แม้ว่าเว็บไซต์ (Website) จะมีการพัฒนาคุณสมบัติของตัวมันเองมาต่อเนื่องนานหลายปี แต่มันก็ยังมีข้อจำกัดจากโครงสร้างที่ทำให้การพัฒนาของมันมีข้อจำกัดอยู่ จากเหตุผลดังกล่าว ทำให้หลายคนเชื่อว่า การมาของ Web 3.0 จะทำให้ประสบการณ์ในการใช้งานเว็บไซต์ถูกยกระดับไปอีกขึ้น
คำถามที่หลายคนน่าจะมีอยู่ในหัวกันตอนนี้ คือ Web 3.0 คืออะไร ? เรามาค้นหาคำตอบกันเลย ...
ระหว่างปี ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) จนถึงช่วงปีต้นปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) เว็บไซต์จะเป็นการให้บริการแบบ Passive คือ มีเนื้อหาตายตัว ผู้ใช้สามารถเข้าเว็บไซต์เพื่ออ่านเนื้อหาได้เพียงอย่างเดียว การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเว็บไซต์ กับผู้ใช้เป็นไปอย่างจำกัด
จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2542) ที่เทคโนโลยีเริ่มเข้าที่เข้าทาง ความเร็วอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้น ทำให้การผลัดเปลี่ยนจาก Web 1.0 ไปยัง Web 2.0 เกิดขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว
ในยุคของ Web 2.0 ผู้ใช้สามารถปฏิสัมพันธ์กับเว็บไซต์ได้อย่างอิสระ ผู้ใช้สามารถสร้างเนื้อหาบนเว็บไซต์ได้เอง มีบริการโซเชียลมีเดีย อย่างเช่น MySpace และ Facebook เกิดขึ้น ผู้ใช้สามารถสร้างเนื้อหาได้หลากหลายรูปแบบเพื่อเผยแพร่บนเว็บไซต์ องค์ประกอบสำคัญของ Web 2.0 ที่ปรากฏอย่างชัดเจน ก็คือ สมาร์ทโฟน, โซเชียลเน็ตเวิร์ค และคลาวด์
และตอนนี้ก็ได้เวลาของ Web 3.0 แล้ว มีการนิยามยุคสมัยของเว็บไซต์ที่เข้าใจได้ง่ายๆ เอาไว้ว่า
ภาพจาก https://medium.com/theta-network/theta-network-and-the-web-3-0-revolution-in-edge-networking-6c8a4f955237
Tim Berners-Lee ผู้ที่คิดค้น World Wide Web ขึ้นมา ได้นิยาม Web 3.0 เอาไว้ว่ามันคือเว็บไซต์ที่สามารถทำงานได้แบบ "Read-Write-Execute" ขีดจำกัดของผู้ใช้งานไม่ได้จบที่การสร้างเนื้อหาอีกต่อไป แต่เว็บไซต์จะต้องสามารถรองรับการสร้างเครื่องมือ หรือซอฟต์แวร์ของตัวเองขึ้นมาใช้งานได้
ในตอนนี้ Web 3.0 ก็เสมือนเป็นเด็กที่เพิ่งหัดเดินเท่านั้น ต้องรอจนกว่าระบบจะเปิดกว้าง มีเครือข่ายที่สามารถเข้าถึงการใช้งานได้โดยไม่ต้องขออนุญาต มันจำเป็นต้องอาศัยองค์ประกอบหลายอย่าง ถึงจะเกิดขึ้นได้ ทั้ง
Semantic Web เป็นแนวคิดที่ถูกนำเสนอตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) โดยสมาชิก World Wide Web Consortium (องค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเว็บ) จุดมุ่งหมายคือการให้ "ความหมาย" กับ "คำ" เพื่อให้เนื้อหาที่ปรากฏบนเว็บไซต์ เป็นคำที่เครื่องจักรกลสามารถอ่านแล้วเข้าใจได้ ซึ่งหากทำได้สำเร็จ สิ่งนี้จะทำให้โปรแกรมต่าง ๆ สามารถเชื่อมต่อ, แบ่งปัน และสร้างเนื้อหาบนเว็บไซต์เป็นไปอย่างง่ายดาย
ซึ่งหากมี Semantic Web โปรแกรมจะสามารถจัดการกับข้อมูลขนาดใหญ่ได้ดีกว่าเดิม เพื่อทำงานต่าง ๆ ได้อย่างชาญฉลาดกว่าปัจจุบันนี้
ตัวอย่างง่ายๆ ทุกวันนี้เนื้อหาในปัจจุบันจำนวนมากยังไม่ได้ถูกให้ "ความหมาย" คอมพิวเตอร์ยังไม่เข้าใจความหมายของคำที่เราสั่งมัน ทำให้ระบบค้นหาเว็บไซต์ (Search engines) ยังคงทำงานโดยใช้การอ้างอิงจาก "คีย์เวิร์ด" เป็นหลัก ซึ่งหากคอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจความหมายของคำที่เราใช้ค้นหา ผลลัพธ์ที่ได้จะมีแม่นยำ และมีประโยชน์ต่อผู้ใช้มากขึ้น ลองสมมติว่า คุณค้นหาใน Google ว่า "วันเสาร์อยากตัดผมแถวสยามร้านไหนเปิดบ้าง" คุณจะไม่ได้คำตอบที่ต้องการหรอก เพราะมันไม่เข้าใจสิ่งที่คุณค้นหายังไงล่ะ มันทำได้แค่แสดงผลลัพธ์จากคีย์เวิร์ด "ร้าน", "ตัดผม" และ "สยาม" เท่านั้นเอง
การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) จะสามารถเข้ามาช่วยให้เครื่องมือค้นหา (Search Engine) ได้เข้าใจถึงบริบทของคำที่คุณใช้ค้นหาได้มากขึ้น และหากอ้างอิงกับข้อมูลของผู้ใช้งานด้วย ผลลัพธ์ที่ได้จะทำให้ผู้ใช้เหมือนมีเลขานุการส่วนตัวคอยช่วยเหลือเลยล่ะ
ด้วยความที่ Web 3.0 ยังไม่มีความเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน การจะอธิบายว่ามันต้องใช้เทคโนโลยีอะไรบ้างในตอนนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่มีสิ่งหนึ่งที่ชัดเจนแล้วแน่นอน คือ มันเป็นการรวมข้อมูลทุกอย่างบนโลกอินเทอร์เน็ตเข้าไว้ด้วยกัน และทำงานได้อย่างชาญฉลาด
มันจะกลายเป็นเครือข่ายขนาดยักษ์ที่เชื่อมต่อผู้คน, ข้อมูล, แอปพลิเคชัน และแนวคิด เอาไว้ในที่เดียว อย่างไรก็ตาม เมื่อทุกอย่างเชื่อมต่อถึงกันหมด ทำให้เรื่องการรักษาความปลอดภัย และความเป็นส่วนตัว เพิ่มความเสี่ยงขึ้นมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง
ซึ่งเทคโนโลยีที่สามารถแก้ปัญหานั้นให้เราได้ก็คือ "บล็อกเชน (Blockchain)" นั่นเอง ด้วยการนำเทคโนโลยี Decentralized apps (DApps) เข้ามาช่วยเหลือในการเชื่อมต่อ โดย DApps เป็นแอปพลิเคชันที่ไม่มีเซิร์ฟเวอร์กลางในการประมวลผล ทำงานอยู่บนเครือข่าย Blockchain ไม่ถูกปิดกั้นจากผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่ง
ภาพจาก https://www.freepik.com/free-vector/characters-people-holding-blockchain-network_3107652.htm
ตัวอย่างเช่น สมมติว่า ผมเป็นเจ้าของรถยนต์คันหนึ่ง ตั้งชื่อให้มันว่า "แมกนั่มเซเบอร์" ผมสามารถลงทะเบียนชื่อรถคันนี้ลงไปในแอปพลิเคชัน แล้วผมสามารถส่งข้อมูลรถที่ผมมีให้กับแอปพลิเคชันขายประกันรถยนต์อีกรายได้โดยตรง และข้อมูลนี้เมื่อนำไปเชื่อมต่อกับ Web 3.0 มันก็สามารถแสดงรายชื่อผู้ให้บริการประกันในพื้นที่ที่เจ้าของรถอาศัยอยู่ เพื่อนำเสนอตัวเลือกที่ดีที่สุดให้
ทุกวันนี้เว็บไซต์ที่มีอยู่ก็ทำงานได้ดีเยี่ยมอยู่แล้ว มันมีบริการมากมายที่ช่วยให้ชีวิตของเราสะดวกสบายขึ้น เราสามารถซื้อของออนไลน์, ทำธุรกรรมทางการเงิน, เล่นเกม, ดูหนัง, ฟังเพลง, ฯลฯ ผ่านเว็บไซต์ได้
แม้จะเป็นอย่างนั้น แต่มันยังมีความท้าทายอีกมากที่ Web 3.0 สามารถทำสิ่งเดิมๆ ที่เราทำอยู่แล้ว ให้ดีขึ้นได้ การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างเว็บไซต์แบบไร้รอยต่อ จำเป็นต้องมีโครงสร้างใหม่ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา รวมไปถึงอุปกรณ์ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์, สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ต ก็ต้องมีการปรับปรุงให้รองรับกับการเชื่อมต่อที่มีการรับส่งข้อมูลจำนวนมากที่เกิดขึ้น
แต่ถ้าถามถึงสิ่งที่มีความใกล้เคียงกับ Web 3.0 เลยก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีนะ และบางคนก็อาจจะใช้งานมันอยู่ด้วยซ้ำไป นั่นก็คือ สกุลเงินดิจิทัล หรือ เงินตราเข้ารหัสลับ (Cryptocurrency) พวกเหรียญดิจิทัลต่างๆ ที่ทำงานอยู่บน Blockchain ระบบเงินตราแบบใหม่ที่ผู้ใช้สามารถควบคุมข้อมูลการใช้งานได้ด้วยตนเอง โดยไม่มีใครเป็นคนกลาง นั่นเอง
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |