ในนวนิยายเรื่อง "เวนิสวาณิช" ที่แปลมาจากบทประพันธ์ของวิลเลียม เชกสเปียร์ (William Shakespeare)
เรื่อง "The Merchant of Venice" ได้มีประโยคหนึ่งที่ผู้แต่งได้สะท้อนธรรมชาติของมนุษย์ไว้ได้อย่างน่าสนใจ โดยกล่าวเอาไว้ว่า "ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดาน เป็นคนชอบกลนัก"
ส่วนตัวผู้เขียนเองมีความเห็นด้วยกับประโยคดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นผู้ที่ไม่สามารถอดทนต่อความรำคาญที่เกิดจากเสียงของยานพาหนะบนท้องถนน, เสียงจอแจบนรถไฟฟ้า, เสียงเด็กร้องไห้ที่พ่อแม่ไม่เคยคิดจะทำให้ลูกหุบปาก ฯลฯ แต่โชคดีที่ผู้เขียนเกิดมาในยุคที่การฟังเพลงเป็นเรื่องง่ายดาย ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตาม เพียงแค่หยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมา แล้วสวมหูฟัง ก็สามารถเข้าสู่โลกส่วนตัวที่มีเพียงเสียงดนตรีได้ทันที
เมื่อพูดถึงเครื่องเล่นเพลงแบบพกพาตัวแรกของโลก หลายคนน่าจะนึกถึง Walkman TPS-L2 เครื่องเล่นเทปแบบพกพารุ่นแรกของ Sony ที่เปิดตัวในวันที่ 1 กรกฏาคม ค.ศ. 1979 (พ.ศ. 2522) แต่ในความเป็นจริงเครื่องเล่นเทปแบบพกพารุ่นแรกของโลกนั้น คือ Mono Philips EN3800 ที่เปิดตัวตั้งแต่ ค.ศ. 1963 (พ.ศ. 2506) ก่อนหน้า Walkman รุ่นแรกถึง 16 ปีเลยทีเดียว แต่ไม่ได้รับความนิยมมากนัก เพราะขนาด และการฟังที่ไม่สะดวกเท่าไหร่นัก
Mono Philips EN3800
ภาพจาก : https://www.usa.philips.com/a-w/about/news/archive/standard/news/press/2013/20130910-Philips-compact-cassette-golden-anniversary.html
ในขณะที่ เครื่องเล่นเพลงพกพา Walkman TPS-L2 นั้นประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก Sony เปิดตัวมันเป็นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น โดยตั้งเป้ายอดขายเดือนแรกเอาไว้แค่เพียง 5,000 เครื่อง แต่ผลปรากฏว่ามันกลับขายได้มากกว่า 30,000 เครื่องภายในเวลาแค่สองเดือนแรกเท่านั้น และเมื่อย่างเข้าสู่ปี ค.ศ. 1980 (พ.ศ. 2523) Sony เปิดตัว Walkman ในระดับสากล มันก็สร้างปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรม กลายเป็นสินค้าสุดฮิต ในปี ค.ศ. 1989 (พ.ศ. 2532) Sony สามารถขาย Walkman ไปได้มากกว่า 100,000,000 เครื่อง กันเลยทีเดียว
Walkman TPS-L2
ภาพจาก : https://www.spiria.com/fr/blogue/breves-technos/le-walkman-a-40-ans/
เครื่องเล่น Walkman รุ่นแรกนั้น ไม่ได้เล่นไฟล์เพลงดิจิทัลเหมือนกับที่เราฟังกันในปัจจุบันนี้ แต่มันจะอาศัยเทปคาสเซ็ท (Cassette) เป็นสื่อบันทึกเพลง ซึ่งเป็นมาตรฐานที่พัฒนาขึ้นมาโดยบริษัท Philips ตั้งแต่ ค.ศ. 1963 (พ.ศ. 2506) นอกจากนี้ เครื่องเล่น Walkman ยังมาพร้อมกับหูฟัง เพื่อให้ผู้ใช้สามารถฟังเพลงได้ทุกที่ ในภายหลัง เมื่อเข้าสู่ยุคของ CD ทาง Sony ก็มีการผลิตเครื่องเล่นเพลงแบบพกพาออกมาด้วยเช่นกัน ในชื่อ "Discman" (ค.ศ. 1984 (พ.ศ. 2527)) ก่อนจะเปลี่ยนเป็น "CD Walkman" ในภายหลัง
Philips EL 1903-01 เทปรุ่นแรกของ Philips
ภาพจาก : https://historysdumpster.blogspot.com/2012/07/history-of-cassettes.html
ใครที่เกิดทันช่วงเปลี่ยนผ่าน จากเครื่องเล่นเทป เครื่องเล่นซีดี สู่เครื่องเล่นเพลงดิจิทัล อาจจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา ที่เทคโนโลยีลูกเก่า ถูกเทคโนโลยีลูกใหม่ซัดให้หายไปกับกาลเวลา แต่อันที่จริงแล้ว เครื่องเล่นเพลงดิจิทัล (Digital audio player) ตัวแรกของโลก ถูกคิดค้นขึ้นมาโดย Kane Kramer นักประดิษฐ์ และนักธุรกิจชาวอังกฤษ ตั้งแต่ ค.ศ. 1979 (พ.ศ. 2522)
แต่ด้วยความที่หน่วยความจำในสมัยก่อน ยังเป็นเทคโนโลยีที่มีราคาแพงมาก เครื่องเล่นเพลงดิจิทัลเหล่านี้จึงไม่ประสบความสำเร็จ เพราะราคาแพง แต่ความจุน้อย ใส่เพลงได้แค่ไม่กี่เพลง
จนกระทั่ง ในปี ค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544) ที่บริษัท Apple ได้เปิดตัว iPod เครื่องเล่นเพลงดิจิทัลแบบพกพาที่จุดเพลงได้ถึง 1,000 เพลง และแบตเตอรี่ที่ฟังได้ต่อเนื่องถึง 10 ชั่วโมง แถมยังมี iTunes ที่เข้ามาช่วยในการจัดการเพลงได้อย่างยอดเยี่ยม ทำให้มันได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากผู้ใช้งานทั่วโลก
Original iPod
ภาพจาก : https://www.apple.com/newsroom/2022/05/the-music-lives-on/
หลังจากนั้น ก็มีเครื่องเล่นเพลงดิจิทัลแบบพกพาหลายรุ่น หลากยี่ห้อถูกผลิตขึ้นมาให้ผู้ใช้ได้เลือกซื้อมาใช้งานกัน ด้วยความที่เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็ก แต่สามารถจุเพลงได้หลักร้อย ถึงหลักพันเพลง ทำให้เครื่องเล่นเทป และเครื่องเล่นซีดีมีผู้ใช้งานน้อยลงเรื่อย ๆ
อันที่จริง ในตอนที่ iPod เปิดตัว มือถือในตอนนั้นก็รองรับการฟังเพลงแล้วนะ Samsung SPH-M100 มือถือรุ่นแรกที่สามารถเล่นเพลง MP3 ได้ ก็เปิดตัวตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) แล้ว
Samsung SPH-M100 มือถือรุ่นแรกของโลกที่ฟัง MP3 ได้
ภาพจาก : https://time.graphics/event/2315623
หลังจากนั้น คุณสมบัติเล่นเพลง MP3 ก็ได้กลายเป็นลูกเล่นพื้นฐานของมือถือ ทางผู้ผลิตก็มีการทำมือถือที่เน้นด้านการฟังเพลง (Music Phone) ออกมาหลายรุ่น เช่น Nokia 5310 Xpress Music, Sony Ericsson Walkman W980 และอีกหลายๆ รุ่น
แต่ทว่า ในยุคนั้น มือถือที่สามารถฟังเพลงได้ดี มีหน่วยความจำสูง ก็ยังมีราคาค่อนข้างแพง เมื่อเทียบกับมือถือธรรมดาๆ เครื่องเล่นเพลงดิจิทัลแบบพกพาก็เลยยังได้รับความนิยมอยู่ การฟังเพลงในสมัยนั้น จึงเป็นการซื้อเทป หรือแผ่น CD มา RIP ไฟล์ลงเครื่องเล่นเพลงดิจิทัล หรือไม่ก็ซื้อเพลงจาก iTunes อนึ่ง ในประเทศไทยก็มีเรื่องน่าอับอายอย่างการที่มีแผ่นเพลง MP3 เถื่อน อย่างแผ่นแวมไพร์ หรือแผ่นประเทือง วางขายกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
ข้อมูลเพิ่มเติม : ดาวน์โหลดโปรแกรม RIP CD จาก Thaiware
เครื่องเล่นเพลงดิจิทัลแบบพกพา Creative MuVo Slim
ภาพจาก : https://www.newegg.com/creative-70pd054200000-mp3-player/p/N82E16855102121R
จนกระทั่ง ในปี ค.ศ. 2007 (พ.ศ. 2550) ได้มีนวัตกรรมที่เปลี่ยนโลกของมือถือไปอย่างสิ้นเชิง เพราะเป็นปีที่เราก้าวเข้าสู่ยุคสมาร์ทโฟนอย่างสมบูรณ์แบบ เมื่อบริษัท Apple เปิดตัว iPhone ออกมา มันเต็มไปด้วยลูกเล่นมากมาย และหนึ่งในนั้นก็คือความสามารถในการเล่นเพลงที่เหมือนยกเอา iPod มารวมไว้ใน iPhone ด้วยเลย
หน้าเพจแนะนำ iPhone รุ่นแรก
ภาพจาก : https://web.archive.org/web/20070202025513/https://www.apple.com/iphone/ipod/
iPhone ไม่ได้มาเพียงลำพัง มันทำให้มี Android ถือกำเนิดตามมาด้วย ซึ่งทั้งคู่มาพร้อมกับลูกเล่นในการเล่นเพลงได้เหมือนกัน แถมยังเล่นได้ดีด้วย ไม่ต่างจากการฟังเพลงผ่านเครื่องเล่นเพลงดิจิทัลแบบพกพา แถมยังใช้งานง่ายกว่าด้วยซ้ำ อีกทั้ง ตัวสมาร์ทโฟนเองก็มีความจุสูงขึ้น โดยเฉพาะฝั่ง Android ที่สามารถเพิ่มหน่วยความจำด้วยการ์ด MicroSD ได้ด้วย ทำให้เครื่องเล่นเพลงดิจิทัลแบบพกพาไม่จำเป็นต่อการฟังเพลงอีกต่อไป
ซึ่งในช่วงเวลาที่ iPhone และ Android เปิดตัวนั้น ก็ยังเป็นช่วงเวลาที่บริการสตรีมมิงเริ่มเปิดให้บริการด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น Napster, Last.fm, Pandora, Soundcloud, Spotify ฯลฯ บริการเหล่านี้ ทำให้พฤติกรรมในการฟังเพลงของคนส่วนใหญ่เปลี่ยนแปลงไป ไม่มีใครเสียเวลามานั่ง Copy ไฟล์ลงเครื่องเล่นเพลงดิจิทัล หรือสมาร์ทโฟนอีกต่อไป
แอปพลิเคชัน Spotify เวอร์ชันแรก ที่ลงบน iOS และ Android
ภาพจาก : https://www.engadget.com/2009-09-07-spotify-app-launches-on-itunes-and-android-market-to-premium-mem.html
แม้ทุกวันนี้ คุณแทบจะไม่เห็นใครใช้ เครื่องเล่นเพลงพกพากันแล้ว เพราะการมีอยู่ของสมาร์ทโฟน ทำให้เครื่องเล่นเพลงดิจิทัลแบบพกพาไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป แต่อันที่จริง มันก็ยังมีอยู่นะ เพียงแต่ว่ากลุ่มเป้าหมายของลูกค้านั้นเปลี่ยนไป จากผู้ใช้ทั่วไป เปลี่ยนไปเป็นผู้ใช้ที่ต้องการฟังดนตรีที่มีคุณภาพสูง หรือที่เรียกกันว่า "Audiophile"
ข้อมูลเพิ่มเติม : Audiophile หมายถึง ผู้ที่มีความจริงจังในการฟังเพลง ตัวเพลงต้องถูกบันทึกมาเป็นอย่างดี, ใช้ไฟล์เพลงคุณภาพสูงที่ไม่ผ่านการบีบอัด, มีระบบถอดรหัสสัญญาณเสียงที่เที่ยงตรง ซึ่งแม้สมาร์ทโฟนจะสามารถเล่นเพลงได้ แต่มันก็ไม่ใช่อุปกรณ์ที่ออกแบบมาให้ตอบโจทย์การฟังเพลงระดับ Audiophile
ในปัจจุบันนี้ มีเครื่องเล่นเพลงดิจิทัลแบบพกพาระดับ Audiophile ให้เลือกอยู่หลายรุ่น มาพร้อมกับคุณสมบัติในการเล่นเพลงที่ยอดเยี่ยม และราคาระดับพรีเมี่ยม อย่าง WM1ZM2 Walkman ของ Sony นั้น ค่าตัวของมันอยู่ที่หลักแสนบาทเลยทีเดียว เป็นราคาสำหรับ Audiophile ที่นอกจากจะต้องหลงรักในเสียงเพลงแล้ว เงินในกระเป๋าก็ต้องพอด้วย
เครื่องเล่นเพลงพกพา WM1ZM2 Walkman ของ Sony
ภาพจาก : https://www.sony.co.th/th/electronics/walkman/nw-wm1zm2
Astell&Kern A&futura SE180 ก็เป็นเครื่องเล่นเพลงดิจิทัลแบบพกพาระดับ Audiophile อีกรุ่น ที่ได้รับความนิยมในบ้านเรา มาพร้อมกับค่าตัวเฉียดครึ่งแสน ก็ในเมื่อตลาดล่าง และตลาดกลางขายไม่ได้เพราะมีสมาร์ทโฟนอยู่แล้ว ผู้ผลิตจึงต้องขยับไปเล่นตลาดบนแทน ก็เป็นเรื่องทางการตลาดที่เข้าใจได้ไม่ยาก
เครื่องเล่นเพลงพกพา Astell & Kern A & futura SE180
ภาพจาก : https://www.astellnkern.com/product/product_detail.jsp?productNo=2
ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มองว่า "สำหรับผู้ฟังทั่วไป ก็ไม่ใช่การลงทุนที่คุ้มค่าสักเท่าไหร่ ?"
Audiophile นั้นเป็นความสุนทรีย์ในการฟังเพลง ที่ต้องอาศัยเงินค่อนข้างเยอะ มันไม่ได้ซื้อเครื่องเล่นเพลงมาแล้วจบ คุณจะต้องมีหูฟังที่ดีพอจะตอบสนองต่อสัญญาณที่เครื่องเล่นเพลงส่งมาได้ ซึ่งค่าตัวของหูฟัง หรือลำโพงระดับนั้นก็มีตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักล้าน
ในส่วนของเพลง คุณภาพในการบันทึกเสียงก็มีความสำคัญมาก ไฟล์เสียงคุณภาพสูงระดับ Hi-Res หาไม่ได้ง่าย ๆ คุณอาจจะหา ไฟล์ Hi-Res ของวงที่คุณชอบมาฟังไม่ได้ด้วยซ้ำ การพกพาก็ลำบาก เพราะคุณก็ต้องพกอุปกรณ์เยอะขึ้น
ข้อมูลเพิ่มเติม : เพลงแบบ Hi-Res Audio คืออะไร ? เหมือนกับ Lossless หรือเปล่า ?
ด้วยเหตุผลหลาย ๆ อย่างที่ว่ามา ทำให้เรามองว่าการจ่ายเงินเกือบแสน เพื่อลงทุนกับเครื่องเล่นเพลงดิจิทัลแบบพกพาระดับสูงนั้นไม่คุ้มค่าเท่าไหร่นัก อาจจะเอาเงินไปลงทุนกับหูฟังคุณภาพดีสักตัว ก็เป็นการอัปเกรดคุณภาพการฟังเพลงที่เห็นผลชัดเจน แล้วถ้าอยากไปต่อ อยากยกระดับคุณภาพเสียงมากขึ้น ถึงเวลานั้นค่อยซื้อเครื่องเล่นเพลงดิจิทัลแบบพกพาระดับสูงมาใช้งาน ก็ยังไม่สาย
หูฟัง BEOPLAY H95
ภาพจาก : https://www.bang-olufsen.com/en/us/headphones/beoplay-h95
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |