ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

Mobility Data คืออะไร ? รวบรวมข้อมูลจากไหน ? มีบทบาทในการฟื้นฟูการท่องเที่ยวอย่างไร ?

Mobility Data คืออะไร ? รวบรวมข้อมูลจากไหน ? มีบทบาทในการฟื้นฟูการท่องเที่ยวอย่างไร ?

เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 4,651
เขียนโดย :
0 Mobility+Data+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%A5%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%99+%3F+%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9F%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%9F%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

Mobility Data คืออะไร ?
รวบรวมข้อมูลจากไหน ? มีบทบาทในการฟื้นฟูการท่องเที่ยวอย่างไร ?

การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้ประเทศขาดรายได้จากการท่องเที่ยวไปมากมาย แต่ก็ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรมากมายเช่นกัน พร้อมกับได้เห็นศักยภาพของเครื่องมือที่มีบทบาทในยุค COVID-19 นั่นคือ
Mobility Data หรือ "ข้อมูลที่ทำให้เข้าใจรูปแบบของการเดินทาง และการกระจุกตัวของผู้คน" ที่กำลังจะสร้างความแตกต่างให้ การพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวของไทย ในวันที่เรากลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง

บทความเกี่ยวกับ การท่องเที่ยว อื่นๆ

สืบเนื่องจาก ความร่วมมือของดีแทค (dtac), คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, บุญมีแล็บ  และ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือภาครัฐ (สดช.) ที่ได้มีการจัดทำ โครงการวิจัยศักยภาพการท่องเที่ยวจังหวัดเมืองรองด้วย Mobility Data เพื่อพัฒนาให้เมืองรองด้านการท่องเที่ยวของไทยทั้ง 55 จังหวัดสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวมากขึ้น นั่นทำให้หลายคนอาจอยากรู้ว่า Mobility Data มันคืออะไร ? แล้วจะช่วยฟื้นฟูการท่องเที่ยวได้อย่างไร ? บทความนี้เราจะมาทำความเข้าใจไปพร้อมกันเลย ...

เนื้อหาภายในบทความ

Mobility Data คืออะไร ? และเป็นข้อมูลเกี่ยวกับอะไร ?
(What is Mobility Data ? and What is it about ?)

"Mobility Data" คือข้อมูล "Big Data" ที่ใช้เก็บสถิติ การสัญจรและการกระจุกตัวของผู้คนแต่ละพื้นที่ในช่วงเวลาต่าง ๆ  รวมถึงสามารถนำมาอธิบายได้ถึงรูปแบบการขนส่งที่ผู้คนใช้งานได้ด้วยว่า เป็นรถยนต์ส่วนตัว รถขนส่งสาธารณะ จักรยานยนต์ และอื่น ๆ โดยวัดจากการเคลื่อนตัวทางตำแหน่งภูมิศาสตร์

Mobility Data คืออะไร ? เป็นข้อมูลเกี่ยวกับอะไร ?
ภาพแผนที่ "Mobility Data" จากแพลตฟอร์ม clevermaps / อ้างอิง https://www.clevermaps.io/mobility-data

โดยข้อมูลที่นำมาใช้ จะถูกนำเอามาประมวลผล วิเคราะห์ และอาจนำมาแปลงเป็นแพลตฟอร์มแผนที่แบบเรียลไทม์ หรือ ข้อมูลสถิติเฉพาะที่จำเป็นต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับข้อจำกัดทางข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อน และอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย เช่น ปัจจัยเรื่อง "ความเป็นส่วนตัว" พวกข้อมูลที่ระบุเรื่องเพศ วัย และ ภูมิลำเนาจะไม่มีการเปิดเผยเป็นรายบุคคล แต่ใช้การสรุปเป็นผลทางสถิติ เป็นต้น 

Mobility Data คืออะไร ? เป็นข้อมูลเกี่ยวกับอะไร ?
ภาพจาก https://www.google.com/covid19/mobility/

ด้านบนเป็นตัวอย่าง ของ Google ที่เผยแพร่สถิติจากข้อมูล "Mobility Data" ในช่วงที่เกิดไวรัสระบาดในแต่ละวัน หรือตามภาพคือวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) โดยข้อมูลเหล่านั้นก็บ่งบอกถึง สถานที่ที่ผู้คนกระจุกตัวกันอยู่ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดพอดี เช่น ร้านขายของชำ, สวนสาธารณะ, ห้างสรรพสินค้า, ออฟฟิศ หรือสถานที่ทำงาน, สถานีขนส่ง เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ สามารถเอามาใช้ประเมินสถานการณ์ได้

Mobility Data คืออะไร ? เป็นข้อมูลเกี่ยวกับอะไร ?

ภาพต่อไปเป็นผลการวิเคราะห์ข้อมูล "Mobility Data" จากโครงการที่ดีแทค และองค์กรพันธมิตร เป็นผู้จัดทำขึ้นมา และสามารถแสดงรายละเอียดได้ถึง การกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวในช่วงกลางวัน และ กลางคืนของวันที่ 1 - 2 สิงหาคม พ.ศ. 2563 (ค.ศ. 2020) ได้แบบชัดเจน

Mobility Data มีวิธีเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างไร ?
(How does Mobility Data collect data ?)

หลายคนอาจสงสัยว่าข้อมูลเหล่านั้นเก็บมาจากไหน ต้องทำแบบสอบถาม หรือ แบบสำรวจโพล อะไรแบบนั้นหรือเปล่า แน่นอนว่าไม่ใช่ ? แต่ก็คงเดาได้ไม่ยาก หนึ่งในเครื่องมือสำคัญ อยู่ที่มือถือของเรานั่นเอง

โลกนี้มันเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลมานานแล้ว การใช้โทรศัพท์มือถือและเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่าง ๆ ล้วนทิ้งร่องรอยทางดิจิทัลไว้ทุกครั้งที่คุณเคลื่อนไหว อาจเป็นแอปพลิเคชันที่ขอข้อมูลตำแหน่ง อาจเป็น การเชื่อมต่อเครือข่าย Wi-Fi อาจเป็น บลูทูธ (Bluetooth) บันทึกการโทร หรือ แค่คุณขยับตัวผ่านเสาสัญญาณเครือข่ายมือถือไปยังอีกเสาสัญญาณ คุณก็สามารถถูกติดตาม (Track) และเอาข้อมูลไปทำ Mobility Data ได้ง่าย ๆ

นอกจากนี้ ก็ไม่ได้มีแค่บนมือถืออย่างเดียว พวกกล้องจราจร การติดตาม GPS บนรถยนต์ส่วนตัวหรือสาธารณะ และการแท็กตำแหน่งบนโซเชียลมีเดีย ถ้าองค์กรเหล่านั้น สามารถรวบรวมนำไปใช้ได้ ก็เอาไปทำเป็นข้อมูลที่เรียกว่า Mobility Data ได้เหมือนกัน

Mobility Data มีวิธีเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างไร ?

ใครสามารถเก็บรวบรวมข้อมูล Mobility Data และเผยแพร่ได้ ?
(Who can collect Mobility Data and publish it ?)

จะเป็นองค์กรภาครัฐ และเอกชน ก็สามารถรวบรวมข้อมูล Mobility Data ได้ถ้ามีเครื่องมือ โดยเฉพาะหากเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มแผนที่อยู่แล้ว เช่น Google ก็จะยิ่งง่าย นอกจากนี้อย่าง Facebook และ Apple เองก็มีการจัดทำข้อมูล Mobility Data และเผยแพร่ด้วยเช่นกัน 

สำหรับกรณีของ "ดีแทค" มีพื้นฐานคือโครงสร้างเครือข่ายมือถือ ทำให้เก็บข้อมูลได้ผ่านเสาสัญญาณที่ลูกค้ามีการเชื่อมต่อตามจุดต่าง ๆ ทั่วประเทศอยู่แล้ว เช่น เมื่อลูกค้าเดินทางออกจากบ้านไปยังสถานที่อื่น ๆ อย่างออฟฟิศทำงาน ห้าง หรือ ต่างจังหวัด ข้อมูลมือถือที่เปลี่ยนจุดสื่อสารกับเสาสัญญาณ ก็สามารถบ่งบอกถึงตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ได้นั่นเอง  

ใครสามารถเก็บรวบรวมข้อมูล Mobility Data และเผยแพร่ได้ ?

ว่าไปแล้ว การเก็บข้อมูลพวกนี้ อาจเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และเข้าข่ายการละเมิดข้อมูลส่วนตัว แต่ถ้าพวกเขาจะเก็บแล้วไม่บอกเรา เราก็ทำอะไรไม่ได้ ชีวิตเราต้องอยู่กับเทคโนโลยีเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

ส่วนด้านข้อจำกัดของการเผยแพร่นั้น อาจต้องระวังในเรื่องของข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลที่เปิดเผยนั้น ต้องไม่สามารถระบุถึงตัวตนของผู้เป็นเจ้าของข้อมูล และมีมาตรการป้องกันความปลอดภัยคุ้มครองที่เหมาะสม สิ่งสำคัญคือความร่วมมือของภาครัฐ และ เอกชน ในการแบ่งปันข้อมูลจะต้องระวังให้เฉพาะบุคคลที่เหมาะสมเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นเท่านั้น และถ้าทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่แสวงหาผลกำไร 

Mobility Data กับความสามารถด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย (Mobility Data and Potential to support Thailand Tourism)

เป้าหมายของโครงการนี้ คือการเรียกให้คนไปเที่ยวกันมากขึ้น และ ไม่ใช่แค่เที่ยวในเมืองท่องเที่ยวหลักอย่าง กาญจนบุรี เชียงใหม่ หรือ ภูเก็ต แต่ควรมีการกระจายไปถึงเมืองอื่น ๆ ที่มีแหล่งวัฒนธรรม และ ธรรมชาติดี ๆ แต่คนไม่ค่อยรู้ 

ความสำคัญของ Mobility Data จึงทำให้เรารู้ว่า พฤติกรรมนักท่องเที่ยว เขาชอบไปที่ไหน เดินทางอย่างไร ใช้เส้นทางผ่านตรงไหนบ้าง เที่ยวค้างคืน หรือ ไปกลับ รวมถึงรู้ในเรื่องของศักยภาพของแต่ละจังหวัด และสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเพื่อใช้เวลากับจังหวัดเหล่านั้นได้มากขึ้น

และข้อดีของการใช้  Mobility Data คือข้อมูลนั้นรวบรวมง่าย ต้นทุนไม่สูง จึงเอามาวัดผลและวิเคราะห์ได้ง่ายกว่าการทำโพลสำรวจ หรือใช้แบบสอบถามทั่วไป อีกทั้งข้อมูลที่เป็นเชิงภูมิศาสตร์ ที่มีความแน่นอนกว่าความเห็นของนักท่องเที่ยว

Mobility Data กับความสามารถด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย 
ตัวอย่างข้อมูลนักท่องเที่ยวชาวภูเก็ตที่เดินทางไปไหนบ้างในช่วงเวลาหนึ่ง ข้อมูลบ่งบอกถึงเพศ และ ช่วงอายุ

การวางนโยบาย

จาก คำแนะนำของ ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการนี้ด้านการเป็นผู้ให้คำปรึกษานโยบาย มีการวางแผนวิธีส่งเสริมด้วยกัน 3 วิธี ดังนี้

การท่องเที่ยวแบบ Micro Tourism

เป็นการวิเคราะห์ปริมาณการเดินทางท่องเที่ยวแบบไปกลับ และสัดส่วนที่สามารถดึงดูดผู้คนจากจังหวัดอื่น ๆ ให้มาเที่ยวได้ในระยะไม่เกิน 150 กิโลเมตร (km.) แล้วจึงส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวแบบ Micro Tourism หรือเที่ยวแบบไปเช้า-เย็นกลับ เช่น การเปิดเวิร์กช้อป (Workshop) ให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมเรียนรู้วิธีสร้างหัตถกรรมพื้นบ้าน เครื่องปั้นดินเผา, การปั้นโอ่ง, งานสานตระกร้า เป็นต้น

การท่องเที่ยวแบบ Micro tourism

การท่องเที่ยวแบบค้างคืนที่สร้างประสบการณ์ใหม่

เป็นการวิเคราะห์ปริมาณการกระจุกตัวของการเดินทางท่องเที่ยวแบบค้างคืน ซึ่งสร้างเม็ดเงินได้มากกว่าการไปเช้า-เย็นกลับ แล้วก็ออกแบบกิจกรรม หรือเทศกาลที่ให้ประสบการณ์ใหม่ ทำให้นักท่องเที่ยวประทับใจและอาจกลับมาอีกครั้ง เช่น การพัฒนาที่พักรูปแบบรถตั้งแคมป์นอน (Camping Car) หรือ การจัดกิจกรรมไถกระดานเก็บหอยในจังหวัดสมุทรสงคราม

การท่องเที่ยวแบบค้างคืนที่สร้างประสบการณ์ใหม่

การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบกลุ่มจังหวัด (Tourism Cluster)

วิเคราะห์แนวโน้มการท่องเที่ยวแบบหลายจังหวัดในทริปเดียว เมื่อทราบถึงสถานที่ท่องเที่ยวที่คนชอบไปคู่กันใน 1 ทริป หากเป็นเมืองรองก็จะช่วยออกแบบทริป หรือ พัฒนาเส้นทาง เพื่อเพิ่มโอกาส ให้นักท่องเที่ยวใช้เวลาพักอยู่ในจังหวัดนั้น ๆ นานขึ้น 

การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบกลุ่มจังหวัด (Tourism Cluster)

นอกจาก 3 นโยบายที่กล่าวมาแล้ว หลายประเทศยังมีการนำ Mobility Data มาช่วยคาดการณ์ การใช้งานระบบขนส่งสาธารณะและเตรียมความพร้อม รวมถึง เส้นทางที่มีการกระจุกตัวและมีปัญหาจราจรในช่วงงานเทศกาล และ อาจมีการแนะนำเส้นทางใหม่ ให้นักท่องเที่ยว เป็นต้น


ดูเหมือนว่าการนำ Mobility Data มาใช้ในครั้งนี้จะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะด้วยศักยภาพและประโยชน์ที่เราได้ทราบวันนี้ เราคาดหวังว่าจะมีการนำไปต่อยอด เพื่อพัฒนาโครงสร้างการเติบโตของประเทศได้อีกมากมาย และเชื่อว่าหลายฝ่ายจะเห็นพ้องต้องกัน


ที่มา : theodi.org , www.isst.fraunhofer.de , medium.com , www.dtac.co.th

0 Mobility+Data+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%A5%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%99+%3F+%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9F%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%9F%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%97%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
งานเขียนคืออาหาร ปลายปากกา ก็คือปลายตะหลิว
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น