อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ประเภทต่างๆ อย่างคอมพิวเตอร์ หรือ อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (Storage) ที่เราใช้งานกันอยู่เป็นประจำ ล้วนมีอายุการใช้งานของมันอยู่ ก่อนจะเกิดปัญหา ในบทความนี้เราจะพาไปสังเกต 5 สัญญาณอันตราย ที่บ่งบอกว่าฮาร์ดดิสก์ (Hard Disk) ใกล้เสีย เป็นอย่างไร จะสังเกตได้ด้วยสัญญาณอะไรบ้าง ? ไปดูกัน
เริ่มกันที่สัญญาณแรก สำหรับคนที่ใช้ฮาร์ดดิสก์รูปแบบจานหมุนส่วน (HDD) ใหญ่ ฮาร์ดดิสก์ประเภทนี้ จะมีเสียงอยู่แล้ว แต่ไม่ดังมากเวลาใช้งาน แต่เมื่อใดที่เราได้ยินเสียงดังผิดปกติ เช่น เสียงดังกึกๆ แกร่กๆ วี้ๆๆ เสียงเสียดสีแบบที่ไม่ได้ยินมาก่อน ควรระวังให้ดี เพราะภายในฮาร์ดดิกส์อาจจะได้รับความเสียหาย จากการตก หรือ การกระแทก โดยไม่ทันได้ระวังตัว
ซึ่งช่วงแรกๆ เครื่องอาจจะใช้งานได้ตามปกติ แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะว่าข้อมูลภายในจะพังเมื่อไหร่ เราไม่มีทางรู้ได้ สิ่งที่ทำได้และควรทำทันที คือ สำรองข้อมูลลงในอุปกรณ์แยก เช่นฮาร์ดดิสก์พกพา หรอ ฮาร์ดดิสก์ลูกใหม่ ก่อนจะสายเกินแก้
ส่วนใครที่ใช้ฮาร์ดดิสก์แบบ Solid State Drive (SSD) แน่นอนว่าฮาร์ดดิสก์ประเภทนี้ไม่มีเสียง เพราะชิ้นส่วนภายในนั้นไม่มีวงจรแบบ Mechanic ฉะนั้น เราไม่ควรได้ยินเสียงใดๆ จากการทำงานของฮาร์ดดิสก์ประเภทนี้!
ใช้งานอยู่ จู่ๆ ข้อมูลที่เก็บอยู่ในเครื่อง หรือ โฟลเดอร์ ไฟล์ต่างๆ ก็หายไปแบบไร้ร่องรอย ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ สัญญาณแบบนี้อาจจะเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งบอกว่าอุปกรณ์ของเราใกล้พัง (ถ้าไม่ใช่จากสาเหตุไวรัส)
ซึ่งรูปแบบการทำงานของอุปกรณ์เก็บข้อมูลนั้นจะถูกแบ่งพื้นที่เก็บข้อมูลเป็น Block ย่อยๆ และเป็น Sector ซึ่งถ้าเกิดปัญหาแบบนี้อาจจะแปลว่าพื้นที่การเก็บข้อมูลมี Bad Sector อยู่ ทำให้ข้อมูลหาย หรือ หาข้อมูลไม่เจอได้ เป็นอาการของฮาร์ดดิสก์ที่ใกล้พัง เนื่องจากการเสียหายของพื้นที่เก็บข้อมูล
เมื่อใดที่เราเจออาการข้อมูลหาย ไฟล์เริ่มไม่ครบ ให้เราทำการสำรองข้อมูลโดยด่วน ก่อนที่จะสาย และแนะนำว่าเราควรใช้อุปกรณ์สำรองข้อมูลด้วยฮาร์ดดิสก์ (HDD) ตัวใหม่ หรือฝากไฟล์ผ่านระบบออนไลน์ Cloud Service และไม่ควรใช้ USB Flash Drive ในการสำรองข้อมูลที่สำคัญ เนื่องจากกู้คืนข้อมูลได้ยาก
หากเครื่องของเราใช้เวลานานผิดปกติระหว่างเปิดเครื่องและใช้งาน นั่นอาจจะเป็นสัญญาณเสี่ยง หากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ดังนั้นเราควรดูแลและตรวจสอบฮาร์ดดิสก์และอุปกรณ์ชิ้นส่วนต่างๆ ของเราให้ละเอียดมากขึ้น
ปัญหานี้อาจจะเกิดได้จากหลายๆ สาเหตุ ทั้งเรื่องซอฟต์แวร์ ระบบปฏิบัติการ หรือ ข้อมูลต่างๆ นั้นมีเยอะเกินไป ทำให้เครื่องทำงานช้าได้ แต่ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ ทางที่ดีควรตรวจสอบและ เช็คฮาร์ดดิสก์ด้วยโปรแกรมและวิธีซ่อม Bad Sector บนฮาร์ดดิกส์ ได้ทีนี่ เพื่อให้แน่ใจว่าเครื่องทำงานช้าไม่ได้เกิดจากฮาร์ดดิสก์ของเราเอง
ผู้ใช้งานบางคนอาจจะเคยเจอปัญหานี้มาก่อน เมื่อเปิดเครื่องขึ้นมาก็เจอกับหน้าจอดำ ตามมาด้วยตัวหนังสือ แต่สังเกตคำว่า No bootable device นั่นหมายความว่าคอมพิวเตอร์ของเราหาไดร์ฟสำหรับบูทเครื่องไม่เจอ
ขอบคุณรูปภาพจาก : www.techspot.com
ปัญหานี้อาจจะเกิดได้จากการที่ BIOS อัปเดตใหม่ๆ หรือ มีการตั้งค่าที่ผิดปกติ และที่เราอาจจะคิดไม่ถึงนั่นก็คือ สายฮาร์ดดิสก์หลวม หรือ ฮาร์ดดิสก์มีปัญหา ซึ่งก่อนจะเกิดปัญหานี้ ถ้าเราพบความผิดปกติบางอย่าง เช่น เครื่องคอมฯ ของเราหยุดทำงานไปดื้อๆ แล้วรีสตาร์ทเอง อาจจะเป็นสัญญาณว่าฮาร์ดดิกส์ใกล้ไปสู่สวรรค์
อย่างไรก็ตามควรตรวจสอบให้แน่ชัดว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากสาเหตุอะไร อย่างที่บอกปัญหานี้อาจจะเกิดจากปัญหา BIOS, ติดมัลแวร์ (Malware) หรือ ไวรัส (Virus) ที่ซ่อนบูทของระบบปฏิบัติการ Windows เราก็เป็นได้
ปัญหาที่พบได้บ่อย จอฟ้าแห่งความตาย (Bluescreen of death) นี้เป็นปัญหาที่เกิดจากความผิดปกติของซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ภายในเครื่อง อาจจะเกี่ยวโยงไปถึงปัญหาฮาร์ดดิสก์พังตามที่บอกได้
ขึ้นอยู่กับสาเหตุ Error ที่เจอ ส่วนปัญหา Bluescreen ที่เกี่ยวกับฮาร์ดดิสก์ ยกตัวอย่างเช่นโค้ด “0x00000024” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “NTFS_FILE_SYSTEM” นั้นเป็นผลมาจากไฟล์ข้อมูลบนฮาร์ดิสก์มีความเสียหาย ทำให้เครื่องเกิดอาการแฮงค์ เมื่อเปิดเครื่องมาอีกครั้งควรใช้หน้าต่าง cmd และพิมพ์คำสั่ง chkdsk เพื่อตรวจเช็คอาการ เบื้องต้นดู
และ 5 สัญญาณเหล่านี้ ก็เป็นสัญญาณเตือนที่อาจจะบอกว่าฮาร์ดดิสก์ของคุณใกล้พัง หรือ ใกล้เสีย ก่อนที่จะเกิดปัญหาร้ายแรงตามมาเช่น เปิดเครื่องไม่ติด เข้าถึงข้อมูลไม่ได้ ซึ่งอันดับแรก สิ่งที่ควรทำ คือ การสำรองข้อมูล และ จากนั้นตรวจสอบปัญหาให้แน่ใจ เช่นตรวจเจอ Bad Sector จะได้ซ่อมเปลี่ยนฮาร์ดดิกส์ตัวใหม่ได้ทันเวลาก่อนที่จะไม่มีวันได้ข้อมูลกลับมาอีกเลย เพราะฉะนั้น อย่าลืมสัญญาณเหล่านี้นะครับ ด้วยความหวังดี
|
It was just an ordinary day. |