ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

LoRaWAN คืออะไร ? เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังเซนเซอร์ไร้สายขยายขอบเขต IoT

LoRaWAN คืออะไร ? เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังเซนเซอร์ไร้สายขยายขอบเขต IoT
ภาพจาก : https://www.freepik.com/free-vector/weather-forecaster-tv-studio-measurement-devices-climate-conditions-isometric-flowchart_6824973.htm
เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 923
เขียนโดย :
0 LoRaWAN+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B8%B5%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%82%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%95+IoT
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

LoRaWAN คืออะไร ? เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังเซนเซอร์ไร้สายขยายขอบเขต IoT

การเชื่อมต่อไร้สาย (Wireless Connection) ถือเป็นส่วนสำคัญของชีวิตประจำวันของเราทุกคน และหนึ่งในเทคโนโลยีที่เราคุ้นเคยกันดีก็คือ ไวไฟ (Wi-Fi) หรือ บลูทูธ (Bluetooth) แต่ถ้าเรามองไปในโลกของ อินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (Internet of Things - IoT) ก็จะมีการเชื่อมต่อไร้สายแบบใหม่ที่กำลังเข้ามาเปลี่ยนแปลงการส่งข้อมูลให้กว้างขวางขึ้น ซึ่งนั่นก็คือ "LoRaWAN (Long Range Wide Area Network)" ที่ช่วยขยายขอบเขตการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์ ส่งข้อมูล ไป-กลับ ด้วยระยะทางที่ไกลขึ้นโดนไม่ต้องเชื่อมต่อสายใด ๆ

บทความเกี่ยวกับ Protocol อื่นๆ

ดังนั้นแล้ว LoRaWAN คืออะไร ? มันมีวิธีการทำงานอย่างไร ? มีเซนเซอร์แบบไหนบ้าง,  ข้อดี และข้อเสีย อื่น ๆ อีกมากมาย ลองตามมาค้นหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันว่าเทคโนโลยีนี้เป็นอย่างไร และทำไมมันถึงเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเซนเซอร์ไร้สายที่เชื่อมต่อกันในยุค IoT !

เนื้อหาภายในบทความ

LoRaWAN คืออะไร ? เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังเซนเซอร์ไร้สายขยายขอบเขต IoT
ภาพจาก : https://www.wattsense.com/blog/communication-protocols/what-is-lorawan/#title-advantages-and-disadvantages-of-lorawan

LoRaWAN คืออะไร ? (What is LoRaWAN ?)

LoRaWAN (Low Power Wide Area Network) เป็น โปรโตคอล (Protocol) หรือสถาปัตยกรรมเครือข่ายไร้สาย ที่ถูกออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการสื่อสารระยะไกลสำหรับอุปกรณ์ IoT ด้วยการใช้ LoRa Modulation ซึ่งเป็นเทคนิคการมอดูเลตสัญญาณที่ช่วยให้สามารถส่งข้อมูลได้ไกลถึง 15 กิโลเมตร ใช้พลังงานต่ำมาก ๆ เทียบกับเทคโนโลยีการเชื่อมต่อไร้สายแบบอื่นอย่างเช่น Wi-Fi ที่มีระยะการส่งสัญญาณจำกัด และใช้พลังงานสูงกว่า

LoRaWAN คืออะไร ? เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังเซนเซอร์ไร้สายขยายขอบเขต IoT
ภาพจาก : https://www.thethingsnetwork.org/docs/lorawan/what-is-lorawan/

การใช้ LoRaWAN ทำให้สามารถครอบคลุมพื้นที่กว้างกว่า และเหมาะสมกับพื้นที่ห่างไกล หรือในพื้นที่ที่การติดตั้งเครือข่ายมือถือยังเข้าไม่ถึง ทั้งนี้ LoRaWAN ยังมีข้อได้เปรียบในแง่ของค่าใช้จ่ายในการติดตั้งที่ต่ำกว่าการที่เรามาตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์นั่นเอง

นอกจากนี้ LoRaWAN ยังรองรับฟังก์ชันที่จำเป็นสำหรับการเชื่อมต่อ IoT เช่น การสื่อสารสองทาง (Bi-Directional Communication) ที่ทำให้ข้อมูลสามารถส่ง และรับได้จากอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมทั้ง การเข้ารหัสรักษาความปลอดภัยแบบ End-To-End Encryption เพื่อป้องกันการโจมตีจากภายนอก LoRaWAN ยังสามารถรองรับการติดตามตำแหน่งของอุปกรณ์ได้ (Localization Service) ซึ่งเป็นคุณสมบัติที่สำคัญใน IoT ที่ต้องการการทำงานที่แม่นยำ และเชื่อถือได้

LoRaWAN ทำงานอย่างไร ? (How does LoRaWAN work ?)

LoRaWAN ทำงานโดยการส่งข้อมูลในรูปแบบของแพ็คเกจผ่านคลื่นความถี่วิทยุที่ใช้ร่วมกัน (Shared Radio Frequency) เพื่อให้สามารถสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ในระบบ IoT ได้ ซึ่งในระบบนี้ อุปกรณ์ LoRaWAN จะส่งข้อมูลไปยัง Gateway (เกตเวย์) ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการรับข้อมูลจากอุปกรณ์ต่าง ๆ และส่งข้อมูลนั้นไปยัง เซิร์ฟเวอร์ (Server) ของ LoRaWAN ผ่านการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

LoRaWAN คืออะไร ? เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังเซนเซอร์ไร้สายขยายขอบเขต IoT
ภาพจาก : https://wyldnetworks.com/blog/what-is-a-lorawan-gateway

การส่งข้อมูลในระบบ LoRaWAN ใช้การมอดูเลตสัญญาณแบบ LoRa Modulation ซึ่งเป็นเทคนิคที่ช่วยให้การส่งข้อมูลมีประสิทธิภาพแม้จะอยู่ในระยะทางไกล และใช้พลังงานต่ำมาก โดย LoRa Modulation ทำให้ข้อมูลสามารถถูกแบ่งออกเป็นแพ็กเกจเล็ก ๆ และส่งผ่านคลื่นวิทยุที่มีความยืดหยุ่นสูง สัญญาณนี้จะถูกส่งไปยังเกตเวย์ ซึ่งเกตเวย์จะทำหน้าที่รับข้อมูล และส่งต่อไปยังเซิร์ฟเวอร์

การมอดูเลตแบบ LoRa ใช้เทคนิคที่เรียกว่า Chirp Spread Spectrum (CSS) ซึ่งช่วยให้สัญญาณมีความทนทานต่อสัญญาณรบกวน และสามารถส่งข้อมูลในระยะไกลได้ แม้ว่าจะมีการอุดตันของสัญญาณ หรือในสภาพแวดล้อมที่มีคลื่นรบกวนเยอะ การใช้ CSS ช่วยทำให้ข้อมูลสามารถเดินทางได้ไกลกว่าคลื่นความถี่ทั่วไป และยังทำให้ปลายทางสามารถแยกแยะได้แม้ในสถานการณ์ที่มีการรบกวนสูง

หลังจากที่เกตเวย์รับข้อมูลแล้ว ข้อมูลจะถูกส่งต่อไปยังเซิร์ฟเวอร์ของ LoRaWAN และจากนั้นผู้ใช้งานปลายทางสามารถเข้าถึงข้อมูลนั้นได้ผ่านแอปพลิเคชัน หรือระบบ คลาวด์ (Cloud) ซึ่งจะทำให้การเชื่อมต่อในระบบ IoT มีความสะดวก

องค์ประกอบในระบบ LoRaWAN (Components of the LoRaWAN System)

LoRaWAN Console

Console (หรือ Network Server Console) เป็นระบบคลาวด์ใช้สำหรับจัดการ และควบคุมการทำงานของระบบ LoRaWAN โดยเฉพาะในเรื่องของการตั้งค่าต่าง ๆ จัดการอุปกรณ์ และตรวจสอบสถานะของเครือข่าย Console จะช่วยให้ผู้ดูแลระบบสามารถตรวจสอบความสามารถในการส่ง และรับข้อมูลจากอุปกรณ์ LoRaWAN ต่าง ๆ ได้ รวมไปถึงจัดการอัตราการส่งข้อมูล (Data Rate) และจัดการเซนเซอร์ต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อกับระบบ ช่วยเพิ่มความสะดวกในการปรับแต่ง และควบคุมระบบ

LoRaWAN คืออะไร ? เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังเซนเซอร์ไร้สายขยายขอบเขต IoT
ภาพจาก : https://loraway.eu/

LoRaWAN Gateway

LoRaWAN Gateway คืออุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ในการให้การครอบคลุมเครือข่าย LoRaWAN ซึ่งมีบทบาทคล้ายกับเครือข่ายมือถือ โดยช่วยให้อุปกรณ์ LoRaWAN สามารถสื่อสารกับเซิร์ฟเวอร์ และแอปพลิเคชันของผู้ใช้งานได้ พูดง่าย ๆ Gateway เป็นดังสะพานที่เชื่อมระหว่างโลกแห่งความจริง (Physical World) และโลกดิจิทัล (Virtual World) โดยรับข้อมูลจากอุปกรณ์ LoRaWAN และส่งต่อไปยัง Console ซึ่งจะจัดเก็บข้อมูลนั้น และส่งต่อให้กับแอปพลิเคชันตามความต้องการของผู้ใช้ นอกจากนี้ ยังทำในทิศทางตรงข้าม โดยการรับคำสั่งจากแอปพลิเคชันบนคลาวด์ หรือ Console ส่งไปยังอุปกรณ์ LoRaWAN

LoRaWAN คืออะไร ? เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังเซนเซอร์ไร้สายขยายขอบเขต IoT
ภาพจาก : https://www.hktlora.com/product/lorawan-outdoor-gateway/

อุปกรณ์เซนเซอร์ที่ใช้ LoRaWAN

เซนเซอร์ LoRaWAN คืออุปกรณ์ที่ใช้โปรโตคอล LoRaWAN ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ Gateway และ Network server หรือ Console ในระบบ LoRaWAN เซนเซอร์เหล่านี้มีการใช้งานในหลากหลายงาน IoT เช่น การติดตามทรัพย์สิน (Assets), ตรวจสอบสภาพแวดล้อม หรือเก็บข้อมูลจากพื้นที่ห่างไกล จุดเด่นของเซนเซอร์ LoRaWAN คือการใช้พลังงานต่ำ และสามารถส่งข้อมูลได้ในระยะไกลนั่นเอง

LoRaWAN คืออะไร ? เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังเซนเซอร์ไร้สายขยายขอบเขต IoT
ภาพจาก : https://th.mouser.com/new/seeed-studio/seeed-studio-lht65-sensors/

เซนเซอร์เหล่านี้ยังรองรับการควบคุมอัตราการส่งข้อมูล (Adaptive Data Rate Control) ซึ่งช่วยให้สามารถปรับเปลี่ยนการส่งข้อมูลให้เหมาะสมกับระยะทางได้ ทั้งการส่งข้อมูลในระยะไกล และระยะใกล้ทำให้สามารถใช้ในหลากหลายสภาพแวดล้อม และตอบสนองความต้องการในหลายประเภทของการใช้งาน IoT

ประเภทของอุปกรณ์ต่าง ๆ ในระบบ LoRaWAN (Type of Devices in LoRaWAN System)

ในระบบ LoRaWAN จะมีการแบ่งอุปกรณ์ออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ตามความสามารถในการทำงาน และการใช้พลังงาน ได้แก่ Class A, Class B และ Class C ซึ่งแต่ละประเภทจะมีลักษณะการทำงานที่แตกต่างกันไป เราลองมาดูรายละเอียดของแต่ละประเภทกัน

LoRaWAN คืออะไร ? เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังเซนเซอร์ไร้สายขยายขอบเขต IoT
ภาพจาก : https://www.researchgate.net/publication/351889574/figure/fig1/AS:1027882902093830@1622077789493/Graphical-description-of-the-three-LoRaWAN-classes.ppm

Class A

ประหยัดพลังงานสุด ๆ อุปกรณ์ในกลุ่มนี้ออกแบบมาเพื่อให้ใช้พลังงานอย่างคุ้มค่าที่สุด โดยการทำงานของมันจะเป็นไปตามกำหนดเวลา เปิดใช้งานเฉพาะช่วงที่ส่งข้อมูล และมีเวลาพักระหว่างการส่งข้อมูลเพื่อประหยัดพลังงานได้มากที่สุด ซึ่งอุปกรณ์จะเข้าสู่โหมดนอนหลับ (Sleep Mode) เป็นส่วนใหญ่

การสื่อสารใน Class A ใช้รูปแบบ Aloha-Type ซึ่งให้ความยืดหยุ่นในการส่งข้อมูลจากอุปกรณ์ไปยังเครือข่ายในเวลาที่ไม่ต้องกำหนดล่วงหน้า อุปกรณ์จะเปิดช่องรับข้อมูลเพียงสองครั้ง (Rx1 และ Rx2) หลังจากที่ส่งข้อมูลขึ้นไปเพื่อให้เครือข่ายสามารถส่งข้อมูลลงมาหาอุปกรณ์ได้ เหมาะสำหรับงานที่ต้องการการสื่อสารที่ไม่เร่งด่วน

Class B

Class B คือการพัฒนาเพิ่มเติมจาก Class A โดยอุปกรณ์ในกลุ่มนี้สามารถกำหนดเวลาการรับข้อมูล (Downlink) ที่เฉพาะเจาะจงในช่วงเวลาพิเศษที่เรียกว่า Ping Slots ซึ่งทำให้สามารถส่งคำสั่ง หรือข้อมูลควบคุมจากเครือข่ายไปยังอุปกรณ์ได้โดยไม่ต้องรอให้มีการส่งข้อมูลออกจากอุปกรณ์ก่อน

อย่างไรก็ตาม การทำงานใน Class B จะต้องมีการซิงโครไนซ์เวลาระหว่างอุปกรณ์ และเครือข่ายก่อน เพื่อให้สามารถรับข้อมูลในช่วง Ping Slots ได้ ซึ่งทำให้ Class B มีการหน่วงเวลาที่ต่ำกว่า Class A แต่ยังคงประหยัดพลังงานได้มากกว่า Class C เนื่องจากไม่จำเป็นต้องเปิดรับข้อมูลตลอดเวลา

Class C

Class C คือโหมดการทำงานของอุปกรณ์ที่เปิดช่องรับข้อมูลตลอดเวลา ทำให้สามารถรับข้อมูลจากเกตเวย์ได้เกือบทุกเวลาที่ต้องการ ซึ่งหมายถึงการสื่อสารที่มีความหน่วงต่ำที่สุด (Low Latency) และเหมาะสมสำหรับแอปพลิเคชันที่ต้องการการตอบสนองทันที แต่ข้อเสียของ Class C คือการใช้พลังงานที่สูงกว่าทั้ง Class A และ Class B เนื่องจากต้องเปิดรับข้อมูลตลอดเวลา ซึ่งหมายความว่าอุปกรณ์ในกลุ่มนี้จะต้องใช้พลังงานมากกว่า 

โดยสรุปแล้ว LoRaWAN แต่ละประเภทของอุปกรณ์นั้นจะตอบโจทย์งานที่แตกต่างกัน หากต้องการอุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงาน และสามารถใช้งานได้นาน Class A ก็เป็นตัวเลือกที่ดี แต่ถ้าต้องการลดการหน่วงของเวลา หรือ Latency Class B หรือ Class C ก็จะตอบโจทย์ได้มากขึ้น

ข้อดี และข้อสังเกตุของ LoRaWAN (LoRaWAN Pros and Cons)

ข้อดีของ LoRaWAN

1. ประหยัดพลังงาน

LoRaWAN ใช้เทคนิค Aloha ในการส่งข้อมูล ซึ่งทำให้อุปกรณ์สามารถติดต่อกับเครือข่ายได้เฉพาะเมื่อมีข้อมูลที่จะส่งเท่านั้น โดยไม่ต้องตื่น หรือเปิดระบบขึ้นมาตรวจสอบข้อมูลบ่อย ๆ ซึ่งสิ้นเปลืองพลังงานช่วยยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ให้นานมากยิ่งขึ้น

2. ได้เปรียบด้านเครือข่าย

ต่างจากเครือข่ายที่เป็น Mesh เดิม ๆ ที่ต้องให้แต่ละอุปกรณ์ทำหน้าที่ส่งข้อมูลไปยังอุปกรณ์อื่นต่อ ๆ กัน ซึ่งอาจทำให้ระบบซับซ้อน และลดประสิทธิภาพของเครือข่าย กลับกัน LoRaWAN ใช้สถาปัตยกรรมแบบ Star ที่ช่วยให้การส่งข้อมูลจากอุปกรณ์ไปยังเกตเวย์สามารถทำได้ไกลขึ้น ไม่ต้องใช้พลังงานมาก และยังคงรักษาอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. ข้อมูลปลอดภัย และมีคุณภาพ

ในระบบ LoRaWAN ข้อมูลที่ถูกส่งจากอุปกรณ์จะไม่ไปยังเกตเวย์เพียงตัวเดียว แต่จะถูกส่งไปยังหลาย ๆ เกตเวย์ ซึ่งช่วยยืนยัน และกรองข้อมูลก่อนจะส่งไปยังแอปพลิเคชันที่ใช้งานต่าง ๆ ผ่านเซิร์ฟเวอร์ของเครือข่าย ทำให้ข้อมูลมีความปลอดภัยสูง การจัดการ และตรวจสอบข้อมูลทั้งหมดจะเกิดขึ้นที่เซิร์ฟเวอร์หลักทำให้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

4. มีความปลอดภัย

LoRaWAN ใช้การเข้ารหัสแบบ AES-128 ที่มีความปลอดภัยสูงเพื่อปกป้องข้อมูลจากการดักจับ หรือแทรกแซง ข้อมูลทุกชิ้นจะถูกตรวจสอบความถูกต้องผ่าน Network Session Key และ Application Session Key ก่อนถึงปลายทาง ทำให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลทั้งหมดจะได้รับการรักษาความปลอดภัยอย่างสมบูรณ์

ข้อสังเกตของ LoRaWAN

1. ไม่มีการครอบคลุมที่ทั่วถึง

LoRaWAN ไม่สามารถให้บริการครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ได้เหมือนกับเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ หมายความว่า หากอยากขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมกว้างมากขึ้นก็จะต้องใช้อุปกรณ์ LoRaWAN มากขึ้นให้กระจายทั่วทุกพื้นที่ ซึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายสูงที่ตามมานั่นเอง

2. การจัดการสองทิศทาง

แม้ว่า LoRaWAN จะรองรับการส่งข้อมูลทั้งไป และกลับได้ แต่ก็มีความซับซ้อนในด้านการเขียนโปรแกรม และการตั้งค่าต่าง ๆ โดยเฉพาะเมื่อใช้งานร่วมกับเซนเซอร์ Class A ที่ต้องจัดการกับการเข้ารหัส (Encoding), การประมวลผลข้อมูล (Throughput) และการหน่วงเวลา (Latency) ซึ่งอาจทำให้กระบวนการทั้งหมดยุ่งยาก และต้องใช้เวลาในการปรับแต่งมากนั่นเอง

3. ความเร็วในการส่งข้อมูล

LoRaWAN เหมาะสมที่สุดสำหรับการส่งข้อมูลที่มีขนาดเล็ก และไม่ซับซ้อน แต่เมื่อใช้สำหรับงานที่ต้องการส่งข้อมูลจำนวนมากหรือไฟล์ใหญ่ เช่น วิดีโอ หรือภาพถ่าย ขีดจำกัดในการส่งข้อมูลสูงสุดที่ LoRaWAN รองรับทำให้มันไม่เหมาะสมกับการใช้งานเหล่านี้

4. ปัญหาการหน่วงเวลา (Latency)

หนึ่งในข้อจำกัดที่สำคัญของ LoRaWAN คือ Latency ซึ่งอาจเป็นปัญหาสำหรับงานที่ต้องการการตอบสนองแบบทันที

ทำไม LoRaWAN ถึงน่าใช้งาน มากกว่าเครือข่ายไร้สายชนิดอื่น ๆ ? (Why LoRaWAN is more useful than other types Wireless Network ?)

หากดูอย่างละเอียดแล้ว LoRaWAN นั้นมีข้อได้เปรียบหลายประการเมื่อเทียบกับเทคโนโลยีไร้สายอื่น ๆ อย่าง Wi-Fi, Bluetooth, Zigbee และ Cellular (เครือข่ายมือถือ หรือว่า 4G, 5G ที่เราใช้กัน) โดยเฉพาะในด้านระยะทางการเชื่อมต่อด้วย LoRaWAN สามารถส่งสัญญาณได้ไกลถึงหลายกิโลเมตร และยังทำงานได้ดีในพื้นที่ที่มีสิ่งกีดขวาง ซึ่งแตกต่างจาก WiFi หรือ Zigbee ที่ใช้คลื่นความถี่ 2.4GHz ซึ่งมีระยะสัญญาณที่จำกัด และไม่สามารถทะลุผ่านอุปสรรคได้ดีเท่ากับ LoRaWAN

ข้อมูลเพิ่มเติม : Wi-Fi 2.4 GHz, 5 GHz และ 6 GHz คืออะไร ? แตกต่างกันอย่างไร ? และ เลือกใช้มาตรฐานไหนดี ?

LoRaWAN คืออะไร ? เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังเซนเซอร์ไร้สายขยายขอบเขต IoT
ภาพจาก : https://www.mokolora.com/th/lora-and-wireless-technologies/

นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับเครือข่ายมือถือ ที่จะต้องติดตั้งฐานสถานีหลายจุดเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่กว้างขึ้น LoRaWAN กลับดูเหมาะสมกว่าเพราะไม่ต้องพึ่งพาฐานสถานีจำนวนมาก LoRaWAN ยังมีความปลอดภัยที่ดี มีระบบการเข้ารหัส และจัดการความปลอดภัยที่ง่ายเหมาะสำหรับการเอาไปใช้ในงานที่ไม่ซับซ้อน และอุปกรณ์ทั่วไปเช่น เซนเซอร์ในงาน IoT ซึ่ง LoRaWAN ก็สามารถจัดการผ่านระบบคลาวด์ได้ด้วยเช่นกัน

LoRaWAN คืออะไร ? เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังเซนเซอร์ไร้สายขยายขอบเขต IoT
ภาพจาก : https://pbeaxell.com/about/glossary/what-is-a-cellular-network

สุดท้ายในเรื่องของการใช้พลังงาน อุปกรณ์ที่ใช้ Wi-Fi หรือ Bluetooth ต้องเชื่อมต่อกับฐานสัญญาณตลอดเวลา และใช้พลังงานค่อนข้างสูง ในขณะที่ LoRaWAN อุปกรณ์สามารถเข้าสู่โหมด Deep sleep และจะตื่นขึ้นมาเฉพาะเมื่อมีข้อมูลใหม่ที่ต้องส่ง ช่วยยืดอายุแบตเตอรี่ให้สามารถใช้งานได้ยาวนาน ซึ่งเหมาะสมสำหรับการใช้งานในระยะยาว และในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่ต้องการการเชื่อมต่อที่ถี่เกินไป

