แม้กล้องถ่ายภาพจะมีความนิยมลดลงเมื่อเทียบกับกล้องมือถือ แต่กล้องถ่ายภาพก็ยังมีตัวเลือกมากมายที่ชวนงงไปหมด แล้วจะเลือกกล้องถ่ายภาพอย่างไร ? มือใหม่ต้องเลือกซื้อกล้องแบบไหน ? มาดูความแตกต่างของกล้องระดับเริ่มต้น (Entry Camera) กับกล้องระดับสูง กล้องระดับโปรกัน (Pro Camera)
นอกจากเรื่องราคาแล้ว ดีไซน์ภายนอกของ กล้อง Compact (กล้องคอมแพค) ก็พอจะแยกออกได้บ้าง โดยกล้องคอมแพคระดับเริ่มต้นมักมีดีไซน์สวย บางรุ่นมีสีสันแปลกตา บางรุ่นเวลาเปิดกล้องจะมีตัวเลนส์ยื่นออกมา หรือบางรุ่นเลนส์เป็นแบบซ่อนในตัวเครื่อง เปิดเครื่องปุ๊บ กดโฟกัสถ่ายปั๊บ (Point-and-Shoot Camera) ซึ่งในยุคที่กล้องดิจิทัลเกิดขึ้นใหม่ ๆ ล้วนเป็นกล้องคอมแพคทั้งหมด
กล้องคอมแพค Sony DSC-F1 ที่มีจุดเด่นอย่างการหมุนเลนส์เพื่อมุมมองถ่ายภาพที่หลากหลาย
ภาพจาก : https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_Sony_Cyber-shot_cameras
ส่วนกล้องคอมแพคระดับโปร มักมีดีไซน์ที่ดูเรียบขรึม บางรุ่นมีช่องมองภาพแบบออปติคัลหรือดิจิทัลใส่มาให้ด้วย บางรุ่นดูคล้ายกับกล้อง DSLR ที่บริเวณด้านบนของกล้องจะมีไฟแฟลชแบบป๊อปอัปมาให้ด้วย เลนส์กล้องเป็นแบบกระบอก ซูมได้ ยืดหดได้ไกล และกล้องคอมแพคแบบโปร มักมีลูกเล่นที่เพิ่มเติมจากกล้องคอมแพคทั่วไป เช่น พอร์ตเชื่อมต่ออุปกรณ์เสริมจากภายนอก ถ่ายวิดีโอขั้นสูงแบบ S-Log ได้ เป็นต้น
ซึ่งข้อดีของกล้องคอมแพคก็คือ พกไปถ่ายภาพได้ทุกที่ ยิ่งในยุคที่คอนเทนต์ Vlog หรือคลิปวิดีโอแบบสั้นกำลังเป็นที่นิยม แทนที่จะใช้กล้องมือโปรตัวใหญ่ ๆ ก็หันมาใช้กล้องคอมแพคแทน ซึ่งบางรุ่นมีพอร์ตเชื่อมต่ออุปกรณ์เสริม เช่น ไมโครโฟน มาให้พร้อมสรรพ หรือบางรุ่นก็มีฟีเจอร์ที่เอื้อต่อการถ่ายวิดีโอแบบง่าย เช่น หน้าจอแสดงผลพับไปมาได้, การใช้งานร่วมกับขาตั้งกล้องแบบพกพา ฯลฯ
กล้อง Sony RX100 VII กล้องคอมแพคระดับโปรภายใต้ขนาดพกพา
ภาพจาก : https://www.sonylatvija.com/electronics/cyber-shot-compact-cameras/dsc-rx100m7?locale=en_LV
สำหรับกล้อง Mirrorless (กล้องมิลเลอร์เลส) เป็นได้ทั้งกล้องพกพาติดตัวเวลาไปเที่ยว หรือจะใช้งานถ่ายภาพจริงจังก็ทำได้ แน่นอนว่ามีทั้งกล้องระดับเริ่มต้นและกล้องระดับโปรให้เลือกสรร โดยกล้องมิลเลอร์เลสระดับเริ่มต้นมักใช้เซนเซอร์ APS-C ส่วนกล้องมิลเลอร์เลสแบบมือโปร จะใช้เซนเซอร์ Full Frame เป็นหลักอย่างไรก็ตาม หลายแบรนด์ได้พัฒนากล้องมิลเลอร์เลสระดับโปร รองรับการใช้งานที่หลากหลาย ภายใต้ขนาดที่เล็กลง เข้าถึงผู้ใช้ทั่วไปที่อยากใช้กล้องระดับโปรได้ง่ายขึ้น เช่น Sony A7C
กล้องมิลเลอร์เลส Sony A7C กล้องระดับโปรที่มีขนาดกะทัดรัด
ภาพจาก : https://www.sony.co.th/th/electronics/interchangeable-lens-cameras/ilce-7c
ส่วนกล้องมิลเลอร์เลสระดับโปร นอกจากขนาดตัวกล้องที่ใหญ่กว่า จับถนัดกว่า น้ำหนักที่เพิ่มขึ้น และเซนเซอร์ฟูลเฟรมแล้ว พวกลูกเล่นในการถ่ายภาพและวิดีโอก็แตกต่างจากกล้องมิลเลอร์เลสระดับเริ่มต้น เช่น ความละเอียดวิดีโอที่ข้ามไปถึงระดับ 8K, การโฟกัสภาพที่ฉับไว, ช่วงค่า ISO สูงสุดที่ไปได้ถึงหลักแสน (ยกตัวอย่าง Sony A7s III ที่มี ISO สูงสุด 409600) ซึ่งกล้องมิลเลอร์เลสหลายรุ่นถูกนำไปใช้ทั้งถ่ายภาพและวิดีโอระดับมืออาชีพเลยทีเดียว
กล้อง DSLR (กล้องสะท้อนภาพเลนส์เดี่ยว) เป็นประเภทกล้องที่ถูกคนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นกล้องโปรทั้งหมด แต่จริง ๆ แล้ว กล้องประเภทนี้สามารถแบ่งระดับเริ่มต้นกับระดับโปรได้จากขนาดตัวกล้องและน้ำหนัก เซนเซอร์รับภาพ ไปจนถึงดีไซน์ในบางจุด
ยกตัวอย่างกล้อง DSLR ระดับเริ่มต้นอย่าง CANON EOS 3000D กล้องรุ่นนี้มาพร้อมเซนเซอร์ APS-C มีขนาดที่เล็ก มีแฟลชแบบป๊อปอัปบริเวณด้านบน มีหน้าจอแสดงผลวางร่วมกับช่องมองภาพแบบออปติคัล ปุ่มควบคุมและวงล้อปรับโหมดถ่ายภาพ มีพอร์ตเชื่อมต่อ HDMI เพื่อเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์ต่าง ๆ
กล้อง Canon EOS 3000D
ภาพจาก : https://th.canon/th/support/EOS%203000D/model
ในขณะที่กล้อง DSLR ระดับโปรอย่าง EOS 6D Mark II จะใช้เซนเซอร์แบบ Full Frame รวมถึงเลนส์ที่ใช้ร่วมกับกล้อง DSLR เซนเซอร์ APS-C ไม่ได้ ส่วนประกอบจุดอื่นมีความคล้ายกับกล้อง DSLR รุ่นอื่นประมาณหนึ่ง ทั้งหน้าจอแสดงผล ช่องมองภาพออปติคัล ปุ่มและวงล้อควบคุมค่าต่าง ๆ
ส่วนช่างภาพมืออาชีพ ก็ใช้กล้อง Full Frame อีกแบบหนึ่ง อย่างเช่น EOS-1D X Mark III ที่ดูใหญ่ หนา หนักตั้งแต่แรกเห็น ส่วนหนึ่งมาจากการเพิ่มกริปแบตเตอรี่เข้าไปในตัวกล้องเลย (ในขณะที่กล้องรุ่นอื่น ๆ ใช้กริปแบตเตอรี่เป็นอุปกรณ์เสริม) ส่วนประกอบอื่น ๆ อย่างหน้าจอแสดงผล ช่องมองภาพออปติคัล ปุ่มและวงล้อควบคุมค่าต่าง ๆ นั้นดูแตกต่างจากรุ่นอื่น ๆ อย่างชัดเจน แถมยังใส่ SD Card ได้ 2 ใบอีกต่างหาก
กล้อง EOS-1D X Mark III
ภาพจาก : https://th.canon/th/consumer/eos-1d-x-mark-iii/product
กล้องระดับเริ่มต้น | กล้องระดับโปร | |
ราคา | มีตั้งแต่หลักพันจนถึงหลักหมื่น | ประมาณ 15,000-50,000 บาท |
เซนเซอร์รับภาพ | 1/2.7 นิ้ว (5.37 x 4.04 มิลลิเมตร) | 1 นิ้ว (13.2 x 8.8 มิลลิเมตร) |
เลนส์ที่รองรับ | เลนส์ภายในตัว ไม่สามารถถอดเปลี่ยนได้ มีทั้งแบบกระบอกซูมและซ่อนในตัวกล้อง | เลนส์ภายในตัว ไม่สามารถถอดเปลี่ยนได้ ส่วนใหญ่เป็นแบบกระบอกซูม |
ดีไซน์ | มีความสวยงาม หลากหลาย ขนาดเล็ก พกพาง่าย | เน้นความเรียบง่าย ขนาดกะทัดรัด มีน้ำหนัก |
กล้องระดับเริ่มต้น | กล้องระดับโปร | |
ราคา | ราคาเริ่มต้น 19,000 บาท ขึ้นอยู่กับรุ่น แบรนด์ ร้านค้าจำหน่าย | ราคาเริ่มต้น 60,000 บาท ขึ้นอยู่กับรุ่น แบรนด์ ร้านค้าจำหน่าย |
เซนเซอร์รับภาพ | เซนเซอร์ Four Thirds เซนเซอร์ APS-C | เซนเซอร์ Full Frame |
เลนส์ที่รองรับ | เลนส์ถอดเปลี่ยนได้ เฉพาะเมาท์ที่รองรับกล้องแต่ละยี่ห้อ | เลนส์ถอดเปลี่ยนได้ เฉพาะเมาท์ที่รองรับกล้องแต่ละยี่ห้อ |
ดีไซน์ | ขนาดกะทัดรัด มีกริปจับถือ จอแสดงผลวางตำแหน่งร่วมกับ ปุ่มควบคุมต่าง ๆ | ขนาดใหญ่ มีกริปจับถือชัดเจน จอแสดงผลวางตำแหน่งร่วมกับ ปุ่มควบคุมต่าง ๆ |
กล้องระดับเริ่มต้น | กล้องระดับโปร | |
ราคา | ราคาเริ่มต้น 15,900 บาท ขึ้นอยู่กับรุ่น แบรนด์ ร้านค้าจำหน่าย | ราคาเริ่มต้น 80,000 บาท ขึ้นอยู่กับรุ่น แบรนด์ ร้านค้าจำหน่าย |
เซนเซอร์รับภาพ | เซนเซอร์ APS-C | เซนเซอร์ Full Frame |
เลนส์ที่รองรับ | เลนส์ถอดเปลี่ยนได้ เฉพาะเมาท์ที่รองรับกล้องแต่ละยี่ห้อ | เลนส์ถอดเปลี่ยนได้ เฉพาะเมาท์ที่รองรับกล้องแต่ละยี่ห้อ |
ดีไซน์ | ขนาดกลาง น้ำหนักกำลังเหมาะมือ | ขนาดใหญ่ บางรุ่นมีน้ำหนักมาก |
จะเห็นได้ว่า กล้องแต่ละประเภท มีให้เลือกทั้งระดับเริ่มต้น สำหรับผู้หัดถ่ายภาพ หรือต้องการกล้องคู่ใจสักตัวในราคาจับต้องได้ ไปจนถึงระดับโปร สำหรับผู้ถ่ายภาพ และวิดีโอเป็นอาชีพ จริง ๆ แล้ว บทความนี้เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นสำหรับแยกกล้องถ่ายภาพแบบประเภทเท่านั้น หากใครสนใจกล้องรุ่นไหน แบบไหน ก็ต้องศึกษาข้อมูล รีวิวจากการใช้งานจริงประกอบการตัดสินใจอีกทีด้วยนะ
|
Web Content Editor ท่านหนึ่ง นิยมการเล่นมือถือเป็นชีวิตจิตใจ |