ในงานสายไอทีนอกจาก ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ หรือเดฟ (Software Developer) แล้ว นักออกแบบหน้าจอผู้ใช้งาน (User Interface Designer หรือ UI Designer) และ นักออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้งาน (User Experience Designer หรือ UX Designer) ก็เป็นตำแหน่งงานที่เราน่าจะได้ยินกันเป็นประจำ
คนมักเข้าใจผิด คิดว่า UI กับ UX เป็นคำที่สามารถใช้แทนกันได้ แต่ในความเป็นจริงแม้ UI กับ UX จะมีความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกัน แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องเดียวกันนะ
บ่อยครั้งที่ UI Design และ UX Designer ต้องทำงานร่วมกัน แม้เนื้องานจะเป็นด้านการออกแบบเหมือนกัน แต่ว่าสิ่งที่ทั้งคู่ให้ความสำคัญจะอยู่คนละด้านเลย ส่วนที่ว่ามันจะแตกต่างกันอย่างไรนั้น มาลองอ่านคำตอบไปพร้อมๆ กันด้านล่างนี้เลย
ในยุคนี้ กิจวัตรในชีวิตประจำวันของเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงอุปกรณ์ดิจิทัลไปได้เลย มันไม่ใช่แค่คอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟนเท่านั้น ตู้เอทีเอ็ม, เครื่องคิดเลข, ทางเข้าชานชาลา BTS, ไฟจราจร ฯลฯ สมัยนี้ก็เป็นดิจิทัลหมดแล้ว พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ทุกอย่างใช้คอมพิวเตอร์ในการควบคุม โดยเวลาที่เราใช้งาน เราจะควบคุมอุปกรณ์นั้นผ่าน "ส่วนต่อประสานกับผู้ใช้" หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า "User Interface (UI)" นั่นเอง
เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปในช่วง ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513) ยุคนั้นเวลาเราใช้งานคอมพิวเตอร์ เราไม่สามารถเอาเมาส์คลิก มีซอฟต์แวร์หน้าตาสวยงามให้เราใช้นะ ทุกอย่างจะอาศัยการพิมพ์ป้อนข้อมูลคำสั่ง หรือที่เราเรียกกันว่า "Command Line" เท่านั้น
กล่าวได้ว่าคอมพิวเตอร์สมัยก่อนใช้งานยากมาก ผู้ใช้จำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาคอมพิวเตอร์ และจดจำคำสั่งเยอะมากเลยล่ะ ถึงจะสามารถทำงานร่วมกับคอมพิวเตอร์ได้
ภาพจาก : https://sites.google.com/site/adasxzc5569/home/rabb-ptibati-kar-dxs-disk-operating-system-dos
จนกระทั่ง ปี ค.ศ. 1973 (พ.ศ. 2516) นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์แห่ง Xerox PARC ได้พัฒนาคอมพิวเตอร์แบบใหม่ พึ่งพาการควบคุมผ่านหน้าจอผู้ใช้งานแบบกราฟิก (Graphical User Interface - GUI) เป็นหลักขึ้นมา ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้จดจำคำสั่งมากมายให้ปวดหัวอีกต่อไป มันมีทั้ง ปุ่ม (Button) ไอคอน (Icon) และองค์ประกอบอื่นๆ อีกมากมาย ให้คุณได้สามารถโต้ตอบ และสั่งงานกับเครื่องคอมพิวเตอร์ได้อย่างสะดวกสบาย และประหยัดเวลา
การที่คอมพิวเตอร์ก้าวเข้าสู่ยุค GUI ถือเป็นย่างก้าวที่สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ เพราะมันทำให้ทุกคนสามารถใช้งานคอมพิวเตอร์ได้โดยไม่ต้องเรียนรู้ภาษาคอมพิวเตอร์อีกต่อไป
ภาพจาก : https://www.righto.com/2017/10/the-xerox-alto-smalltalk-and-rewriting.html
ในปี ค.ศ. 1984 (พ.ศ. 2527) ทางแอปเปิล (Apple) ได้เปิดตัวคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลแมคอินทอช (Macintosh Personal Computer) ต่อมาในปี ค.ศ. 1985 (พ.ศ. 2528) ไมโครซอฟท์ (Microsoft) ก็เปิดตัวระบบปฏิบัติการวินโดวส์ (Windows OS) เวอร์ชันแรกออกมา
อ่านเพิ่มเติม : ระบบปฏิบัติการ Windows มีประวัติความเป็นมาอย่างไร ?
ความสำเร็จของ GUI ได้ทำให้การสร้าง Interface จำเป็นต้องออกแบบโดยคำนึงถึงผู้ใช้งานด้วย ต่อให้ฮาร์ดแวร์ดีแค่ไหน แต่ถ้าผู้ใช้งานรู้สึกว่ามันใช้ยาก ปัญหาดังกล่าวก็จะส่งผลต่อยอดขายได้ ตำแหน่งนักออกแบบ UI จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมา
ซึ่งทุกวันนี้ นักออกแบบ UI ก็มีบทบาทกว้างขึ้น ไม่ได้จำกัดแค่ Interface ของคอมพิวเตอร์เท่านั้น ความรับผิดชอบได้รวมไปถึงบนสมาร์ทโฟน, AR, VR หรือแม้แต่ UI ที่มองไม่เห็นอย่างเสียง, แสง และท่าทาง ด้วยซ้ำ
"ประสบการณ์ของผู้ใช้งาน" หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า "User Experience - UX" เป็นผลจากวิวัฒนาการของ UI ที่กล่าวมาแล้วด้านบน ซึ่งเมื่อผู้ใช้มีการปฏิสัมพันธ์กับ UI สิ่งหนึ่งที่ผู้ใช้จะได้รับ คือ ประสบการณ์ของผู้ใช้งาน ซึ่งมันอาจจะให้ความรู้สึกในแง่บวก, แง่ลบ หรือเฉยๆ ก็ได้ แน่นอนว่า UI ที่ดีก็ควรจะให้ ประสบการณ์ของผู้ใช้งานที่ดีด้วยเช่นกัน ซึ่งก็จะเป็นหน้าที่ของนักออกแบบ UX นั่นเอง
Don Norman นักวิทยาศาสตร์ด้านความรู้ความเข้าใจ (Cognitive Science) เป็นผู้ที่ได้รับยกย่องว่าได้ให้กำเนิดนิยามของ "User Experience" เป็นคนแรกในปี ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) สมัยที่เขาทำงานร่วมกับบริษัท Apple โดยเขาได้กล่าวว่า
User Experience ครอบคลุมในทุกแง่มุมของประสบการณ์ที่ผู้ใช้งานได้รับ จากการมีปฏิสัมพันธ์กับบริการ และสินค้าของบริษัท" จะเห็นได้ว่า UX ไม่จำกัดแค่เพียงในโลกดิจิทัลเท่านั้น ผู้เชี่ยวชาญด้าน UX บางคน ถึงกับกล่าวว่ามันเป็นงาน ออกแบบประสบการณ์
ภาพจาก : https://www.mauriziopittau.it/digital-marketing/the-value-of-user-experience-in-digital-marketing/
ตัวอย่างคลาสสิคที่มักถูกยกมาใช้เวลาที่ต้องการอธิบายความแตกต่างระหว่าง User Interface (UI) กับ User Experience (UX) คือ ขวดซอสมะเขือเทศ
เริ่มจาก นักออกแบบหน้าจอผู้ใช้งาน (UI Designer) จะเน้นให้ความสำคัญกับความสวยงามของตัวผลิตภัณฑ์ ไม่ว่าหน้าตา, รูปทรงขวด, สีที่ใช้ และลักษณะฉลากที่มีความดึงดูดสายตา เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าซอสมะเขือเทศแบบขวดแก้วนี้ มีประสบการณ์ของผู้ใช้งาน (User Experience) ที่ค่อนข้างแย่ ซอสจะกองอยู่ก้นขวด เทยาก ต้องเขย่าอย่างยากลำบากกว่าซอสจะไหลออกมา แถมกะปริมาณที่ซอสจะไหลออกมาได้ยากมาก
ข้อมูลเพิ่มเติม : A/B Testing คืออะไร ? มีความสำคัญกับการออกแบบ กับ UX/UI อย่างไร ?
เมื่อเทียบกับขวดซอสมะเขือเทศอีกแบบ ที่ดีไซน์ให้วางคว่ำ โดยอาศัยขนาดของฝา และทิศทางของฉลาก ทำให้ผู้ใช้เข้าใจได้โดยสัญชาตญาณว่าควรจะวางขวดแบบไหน รวมถึงเปลี่ยนวัสดุเป็นพลาสติกที่สามารถบีบได้ ทำให้การเทซอสออกจากขวดทำได้ง่าย และสะดวกกว่าเดิมมาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องของการออกแบบ UX นั่นเอง
ภาพจาก : https://medium.com/zartek/why-people-need-to-stop-obsessing-over-ui-design-9fe4d235ff84
UI และ UX สามารถทำได้ดีทั้งคู่ แต่ก็ไม่เสมอไป บางครั้งเราก็เจอ "UI แย่ แต่ UX ดี" บางทีเราก็เจอ "UI ดี แต่ UX แย่" ตัวอย่างเช่น โปรแกรม Notepad++ โปรแกรมนี้ไม่ได้มี UI ที่สวยงาม มันออกแบบมาเรียบๆ เน้นใช้งานง่าย ถือว่าเป็นโปรแกรมที่ UX ดี แต่ UI ยังไม่ดีเท่าไหร่นัก
จะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะ User Interface หรือ User Experience นั้นมีหน้าที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน แต่ทั้งคู่มีความสำคัญ และต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ หรือบริการออกมาดีที่สุด
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |