ทรัพย์สินของบริษัทที่มีค่าไม่ได้จำกัดแต่เพียงอาคาร, อุปกรณ์สำนักงาน หรือแม้แต่ตัวพนักงานเท่านั้น ข้อมูลอาจเป็นทรัพย์สินที่สำคัญที่สุดของบริษัทก็ได้ ตั้งแต่ข้อมูลบัญชีงบการเงิน, แผนการตลาด, ข้อมูลลูกค้า, ข้อมูลงานวิจัย, แผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ฯลฯ ซึ่งหลายบริษัทมักจะสะสม สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) เหล่านี้อย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานานจนมันมีขนาดหลายเทราไบต์ (Terabyte - TB)
การเก็บรักษาข้อมูลเหล่านี้มีอยู่หลายวิธี เช่น การเก็บไว้ใน ฮาร์ดไดร์ฟ (HDD), ไรท์ใส่ แผ่น CD / แผ่น Blu-Ray (BD), แฟลชไดร์ฟ (Flash Drive), การเก็บข้อมูลบนเซิร์ฟเวอร์ ที่เชื่อมต่อกับเครือข่าย (NAS), เซิร์ฟเวอร์เก็บไฟล์ (File Server) ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้หลายองค์กรเริ่มหันไปใช้การเก็บข้อมูลบน คลาวด์ (Cloud) กันมากขึ้น
การจัดเก็บข้อมูลผ่านคลาวด์ มันมีความแตกต่างจากการเก็บข้อมูลแบบดั้งเดิม เนื่องจากข้อมูลจะถูกเก็บคนละสถานที่กับตำแหน่งของผู้ใช้ และอนุญาตให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงไฟล์จากที่ไหนก็ได้ผ่านเครือข่าย อินเทอร์เน็ต (Internet) นั่นเอง
ในบทความนี้ เราจะมาอธิบายว่า Cloud Storage คืออะไร ? และมันทำงานอย่างไร ?
การเก็บข้อมูลบนคลาวด์ (Cloud Storage) จัดเป็นหนึ่งในรูปแบบการเก็บข้อมูลที่ไฟล์ดิจิทัลต่าง ๆ อย่างเช่น เอกสาร (Document), รูปภาพ (Image), วิดีโอ (Video) หรือสื่ออื่น ๆ จะถูกเก็บเอาไว้บนเครื่องเซิร์ฟเวอร์ โดยส่วนใหญ่จะให้บริการพื้นที่โดยบริษัท บุคคลที่สาม (3rd-Party) มันช่วยให้ผู้ใช้สามารถถ่ายโอนข้อมูลไปยังระบบเก็บข้อมูลนอกสถานที่ (Offsite Storage) และเข้าถึงได้ทุกเมื่อที่ต้องการผ่านอินเทอร์เน็ต
โดย Cloud Storage จะมีผู้ให้บริการที่คอยบริหารจัดการการทำงานให้ อย่างการสำรองข้อมูล และรักษาความปลอดภัย ข้อดีของการใช้บริการ Cloud Storage คือช่วยให้บริษัทประหยัดค่าใช้จ่ายในการตั้งเซิร์ฟเวอร์ และค่าดูแล จ่ายตามขนาดพื้นที่ที่ต้องการใช้งาน มีความยืดหยุ่นในการทำงานสูง
ภาพจาก : https://medium.com/@chevv/cloud-storage-system-design-21322e2f9551
อันที่จริง หลักการทำงานของ Cloud Storage ก็เหมือนกับการเก็บข้อมูลภายในเครือข่ายอย่าง การเก็บข้อมูลบนเซิร์ฟเวอร์ ที่เชื่อมต่อกับเครือข่าย (NAS) เลย เพียงแต่ข้อมูลจะถูกส่งออกไปเก็บบนเซิร์ฟเวอร์ที่อยู่นอกสถานที่ (Off-Site Location) เท่านั้นเอง โดยตัวเซิร์ฟเวอร์ที่ใช้ก็มักเป็น เครื่องเสมือน (Virtual Machine) ที่โฮสต์อยู่บนเซิร์ฟเวอร์จริง (Physical Server) หากผู้ใช้ต้องการพื้นที่เพิ่ม ทางผู้ให้บริการก็จะสร้างเครื่องเสมือนเพิ่มขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งาน
ในการเชื่อมต่อ ผู้ใช้งานจะเชื่อมต่อไปยังพื้นที่เก็บข้อมูลบนคลาวด์ ผ่านอินเทอร์เน็ต หรือ Dedicated Private Connection (การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบส่วนตัว ไม่ถูกแชร์กับผู้ใช้อื่น ๆ โดยทั่วไปจะใช้สำหรับธุรกิจ หรือองค์กรที่ต้องการความปลอดภัย และความเสถียรในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตสูงสุด) ผ่านทาง Web Portal, เว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน
เมื่อข้อมูลจากผู้ใช้ถูกส่งขึ้นไปยังเซิร์ฟเวอร์แล้ว ตัวเซิร์ฟเวอร์จะส่งต่อข้อมูลไปเก็บไว้ที่ Server Pool (กลุ่มของเซิร์ฟเวอร์ที่ทำงานร่วมกัน โดยเซิร์ฟเวอร์ในพูลจะมีการเข้าถึงทรัพยากรร่วมกัน และสามารถทำงานแทนกันได้ในกรณีที่มีเครื่องใดเครื่องหนึ่งล่ม ซึ่งอาจอยู่ภายใน ศูนย์ข้อมูล (Data Center) เพียงแห่งเดียว หรือหลายแห่งก็ได้ ขึ้นอยู่กับขนาดของบริษัทที่ให้บริการ
ภาพจาก : https://www.geeksforgeeks.org/resource-pooling-architecture-in-cloud-computing/
ส่วนใหญ่แล้ว ทางผู้ให้บริการจะคัดลอกข้อมูลเดียวกันกระจายสำรองไปเก็บหลายแห่ง เพื่อลดความเสี่ยงในการทำข้อมูลสูญหาย หรือหากเซิร์ฟเวอร์ตัวใด ตัวหนึ่งเสียหาย ลูกค้าก็ยังคงเข้าถึงไฟล์ได้ โดยคุณสมบัตินี้เป็นหนึ่งในจุดขายที่ผู้ให้บริการ Cloud ใช้นำเสนอแก่ลูกค้านั่นเอง
Cloud Storage ถูกแบ่งประเภทออกได้เป็น 4 รูปแบบ ได้ดังต่อไปนี้
ภาพจาก : https://www.linkedin.com/pulse/cloud-computing-part-2-deployment-modelspublic-multi-b%C3%BCy%C3%BCktan%C4%B1r-/
โมเดลนี้ ผู้ใช้งานจะใช้อินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อไปยัง Cloud Storage ที่ดูแลโดยผู้ให้บริการคลาวด์ ที่มันถูกเรียกว่าเป็น Public (สาธารณะ) เพราะทางผู้ให้บริการจำหน่ายพื้นที่ให้กับใครก็ตามที่สนใจสามารถเช่าใช้งานได้
ตามปกติแล้ว ผู้ให้บริการ คลาวด์สาธารณธ (Public Cloud Storage) จะออกแบบตัวระบบให้สามารถเข้าใช้งานได้จากอุปกรณ์ทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์ และอนุญาตให้ปรับขนาดพื้นที่ขยาย หรือลดได้ตามความต้องการของลูกค้า
โมเดลนี้เป็นการจำลองระบบ Cloud ขึ้นมา โดยทำงานเหมือนคลาวด์ทุกประการ เพียงแต่ว่ามันเป็นระบบที่ตั้งอยู่ภายในเครือข่ายของผู้ใช้ มีเซิร์ฟเวอร์จริงที่ถูกนำมาใช้สร้างเซิร์ฟเวอร์จำลองเพื่อความยืดหยุ่นในการประยุกต์ใช้งาน
ผู้ใช้สามารถเลือกได้ว่าจะตั้งทีมขึ้นมาดูแลระบบ Private Cloud Storage เองเลย หรือว่าจะจ้างผู้ให้บริการมาวางระบบให้ก็ได้ ทั้งนี้ Private Cloud Storage จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า แต่ธุรกิจบางประเภทอย่างเช่น ธนาคาร หรือร้านค้าปลีก ก็มักเลือกใช้งานกัน เนื่องจากมันเป็นการเก็บข้อมูลให้ความเป็นส่วนตัวมากกว่า ช่วยปกป้องข้อมูลที่ควรเป็นความลับเอาไว้
โมเดลนี้เป็นการผสมผสานองค์ประกอบระหว่าง Public Cloud Storage และ Private Cloud Storage เข้าด้วยกัน ช่วยให้องค์กรที่ใช้สามารถพิจารณาได้ว่าจะเลือกเก็บข้อมูลที่ไหน ตัวอย่างเช่น ข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อน และต้องเก็บสำรองข้อมูลเอาไว้แบบถาวร จะเหมาะกับสภาพแวดล้อมของ Private Cloud Storage ส่วนข้อมูลที่ไม่ได้มีความสำคัญ ก็เลือกเก็บที่ Public Cloud Storage แทน
บางองค์กรเลือกใช้ Hybrid Cloud Storage เพื่อเสริมศักยภาพการจัดเก็บข้อมูลภายในองค์กร ด้วย Public Cloud Storage
รูปแบบนี้คือการที่บริษัทมีการใช้คลาวด์มากกว่าหนึ่งโมเดลจากผู้ให้บริการคลาวด์มากกว่าหนึ่งราย ซึ่งอาจมีการผสมทั้ง Public, Private และ Hybrid Cloud Storage ร่วมกัน มันมีหลายสถานการณ์ที่บีบบังคับให้บริษัทต้องตัดสินใจทำเช่นนั้น เช่น มีแอปพลิเคชันที่ต้องการโครงสร้างเฉพาะทาง, ถูกกฏหมายบังคับให้ข้อมูลต้องถูกเก็บในประเทศที่กำหนด, ต้องการใช้งานคุณสมบัติที่อยู่นอกเหนือข้อตกลงในการให้บริการ (Service Level Agreement (SLA)) ของผู้ให้บริการ ซึ่ง Multi Cloud Storage สามารถช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการทำงาน
รากฐานของเทคโนโลยี Cloud นั้นสามารถหาร่องรอยทางประวัติศาสตร์ ได้ด้วยการ ย้อนกลับไปได้ถึงช่วงปี ค.ศ. 1960 (พ.ศ. 2503) ที่มีการนำเสนอแนวคิด "Intergalactic PC Network" ขึ้นมา มันเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการเชื่อมต่อเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ คล้ายกับระบบอินเทอร์เน็ตในปัจจุบันนี้
โดยในปี ค.ศ. 1963 (พ.ศ. 2506) Defense Advanced Research Projects Agency (DARPA) สำนักโครงการวิจัยขั้นสูงด้านกลาโหม ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงกลาโหมสหรัฐ ที่มีหน้าที่พัฒนาเทคโนโลยีใหม่สำหรับใช้งานทางทหาร ได้มอบทุนวิจัยให้กับสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ หรือ Massachusetts Institute of Technology (MIT) เพื่อสนับสนุนโครงการ "Project MAC" เทคโนโลยีที่นำเสนอแนวคิดใหม่ว่า "คอมพิวเตอร์ที่สามารถมีผู้ใช้งานได้อย่างน้อย 2 คน" ซึ่งหลักการนี้ก็คือแนวคิดต้นกำเนิดของ Cloud Computing นั่นเอง
ในปี ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 5212) Joseph Carl Robnett Licklider หรือที่รู้จักกันในชื่อสั้น ๆ ว่า "J. C. R." หรือ "Lick" ซึ่งเป็นทั้งนักบำบัด และนักวิจัยด้านคอมพิวเตอร์ เขาได้วาดฝันถึงเทคโนโลยี Intergalactic PC Network ที่ทุกคนบนโลกสามารถสื่อสารหากันได้ผ่านคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล และเข้าถึงข้อมูลได้จากทุกที่ ซึ่งนั่นก็คือแนวคิดของอินเทอร์เน็ตนั่นเอง โครงสร้างที่มีความจำเป็นต่อการทำงานของ Cloud โดย Lick ได้เริ่มต้นสร้าง "ARPANET (Advanced Research Projects Agency Network" โครงข่ายที่เป็นจุดเริ่มต้นของอินเทอร์เน็ตขึ้นมา
ภาพจาก : https://capacity.com/cloud-storage/history-of-cloud-storage/
เมื่อย่างเข้าสู่ ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513) เริ่มมีการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เสมือน (Virtualization) ขึ้นมา รวมไปถึงการสร้าง เครื่องเสมือน (Virtual Machine) ที่ทำงานได้เหมือนกับคอมพิวเตอร์เครื่องจริง มีระบบปฏิบัติการที่สามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ ทั้งหมดนี้ถูกพัฒนาขึ้นควบคู่ไปกับระบบอินเทอร์เน็ต มีหลายบริษัทที่เปิดให้บริการ Virtual Private Systems (VPS) ให้ผู้ที่สนใจสามารถเช่าใช้งานได้ ซึ่งมันได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วง ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) จนนำไปสู่การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของ Cloud ในยุคใหม่
โดยในระหว่างปี ค.ศ. 1970-1990 (พ.ศ. 2513 - 2533) หลายบริษัทล้วนต่างเบนเข็มการพัฒนามุ่งเป้าไปที่การสร้าง การประมวลผลบนคลาวด์ ตัวอย่างเช่น ในปี ค.ศ. 1972 (พ.ศ. 2515) IBM ได้พัฒนาระบบ Framework ที่มีชื่อว่า Virtual Machine (VM) ขึ้นมา ในปี ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) มีหลายบริษัทที่นำเสนอระบบ VPS ที่พัฒนาขึ้นมาเอง
เมื่อการประมวลผลแบบ Cloud เริ่มแพร่หลาย มันก็เป็นเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาอย่างรวดเร็ว และต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับต้นกำเนิดของคำนี้ แต่เห็นได้ชัดเลยว่าวงการ Cloud มีชีวิตชีวาเติบโตอย่างรวดเร็ว
หลังจากที่ผ่านมาหลายปี โครงสร้างพื้นฐานของอินเทอร์เน็ต และระบบ VM ได้มีความแข็งแกร่งมาก บริษัทหลายแห่งมีความเข้าใจคุณประโยชน์ของ Cloud มากขึ้น ในปี ค.ศ. 1999 (พ.ศ. 2542) บริษัท Salesforce ประสบความสำเร็จอย่างมาก ในฐานะผู้บุกเบิกการขายซอฟต์แวร์ผ่าน Cloud ลูกค้าสามารถเช่าซื้อใช้งานซอฟต์แวร์ได้จากทุกที่ ทุกอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้
ในปี ค.ศ. 2002 (พ.ศ. 2545) บริษัท Amazon ได้เปิดตัวเว็บค้าปลีกออนไลน์ ใช้โมเดลโครงสร้างแบบคลาวด์ในการทำงาน มันประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก จนเป็นต้นแบบให้กับหลายบริษัททำตาม
จากความสำเร็จ และประสบการณ์ที่สั่งสมมาหลายปี ในปี ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) บริษัท Amazon ได้เปิดตัว Amazon Web Services ให้บริการออนไลน์หลากหลายประเภทให้แก่เว็บไซต์ และ Clients หนึ่งในนั้นมีสิ่งที่เรียกว่า "Amazon Mechanical Turk" มันได้รวบรวมบริการ Cloud หลากหลายชนิดเอาไว้เตรียมให้บริการแก่ลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บไฟล์, การประมวลผล ฯลฯ แล้วก็ยังมี "Elastic Compute Cloud (EC2)" ที่ให้เช่าพื้นที่สำหรับสร้าง เดสก์ท็อปเสมือน (Virtual Desktop)
ในปีเดียวกัน Google ก็ได้เปิดให้บริการ Google Docs และ Google Spreadsheets ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ทำงานบน Cloud
พอย่างเข้า ค.ศ. 2014 (พ.ศ. 2557) ระบบ Cloud ถูกพัฒนาจนคุณสมบัติพื้นที่สำคัญมีความสมบูรณ์ครบถ้วน การพัฒนาเริ่มหันไปที่การให้ความสำคัญกับความปลอดภัยแทน เนื่องจากตลาด Cloud มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว ความต้องการของลูกค้าเพิ่มสูงขึ้น ความสำคัญในการปกป้องข้อมูลของลูกค้าจึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
มีเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยใหม่ ๆ หลายชนิด ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาในเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นป้องกันข้อมูลถูกลบโดยไม่ตั้งใจ, การรั่วไหล ถูกขโมย ฯลฯ
และเมื่อเข้าสู่ ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559) ระบบ Cloud ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง จากเดิมที่ผู้ให้บริการนำเสนอเครื่องมือที่เป็นมิตรแก่นักพัฒนา เริ่มปรับเปลี่ยนเป็นนำเสนอเครื่องมือที่ดึงดูดนักพัฒนาแทน โดยนำเสนอจุดขายว่าถ้าหากใช้ Cloud แล้ว จะสามารถดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการธุรกิจเพิ่มขึ้นได้อย่างไร ?
นับตั้งแต่เหตุการณ์ COVID-19 แม้วิกฤตจะจบลง และผ่านไปแล้ว แต่มันก็เร่งให้การใช้งาน Cloud Storage เพิ่มมากขึ้น เพราะความนิยมใน การทำงานแบบ Work Form Home (WFH), E-Commerce, ระบบวิดีโอ และเพลงที่ให้บริการแบบสตรีมมิ่ง ฯลฯ เบื้องหลังก็ล้วนแต่มี Cloud Storage เป็นส่วนร่วมอยู่ทั้งนั้น ตัวเทคโนโลยีไม่น่าจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่ในแง่ของกฏหมายแล้ว ก็ต้องมีการอัปเดตให้เหมาะสม เพื่อคุ้มครองสิทธิ์ และปกป้องผู้บริโภคจากการถูกผู้ให้บริการเอาเปรียบ
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |