ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

อัลฟา (Alpha), เบตา (Beta), เดลตา (Delta), แลมบ์ดา (Lambda) คืออะไร ? ถูกใช้ในวงการไหนบ้าง ?

อัลฟา (Alpha), เบตา (Beta), เดลตา (Delta), แลมบ์ดา (Lambda) คืออะไร ? ถูกใช้ในวงการไหนบ้าง ?
ภาพจาก : http://www.freepik.com
เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 101,323
เขียนโดย :
0 %E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%A5%E0%B8%9F%E0%B8%B2+%28Alpha%29%2C+%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%95%E0%B8%B2+%28Beta%29%2C+%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%95%E0%B8%B2+%28Delta%29%2C+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%A1%E0%B8%9A%E0%B9%8C%E0%B8%94%E0%B8%B2+%28Lambda%29+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87+%3F
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

อัลฟา (Alpha), เบตา (Beta), เดลตา (Delta), แลมบ์ดา (Lambda) คืออะไร ? ถูกใช้ในวงการไหนบ้าง ?

เดิมที คำทั้ง 4 คำทั้ง อัลฟา (Alpha), เบตา (Beta), เดลตา (Delta), และ แลมบ์ดา (Lambda) คาดว่าน่าจะเคยผ่านตากันมาบ้างในการเรียนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ทั้งในระดับโรงเรียน และระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งสำหรับคนทั่วไปแล้ว สิ่งที่ทำให้เราเจอคำเหล่านี้ได้มากที่สุดในปัจจุบันคือการเป็นชื่อเรียกสายพันธุ์ต่าง ๆ ของไวรัส COVID-19 ที่มีการกลายพันธุ์ไปจนถึงชื่อสายพันธุ์ที่เรียกว่า สายพันธุ์แลมบ์ดาแล้ว ซึ่งชื่อสายพันธุ์ทั้งหลายนั้นมีที่มาอย่างไร มีใช้ในวงการไหน แบบใดบ้าง ไปอ่านกันต่อได้เลย ...

เนื้อหาภายในบทความ

อัลฟา (Alpha), เบตา (Beta), เดลตา (Delta), และ แลมบ์ดา (Lambda) คืออะไร ?

สำหรับใครที่ไม่รู้จักคำว่า อัลฟา (Alpha), เบตา (Beta), เดลตา (Delta), และ แลมบ์ดา (Lambda) จริง ๆ แล้ว ทั้ง 4 ชื่อนี้ ไม่ใช่คำที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นมาใช้กันเอง หรือเป็นศัพท์เฉพาะทางแต่อย่างใด แต่คำเหล่านี้คือหนึ่งในอักษรกรีก ที่มีการนำมาใช้ในรูปแบบต่าง ๆ มาอย่างยาวนาน ทั้งการเป็นตัวอ่านของภาษาอังกฤษ (ถ้าใครเปิดดิกชันนารีจะเห็นบ่อย), การเป็นตัวแปรแทนค่าในทางคณิตศาสตร์ เช่น πr(พายอาร์กำลังสอง), หรือทางวิทยาศาสตร์ เช่น รังสีแกมมา รังสีที่เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น

สูตรการหาพื้นที่วงกลม
ภาพจาก : https://trigidentities.info/area-of-a-circle/

และเมื่อมันเป็นอักษรกรีก นั่นก็หมายความว่า สิ่งที่เราพูดถึงไปทั้งหมดนั้น มีสัญลักษณ์ หรือตัวอักษรสำหรับแทนค่าในด้านนั้น ๆ โดยตรง ซึ่งที่มาของการนำมาใช้ มาจากไหน มีตัวอักษรใดบ้าง เราจะไปพูดถึงประวัติความเป็นมาของตัวอักษรกรีกในหัวข้อถัดไปกัน

ประวัติความเป็นมาของ ตัวอักษรกรีก (Greek Alphabet History)

ประวัติความเป็นมาของตัวอักษรกรีก แน่นอนว่ามีต้นกำเนิดจากประเทศกรีก โดยมีพัฒนาการมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ยุคคลาสสิก ประมาณ 357 ปีก่อนพุทธศักราช นับได้ว่าเป็นแบบตัวอักษรที่เก่าแก่มากที่แบบหนึ่งที่ยังคงใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งตัวอักษรดังกล่าว ถูกนำมาใช้เขียนแทนจำนวนด้วย เฉกเช่นเดียวกับเลขโรมันที่ใช้ตัวอักษรในการบอกค่า เช่น I = 1, V = 5, X = 10, XIV = 14 เป็นต้น

ตัวอักษรกรีกที่มีทั้งหมด

ตัวอักษรกรีก มีทั้งหมด 24 ตัว มีทั้งตัวใหญ่และตัวเล็กเหมือนภาษาอังกฤษ ประกอบไปด้วย

  1. Α และ α
  2. Β และ β
  3. Γ และ γ
  4. Δ และ δ
  5. Ε และ ε
  6. Ζ และ ζ
  7. Η และ η
  8. Θ และ θ
  9. Ι และ ι
  10. Κ และ κ
  11. Λ และ λ
  12. Μ และ μ
  13. Ν และ ν
  14. Ξ และ ξ
  15. Ο และ ο
  16. Π และ π
  17. Ρ และ ρ
  18. Σ และ σ/ς
  19. Τ และ τ
  20. Υ และ υ
  21. Φ และ φ
  22. Χ และ χ
  23. Ψ และ ψ
  24. Ω และ ω

ชื่อตัวอักษรกรีกและการอ่านในภาษาอังกฤษ

ชื่อตัวอักษรกรีกและการอ่านในภาษาอังกฤษ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เราสามารถสื่อสารตรงกันในสากลโลก ไม่ว่าจะอยู่วงการใดที่ใช้งานตัวอักษรเหล่านี้ก็ตาม ซึ่งแต่ละตัวอักษร มีชื่อในการอ่านที่ต่างกันดังนี้

ตัวอักษร เสียงอ่านอังกฤษ เสียงอ่านไทย
Αα Alpha อัลฟา, แอลฟา
Ββ Beta เบตา, บีตา
Γγ Gamma แกมมา
Δδ Delta เดลตา
Εε Epsilon เอปซิลอน, เอปไซลอน
Ζζ Zeta เซตา, ซีตา
Ηη Eta เอตา, อีตา
Θθ Theta เธตา, ทีตา, ธีตา
Ιι Iota ไอโอตา
Κκ Kappa แคปปา
Λλ Lambda แลมบ์ดา
Μμ Mu มิว
Νν Nu นิว
Ξξ Xi ไซ, คไซ
Οο Omicron โอไมครอน, โอมิครอน
Ππ Pi พาย
Ρρ Rho โร
Σσς Siɡma ซิกมา
Ττ Tau เทา, ทาว
Υυ Upsilon อุปซิลอน, อิปไซลอน
Φφ Phi ฟาย, ไฟ, ฟี
Χχ Chi ไค
Ψψ Psi ซี, พไซ
Ωω Omega โอเมกา

วงการที่นำ ตัวอักษรกรีก มาใช้งาน (Greek Alphabet Industry Usages)

วงการอื่น ๆ ที่นำตัวอักษรกรีกมาใช้งาน นั้น ไม่เพียงแต่จะมีแค่ในแวดวงคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังมีการนำไปใช้ในทางดาราศาสตร์ และ ภาษาศาสตร์ อีกด้วย ซึ่งการที่ตัวอักษรกรีก ถูกนำมาใช้ในสาขาต่าง ๆ หลากหลายแขนง มีความเป็นไปได้ในการนำตัวอักษรกรีกมาประยุกต์ใช้อย่างมากมาย

ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของการที่ชาวโรมันและละตินได้รับอิทธิพลอย่างมากจากวัฒนธรรมกรีก ที่มีวิทยาการต่าง ๆ ที่ก้าวล้ำมากกว่าชนชาติอื่น ๆ ในขณะนั้น ทั้งทางด้านปรัชญา, จิตวิทยา, คณิตศาสตร์, เรขาคณิต, ดาราศาสตร์, เภสัชศาสตร์, ศิลปศาสตร์, วิศวกรรม, และทฤษฎีการเมืองการปกครอง ทำให้ตัวอักษรกรีก ถูกแฝงมากับสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ที่ได้รับมาด้วย ซึ่งบางอย่างในนี้ เช่น เภสัชศาสตร์ ที่ถึงแม้ชื่อยาจะไม่ใช่ภาษากรีก แต่การปรุงยานั้นมาจากกรีกนะ

คณิตศาสตร์ (Mathematics)

ใน วงการคณิตศาสตร์ ผู้เขียนเชื่อว่าตัวแรกที่ทุกคนคุ้นตาแน่นอนคือ π หรือ พาย ที่อยู่ในสูตรการหาค่าต่าง ๆ เกี่ยวกับวงกลม โดยนิยมเรียกว่า ค่าพาย ซึ่งนับว่าเป็นค่าคงที่ค่าหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการคำนวณค่าทางคณิตศาสตร์ ตามนิยามของมันแล้ว ค่าพาย คืออัตราส่วนของความยาวของเส้นรอบวงต่อความยาวของเส้นผ่านศูนย์กลางของวงกลม

ค่าโดยประมาณของ π
ค่าโดยประมาณของ π
ภาพจาก : aitoff/Pixabay

ส่วนตัวอย่างอักษรกรีกอีกตัวหนึ่งที่ผู้ใช้งาน Microsoft Office รู้จักกันเป็นอย่างดีแน่นอน โดยเฉพาะใน Microsoft Excel นั่นก็คือ Σ (Sigma) เพราะมันคือสัญลักษณ์ที่หมายถึงจำนวนผลบวกรวมทั้งหมด ในเวลาที่เราต้องการกดสูตรภายในตาราง โดยให้โปรแกรมจัดการบวกรวมผลลัพธ์ให้ไปอยู่ในช่องเซลล์ (Cell) ที่ต้องการโดยอัตโนมัติ แค่กดปุ่มนี้ปั๊บ ก็จะได้ผลรวมปุ๊บ

สัญลักษณ์ Sigma ใน Excel

วิทยาศาสตร์ (Science)

ใน สาขาวิทยาศาสตร์ ผู้เขียนเชื่อว่าผู้ที่ทำงานในแวดวงนี้ ย่อมเจอกับตัวอักษรกรีกในรูปแบบที่หลากหลายมากแน่นอน แต่ในที่นี้ เราจะขอหยิบยกเพียงแค่บางส่วนที่คนทั่วไปผ่านตา หรือรู้จักกันดีเพื่อทำความรู้จักกับมัน หนึ่งในนั้นคือสายพันธุ์ของไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก ซึ่งได้มีการกลายพันธุ์ไปจนถึง สายพันธุ์แลมบ์ดา

สายพันธุ์ต่าง ๆ ของเชื้อไวรัสโควิด-19

ชื่อสายพันธุ์ต่าง ๆ ของเชื้อไวรัสโควิด-19 ถูกตั้งขึ้นโดยองค์การอนามัยโลกหรือ (WHO) โดยถูกจำแนกไว้หลัก ๆ เป็น 2 กุล่มคือ เชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of Concern หรือ VOC) และ เชื้อกลายพันธุ์ที่น่าสนใจ (Variants of Interest หรือ VOI)

สายพันธุ์ไวรัสโควิด-19
ภาพจาก : https://www.who.int/en/activities/tracking-SARS-CoV-2-variants/

1. เชื้อกลายพันธุ์ที่น่ากังวล

เชื้อกลายพันธุ์ของไวรัสที่น่ากังวล คือเชื้อที่มีการกลายพันธุ์ในระดับที่มีนัยสำคัญต่อสาธารณสุขโลก เช่น แพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น หรือทำให้วัคซีนมีประสิทธิภาพลดลง โดยมีชื่อตามอักษรกรีกดังนี้

  • Alpha (อัลฟา) : ใช้เรียกสายพันธุ์ B.1.1.7 ที่ตรวจพบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร
  • Beta (เบตา) : ใช้เรียกสายพันธุ์ B.1.351 ที่ตรวจพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้
  • Gamma (แกมมา) : ใช้เรียกสายพันธุ์ P.1 ที่ตรวจพบครั้งแรกในบราซิล
  • Delta (เดลตา) : ใช้เรียกสายพันธุ์ B.1.617.2 ที่ตรวจพบครั้งแรกในอินเดีย

2. เชื้อกลายพันธุ์ที่น่าสนใจ

เชื้อกลายพันธุ์ที่น่าสนใจ หรือควรเฝ้าจับตามองไว้ มีชื่อตามอักษรกรีกดังนี้

  • Epsilon (เอปไซลอน) : ใช้เรียกสายพันธุ์ B.1.427/B.1.429 ที่ตรวจพบครั้งแรกในสหรัฐฯ
  • Zeta (ซีตา) : ใช้เรียกสายพันธุ์ P.2 ที่ตรวจพบครั้งแรกในบราซิล
  • Theta (ธีตา) : ใช้เรียกสายพันธุ์ P.3 ที่ตรวจพบครั้งแรกในฟิลิปปินส์
  • Eta (อีตา) : ใช้เรียกสายพันธุ์ B.1.525 ที่ตรวจพบครั้งแรกในหลายประเทศ
  • Iota (ไอโอตา) : ใช้เรียกสายพันธุ์ B.1.526 ที่ตรวจพบครั้งแรกในสหรัฐฯ
  • Kappa (แคปปา) : ใช้เรียกสายพันธุ์ B.1.617.1 ที่ตรวจพบครั้งแรกในอินเดีย
  • Lambda (แลมบ์ดา) : ใช้เรียกสายพันธุ์ C.37 ที่ตรวจพบครั้งแรกในเปรู

หมายเหตุ : อ้างอิงจากเว็บไซต์ขององค์การอนามัยโลกเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 (ค.ศ. 2021)

ชนิดของรังสี

ชนิดของรังสี เป็นอีกหนึ่งหัวข้อย่อยในวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบกันอยู่บ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็น ชื่อรังสีอัลฟา, รังสีเบตา, รังสีแกมมา, รังสีเดลตา, ฯลฯ ซึ่งรังสีที่มีชื่อเรียงกันนี้ ไม่ได้หมายความว่ามันถูกค้นพบในเวลาไล่เลี่ยกันแต่อย่างใด ทว่า มันถูกแยกประเภทไว้อย่างชัดเจนโดยเหล่านักวิทยาศาสตร์แล้ว โดยสามารถแบ่งได้ตามลักษณะของรังสี และแบ่งได้ตามปฏิกิริยาที่รังสีมีต่ออะตอมของตัวกลางที่วิ่งผ่าน

อัลฟา (Alpha), เบตา (Beta), เดลตา (Delta), แลมบ์ดา (Lambda) คืออะไร ? ถูกใช้ในวงการไหนบ้าง ?
ภาพจาก : https://radioactivityci2016.pbworks.com/w/page/105285912/alpha

1. แบ่งตามลักษณะของรังสี

  • รังสีที่เป็นอนุภาค
    เช่น รังสีแอลฟา รังสีเบตา รังสีนิวตรอน รังสีคอสมิก
  • รังสีที่เป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
    เช่น คลื่นวิทยุ แสงสว่าง รังสีอัลตราไวโอเลต รังสีความร้อน รังสีเอกซ์ รังสีแกมมา

2. แบ่งตามปฏิกิริยาที่รังสีมีต่ออะตอมของตัวกลางที่วิ่งผ่าน

การแบ่งตามปฏิกิริยาที่รังสีมีต่ออะตอมของตัวกลางที่วิ่งผ่าน สามารถแย่งออกได้อีก 2 แบบคือ รังสีชนิดก่อไอออน และ รังสีชนิดไม่ก่อไอออน

  • Ionizing Radiation (รังสีชนิดก่อไอออน) คือ รังสีที่มีพลังงานสูง ที่สามารถทำให้อะตอมของตัวกลางที่รังสีนั้นวิ่งผ่าน เกิดการแตกตัวเป็นไอออนได้ทั้งโดยทางตรงหรือทางอ้อม เช่น รังสีอัลฟา รังสีเบตา รังสีเอกซ์ รังสีแกมมา รังสีนิวตรอน
  • Non-ionizing Radiation (รังสีชนิดไม่ก่อไอออน) คือ รังสีที่ไม่สามารถก่อให้เกิดการแตกตัวเป็นไอออน ในอะตอมของตัวกลางที่รังสีนั้นวิ่งผ่าน เพียงแต่จะทำให้อิเล็กตรอนเขยิบตัวสูงขึ้นจากวงโคจรนั้น แล้วตกลงสู่วงโคจรเดิมอีก รังสีพวกนี้เป็นรังสีที่มีพลังงานไม่สูงมากนัก เช่น รังสีความร้อน ไมโครเวฟ เลเซอร์ รังสีอัลตราไวโอเลต คลื่นวิทยุ

ดาราศาสตร์ (Astronomy)

สำหรับอักษรกรีกใน แขนงดาราศาสตร์ น่าจะเป็นสิ่งที่หลายคน (รวมถึงผู้เขียนเมื่อแรกค้นคว้า) คาดไม่ถึงว่าจะถูกนำมาใช้ในแขนงนี้ด้วย โดยอักษรกรีก ถูกนำมาใช้ในสิ่งต่าง ๆ หลายอย่าง ตั้งแต่การถูกเรียกแทนชื่อดวงดาวที่สว่างที่สุดในจักรวาล ไปจนถึงการใช้แทนค่าคงที่จักรวาล

อัลฟา (Alpha), เบตา (Beta), เดลตา (Delta), แลมบ์ดา (Lambda) คืออะไร ? ถูกใช้ในวงการไหนบ้าง ?
ภาพจาก : https://ecuip.lib.uchicago.edu/multiwavelength-astronomy/gamma-ray/impact/02.html

ตัวอักษรกรีกที่มักจะได้เห็นการนำมาใช้ในสาขาดาราศาสตร์ ได้แก่

  1. Alpha (α) : ถูกใช้เป็นชื่อของดาวที่สว่างที่สุดในกลุ่มดาวนั้น ๆ โดยไม่นิยมใช้ตัวพิมพ์ใหญ่กันเนื่องจากมีความคล้ายกันกับตัว A ในภาษาอังกฤษ
  2. Delta (δ) : ถูกใช้ในการแทนค่าระยะเชิงมุมของจุดเหนือหรือใต้ของเส้นศูนย์สูตร
  3. Lambda (Λ) : ถูกใช้ในการแทนค่าคงที่ของจักรวาล

ภาษาศาสตร์ (Linguistic)

ในทาง ภาษาศาสตร์ อักษรกรีกเป็นต้นแบบของภาษาหลายภาษาในเวลาต่อมา เช่น ภาษาอาหรับ, ภาษาเติร์ก, ภาษาอัลบาเนียน, ภาษาละติน, ฯลฯ รวมไปถึงภาษาอังกฤษที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันด้วย ดังจะเห็นได้ว่า ตัวอักษรหลายตัวที่พูดถึงไปด้านบนนั้น มีลักษณะคล้ายคลึงกับตัวอักษรภาษาอังกฤษในปัจจุบัน นั่นก็เพราะว่ามันมีรากฐานมาจากตัวอักษรกรีกนั่นเอง

แม้ภาษาอังกฤษ จะเป็นภาษาอันดับ 1 ที่นิยมใช้กันทั่วโลก แต่คำศัพท์ภาษาอังกฤษหลายคำ ถึงจะสะกดคล้ายกัน แต่กลับมีการอ่านออกเสียงที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น เมื่อมีการจัดทำพจนานุกรมขึ้น จึงมีการเขียนกำกับการออกเสียงไว้เพื่อเป็นมาตรฐานในการอ่าน ด้วยการใช้ตัวอักษรกรีกเป็นตัวระบุเสียงในการอ่าน เพื่อความเข้าใจที่ตรงกันของผู้คนทั่วโลกที่ใช้ภาษานี้

