ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

การซื้อเก้าอี้ทำงาน หรือ เก้าอี้เล่นคอมพิวเตอร์ เก้าอี้เล่นเกม ควรพิจารณาด้านไหนบ้าง ?

การซื้อเก้าอี้ทำงาน หรือ เก้าอี้เล่นคอมพิวเตอร์ เก้าอี้เล่นเกม ควรพิจารณาด้านไหนบ้าง ?
ภาพจาก : https://www.freepik.com/free-vector/office-person-with-correct-posture-sitting-computer-desk-right-position-distance-screen-character-with-healthy-back-work-flat-vector-illustration-health-ergonomics-concept_23548109.htm
เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 3,919
เขียนโดย :
0 %E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%8B%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99+%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD+%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C+%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A1+%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87+%3F
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

การซื้อเก้าอี้ทำงาน หรือ เก้าอี้เล่นคอมพิวเตอร์ เก้าอี้เล่นเกม
ควรพิจารณาด้านไหน หรือ ดูตรงไหนเป็นพิเศษบ้าง ?

เก้าอี้ (Chair) เป็นสิ่งที่หลายคนมองข้ามความสำคัญของมันไป ทั้ง ๆ ที่คนส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาเกือบทั้งวันอยู่บนเก้าอี้ ปัญหา ออฟฟิศซินโดรม (Office Syndrome) ที่มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่เป็นกัน หนึ่งในปัจจัยหลักก็มาจากท่านั่งทำงานที่ไม่เหมาะสม ซึ่งเก้าอี้ที่เราใช้สามารถส่งผลต่อท่านั่งได้โดยตรง

ข้อมูลเพิ่มเติม : รีวิว Office Syndrome วิธีบริหารร่างกายเบื้องต้น ของ โรคออฟฟิศซินโดรม

หากเรามองไปในท้องตลาด เราจะเห็นว่ามีเก้าอี้ให้เลือกหลายอยู่หลายรูปแบบ ระดับราคาก็อาจจะไม่กี่ร้อยบาทไปจนถึงหลักแสน แล้วเราจะเลือกซื้ออย่างไรดี ? ในบทความนี้เรามีคำแนะนำในการเลือกซื้อเก้าอี้มาฝากกัน

เนื้อหาภายในบทความ

กำหนดงบประมาณให้เก้าอี้
(Set a budget for your chair)

ไม่ว่าคุณจะซื้ออะไรก็ตาม ? สิ่งแรกที่ควรกำหนดไว้ก่อนเลย คืองบประมาณ เพราะมันจะช่วยลดขอบเขตตัวเลือกที่คุณจำเป็นต้องพิจารณาได้อย่างรวดเร็ว 

เก้าอี้มีให้เลือกซื้ออยู่หลายระดับราคา แตกต่างกันไปตามคุณสมบัติ, วัสดุ และดีไซน์ของเก้าอี้ ราคาเริ่มต้นของเก้าอี้ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นที่หลักร้อย แต่เก้าอี้คุณภาพดี ๆ จากผู้ผลิตที่มีชื่อเสียงก็อาจจะมีราคาที่หลักแสน

โดยส่วนตัวผู้เขียนมองว่า งบของเก้าอี้ไม่ควรตั้งไว้เกิน 35,000 บาท อาจจะมีบวกลบได้บ้างนิดหน่อย เพราะงบเท่านี้ก็จะได้เก้าอี้คุณภาพสูงที่เพียงพอต่อการใช้งาน และตอบโจทย์ด้านสุขภาพของผู้นั่งแล้ว แต่ถ้าคุณเป็นสุลต่านก็ไม่ว่ากัน หากคุณมีความหลงใหล จะซื้อเก้าอี้ Aresline Xten by Pininfarina ที่ตัวละ $1,500,000 (ประมาณ 51,402,000 บาท) มาใช้งาน ก็ถือว่าคุ้มค่า เพราะถูกใจไม่มีคำว่าแพงอยู่แล้ว

กำหนดงบประมาณให้เก้าอี้ (Set a budget for your chair)
เก้าอี้ Xten by Ares Line ออกแบบโดย Pininfarina ราคาตัวละ $1,500,000 (ประมาณ 51,402,000 บาท)
ภาพจาก : https://www.architonic.com/en/product/ares-line-xten/1094044

อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับว่าเก้าอี้ที่มีการออกแบบที่ดี นั่งแล้วได้ท่านั่งที่มีความถูกต้องตามหลักสรีรศาสตร์ และใช้วัสดุคุณภาพดี มีความทนทานสูง ก็จะไม่ได้วางจำหน่ายในราคาที่ต่ำมากนัก โดยเฉลี่ยแล้วเก้าอี้ที่น่าจะใช้งาน จะมีราคาเริ่มต้นประมาณ 7,000 บาท เก้าอี้ที่คุณสมบัติคล้ายคลึงถูกกว่านี้ก็มี แต่มันก็แลกมาด้วยความทนทาน และระยะเวลาการรับประกัน หรือไม่ก็ไม่มีประกันให้เลย ลองพิจารณาดูว่าคุณอยากจะซื้อเก้าอี้ราคาถูกที่อาจต้องซื้อใหม่ทุกปี หรือจะจ่ายแพงกว่าตัว แต่สามารถใช้งานได้หลายปี

งบไม่ถึง อาจพิจารณาเลือกซื้อเก้าอี้มือสอง

หากงบประมาณของคุณมีจำกัดจริง ๆ การพิจารณาเลือกซื้อเก้าอี้มือสองมาใช้งาน ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ คุณอาจจะได้เก้าอี้คุณภาพสูงในราคาที่ต่ำกว่าราคามือหนึ่งถึง 20-50% เราต้องยอมรับว่าเก้าอี้ที่แพง ออกแบบมาดี ไม่ได้แปลว่ามันจะนั่งสบายกันทุกคน เพราะร่างกายของมนุษย์มีความสูง, ความยาวของช่วงหลัง, ความยาวของขา และความกว้างของลำตัวที่แตกต่างกัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากคุณจะพบว่ามีคนขายเก้าอี้มือสองที่เพิ่งซื้อมาใช้งานได้ไม่นาน มีประกันเหลืออยู่กันเป็นจำนวนมาก

เลือกประเภทของเก้าอี้
(Choose the type of chair)

เมื่อตั้งงบประมาณได้แล้ว ประเด็นสำคัญถัดมา คือรูปแบบของเก้าอี้ เนื่องจากเก้าอี้มีการออกแบบหน้าตามาหลายรูปแบบมาก ๆ นอกจากความสวยงามที่ถูกใจแล้ว การเลือกเก้าอี้ให้เหมาะสมกับพื้นที่ทำงานของคุณก็สำคัญเช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่น หากคุณมีพื้นที่จำกัด และโต๊ะขนาดเล็ก หรือเป็นโต๊ะยืนทำงาน (Standing Desk) ก็ควรจะเลือกเก้าอี้ทำงานที่มีขนาดกะทัดรัด หรือเลือกใช้เก้าอี้สตูล (Stool) หรือจะเป็นเรื่องความสำคัญขององค์ประกอบเก้าอี้ เช่นว่า ต้องการที่พิงหัวหรือไม่ ? ที่วางแขนจำเป็นต้องมีหรือเปล่า ? ความสำคัญขององค์ประกอบที่ว่ามานี้จะช่วยให้คุณพิจารณาเลือกเก้าอี้ได้ตรงกับความต้องการมากยิ่งขึ้น

วัสดุก็เป็นอีกจุดหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะมีอยู่ 2 ประเภท คือ เก้าอี้ผ้า และเก้าอี้หนัง (ไม่ว่าจะหนังแท้ หรือหนังเทียม) ซึ่งทั้งคู่ก็มีข้อดี และข้อเสียที่แตกต่างกัน เก้าอี้ผ้าจะมีความโปร่ง นั่งแล้วเย็นสบายกว่า แต่ก็ทำความสะอาดยาก ในขณะที่เก้าอี้หนังจะดูหรูหรา ทำความสะอาดง่าย แต่ถ้าใช้ในห้องที่ค่อนข้างร้อน ไม่ใช่ห้องแอร์ เวลานั่งก็จะรู้สึกร้อนมากกว่า

