ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

กระดาษมีกี่ขนาด ? และแต่ละขนาดแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ? (How many types and sizes of paper ?)

กระดาษมีกี่ขนาด ? และแต่ละขนาดแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ? (How many types and sizes of paper ?)

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 32,614
เขียนโดย :
0 %E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%82%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%94+%3F+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%82%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87+%3F+%28How+many+types+and+sizes+of+paper+%3F%29
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

กระดาษมีกี่ขนาด ? และแต่ละขนาดแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ?
(How many types and sizes of paper ?)

ถ้าพูดถึง ขนาดกระดาษ (Paper Size) แล้วละก็ เชื่อว่าชื่อแรก ๆ ที่แทบทุกคนจะนึกถึงก็น่าจะต้องเป็น "A4" ที่เราคุ้นเคยกันดีอย่างแน่นอน ! เพราะเจ้ากระดาษ A4 นี้เรียกได้ว่าเป็นกระดาษที่อยู่คู่กับเรามาทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่วัยเรียนจนเข้าสู่วัยทำงานแล้วก็ยังต้องใช้งานมันอยู่บ่อย ๆ และกระดาษอีกขนาดที่หลาย ๆ คนน่าจะคุ้นเคยกันก็น่าจะเป็น "B5" ที่มีความกว้างและความยาวหน้ากระดาษน้อยกว่า A4 เล็กน้อย

แต่นอกเหนือไปจากกระดาษมาตรฐานที่เรารู้จักกันอย่างกระดาษในตระกูล "A" และ "B" แล้ว ทาง ISO ยังได้กำหนดมาตรฐานของกระดาษตระกูล "C" ไว้อีกด้วย อีกทั้งยังมีกระดาษขนาดอื่น ๆ ที่ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการใช้งานในจุดประสงค์ที่ต่างกันออกไปอีกด้วย

เนื้อหาภายในบทความ

กระดาษขนาดมาตรฐาน ISO

องค์กรมาตรฐานสากลโลกหรือ "ISO (International Organization for Standardization)" ได้กำหนดรหัสมาตรฐานของ "กระดาษ" เอาไว้ที่รหัส "ISO 216" สำหรับกระดาษในตระกูล A และ B ส่วนกระดาษ C จะใช้รหัสมาตรฐาน ISO 217

โดยกระดาษตามมาตรฐาน ISO นี้จะมีจุดเด่นที่อัตราส่วนหน้ากระดาษทุกขนาดจะอยู่ที่ 1 : √2 (หรือราว 1: 1.14 เมื่อปัดเศษลง) เสมอ อีกทั้งเมื่อ "พับครึ่ง" แล้วจะได้กระดาษในอัตราส่วนคงเดิมที่ 70.7% และหากนำเอากระดาษขนาดเดียวกันจำนวน 2 แผ่นมาวางเรียงต่อกันในแนวขวางก็ยังให้อัตราส่วนที่คงเดิม (1 : √2) อีกด้วย กระดาษตามมาตรฐานสากลของ ISO นั้นจะมีด้วยกันทั้งหมด 11 ขนาดย่อยตั้งแต่ 0 - 10 แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ดังนี้

กระดาษ A Series (ISO 216)

กระดาษ A น่าจะเป็นกระดาษขนาดมาตรฐานที่มีการใช้งานกันมากที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้ เพราะไม่ใช่แค่กระดาษขนาด A4 เท่านั้นที่เป็นที่นิยมไปทั่วโลก แต่กระดาษ "A6" หรือกระดาษขนาดโปสการ์ดเองก็ได้รับความนิยมสูงไม่แพ้กัน โดยกระดาษ A ที่เล็กที่สุดจะเป็นกระดาษ A10 ที่ขนาด 1x1.5 นิ้ว หรือขนาดเทียบเท่ากับรูปติดบัตรขนาด 1 นิ้วที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ส่วนกระดาษ A ที่ใหญ่ที่สุดตามมาตรฐาน ISO จะเป็นกระดาษ A0 ที่มีขนาดราว 33.1 x 46.8 นิ้ว (มีพื้นที่ภายในอยู่ที่ 1 ตารางเมตร)

กระดาษ A (ISO 216)
ภาพจาก : https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/1/16/A_size_illustration2.svg

ตารางขนาดกระดาษ A

ขนาดกระดาษ มิลลิเมตร (มม.) นิ้ว
A0 841 x 1,189 33.1 x 46.8
A1 594 x 841 23.4 x 33.1
A2 420 x 594 16.5 x 23.4
A3 297 x 420 11.7 x 16.5
A4 210 x 297 8.3 x 11.7
A5 148 x 210 5.8 x 8.3
A6 105 x 148 4.1 x 5.8
A7 74 x 105 2.9 x 4.1
A8 52 x 74 2.0 x 2.9
A9 37 x 52 1.5 x 2.0
A10 26 x 37 1.0 x 1.5

แต่เนื่องจากว่ากระดาษ A นั้นเป็นมาตรฐานของขนาดกระดาษที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก จึงทำให้บางครั้งเราอาจพบเห็นกระดาษขนาด 2A0 ที่มีขนาดเทียบเท่ากระดาษ A0 จำนวน 2 แผ่นที่ขนาด 33.1 x 66.2 นิ้ว (1189 x 1682 มิลลิเมตร), กระดาษ 4A0 ที่มีขนาด 66.2 x 93.6 นิ้ว (1682 x 2378 มิลลิเมตร) และกระดาษ A3+ (Super A3) ที่มีความกว้างราว 13 x 19 นิ้ว (330 x 483 มิลลิเมตร)

สไลด์รูปภาพ

 กระดาษ 2A0กระดาษ 4A0

ภาพจาก : https://kampungdesigner.com/paper-size-series-a0-a1-a2-a3-a4-a5-a6-a7-a8-a9-a10/

นอกจากนี้ในวงการโฆษณายังมีการใช้งานกระดาษขนาดพิเศษแบบ RA (Raw format A) ที่มีขนาดใหญ่กว่ากระดาษ A แบบทั่วไปราว 5% และ SRA (Supplementary Raw format A) ที่มีขนาดใหญ่กว่ากระดาษ A ที่ 15% ซึ่งเหตุผลที่มีการคิดค้นกระดาษทั้ง 2 แบบนี้ขึ้นมาก็เพื่อเอาไว้ "เผื่อตัดขอบ" (Trim) ให้หน้ากระดาษมีขนาดเทียบเท่ากระดาษ A ขนาดต่าง ๆ เมื่อตัดขอบกระดาษทิ้งไปนั่นเอง

SRA (Supplementary Raw format A)
ภาพจาก : https://papersize.co/a-series-paper-sizes/

กระดาษ B Series (ISO 216)

ในส่วนของ กระดาษ B จะเป็นกระดาษที่มีความกว้างและความยาวอยู่ "ระหว่าง" หน้ากระดาษ A ในขนาดต่าง ๆ โดยกระดาษ B จะมีทั้งหมด 11 ขนาดย่อยตั้งแต่ B0 (หน้ากระดาษกว้าง 1 เมตร) ไปจนถึง B10 เท่านั้น (ไม่มีกระดาษขนาด 2B0 หรือ 4B0 แต่อย่างใด) ซึ่งกระดาษ B ที่เราเห็นกันอยู่เป็นประจำก็น่าจะเป็น "B5" หรือขนาดหน้ากระดาษของสมุดที่มีความกว้างพอประมาณ ไม่เล็กและไม่ใหญ่มากจนเกินไป ส่วนกระดาษ B ขนาดอื่น ๆ นั้นมักไม่ค่อยได้รับความนิยมมากเท่าไรนัก

กระดาษ B (ISO 216)
ภาพจาก : https://www.discountdisplays.co.uk/html/paper-sizes.html

ตารางขนาดกระดาษ B

ขนาดกระดาษ มิลลิเมตร (มม.) นิ้ว
B0 1,000 x 1,414 39.4 x 55.7
B1 707 x 1,000 27.8 x 39.4
B2 500 x 707  19.7 x 27.8
B3 353 x 500 13.9 x 19.7
B4 250 x 353 9.8 x 13.9
B5 176 x 250 6.9 x 9.8
B6 125 x 176 4.9 x 6.9
B7 88 x 125 3.5 x 4.9
B8 62 x 88 2.4 x 3.5
B9 44 x 62 1.7 x 2.4
B10 31 x 44 1.2 x 1.7

กระดาษ C Series (ISO 217)

สำหรับ กระดาษ C หรือกระดาษมาตรฐาน ISO 269 นั้นเป็นมาตรฐานกระดาษที่ทาง ISO ได้ประกาศ "ยกเลิก" การใช้งานไปตั้งแต่ช่วงปี ค.ศ. 2009 (พ.ศ. 2552) แต่เราก็ยังอาจยังพบเห็นการใช้งานกระดาษ C บ้างในบางประเทศ

โดยกระดาษ C นั้นจะนิยมใช้เป็นขนาดของ "ซองเอกสาร" ที่ใช้ใส่กระดาษ A ขนาดต่าง ๆ เป็นส่วนมาก เพราะมันมีความกว้างและความยาวเฉลี่ยที่สามารถใส่กระดาษ A (แบบเต็มแผ่น) ได้ และขนาดของกระดาษ C ยังเล็กกว่ากระดาษ B ที่รหัสเดียวกันอีกด้วย จึงทำให้สามารถใส่ซองเอกสารขนาด C ลงไปในซอง B ที่รหัสเดียวกันได้ เช่น ใส่กระดาษขนาด A4 ลงในซองขนาด C4 และนำเอาซอง C4 ใส่ลงไปในซอง B4 ได้ เป็นต้น

กระดาษ C (ISO 217)
ภาพจาก : https://en.wikipedia.org/wiki/Paper_size#/media/File:C_size_illustration2.svg

ตารางขนาดกระดาษ C

ขนาดกระดาษ มิลลิเมตร (มม.) นิ้ว เหมาะสำหรับใส่กระดาษ
C0 917 x 1,297 36.1 x 51.5 A0
C1 648 x 917 25.5 x 36.1 A1
C2 458 x 648 18.0 x 25.5 A2
C3 324 x 458 12.8 x 18.0 A3
C4 229 x 324 9.0 x 12.8 A4
C5 162 x 229 6.4 x 12.8 A5
C6 114 x 162 4.5 x 6.4  A6
C7 81 x 114 3.2 x 4.5  A7
C8 57 x 81 2.2 x 3.2 A8
C9 40 x 57 1.6 x 2.2 A9
C10 28 x 40 1.1 x 1.6 A10

นอกเหนือไปจากซองเอกสารที่มีความกว้างและความยาวของขนาดพอเหมาะกับการใส่กระดาษ A แล้ว ยังมีซองเอกสารหรือซองจดหมายรูปแบบอื่น ๆ ให้เลือกใช้งานอีก เช่น ซองจดหมาย DL ที่เป็นลักษณะซองสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาด 4.3 x 8.7 นิ้ว (110 x 220 มิลลิเมตร) ที่สามารถใส่กระดาษ A4 พับ 3 ทบได้อย่างพอดี

กระดาษบัตรประจำตัว (ID Card) (ISO 7810)

ไม่เพียงแต่จะกำหนดขนาดกระดาษในตระกูล A / B และ C ที่เป็นมาตรฐานการใช้งานกันทั่วโลกเท่านั้น ทาง ISO ยังได้มีการกำหนดขนาดมาตรฐานสำหรับ บัตรประจำตัว (Identification Card หรือ ID Card) แบบสากลโลกเอาไว้อีกด้วย โดยนามบัตรมาตรฐานนั้นจะต้องมีความหนาขั้นต่ำที่ 0.027 นิ้ว (0.68 มิลลิเมตร) ไปจนถึง 0.033 นิ้ว (0.84 มิลลิเมตร) ส่วนความกว้างและความยาวของกระดาษนามบัตรจะสามารถแบ่งได้ 4 ขนาด ดังนี้

กระดาษนามบัตร (ID Card) ISO 7810
ภาพจาก : https://en.wikipedia.org/wiki/ISO/IEC_7810#/media/File:ISO_IEC_7810.PNG

ตารางขนาดกระดาษนามบัตรตามมาตรฐาน ISO

รูปแบบนามบัตร ขนาด การใช้งาน
นิ้ว มิลลิเมตร (มม.)
ID-1 3.337 x 2.125 856 x 539 บัตรประจำตัวประชาชน, ใบขับขี่,
บัตรเครดิต, บัตรเดบิต, บัตร ATM
(บางครั้งอาจเรียกว่าบัตร CR-80)
ID-2 4.134 x 2.913 105 x 74 บัตร Visa (A7)
ID-3 4.921 x 3.465 125 x 88 เล่ม Passport (B7)
ID-000 0.984 x 0.591 25 x 15 SIM Cards (ขนาดมาตรฐาน)

กระดาษขนาดตามมาตรฐานของสหรัฐอเมริกา (US Paper Sizes)

มาตรฐานกระดาษชนิดนี้ถูกกำหนดขึ้นโดย ANSI (American National Standards Institute) เป็นการกำหนดมาตรฐานขนาดกระดาษขึ้นมาเพื่อใช้งานในสหรัฐอเมริกา, แคนาดา และบางประเทศในทวีปอเมริกา โดยได้มีการกำหนด "ขนาดกระดาษ" ขึ้นมาหลากหลายรูปแบบเพื่อการใช้งานที่ต่างกัน แต่ในที่นี้จะขอยกตัวอย่างกระดาษตามมาตรฐานของสหรัฐอเมริกาที่น่าจะคุ้นเคยกันมาบ้าง ดังนี้

กระดาษจดหมาย (Letter)

หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับขนาดของหน้ากระดาษจดหมายประเภทนี้จาก โปรแกรม Microsoft Word ที่ในบางครั้งก็พบว่าโปรแกรมมีการปรับค่าหน้ากระดาษจาก A4 ที่เราใช้งานอยู่เป็นประจำไปเป็นกระดาษ Letter ขนาด 8.5 x 11 นิ้ว (216 x 279 มิลลิเมตร) แบบอัตโนมัติ

กระดาษจดหมาย (Letter) ขนาด 8.5 x 11 นิ้ว
ภาพจาก : https://www.onlinelabels.com/articles/how-to-choose-the-right-sheet-size-for-your-labels

กระดาษหนังสือพิมพ์ขนาดเล็ก (Tabloid)

หนังสือพิมพ์ขนาดเล็ก หรือ "แท็บลอยด์ (Tabloid)" เป็นขนาดหนังสือพิมพ์ที่มีขนาดเล็กกระทัดรัด ที่สามารถนำไปอ่านบน อย่างรถไฟฟ้า รถเมล์ ได้ทั่วไป โดยไม่เกะกะคนนั่งข้างๆ ที่มีขนาดราว 11 x 17 นิ้ว (279 x 432 มิลลิเมตร) ที่เราเคยพบเห็นกันมาบ้างนั้นก็เป็นหนึ่งในผลงานการกำหนดมาตรฐานขนาดกระดาษของสหรัฐอเมริกาด้วยเช่นกัน

กระดาษหนังสือพิมพ์ (Tabloid) ขนาด 11 x 17 นิ้ว
ภาพจาก : https://papersizes.online/wp-content/uploads/tabloid-paper-size-inch.jpg

กระดาษนามบัตร (Business Card)

ถึงแม้ว่าขนาดของ "นามบัตร" จะมีหลากหลายรูปแบบตามมาตรฐานของประเทศต่าง ๆ แต่สำหรับนามบัตรแบบ Business Card ที่ใช้ในวงการธุรกิจที่มีขนาด 3.5 x 2 นิ้ว (889 x 509 มิลลิเมตร) ที่หลาย ๆ บริษัทเลือกใช้นั้นก็มาจากขนาดนามบัตรมาตรฐานที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้กำหนดขึ้น

กระดาษนามบัตร (Business Card) ขนาด 3.5 x 2 นิ้ว
ภาพจาก : https://s1-ecp.printplace.com/sms/PP/Static%20Page/Article%20Page/Printing/InternationalStandardBusinesscards.jpg

กระดาษขนาดอื่น ๆ (Other Paper Sizes)

ไม่ใช่แค่ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่มีมาตรฐาน "กระดาษ" เป็นของตัวเอง แต่หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกก็มีการกำหนดมาตรฐานของ "ขนาดกระดาษ" เป็นของตัวเองเพื่อใช้งานภายในประเทศเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีกระดาษขนาดอื่น ๆ อีก เช่น

กระดาษ Foolscap (Folio)

เป็นมาตรฐานกระดาษแบบเก่าที่นิยมใช้งานกันในทวีปยุโรปก่อนที่จะมีการกำหนดขนาดตามมาตรฐาน ISO กระดาษชนิดนี้ถ้าใครอยู่ในวงการบัญชีมานานก็น่าจะเคยเห็นหรือใช้งานผ่านมือกันมาบ้าง เพราะสมุดบัญชีแบบเขียนมือส่วนมากก็มักจะนิยมใช้งานกระดาษประเภทนี้เป็นหลัก โดยกระดาษ Foolscap จะเป็นขนาดชนิด "ตีเส้นคู่" ที่มีขนาดมาตรฐานอยู่ที่ 8 x 13 นิ้ว (203 x 330 มิลลิเมตร)

สไลด์รูปภาพ

 กระดาษ Foolscap (Folio)กระดาษ Foolscap (Folio)

ภาพจาก : https://en.wikipedia.org/wiki/Foolscap_folio#/media/File:FolioA4.svg และ https://im2.ezgif.com/tmp/ezgif-2-f8ca8ec697.png

สำหรับเหตุผลที่เรียกกระดาษมีเส้นชนิดนี้ว่ากระดาษ Foolscap ก็มาจาก "ลายน้ำ" บนตัวกระดาษของโรงงานผลิตกระดาษแห่งหนึ่งในยุโรปที่พิมพ์รูปหมวกของตัวตลก (Fool’s cap) ลงไปบนกระดาษเส้นคู่ชนิดนี้นั่นเอง (เดาว่าตอนไปซื้อกระดาษก็น่าจะพูดว่า "May I have a Fool’s cap paper ?" จนทำให้มันกลายมาเป็นชื่อกระดาษไปโดยปริยาย)

กระดาษ Foolscap (Folio)
ภาพจาก : https://rhollick.wordpress.com/2017/06/09/foolscap/

กระดาษหนังสือพิมพ์ขนาดใหญ่ (Broadsheet)

หากลองสังเกตดูดี ๆ จะพบว่าขนาดของหนังสือพิมพ์ (Newspaper) นั้นไม่ตรงกับขนาดมาตรฐานของกระดาษชนิดใดเลย โดยแต่ละสำนักข่าวก็มีการกำหนดมาตรฐานขนาดของหนังสือพิมพ์ของตัวเองที่แตกต่างกันออกไป แต่ขนาดมาตรฐานของหนังสือพิมพ์ที่เป็นที่นิยมใช้งานกันทั่วโลกนั้นมีขนาดเฉลี่ยอยู่ที่ราว 29.5 x 23.5 นิ้ว (749 x 597 มิลลิเมตร) ซึ่งแบบนี้เขาเรียกว่า "บรอดชีต (Broadsheet)"

กระดาษหนังสือพิมพ์ (Broadsheet)
ภาพจาก : https://commercialtype.com/uploads/2900029/1492549176139/Thumb-587-xxx_q87.jpg


ที่มา : en.wikipedia.org , www.papersizes.org , www.papersizes.org , www.neenahpaper.com , www.knowsize.com , rhollick.wordpress.com , www.campusidnews.com , www.discountdisplays.co.uk

0 %E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%94%E0%B8%B2%E0%B8%A9%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%82%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%94+%3F+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%82%E0%B8%99%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B9%81%E0%B8%95%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87+%3F+%28How+many+types+and+sizes+of+paper+%3F%29
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
สมาชิก : Member    สมาชิก
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่..
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น