ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

Twitch, Facebook Gaming และ YouTube Gaming คืออะไร ? และเลือกสตรีมที่ไหนดี ?

Twitch, Facebook Gaming และ YouTube Gaming คืออะไร ? และเลือกสตรีมที่ไหนดี ?

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 8,516
เขียนโดย :
0 Twitch%2C+Facebook+Gaming+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%C2%A0YouTube+Gaming+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B5+%3F
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

Twitch, Facebook Gaming, และ YouTube คืออะไร ?
และเลือกแพลตฟอร์มไหนดี ?

ปัจจุบันนี้ การทำสตรีม (Streaming) เป็นทั้งอาชีพ และงานอดิเรก ที่นักเล่นเกมหลายคนให้ความสนใจกันเป็นอย่างมาก เพราะมันสามารถหาค่าขนม หรือหากโชคดีช่องประสบความสำเร็จ รายได้จากมันก็มากพอที่จะใช้เลี้ยงชีพได้อย่างสบาย ๆ

สำหรับแพลตฟอร์มที่นักสตรีม (Streamer) นิยมใช้เป็นช่องทางในการสตรีม ก็จะมีอยู่ 3 แพลตฟอร์ม คือ ยูทูบเกมมิ่ง (YouTube), เฟซบุ๊กเกมมิ่ง (Facebook Gaming) และ ทวิตช์ (Twitch) โดยในแต่ละแพลตฟอร์มก็มีข้อดี-ข้อเสียแตกต่างกัน

ใครที่กำลังลังเลอยู่ว่า จะเลือกทำสตรีมบนแพลตฟอร์มไหนดี ? ในบทความนี้เราจะมีข้อมูลที่น่าสนใจของทั้งสามแพลตฟอร์มมาแนะนำ เพื่อช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นมาฝากกัน

เนื้อหาภายในบทความ

Twitch - ยักษ์ใหญ่แห่งวงการสตรีม

แพลตฟอร์ม Twitch คือแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง รายแรก ๆ ที่ทำตลาดสตรีมสำหรับนักเล่นเกมโดยเฉพาะ หากพูดถึงบริการเกมสตรีมมิ่ง คนจำนวนมากจึงมักนึกถึงชื่อ Twitch เป็นชื่อแรก ๆ อยู่เสมอ เดิมทีมันคือ Justin.tv ที่เปิดให้ผู้ใช้งานสามารถสตรีมอะไรก็ได้ แต่ภายหลังได้เปลี่ยนมาเน้นด้านเกมเป็นหลัก และเปลี่ยนชื่อเป็น Twitch

ซึ่งตัว Twitch เองก็ยังเป็นแพลตฟอร์มอันดับหนึ่งด้านการสตรีมเกม ดูได้จากสถิติจำนวนชั่วโมงที่มีคนรับชมวิดีโอบน Twitch ที่สูงกว่าคู่แข่งแบบทิ้งห่างหลายช่วงตัว

Twitch, Facebook Gaming และ YouTube Gaming คืออะไร ? และเลือกสตรีมที่ไหนดี ?
จำนวนชั่วโมงการรับชมบนแพลตฟอร์มสตรีมเกม ในไตรมาสที่ 3 ปี 2564
ภาพจาก : https://www.statista.com/statistics/1030795/hours-watched-streamlabs-platform/

นอกจากนี้ Twitch ยังเป็นแพลตฟอร์มที่มีฐานผู้ชมสูงที่สุดอีกด้วย อ้างอิงจากข้อมูลในเดือนเมษายน ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564) มีจำนวนผู้ชมเฉลี่ยทั้งเดือนสูงถึง 3,100,000 กว่าคน นั่นหมายความว่าการที่คุณสตรีมบนแพลตฟอร์ม Twitch จะมีโอกาสเข้าถึงผู้ชมจำนวนมากที่อยู่บนแพลตฟอร์มนี้ได้

ความสำเร็จของ Twitch ไม่ได้มาจากการที่มันเป็นแพลตฟอร์มแรกที่เน้นการสตรีมเกมเพียงอย่างเดียว แต่มาจากเทคโนโลยีของผู้พัฒนาด้วย โดยแพลตฟอร์ม Twitch มีการอัปเดตระบบให้มีความทันสมัยอยู่เสมอ มีการพัฒนาระบบใหม่ๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ชม และผู้ที่เป็น Creator ออกมาให้ใช้งานอยู่อย่างสม่ำเสมอ

ผู้ใช้สามารถเริ่มสตรีมไปยังแพลตฟอร์ม Twitch ได้จากหลากหลายอุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์, โน้ตบุ๊ก, เครื่องเกมคอนโซล หรือสมาร์ทโฟน ตัวแพลตฟอร์มถูกออกแบบมาให้ใช้งานง่าย และเป็นมิตรต่อผู้ใช้ มีซอฟต์แวร์สำหรับช่วยทำไลฟ์สตรีมของตนเองหลายตัว เช่น Twitch Studio, Soundtrach by Twitch ฯลฯ 

การหารายได้จากแพลตฟอร์ม Twitch สามารถทำได้หลายช่องทาง มีทั้ง Bits (เป็นสินค้าเสมือนที่ผู้ใช้สามารถซื้อ และใช้มันในข้อความแชทได้), Subscriptions (สมัครสมาชิก), Donations (รับบริจาคเงินโดยตรงจากผู้ชม), Ad revenue (รายได้จากค่าโฆษณา)

อย่างไรก็ตาม ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ แม้ Twitch จะมีฐานผู้ชมจำนวนเยอะมาก แต่ก็มีการแข่งขันที่สูงมากด้วยเช่นกัน ทำให้การที่ช่องของคุณจะได้รับความสนใจ และมีคนเข้ามารับชมเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก อีกปัญหาหนึ่งของ Twitch ที่เรื้อรังมาอย่างยาวนาน จนนักสตรีมหลายคนถึงกับย้ายแพลตฟอร์มหนีร คือการดูแลของทีมงาน ที่บางครั้งก็ทำการแบนไอดีแบบไม่ชี้แจงเหตุผลอย่างชัดเจน และแทบไม่มีโอกาสให้ยื่นอุทธรณ์เลยด้วย

ข้อดี

  • ลูกเล่นเพียบ และเครื่องมือมากมายให้เลือกใช้
  • ฐานผู้ชมขนาดใหญ่
  • มีช่องทางทำเงินหลายวิธี และค่าตอบแทนค่อนข้างสูงกว่าแพลตฟอร์มอื่น ๆ
  • มีแอปพลิเคชันให้ใช้งานเกือบทุกแพลตฟอร์ม รวมถึงในเครื่องเกมคอนโซล
  • สตรีมเกมจากสมาร์ทโฟนได้อย่างง่ายดาย
  • ระบบแชท และเครื่องมือควบคุมช่องที่ดีเยี่ยม

ข้อสังเกต

  • มีคู่แข่งสูง สตรีมเมอร์ที่มีชื่อเสียงยึดฐานคนดูส่วนใหญ่ไปหมดแล้ว
  • อาจโดนแบนแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย และผู้ดูแลระบบไม่เปิดโอกาสให้อุทธรณ์
  • สตรีมได้ที่ความละเอียดสูงสุด 1080p 60fps เท่านั้น
  • ต้องใช้เวลานานพอสมควรกว่าจะได้สถานะ Partner จึงจะสามารถหารายได้จากการสตรีมได้

 

Facebook Gaming - ทางเลือกสำหรับคนไม่ชอบ Twitch

บริการ Facebook Gaming คือ บริการของ Facebook ที่เพิ่งจะเปิดตัวได้เพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมา (เปิดตัวในปี ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561)) ทำให้พวกเครื่องมือ และลูกเล่นต่าง ๆ หากเทียบกับ Twitch แล้วยังมีให้ให้ใช้งานน้อยกว่ามาก แต่ก็มีลูกเล่นอื่นที่น่าสนใจมาให้ใช้งานแทน เช่น ระบบ Event สำหรับจัดการแข่งขัน

แม้ผู้ใช้งาน Facebook จะมีเป็นจำนวนมาก แต่กลุ่มผู้ชมที่ให้ความสนใจในการรับชมการสตรีมเกมก็ต้องยอมรับว่ายังมีจำนวนน้อยกว่าทาง Twitch มาก ซึ่งข้อดี คือทำให้คุณมีคู่แข่งน้อย มีโอกาสเข้าถึงกลุ่มคนดูได้ง่ายกว่า และหากคุณมีเงินทุน ก็มีตัวเลือกในการจ่ายเงินเพื่อซื้อโฆษณาโปรโมตช่องของคุณได้ด้วย

ปัญหาใหญ่ของ Facebook Gaming คือตัว หน้าจอเชื่อมต่อผู้ใช้งาน (User interface) ค่อนข้างแย่ เนื่องจากมันแทบจะไม่แตกต่างไปจากบริการ Facebook ปกติ ไม่ได้ให้ความรู้สึกถึงความเป็นแพลตฟอร์มสตรีมเกมสักเท่าไหร่นัก นอกจากนี้ทางด้านผู้ชมก็ไม่สามารถที่จะใช้นามแฝงเพื่อรับชมการสตรีมได้ โดยจะเห็นเป็นชื่อ และนามสกุลของ Facebook ที่ใช้งานอยู่จริงเลย ซึ่งอาจจะสามารถใช้ในการสืบหาข้อมูลส่วนตัวได้ บางคนที่หวงความเป็นส่วนจะไม่ชอบแสดงความเห็น หรือมีกิจกรรมร่วมในพื้นที่สาธารณะอย่างหน้าไลฟ์

ตัวเลือกในการสร้างรายได้ของ Facebook Gaming จะมีระบบ Bits เหมือนกับ Twitch โดยจะเป็นการให้ผู้ชมซื้อ "ดาว" ด้วยเงินจริง, การสมัครสมาชิก (Subscription), รายได้จากค่าโฆษณาที่ปรากฏระหว่างสตรีม และระบบ Built-in brand collab manager สำหรับเงื่อนไขการสร้างรายได้จาก Facebook Gaming ก็มีเงื่อนไขเริ่มต้นค่อนข้างง่ายเมื่อเทียบกับแพลตฟอร์มอื่น ๆ

ข้อดี

  • โปรโมตช่องง่าย (แค่มีเงิน)
  • อัตราการแข่งขันต่ำ แจ้งเกิดง่ายกว่าแพลตฟอร์มอื่น
  • รองรับการไลฟ์จากสมาร์ทโฟนโดยตรง
  • ผูกกับบัญชี Facebook ของคุณ ง่ายต่อการแบ่งปันให้เพื่อน หรือคนในครอบครัวรับชม
  • ได้รับเงินเต็มที่ 100% (ไม่ถูก Facebook หักค่าธรรมเนียม 30%) จนกว่าจะถึงปี ค.ศ. 2023 (พ.ศ. 2566)
  • เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ข้อสังเกต

  •  จำนวนฐานผู้ชมน้อย
  • ไม่มีแอปพลิเคชันบนเครื่องเกมคอนโซล
  • User interface ค่อนข้างแย่
  • ผู้ชมต้องใช้ชื่อจริงในการรับชม
  • ผ่านเกณฑ์เพื่อเริ่มสร้างรายได้ยากพอ ๆ กับแพลตฟอร์มอื่น แต่รอเวลาอนุมัติค่อนข้างนานกว่าแพลตฟอร์มอื่น
  • สตรีมได้ที่ความละเอียดสูงสุด 1080p 60fps เท่านั้น

 

YouTube - ไม่จำกัดแค่เรื่องเกมเพียงอย่างเดียว

เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า YouTube คือ แหล่งรับชมวิดีโอที่มีคลังวิดีโอขนาดใหญ่มากที่สุด และมันก็มีคุณสมบัติในการทำสตรีมถ่ายทอดสดให้ใช้งานด้วย ทำให้ระบบสตรีมของ YouTube ไม่ได้สร้างมาเพื่อนักเล่นเกมเพียงอย่างเดียว มันสามารถใช้เพื่อการสตรีมกับเนื้อหาได้ทุกประเภท มันมีเครื่องมืออย่างการ ถาม-ตอบ (Q&A) หรือระบบแชทให้ผู้สตรีมใช้ในการสนทนากับผู้ชมไลฟ์

หากคุณเป็นผู้ผลิตคลิปบน YouTube ที่มีผู้ติดตามอยู่ในมือ ก็เป็นเรื่องง่ายที่คุณจะผันตัวมาเป็นนักสตรีม การเริ่มต้นสตรีมบน YouTube เป็นเรื่องง่าย แต่ที่ยากคือการระวังเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากแพลตฟอร์ม YouTube มีการตรวจสอบเรื่องนี้ที่ค่อนข้างเข้มงวดมากทีเดียว ซึ่งหากคุณทำผิดกฏก็จะทำให้เสียโอกาสในการสร้างรายได้ไป

สำหรับช่องทางการหารายได้ ต้องยอมรับว่า YouTube มีช่องทางทำเงินที่น้อยกว่าแพลตฟอร์มอื่น แม้จะสามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการใช้ แอปพลิเคชัน บุคคลที่สาม (3rd-Party) เข้ามาช่วยในการเพิ่มช่องทางการรับเงินได้ 

ข้อดี

  • ฐานผู้ชมจำนวนมหาศาล
  • หากเป็น YouTubers อยู่แล้ว จะเริ่มต้นง่ายมาก
  • ระบบใช้งานง่าย
  • ตัวมันเป็นส่วนหนึ่งของ YouTube วิดีโอจะถูกบันทึกอัตโนมัติให้ทันที ไม่ต้องรอเวลาเหมือนกับ Twitch
  • สตรีมได้ที่ความละเอียดสูงสุดถึง 4K 60fps 
     

ข้อสังเกต

  •  ไม่มีคุณสมบัติที่สนับสนุนการเล่นเกมเป็นพิเศษ
  • ช่องทางรายได้น้อยกว่าแพลตฟอร์มอื่น
  • มีโอกาสเจอปัญหาลิขสิทธิ์ค่อนข้างสูง
  • ไม่มีระบบดูแล และควบคุมการแชท ที่ละเอียดเหมือน Twitch

 

รูปแบบ หรือโมเดลการสร้างรายได้ จากการสตรีม

ในหัวข้อนี้ เรามาเจาะลึกรายละเอียดเกี่ยวกับช่องทางสร้างรายได้ของแต่ละแพลตฟอร์มกันสักหน่อย

ช่องทางรายได้บน Twitch

  • Ads (โฆษณา) : เมื่อทำครบเงื่อนไขจนเข้าถึงโปรแกรม Affiliate (การทำการตลาดออนไลน์) จะสามารถเปิดคุณสมบัติโฆษณาได้ ซึ่งเป็นเหมือนกับระบบโฆษณาของ YouTube โดยส่วนใหญ่จะจ่ายให้ประมาณ $0.25 (ประมาณ 8.39 บาท) - $1.50 (ประมาณ 50.35 บาท) ต่อยอดผู้ชม 1,000 วิว

  • Bits (บิต) : เป็นชื่อของสินค้าเสมือนจริงที่มีขายใน Twitch ซึ่งผู้เข้าชมสามารถใช้ในการให้กำลังใจหรือสนับสนุนสตรีมเมอร์ ผ่านระบบแชท โดยมันจะเป็นพวกอิโมติคอนเคลื่อนไหว, โหวต, ระบบยศ และการจัดอันดับ โดยเมื่อผู้ชมซื้อ Bits ทาง Twitch จะหักรายได้ไป 29% และเหลือให้สตรีมเมอร์ 71%

  • Donation (การบริจาค) : ใน Twitch มีระบบให้ผู้เข้าชมสามารถบริจาคเงินให้กับสตรีมเมอร์ได้ผ่าน Paypal หรือระบบแลกเปลี่ยนเงินตราอื่น ๆ โดยการให้เงินผ่านช่องทางนี้สตรีมเมอร์จะได้รับเงิน 100% ดังนั้นหากตัวสตรีมเมอร์มีฐานแฟนคลับเยอะ จะสามารถสร้างรายได้เป็นจำนวนมาก

  • Subscriber (สมาชิก) : ระบบนี้เป็นจุดที่ Twitch มีความแตกต่างจาก YouTube ตรงที่ทาง Twitch จะหักค่าธรรมเนียม 50% (ต่ำกว่านี้หากว่าคุณเป็น Partner) ของค่าสมาชิก โดยค่าสมาชิกของ Twitch จะอยู่ที่ $5 (ประมาณ 167.81 บาท) หมายความว่าตัวสตรีมเมอร์จะได้รับเงิน $2.50 ต่อสมาชิกหนึ่งคนในทุกเดือน (ประมาณ 83.91 บาท) อาจจะฟังดูเป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่หากคุณมีผู้ติดตามเยอะ คุณอาจจะมีสมาชิกมากถึงหลักหมื่นคน นั่นหมายถึงหลายได้หลักแสนต่อเดือน

  • Merchandise (ขายสินค้า) : เป็นการไลฟ์ขายสินค้าที่ระลึกเกี่ยวกับตัวสตรีมเมอร์เอง โดยใน Twitch จะมีส่วนขยายสำหรับใช้ในการไลฟ์ขายสินค้าให้ใช้งานในตัวเลย

ช่องทางรายได้บน Facebook Gaming

  • Star (ดาว) : ดาวบน Facebook ก็เหมือนกับ Bits ของ Twitch หรือ Super Chat/Stickers ของ YouTube จะเรียกว่าเป็นเงินของระบบ Facebook Gaming สำหรับให้ผู้ชมใช้ในการบริจาคเงินให้กับสตรีมเมอร์ในขณะที่กำลังถ่ายทอดสดอยู่ โดยทุกครั้งที่บริจาค ชื่อของผู้บริจาคจะปรากฏบนหน้าต่างสนทนา โดยยิ่งจ่ายเยอะ ชื่อก็จะยิ่งโดดเด่น และปรากฏบนหน้าจอนานยิ่งขึ้น และได้ปลดล็อกเหรียญตราผู้บริจาคนำหน้าชื่อด้วย เพื่อบ่งบอกว่าคุณเป็นแฟนตัวจริงของสตรีมเมอร์คนดังกล่าว

    ราคาของดาวจะอยู่ที่ 100 ดาว ต่อ $1 (ประมาณ 33.56 บาท) โดยจะซื้อผ่านระบบของ Facebook ซึ่งจะมีค่าธรรมเนียมด้วย ทำให้ต้องจ่ายที่ $1.4 (ประมาณ 46.98 บาท) ส่วนทางสตรีมเมอร์ที่ได้รับดาวไป จะได้เงินเต็ม ๆ โดยไม่ถูกหักค่าธรรมเนียม ซึ่งจะอยู่ที่ 100 ดาว ต่อ $1 (ประมาณ 33.56 บาท)

  • Supporter (ผู้สนับสนุน) : Facebook Gaming Supporters ก็เหมือนกับระบบสมาชิกของ Twitch และ YouTube แต่ผู้ใช้สามารถกำหนดราคาได้เองตั้งแต่ $0.99 - $99.99 (ประมาณ 33.23 - 3,356.26 บาท) ต่อเดือน โดยรายได้จากค่าสมาชิกทางสตรีมเมอร์จะได้รับ 100% เต็ม (อย่างน้อยก็จนถึงปี ค.ศ. 2023 (พ.ศ. 2566)) อย่างไรก็ตาม จะได้ 100% เฉพาะผู้ที่สมัครผ่านคอมพิวเตอร์เท่านั้น หากเป็นผู้ที่สมัครผ่านสมาร์ทโฟนจะโดนหัก 30% เพราะเป็นค่าธรรมเนียมที่ทาง Facebook ต้องจ่ายให้ Apple หรือ Google เวลาชำระเงิน

  • Donation (การบริจาค) : บน Facebook Gaming ผู้สตรีมสามารถรับเงินบริจาคได้เช่นกัน แต่ว่าไม่มีระบบรองรับให้ในตัว ต้องใช้แอป 3rd-Party เข้ามาช่วยในการวางลิงก์

  • Ads (โฆษณา) : การสร้างรายได้จากโฆษณาบน Facebook Gaming ตัวสตรีมเมอร์จะต้องเป็น Partner เสียก่อน โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีผู้ติดตามอย่างน้อย 10,000 คน และมีชั่วโมงการรับชมอย่างน้อย 30,000 นาที โดยส่วนใหญ่จะจ่ายให้ประมาณ $2 (ประมาณ 67.13 บาท) - $5 (ประมาณ 167.82 บาท) ต่อยอด 1,000 วิว

ช่องทางรายได้บน YouTube

  • Ads (โฆษณา) : มีความคล้ายคลึงกับ Twitch โดยคุณจะสามารถหาเงินจากโฆษณาได้หลังจากที่ผ่านเงื่อนไขที่กำหนดแล้ว แต่ว่าค่าตอบแทนของ YouTube จะสูงกว่า โดยส่วนใหญ่จะจ่ายให้ประมาณ $3 (ประมาณ 100.46 บาท) - $5 (ประมาณ 167.44 บาท) ต่อยอดผู้ชม 1,000 วิว

  • Donation (การบริจาค) : บน YouTube ผู้สตรีมสามารถรับเงินบริจาคได้เช่นกัน แต่ว่าไม่มีระบบรองรับให้ในตัว ต้องใช้แอป 3rd-Party เข้ามาช่วยในการวางลิงก์

  • Member (สมาชิก) : ระบบสมาชิกของ YouTube ก็เหมือนกับระบบ Subscribers ของ Twitch โดยจะเริ่มใช้งานคุณสมบัตินี้ได้ต่อเมื่อมีผู้ติดตามอย่างน้อย 1,000 คน โดยค่าสมาชิกจะอยู่ที่ $4.99 (ประมาณ 167.11 บาท) ส่วนนี้ทาง YouTube จะหักไป 30% เหลือให้สตรีมเมอร์ 70% หรือ $3.5 (ประมาณ 117.21 บาท)

  • Super Chat (ซุปเปอร์แชท) : เป็นระบบบริจาคเงินของ YouTube น่าเศร้าที่ทางระบบจะหักค่าธรรมเนียมออกไป 30% ซึ่งทาง Twitch ไม่มีการหัก (ยกเว้นการบริจาคผ่านบิต)

ตารางเปรียบเทียบ ความแตกต่างระหว่าง Twitch, Facebook Gaming และ YouTube

เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจถึงความแตกต่าง เรามาดูตารางเปรียบเทียบ คุณสมบัติของทั้ง 3 แพลตฟอร์มนี้กันสักหน่อย

  Twitch

Facebook Gaming

YouTube
จำนวนผู้ใช้
  • สตรีมเมอร์เยอะ
  • ผู้ชมเยอะ
  • สตรีมเมอร์น้อย
  • ผู้ชมน้อย
  • สตรีมเมอร์น้อย
  • ผู้ชมเยอะ
การค้นพบ
  • ใช้ระบบแสดงผลคลิปตามยอดวิว ทำให้สตรีมเมอร์หน้าใหม่แจ้งเกิดยาก
  • สามารถจ่ายเงินเพื่อโปรโมตได้
  • เป็นส่วนหนึ่งของโซเชียลเน็ตเวิร์ก
  • มีระบบค้นหาที่ยอดเยี่ยม
  • สามารถใส่ปกเพื่อดึงดูดความสนใจ

วัฒนธรรมของแพลตฟอร์ม

  • สตรีมเมอร์ และผู้ชมมักจะพูดคุยกันอย่างสนิทสนม
  • มักแนะนำช่องสตรีมต่อกันแบบปากต่อปาก
  • ผู้ชมจะนิยมกดติดตามสตรีมเมอร์คนโปรด และรับชมเมื่อมีการแจ้งเตือน
  • ผู้ชมจะนิยมกดติดตามสตรีมเมอร์คนโปรด และรับชมเมื่อมีการแจ้งเตือน
ค่าธรรมเนียม
  • รายได้จากแพลตฟอร์มจะถูกหัก 50%
  • เงินจากการบริจาค จะได้รับ 100%
  • ได้รายได้ 100% จนกว่าจะถึงปี ค.ศ. 2023 (หลังจากนั้นจะถูกหัก 30%)
  • เงินจากการบริจาค จะได้รับ 100% 
  • รายได้จากแพลตฟอร์มจะถูกหัก 30%
  • เงินจากการบริจาค จะได้รับ 100%
เงื่อนไขในการสร้างรายได้จากโฆษณา
  • มีผู้ชมเกิน 500 นาที ภายใน 30 วันล่าสุด
  • ถ่ายทอดสดเนื้อหาที่ไม่ซ้ำกัน 7 ครั้ง ภายใน 30 วันล่าสุด
  • มีผู้ชมเฉลี่ยอย่างน้อย 3 คน ภายใน 30 วันล่าสุด
  • มีผู้ติดตามมากกว่า 50 คน
  • มีวิดีโอความยาวอย่างน้อย 3 นาที และมีผู้ชมโฆษณาในคลิปดังกล่าวอย่างน้อย 1 นาที
  • มีผู้ติดตามอย่างน้อย 10,000 คน
  • มีผู้ชมเกิน 4,000 ชม. ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา
  • มีผู้ติดตามมากกว่า 1,000 คน




  •  
  •  
  •  
ความเข้มงวด
  • ขึ้นชื่อเรื่องแบนโดยไม่ชี้แจงล่วงหน้า และไม่บอกเหตุผล
  • ไม่เข้มงวดมากนัก
  • สามารถยื่นอุทธรณ์เวลามีปัญหา
  • เข้มงวดเรื่องลิขสิทธิ์
  • สามารถยื่นอุทธรณ์เวลามีปัญหา
  • สามารถกระทำความผิดได้ 3 ครั้ง

Twitch, Facebook Gaming และ YouTube สตรีมที่ไหนดีสุด ?

โดยส่วนใหญ่แล้วแพลตฟอร์มที่เป็นที่ถกเถียงกันมากที่สุดก็จะเกิดขึ้นระหว่าง Twitch และ YouTube อย่างไรก็ตาม ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า แพลตฟอร์ม Facebook Gaming ก็มีคนนิยมอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน ทุกแพลตฟอร์มเราสามารถใช้งานได้ฟรี แต่ละแพลตฟอร์มเราก็ได้เจาะลึกรายละเอียดกันไปแล้ว ซึ่งไม่ว่าจะเลือกช่องทางไหนมันก็มีจุดเด่น และจุดด้อยที่แตกต่างกัน

Twitch เป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมจากทั้งมือสมัครเล่น และมืออาชีพ สตรีมเมอร์ชื่อดังระดับโลกหลายคนก็สิงอยู่บนแพลตฟอร์ม Twitch อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่มันเป็นแพลตฟอร์มของสตรีมเมอร์โดยเฉพาะ ทำให้มีการแข่งขันสูงมาก อีกทั้งระบบของ Twitch ก็เลือกที่จะแสดงผลคลิปที่มียอดเข้าชมสูงเป็นหลัก ทำให้โอกาสแจ้งเกิดของสตรีมเมอร์หน้าใหม่ทำได้ค่อนข้างยาก

ทางด้าน YouTube ก็จะมีข้อดีตรงสามารถสร้างฐานคนดูจากคลิปวิดีโอ นอกเหนือไปจากการไลฟ์สตรีมแต่เพียงอย่างเดียว อีกทั้งยังมีระบบค้นหาที่สามารถทำหน้าปกเพื่อดึงดูดความสนใจ หรือทำ SEO ควบคู่ไปด้วยก็ได้ 

หรือ Facebook Gaming ก็ยังเป็นตลาดที่มีโอกาสรออยู่อีกเยอะ รายได้ก็เต็มเม็ดเต็มหน่วย แถมยังสามารถใช้เงินซื้อโฆษณาเพื่อช่วยโปรโมตช่องได้ด้วย

ดังนั้น การจะเลือกว่าจะใช้แพลตฟอร์มไหน ก็คงต้องพิจารณาจากความต้องการ และคุณสมบัติที่มีอยู่แล้วของตัวผู้สตรีมเป็นหลัก


ที่มา : www.maketecheasier.com , www.streamscheme.com , streamersplaybook.com , www.esports.net , onlypult.com , instreamly.com , www.digitalinformationworld.com , www.statista.com , gamerant.com , visualsbyimpulse.com , help.twitch.tv , help.twitch.tv , www.facebook.com , www.lifewire.com

0 Twitch%2C+Facebook+Gaming+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%C2%A0YouTube+Gaming+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A1%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B5+%3F
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น