การนำ LoRaWAN มาใช้ประโยชน์ (Utilization of LoRaWAN)

เทคโนโลยี LoRaWAN ได้รับความนิยมในหลายอุตสาหกรรมเนื่องจากประโยชน์ด้านงาน Internet of Things (IoT) ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนในหลายด้าน

เกษตรอัจฉริยะ

LoRaWAN ช่วยเกษตรกรในการเพิ่มผลผลิต และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมผ่านเซนเซอร์ที่สามารถตรวจสอบสุขภาพของสัตว์, สภาพดิน และปัจจัยแวดล้อมต่าง ๆ เพื่อการเกษตรที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น

LoRaWAN คืออะไร ? เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังเซนเซอร์ไร้สายขยายขอบเขต IoT
ภาพจาก : https://www.richerlink.com/lora-smart-agriculture-solution/

อุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ

LoRaWAN ช่วยให้การติดตามสุขภาพผู้ป่วย และการจัดการสภาพแวดล้อมในโรงพยาบาลมีความสะดวกยิ่งขึ้น โดยใช้เซนเซอร์ในการติดตามอุณหภูมิของห้อง, ตรวจสอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ และตรวจสอบสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อการรักษาผู้ป่วย นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในการติดตามการเคลื่อนไหวของผู้ป่วย หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ภายในโรงพยาบาลได้

LoRaWAN คืออะไร ? เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังเซนเซอร์ไร้สายขยายขอบเขต IoT
ภาพจาก : https://embeddedcomputing.com/application/healthcare/telehealth-healthcare-iot/how-iot-is-transforming-the-healthcare-industry

การขนส่ง, โรงงานอุตสาหกรรม และโลจิสติกส์

LoRaWAN ช่วยให้การติดตามสินค้าคงคลัง, บำรุงรักษายานพาหนะ และการตรวจสอบสภาพของอุปกรณ์ต่าง ๆ ทำได้ดีขึ้น LoRaWAN สามารถใช้ในการติดตามการใช้พลังงาน , การตรวจสอบการทำงานของเครื่องจักร, และสภาพอากาศในโรงงาน ช่วยให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพ

LoRaWAN คืออะไร ? เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังเซนเซอร์ไร้สายขยายขอบเขต IoT

ภาพจาก : https://www.mokolora.com/smart-supply-chain-and-logistics/

บทสรุปของ LoRaWAN (LoRaWAN Conclusion)

LoRaWAN เป็นเทคโนโลยีเชื่อมต่อไร้สายที่มีข้อดีในการใช้งานระยะไกล และประหยัดพลังงานมากกว่าการเชื่อมต่อไร้สายแบบอื่น ๆ ซึ่งเหมาะกับการใช้งานในเครือข่าย IoT ที่ต้องการการส่งข้อมูลในพื้นที่กว้าง หรือพื้นที่ห่างไกลที่ไม่สามารถใช้เครือข่ายมือถือได้ แม้ว่าจะมีข้อจำกัดในบางเรื่อง เช่น การครอบคลุมพื้นที่ที่ไม่ทั่วถึงเท่าเครือข่ายมือถือ หรือความเร็วในการส่งข้อมูลที่ไม่สูงมาก แต่ในแง่ของการใช้งานที่ต้องการอุปกรณ์ที่ประหยัดพลังงาน และสามารถทำงานได้ในระยะไกลเครือข่ายมือถือเข้าไม่ถึง LoRaWAN  ก็ยังคงเป็นตัวเลือกที่ยอดเยี่ยมสำหรับงาน IoT ที่มีพื้นที่อยู่นั่นเอง


ที่มา : radiobridge.com , tektelic.com , www.wattsense.com

0 LoRaWAN+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B9%82%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%A2%E0%B8%B5%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%8B%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%82%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%95+IoT
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
นักเขียน : Editor    นักเขียน
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น