช้ไปนานๆ จนกว่าจะพัง

สินค้าเจาะจงซื้อ (Specialty Products)

ตรงตามชื่อ คือ สินค้าที่มองหาซื้อแบบเฉพาะเจาะจง ใช้เวลาและความตั้งใจสูงกว่าจะซื้อและหามาได้ หากไม่ใช่สินค้าที่ถูกใจ ก็จะไม่ซื้อ จะใช้อะไรแทนก็ยาก ต้องเป็นสินค้าเฉพาะที่เลือกจริงๆ ถึงจะซื้อใช้ เช่น รถยนต์หรู นาฬิกาแพงๆ เสื้อผ้า สินค้ารุ่นลิมิเต็ด มีจุดเด่นที่ตอบสนองรสนิยมผู้ใช้งาน เอกลักษณ์ ความต้องการของผู้ใช้จริงๆ

อย่างสินค้าที่ผลิตออกมาวางขายจำนวนจำกัด ทำขึ้นมาพิเศษ หาซื้อที่ไหนไม่ได้ ต้องสั่งจองล่วงหน้า อย่างโทรศัพท์มือถือ iPhone ที่ทำจากทองคำจริง, เครื่องเกม Console รุ่นพิเศษ หายาก, เซ็ตเกมมิ่งเกียร์ ลายพิเศษ ที่ผู้ใช้อยากมีไว้ในครอบครอง ถึงแม้ราคาจะสูง กว่าปกติ แต่ก็จะหาซื้อมาให้ได้

สินค้าไม่แสวงซื้อ (Unsought Products)

สินค้าประเภทนี้ เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะซื้อ ไม่ได้สนใจ หรือ มีความสนใจเล็กๆ แต่ไม่รู้รายละเอียดเกี่ยวกับสินค้านั้นๆ โดยส่วนใหญ่มักเป็นสินค้าประเภทที่เพิ่งออกวางขาย สิ่งประดิษฐคิดค้น ที่มีเทคโนโลยีทันสมัย หรือ บางทีอาจจะเป็นประกันผลิตภัณฑ์ หรือ ประกันรูปแบบต่างๆ ที่ไม่ได้มีความต้องการซื้อตั้งแต่แรก

บริษัทผู้ผลิต หรือ ขายสินค้าประเภทนี้ มักใช้วิธีสร้างโฆษณา สื่อ โปรโมชันต่างๆ แบบจัดหนัก จัดเต็ม ให้ผู้บริโภคพบเห็น และหันมาสนใจ จึงจะสามารถหาลูกค้าที่ตอบโจทย์ผู้ขายได้ หรือ ประกันที่เกินความจำเป็น แต่ก็มีประโยชน์สำหรับลูกค้า อย่าง Apple Care ที่ขยายระยะเวลารับประกันสินค้าเพิ่มเติมจากปกติ ถ้าใช้งานไม่เกิน 1 - 2 ปีแล้วเปลี่ยนเครื่องใหม่ ประกันพวกนี้ก็แทบจะไม่จำเป็นเลย

ความหมายของ สินค้าสำหรับองค์กร ธุรกิจ (Corporate Products)

Business Products คือ สินค้าผลิตภัฑณ์ที่องค์กร ธุรกิจ หรือ ระดับอุตสาหกรรมเลือกใช้ จะเป็นการซื้อมาเพื่อใช้ในการผลิตสินค้า หรือ ใช้ในการปฏิบัติงานด้านธุรกิจ เป็นหลัก ซึ่ง ไม่เหมือนสินค้าสำหรับคนทั่วไปที่ซื้อมาใช้แบบส่วนตัว โดยแบบธุรกิจจะสามารถแบ่งออกเป็นส่วนย่อย ได้ ประมาณ 6 ส่วนด้วยกัน

สิ่งติดตั้ง หรือ ถาวรวัตถุ (Installations)

สิ่งใดๆ ก็ตามที่ต้องการ การติดตั้งแบบถาวร เพื่อใช้งาน ส่วนมากจะเป็นสิ่งที่ใช้ในขั้นตอนของกระบวนการผลิตตามโรงงาน เช่น ระบบเครื่องจักร, สายพานขนของ, หุ่นยนต์แขนกล, และ เครื่องมือจักรกล ที่ออกแบบมาเพื่อใช้เฉพาะงาน เช่น โรงผลิตรถยนต์, ผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์, ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น

นอกจากนี้ก็ยังมีสินค้ารูปแบบอื่น ที่ต้องการ การติดตั้งและใช้งานแบบเฉพาะทาง เช่น เครื่องซุปเปอร์คอมพิวเตอร์, เครื่องเซิฟเวอร์, เสาสัญญาณโทรศัพท์, หรือ ระบบสำรองไฟฟ้า ก็ต้องใช้พื้นที่และการออกแบบในการติดตั้งเพื่อใช้งานสำหรับงานที่เหมาะสม เพื่อให้ตอบโจทย์รูปแบบการทำงานของธุรกิจนั้นๆ

เครื่องมือประกอบ (Accessory Equipment)

เป็น  สิ่งจำพวกอุปกรณ์เสริมที่ใช้เพื่ออำนวยความสะดวก เพิ่มความเร็วในการทำงาน มีขนาดเล็กกว่า และมีราคากับอายุการใช้งานที่น้อยกว่าแบบติดตั้งถาวร ตัวอย่างจำพวก เครื่องมือช่าง, อุปกรณ์เสริมคอมพิวเตอร์, เครื่องคิดเลข, เครื่องถ่ายเอกสาร, ขาตั้งจอเสริม และ รถเข็น เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทำงานโดยตรง  แต่ช่วยทำให้กระบวนการทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น

วัตถุดิบ (Raw Materials)

ขึ้นชื่อว่า วัตถุดิบ คือ สิ่งที่จะนำไปใช้งานในการสร้างและผลิตเป็นสินค้า ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ต่อไป สู่ผู้ใช้งานหรือผู้ประกอบการด้านต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น แร่ , เหล็ก, ทองแดง,  น้ำมันดิบ, ไม้ซุง, ดิน, ทราย และ  หนังสัตว์ เป็นต้น วัตถุดิบมีหลายประเภท มีคุณภาพหลายเกรด อีกทั้งยังมีวัตถุดิบบางประเภทที่ต้องนำไปแปรรูปและส่งต่อให้การผลิตรูปแบบอื่นๆ ต่อไป ส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์สูงขึ้นตามไปด้วย

อย่างการผลิตชิปคอมพิวเตอร์ หรือ ซีพียู (CPU) เพื่อการประมวลผล ก็ใช้วัตถุดิบมาจาก ทราย - แร่ซิลิคอน (Silicon) ที่นำมาเข้ากระบวนการผลิตที่ซับซ้อนจนกลายเป็นแผ่นเวเฟอร์ (ลายแผงวงจร) ที่พร้อมจะนำทดสอบ ตัดไปประกอบให้กลายเป็นชิปซีพียูที่สามารถนำไปใช้งานได้ในอุปกรณ์ชนิดต่างๆ

วัสดุประกอบและชิ้นส่วน (Component Parts and Processed Materials)

สิ่งของ วัสดุที่ใช้ประกอบ เหล่านี้ คล้ายกับวัตถุดิบที่ผ่านการแปรรูป หรือ สำเร็จรูปมาในระดับนึงแล้ว มักจะใช้ในขั้นตอนการผลิตก่อนจะประกอบผลิตภัณฑ์เสร็จสมบูรณ์เป็นชิ้นเป็นอัน ยกตัวอย่างเช่น ชิ้นส่วนสำหรับมือถือสมาร์ทโฟน โมดูลกล้อง, ชิปซีพียู, เซ็นเซอร์หน้าจอ, แผงวงจร, แบตเตอรี่, หรือ ชิ้นส่วนประกอบเครื่องจักร รถยนต์ เช่น กระจกหน้ารถ, ล้อรถ, ไฟหน้ารถ เป็นต้น

วัสดุใช้สอย ซ่อมบำรุง ดูแลรักษา (Maintenance, Operating, and Repair Supplies)

สิ่งที่ใช้ในการดำเนินการ ซ่อมบำรุง และ ดูแลรักษา ต่างๆ เป็น ประเภทวัสดุใช้สอยสิ้นเปลือง ที่ถูกใช้งานบ่อย ไม่ว่าจะเป็น กระดาษถ่ายเอกสาร, หมึกเครื่องพิมพ์, หลอดไฟสำรอง, อุปกรณ์ น้ำยาทำความสะอาด, หรือ อุปกรณ์ที่ใช้งานภายในออฟฟิศ ต่างๆ ถือว่าเป็นวัสดุใช้สอยประเภทนี้

บริการ (Service)

ส่วนของบริการเซอร์วิสของธุรกิจนั้น คือ บริการที่ทางบริษัทนั้นได้ทำการซื้อเพื่อให้เข้ามาช่วยในการดำเนินการด้านต่างๆ ซึ่งอาจจะประกอบไปด้วย ด้านการเงิน, การทำวิเคราะห์ตลาด, สร้างโปรโมชัน, การดูแลทำความสะอาด, บริการซ่อมบำรุงสินค้า, การสนับสนุนด้านไอที, ช่วยเหลือให้คำปรึกษา อะไรต่างๆ เหล่านี้ ขึ้นอยู่กับความต้องการในแต่ละด้านว่าทางธุรกิจนั้นต้องการบริการด้านใดมากน้อยแค่ไหน

สรุป ความแตกต่างของสินค้าสำหรับองค์กรและคนทั่วไป

ในปัจจุบันนี้ สินค้าสำหรับองค์กรและคนทั่วไปในด้านคุณภาพแทบจะใกล้เคียงกัน เพราะเทคโนโลยีสมัยนี้ได้พัฒนาสูงขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีราคาถูกลง ทำให้สินค้าคนทั่วไปเข้าถึงสินค้าได้ง่าย ทำให้เราได้พบเห็นสินค้าหลากหลายประเภทที่มีคุณภาพตอบโจทย์ผู้ใช้งานในหลายด้าน

อย่างไรก็ตามสินค้าสำหรับองค์กรและคนทั่วไป ก็ยังมีความแตกต่างกันอยู่ เพราะคนทั่วไปอาจจะไม่ต้องการในสิ่งที่สินค้าสำหรับองค์กรมี ยกตัวอย่างเช่น เครื่องถ่ายเอกสารซีร็อกซ์ ถ้าเป็นคนทั่วไปปริ้นท์กระดาษไม่เกิน 10 แผ่นต่อวัน ก็คงไม่จำเป็นต้องใช้ แต่ถ้าใช้งานในออฟฟิศที่ต้องปริ้นท์กระดาษเยอะๆ เร็วๆ สินค้าแบบนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นจริงไหมครับ ? ดังนั้นสินค้าจึงมีให้เลือกใช้เหมาะสมกับความต้องการแก่คนทุกกลุ่ม


ที่มา : www.investopedia.com , www.encyclopedia.com , medium.com , sites.google.com , www.automation.com , www.cnet.com , www.cnet.com , elearning.bu.ac.th , www.cpushack.com , en.wikipedia.org

0 %E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%AD%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C%E0%B8%81%E0%B8%A3+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0+%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%84%E0%B8%AD%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B9%84%E0%B8%9B+%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ดูแล : Moderator    สมาชิก
It was just an ordinary day.
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น