เก้าอี้ที่ราคาค่อนข้างสูง มักจะมีตัวเลือกให้ผู้ใช้ปรับแต่งได้ว่าต้องวัสดุหุ้มเก้าอี้แบบไหน  อาจจะมีเจลเย็นอยู่ใต้เบาะเพื่อช่วยลดอุณหภูมิของผู้นั่ง หรือแผ่นทำความร้อนสำหรับผู้ที่ทำงานในเมืองหนาว (ในไทยไม่น่าจะมีการนำเก้าอี้ที่มีแผ่นทำความร้อนในตัวมาจำหน่ายนะ แค่นี้ก็ร้อนจะตายอยู่แล้ว)

เลือกประเภทของเก้าอี้ (Choose the type of chair)
Secretlab TITAN Evo 2022 Series ที่ผู้ซื้อสามารถเลือกวัสดุ และความสูงของเก้าอี้ได้
ภาพจาก : https://secretlab.sg/products/titan-evo-2022-series?sku=R22SW-CnC

การออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์ มีความสำคัญหรือไม่ ?
(Is ergonomic design important ?)

เก้าอี้ที่ออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์ หรือ "Ergonomic Chair" เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่กำลังมาแรง ซึ่งอันที่จริงมันก็ไม่ใช่ของใหม่อะไร แต่อาจจะเพราะคนในสมัยนี้เริ่มหันมาใส่ใจลงทุนด้านสุขภาพ มีผู้ที่ประสบปัญหาออฟฟิศซินโดรมกันมากขึ้น ทำให้เก้าอี้ที่ถูกผลิตออกมาจำหน่ายในปัจจุบันนี้ เริ่มออกแบบโดยให้ความสำคัญกับหลักสรีรศาสตร์ แต่มันก็ยังมีข้อแตกต่างระหว่างเก้าอี้ทั่วไปที่ออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์ กับเก้าอี้ที่เป็นเก้าอี้สรีรศาสตร์ (Ergonomic Chair) เลยจริง ๆ อยู่นะ

เก้าอี้ทั่วไปจะไม่สามารถปรับตำแหน่งของตัวเก้าอี้ได้มากนัก ส่วนใหญ่ก็จะทำได้แค่ปรับความสูงของเบาะ และความสูงของที่วางแขน แต่ในกรณีที่เป็นเก้าอี้สรีรศาสตร์ (Ergonomic Chair) ผู้ใช้งานจะสามารถปรับระดับความสูง, ระดับเบาะรองหลัง, ความเอียง, เลื่อนซ้ายขวา ขึ้นลง และปรับองศาได้แทบทุกส่วนของเก้าอี้ เพื่อให้ตำแหน่งของจุดต่าง ๆ บนเบาะในเวลานั่งมีความเหมาะสมกับผู้นั่งมากที่สุด

การออกแบบตามหลักสรีรศาสตร์ มีความสำคัญหรือไม่ ? (Is ergonomic design important ?)
เก้าอี้สรีรศาสตร์ อนุญาตให้ผู้ใช้ปรับตำแหน่งต่าง ๆ ของเก้าอี้ได้อย่างอิสระ
ภาพจาก : https://blog.durian.in/buying-guide-comfortable-office-chairs/

แน่นอนว่า เก้าอี้สำนักงานส่วนใหญ่จะมีการทดสอบการนั่งให้เหมาะสมกับหลักสรีรศาสตร์มาแล้ว เพื่อให้ผู้ใช้สามารถนั่งทำงานได้อย่างสบายมากที่สุด แต่เราก็ต้องยอมรับว่ามันไม่ได้เหมาะกับทุกคน เก้าอี้สรีรศาสตร์จึงเป็นอีกทางเลือก ด้วยความสามารถที่ให้อิสระในการปรับแต่ง ทำให้คนที่มีปัญหาในการนั่งเก้าอี้ธรรมดาสามารถปรับเก้าอี้จนได้ตำแหน่งท่านั่งที่สบายที่สุดของตนเอง

ใครที่ประสบปัญหานั่งเก้าอี้นาน ๆ แล้วปวดหลัง ปวดสะโพก เก้าอี้สรีรศาสตร์น่าจะสามารถแก้ไขปัญหาให้คุณได้ ข้อเสียเพียงอย่างเดียวของเก้าอี้ชนิดนี้ คือราคาที่ค่อนข้างสูงกว่าปกติ ยิ่งปรับได้เยอะ ราคาก็ยิ่งแพงตามไปด้วย

เบาะรองหลัง หรือ หมอนรองหลัง ก็สำคัญเช่นกัน
(Back Cushion or Back Pillow is also important)

ใครที่ชอบหาหมอนเล็ก ๆ มาหนุนหลังระหว่างที่นั่งทำงาน คงจะเข้าใจดีอยู่แล้วว่ามันทำให้เรานั่งสบายมากขึ้นได้ขนาดไหน ในเก้าอี้ราคาประหยัดจะไม่ค่อยมีเบาะรองหลังให้ในตัว (อาจจะขายแยกเป็นอุปกรณ์เสริม) และถึงมีก็จะไม่สามารถปรับระดับความสูงของตัวเบาะได้

ซึ่งเอาจริง ๆ เบาะรองหลังนี่ค่อนข้างสำคัญนะ มันทำให้เวลาที่เรานั่งลงไปมีความรู้สึกสบายมากกว่าการที่ไม่มีเบาะรองหลังพอสมควรเลย ในเก้าอี้ที่ราคาระดับกลาง ผู้ผลิตมักจะมีการใส่เบาะรองหลังมาให้ในตัว และหากเป็นเก้าอี้ที่ราคาสูงหน่อย จะมีกลไกที่สามารถใช้ปรับระดับความสูง และตำแหน่งของตัวเบาะได้ด้วย

เบาะรองหลัง หรือ หมอนรองหลัง ก็สำคัญเช่นกัน (Back Cushion or Back Pillow is also important)
ภาพจาก : https://www.indiegogo.com/projects/andaseat-kaiser-3-ultimate-magnetic-gaming-chair#/

ลองไปนั่งเก้าอี้ของจริงด้วยตนเอง
(Try to sit on a chair by yourself before you buy)

สุดท้ายไม่ว่าสเปกของเก้าอี้จะดีแค่ไหน ก็เป็นเรื่องยากอยู่ดีที่จะบอกว่ามันเป็นเก้าอี้ที่ดีสำหรับคุณจริง ๆ หรือเปล่า เก้าอี้สรีรศาสตร์บางยี่ห้อ เวลาที่คุณไปซื้อถึงต้องมีการวัดระดับความกว้าง (Width), ความสูง (Height) ความยาวของสระระร่างกายผู้นั่ง ก่อนที่จะแนะนำตัวเลือกเก้าอี้ที่เหมาะสมให้

ในเก้าอี้ธรรมดาก็เช่นกัน คุณควรจะไปลองนั่งของจริงด้วยตนเองก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ จะได้ไม่เสียใจในภายหลังเมื่อซื้อเก้าอี้ที่นั่งแล้วไม่ถูกใจมา การลองนั่งแค่ 5 นาที อาจจะไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก เพราะเราควรทดสอบด้วยการนั่งหลายชั่วโมง เพื่อให้ได้รับประสบการณ์ในการใช้งานที่สมจริง แต่มันก็ดีกว่าไม่ได้ลองทดสอบนั่งเลย อาจจะเสียเวลาเดินทางไปบ้าง แต่มันจะไม่ทำให้คุณเสียอารมณ์อย่างแน่นอน


ที่มา : www.techradar.com

0 %E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%8B%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99+%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD+%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B8%84%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C+%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B9%88%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A1+%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%B2%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%9A%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87+%3F
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น