การใช้อักษรกรีกทางภาษาศาสตร์
ภาพจาก : https://journals.openedition.org/lexis/771

จากรูปตัวอย่างด้านบนเราจะเห็นได้ว่า Canonical ดูเผิน ๆ จะอ่านได้หลายเสียงมาก ทั้ง แคนโนนิคอล แคนโนไนคอล, แคนโนนิเคิล, เคินโนนิเคิล, แคโนนิคัล, ฯลฯ ซึ่งเสียงอ่านที่ถูกต้อง คือ เคินโนนิเคิล (ใกล้เคียงที่สุดที่เสียงไทยจะเอื้ออำนวย) โดยจะเห็นว่าตัวอักษรกรีกสองตัวอยู่ในเสียงอ่าน คือ υ (Upsilon) และ ι (Iota) ที่เอาไว้กำกับเสียงให้สามารถอ่านได้อย่างถูกต้อง

ซอฟต์แวร์ (Software)

รู้หรือไม่ว่า ในวงการ การผลิตซอฟต์แวร์ และในกระบวนการพัฒนาขึ้นมา มีการใช้ตัวอักษรกรีกแอบแฝงอยู่ด้วย ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว คนที่เคยเห็นผ่านตามักจะเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องทางด้านของการพัฒนา และบรรดาผู้ที่ชื่นชอบเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ รวมไปถึงเหล่าเกมเมอร์ด้วย ซึ่งตัวอักษรกรีกที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายจนติดปาก ก็คือ อัลฟา และ เบตา นั่นเอง โดยสองคำนี้ มี IBM เป็นผู้ริเริ่มใช้งานในวงการซอฟต์แวร์ นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 (พ.ศ. 2493) (หรืออาจจะก่อนหน้านั้น)

IBM ผู้ริเริ่มใช้คำว่า Alpha และ Beta ในวงการซอฟต์แวร์
ภาพจาก : https://currency.com/ibm-definition

1. Alpha (Test)

คำว่า อัลฟา ถูกใช้แทนลำดับการพัฒนา เสมือนว่าเป็นช่วงริเริ่มทดลอง หรือเป็นตัวแรกที่เปิดให้ทดสอบกัน โดยจะมีใช้ในสองเฟสแรกของการพัฒนา ที่เรียกว่า Pre-Alpha และ Alpha

  • Pre-Alpha หมายถึง การกระทำทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับโปรเจกต์ซอฟต์แวร์นั้น ๆ ก่อนเริ่มทดสอบอย่างเป็นทางการ โดยหมายรวมถึง การวิเคราะห์ความต้องการในโปรเจกต์นั้น, การออกแบบซอฟต์แวร์, ขั้นตอนการพัฒนา, และการทดสอบแต่ละยูนิตของซอร์สโค้ดด้วย
  • Alpha หมายถึง เฟสแรกของการทดสอบซอฟต์แวร์ ซึ่งในเฟสนี้ โดยทั่วไปแล้ว จะได้รับการทดสอบทั้งจากทีมพัฒนาดั้งเดิม และทีมพัฒนาอีกทีมที่อยู่ภายในองค์กร / บริษัทเดียวกัน ในเฟสอัลฟานี้ อาจไม่ได้มีฟีเจอร์ที่ครบถ้วนตามแผนงานที่วางไว้ก็ได้ โดยเรามักจะพบข้อผิดพลาดร้ายแรง (Serious Errors) ได้ในเฟสนี้ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ

Real Yulgang Mobile เปิด Alpha Test แล้ววันนี้
ภาพจาก : https://realyulgang.playpark.com/th-th/alpha-test/

2. Beta (Test)

เฟสเบตา เป็นเฟสถัดมาของเฟสอัลฟา เฟสนี้มักจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อฟีเจอร์ต่าง ๆ ภายในซอฟต์แวร์นั้น ๆ มีครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว แต่ยังคงมีบัคทั้งที่ทราบและไม่ทราบสาเหตุการเกิดบัคอยู่ โดยในเฟสเบตา ยังคงมีบัคและปัญหาอื่น ๆ เช่น ความเร็ว หรือประสิทธิภาพของซอฟต์แวร์ตัวนั้น ๆ อยู่ และอาจมีอาการค้าง (Crash) หรือข้อมูลสูญหายได้ (Data Loss) ซึ่งจุดประสงค์การทดสอบในเฟสนี้ จะมุ่งไปที่การลดผลกระทบที่มีต่อผู้ใช้งาน สามารถแยกย่อยออกได้อีก 2 ประเภท คือ Perpetual Beta และ Open / Closed Beta

  • Perpetual Beta - ในซอฟต์แวร์บางตัว ถูกคงสถานะให้อยู่ในเฟสนี้ไปเรื่อย ๆ เพราะมีการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ ๆ เข้ามาให้ใช้งานอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีการปล่อยเวอร์ชันสุดท้ายที่ "เสถียร" แล้วออกมา เช่น Gmail และ Google News ที่อยู่ในเฟสเบตาเฟสนี้มาอย่างยาวนานก่อนถูกใช้กันในวงกว้าง
  • Open และ Closed Beta - ผู้พัฒนาสามารถเลือกที่จะปล่อยแค่เฟสใดเฟสหนึ่ง หรือทั้งสองเฟสก็ได้ โดยความหมายที่แท้จริงของสองคำนี้คือ ในเฟส Close Beta มีอีกชื่อหนึ่งคือ Private Beta เป็นการเปิดทดสอบแบบส่วนตัว หรือทดสอบในผู้ใช้จำนวนจำกัด ซึ่งมักจะใช้การเชิญคนอื่นเข้ามาทดสอบ ส่วน Open Beta มีอีกชื่อหนึ่งว่า Public Beta ที่เป็นการทดสอบแบบเปิดกว้าง ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาร่วมทดสอบได้เลย และแน่นอนว่า Open Beta คือการทดสอบที่จะมีจำนวนผู้เข้าร่วมทดสอบมากกว่า Closed Beta ตามชื่อของมัน

Closed Beta   Open Beta
ภาพจาก : https://www.facebook.com/wildriftTH/

บทสรุปเกี่ยวกับการใช้งาน ตัวอักษรกรีก (Greek Alphabet Conclusion)

แม้จะไม่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่แน่ชัดว่า การใช้อักษรกรีกในแขนงวิชาการสาขาต่าง ๆ เริ่มเกิดขึ้นเมื่อใด และใครเป็นผู้ริเริ่มใช้มันบ้าง แต่ก็ต้องยอมรับอยู่อย่างหนึ่งว่า การใช้อักษรกรีกดังกล่าว ถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่ทำให้เกิดความเข้าใจตรงกันในสากลโลกไม่ว่าจะเป็นสาขาใด แขนงใดก็ตาม เพราะเลขอารบิก ไม่ได้เป็นตัวเลขเดียวที่นิยมใช้กัน แต่มีการใช้ตัวเลขการนับในรูปแบบอื่นที่แตกต่างกันออกไปด้วย และอาจเป็นเพราะสาเหตุที่ต้องการให้ทุกคนได้มีความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกันนี้เอง ที่ทำให้ตัวอักษรกรีก มีบทบาทมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

อักษรกรีก
ภาพจาก : https://www.thoughtco.com/letters-of-greek-alphabet-118638


ที่มา : qz.com , www.britannica.com , www.who.int , th.wikipedia.org , www.quora.com , timesofindia.indiatimes.com , en.wikipedia.org , th.wikipedia.org , www.scimath.org , www.saranukromthai.or.th , www.bbc.com , paradise.editboard.com , www.thoughtco.com , en.wikipedia.org

0 %E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%A5%E0%B8%9F%E0%B8%B2+%28Alpha%29%2C+%E0%B9%80%E0%B8%9A%E0%B8%95%E0%B8%B2+%28Beta%29%2C+%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%95%E0%B8%B2+%28Delta%29%2C+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%A1%E0%B8%9A%E0%B9%8C%E0%B8%94%E0%B8%B2+%28Lambda%29+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87+%3F
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
สมาชิก : Member    สมาชิก
เกมเมอร์หญิงทาสแมว ถ้าอยู่กับแมวแล้วจะน้วยแมวทั้งวัน
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น