ในบทความนี้เราจะมา ป้ายยา เชิญชวนให้ทุกท่านรู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า "Bias Lighting" คำนี้ต้องขออนุญาตทับศัพท์ไป เพราะถ้าแปลเป็นภาษาไทย จะแปลว่า "แสงอคติ" นี่ เราก็ไม่เคยได้ยินคำนี้มาก่อน แถมมันยังฟังดูแปลกอีกด้วย
คำว่า Bias Lighting อาจจะไม่คุ้นหูเรากันสักเท่าไหร่ แต่ในความเป็นจริง หลายคนก็ใช้งานมันอยู่โดยไม่รู้ตัวว่ามันคือ Bias Lighting บางคนก็เรียกมันว่า Ambient Lighting ซึ่งมันก็ไม่ผิดสักทีเดียว เพราะแสงที่เกิดจาก Bias Lighting ก็นับได้ว่าเป็น Ambient Lighting ได้เหมือนกัน
ในบทความนี้ เราก็จะพาคุณผู้อ่านไปรู้จักกับ Bias Lighting และประโยชน์ของมันกัน
Bias Lighting เป็นศัพท์ที่ใช้ในวงการระบบความบันเทิงภายในบ้าน และการตัดต่อวิดีโอ โดยมันหมายถึงแหล่งกำเนิดแสงที่อยู่ด้านหลังของหน้าจอ หรือฉาก ที่ส่องสว่างสะท้อนไปฉายบนผนัง หรืออะไรก็ตามที่อยู่ในบริเวณด้านหลังของหน้าจอ
ภาพจาก https://www.xataka.com/televisores/la-primera-tele-oled-de-philips-se-pone-a-la-venta-por-3-500-euros-llega-con-android-e-iluminacion-ambiLight
ก่อนจะเข้าเรื่อง Bias Lighting อยากอธิบายถึงความแตกต่างระหว่าง Bias Lighting, Ambient Light และ Natural Lighting สักเล็กน้อยพอสังเขป
ในส่วนของ Bias Lighting เราได้อธิบายไปแล้วในหัวข้อก่อนหน้าว่ามันหมายถึงแหล่งกำเนิดแสงที่อยู่ด้านหลังของหน้าจอ ดังนั้นเรามาต่อกันที่ Ambient Lighting (แสงโดยรอบ) และ Natural Lighting (แสงธรรมชาติ) กันเลย
เราสามารถนิยามความแตกต่างของมันได้ง่าย ๆ ว่า
Natural Lighting ทั้งหมดถือเป็น Ambient Lighting แต่ไม่ใช่ Ambient Lighting ทุกชนิดที่เป็น Natural Lighting
Natural Lighting มีความหมายตามคำแปลของมันเลย คือแสงที่มีอยู่ตามธรรมชาติ อาจจะเป็นแสงอาทิตย์, แสงจันทร์ (ที่ไม่ใช่โรงเหล้า) หรือแสงจากหิ่งห้อย ฯลฯ ส่วน Ambient Lighting หมายถึงแสงทุกชนิด โดยรวมแสงที่จากการประดิษฐ์จากน้ำมือของมนุษย์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นแสงจากไฟหน้ารถ, เสาไฟข้างถนน, หลอดฟลูออเรสเซนต์ ฯลฯ
ดังนั้น แสงที่เกิดจาก Bias Lighting จึงนับเป็นส่วนหนึ่งของ Ambient Lighting ด้วยเช่นกัน เพียงแต่เป็นคำที่กำหนดขึ้นมาเฉพาะเจาะจงใช้งานกับตำแหน่งของแหล่งกำเนิดแสงเท่านั้นเอง
ภาพจาก https://www.hackster.io/davide-perini/luciferin-wireless-bias-Lighting-for-your-pc-84070f
หลายคนนิยมเอาพวกไฟ LED RGB ที่เป็นแบบเส้นมาติดที่ด้านหลังทีวีเพื่อเพิ่มความสวยงาม แต่อันที่จริงแล้ว นอกจากไฟเหล่านี้จะช่วยให้ห้องของคุณดูสวยงามขึ้นแล้ว อันที่จริง มันยังมีประโยชน์อื่น ๆ แฝงไว้อีกด้วยนะ
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการเพิ่มแสง Bias Lighting ที่ด้านหลังของเครื่องโทรทัศน์ คือมันสามารถช่วยลดอาการตาล้า ปวดตาได้ ตามปกติแล้ว เรามักจะรับชมโทรทัศน์ในห้องที่มีความมืด หรือแสงไฟสลัว เพื่อสร้างบรรยากาศ และสมาธิให้เหมาะกับการดูภาพยนตร์เรื่องโปรด หรือรายการที่คุณชื่นชอบ นั่นทำให้สายตาของเราจะพยายามพุ่งโฟกัสไปที่หน้าจอที่มีความสว่างอยู่ตลอดเวลา การที่เราเพิ่มแสงไงปยังผนังด้านหลัง รอบ ๆ ตัวเครื่องโทรทัศน์ ทำให้สภาพแสงภายในห้องสว่างขึ้น และช่วยกระจายโฟกัสของสายตาของเราให้กว้างขึ้นด้วย มันจึงช่วยลดอาการตาล้าได้
การใช้แสง Bias Lighting เพื่อเพิ่ม Ambient Lighting นอกจากจะช่วยถนอมสายตาได้แล้ว หากเราเลือกใช้ระบบไฟที่มีคุณภาพ และตั้งค่าอย่างเหมาะสม มันจะช่วยให้เรารับชมภาพที่ปรากฏบนหน้าจอได้ดีขึ้น เนื่องจากดวงตาของเราจะสามารถแยกแยะความแตกต่าง (Contrast) ของภาพได้ดียิ่งกว่าเดิม
ปัจจุบันนี้มีการพัฒนาระบบไฟ Bias Lighting ที่สามารถปรับเปลี่ยนสี และตำแหน่งของแสงไปตามภาพที่ปรากฏบนหน้าจอโทรทัศน์ได้แบบสดๆ เรียลไทม์ (Real-time) ซึ่งมันช่วยสร้างประสบการณ์ในการรับชมที่น่าหลงใหล ตื่นตาตื่นใจมากขึ้น มันทำให้สภาพแสงในห้องของเราเหมือนกับฉากในภาพยนตร์ได้อย่างน่าเหลือเชื่อ
ภาพจาก https://www.youtube.com/watch?v=OQNyvSbc50I&t=3s
สำหรับผู้ที่ต้องการทำ Bias Lighting อาจไม่จำเป็นต้องลงทุนกับมันเยอะมากก็ได้ ความจริงแค่เพียงไฟ LED เส้นสีขาวแบบธรรมดา ๆ ก็สามารถช่วยถนอมสายตา และมองภาพบนหน้าจอได้ชัดเจนขึ้นแล้ว แน่นอนว่า หากคุณมีเงินลงทุน การทำระบบไฟอัจฉริยะที่สามารถเปลี่ยนสีตามภาพที่ปรากฏบนหน้าจอได้ ประสบการณ์ที่ได้รับก็จะเหนือไปอีกขั้น แต่ถ้างบจำกัด แค่ LED ธรรมดาสักเส้น ก็เพียงพอแล้ว
หากคุณเป็นนักเล่นเกมตัวยง การเพิ่มระบบไฟ Bias Lighting จะช่วยเพิ่มประสบการณ์ที่ดีให้กับการเล่นเกมได้เช่นกัน ไม่ต่างจากการดูหนัง แสงไฟเหล่านี้จะช่วยเนรมิตห้องของคุณให้มีสภาพแสงเหมือนกับฉากในเกมได้อย่างสวยงาม ลองนึกภาพว่าคุณกำลังโดนฆาตกรไล่ล่า แสงในจอกะพริบแจ้งเตือนเป็นสีแดงรัว ๆ แล้วแสงไฟในห้องของคุณก็กะพริบเป็นสีแดงตามฉากในเกมด้วย เราจะอินกับเกมได้มากขึ้นขนาดไหน
การทำ Bias Lighting เราสามารถนำไฟ เราสามารถใช้ไฟอะไรก็ได้ แม้แต่โคมไฟแบบพื้นฐานก็สามารถนำมาใช้ได้เช่นกัน จะใช้อะไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับงบประมาณที่คุณต้องการจะลงทุน
สำหรับคนงบน้อยก็แนะนำเป็นโคมไฟ หรือ LED เส้นแบบธรรมดาสัก 1 ชุด ด้วยงบประมาณสัก 500 บาท คุณก็น่าจะหาซื้ออุปกรณ์ได้ครบแล้ว อย่างไรก็ตาม เราแนะนำว่าอย่างน้อยควรจะเลือกไฟแบบที่ปรับอุณหภูมิแสงได้ ซึ่งอาจจะต้องจ่ายเงินเพิ่มอีกสักเล็กน้อย
อย่างไรก็ตาม เราคิดว่าหากเป็นไปได้ อย่างน้อยควรเลือกไฟแบบ WRGB ที่สามารถปรับแสงได้ทั้งแสงสีขาว หรือสีอื่น ๆ แล้วแต่ต้องการ ซึ่งมันจะช่วยให้เราสามารถตั้งค่าไฟให้เหมาะกับบรรยากาศของห้อง หรือสื่อที่เราต้องการจะรับชมได้อย่างอิสระ
แต่ถ้าอยากได้ความสมบูรณ์แบบก็คงต้องลงทุนเยอะหน่อย เพราะระบบไฟที่สามารถ Sync สีของแสงไฟให้เข้ากับภาพที่ปรากฏบนหน้าจอได้ด้วยนั้น มีราคาที่ค่อนข้างสูงเลยทีเดียว
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |