เทคโนโลยีของ กล้องบนสมาร์ทโฟน (Smartphone Camera) เป็นอะไรที่มีการแข่งขันกันสูงมาก สามารถสังเกตได้ง่าย ๆ ว่าเมื่อมีการเปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่นใหม่ หนึ่งในคุณสมบัติที่ทางผู้ผลิตจะต้องหยิบยกขึ้นมาโปรโมตทุกครั้งก็จะเป็นเรื่องความเทพของกล้องถ่ายรูป ว่ามันได้รับการอัปเกรดให้ดีขึ้นกว่าเดิมมากขนาดไหน
เราเห็นทาง Apple ใช้เซนเซอร์ขนาด 48 MP ในการสร้างภาพขนาด 12 MP เราเห็น Samsung โฆษณาการใช้ "Nona-binning" หรือ "Adaptive Pixel" โดยเคลมว่ามันช่วยให้การถ่ายภาพในที่สภาพแสงน้อยทำได้ดีขึ้น เทคนิคเหล่านี้เรียกว่าการทำ "Pixel Binning" แต่มันดีจริงหรือเปล่า ? หลักการเหล่านี้ทำงานอย่างไร ? มาศึกษากัน
ก่อนที่เราจะไปเรียนรู้ว่า Pixel Binning คืออะไร ? และทำงานอย่างไร ? เราควรมาทำความเข้าใจก่อนว่า ทำไมถึงต้องมีการพัฒนา Pixel Binning ขึ้นมา
หนึ่งในปัจจัยสำคัญของคุณภาพที่ได้จากกล้องดิจิทัลคือ ขนาดของเซนเซอร์รับภาพ ที่ภาพจากกล้องดิจิทัล จะมีคุณภาพสูงกว่าภาพจากกล้องของสมาร์ทโฟน ซึ่งหัวใจหลักของมันก็เพราะขนาดเซนเซอร์รับสัญญาณภาพนี่แหละ
ข้อมูลเพิ่มเติม : เซนเซอร์กล้องดิจิทัล กับ เซนเซอร์กล้องมือถือสมาร์ทโฟน ต่างกันอย่างไร ? และตัวเลขพิกเซลของกล้องมาจากไหน ?
บนเซนเซอร์กล้องจะประกอบไปด้วยพิกเซลจำนวนมากเรียงติดกันเป็นแผงจำนวนหลายล้านพิกเซล พิกเซลเหล่านี้จะทำหน้าที่ในการรับสัญญาณแสงเพื่อเปลี่ยนเป็นสัญญาณไฟฟ้าไปประมวลผลออกมาเป็นรูปภาพ ตามทฤษฏีแล้ว ยิ่งมีจำนวนพิกเซลเยอะมากเท่าไหร่ ก็หมายความว่าเราจะเก็บสัญญาณแสงได้มากยิ่งขึ้นไปด้วย แต่ก็มีปัจจัยเรื่องของขนาดของจุดพิกเซลด้วย
ข้อมูลเพิ่มเติม : จำนวน Megapixel กับ ขนาดเซนเซอร์กล้อง บนสมาร์ทโฟน อะไรสำคัญกว่ากัน ?
เซนเซอร์ของกล้องบนสมาร์ทโฟนไม่สามารถทำให้มีขนาดใหญ่ได้เท่ากับกล้อง Digital Single-Lens Reflex (DSLR), Mirrorless ได้ เนื่องจากข้อจำกัดด้านการออกแบบ ที่เราไม่สามารถออกแบบให้เซนเซอร์มีขนาดใหญ่ได้ โดยที่สมาร์ทโฟนไม่มีความหนาเพิ่มขึ้น ซึ่งยุคนี้ก็คงไม่มีใครอยากใช้สมาร์ทโฟนที่หนาเป็นกระดูกหมาหรอกเนอะ
ยกตัวอย่างจากเซนเซอร์ของกล้อง iPhone 13 ตัวเซนเซอร์กล้องมีความละเอียด 12 MP ขนาดพิกเซล 1.9 µm (ไมโครมิเตอร์ - Micrometer) ในขณะที่ iPhone 14 Pro เซนเซอร์กล้องมีความละเอียด 48 MP ขนาดพิกเซล 1.22 µm และสุดท้าย Galaxy S22 Ultra เซนเซอร์กล้องมีความละเอียด 108 MP ขนาดพิกเซลเพียง 0.8 µm เท่านั้น เป็นขนาดที่เล็กที่สุดเท่าที่เคยเห็นมา
เปรียบเทียบขนาดของเซนเซอร์ระหว่างกล้องดิจิทัล กับกล้องบนสมาร์ทโฟน
ภาพจาก : https://silentpeakphoto.com/gear/cameras/camera-guides/the-real-reason-why-iphone-13-pro-has-3-cameras/
ซึ่งการที่จุดพิกเซลมีขนาดเล็กมาก ไม่ใช่เรื่องดีนะ แม้มันจะทำให้ภาพมีความละเอียดสูงขึ้นแต่ก็ทำให้ความสามารถในการรับแสงแย่ขึ้นด้วยเช่นกัน
เพื่อแก้ไขปัญหาข้อจำกัดดังกล่าว ผู้ผลิตเซนเซอร์จึงหาทางแก้ปัญหากัน และคำตอบที่ได้ก็คือการทำ Pixel Binning แม้เทคนิคนี้จะนิยมใช้งานกันในสมาร์ทโฟนระดับเรือธงในยุคปัจจุบัน แต่ในความเป็นจริงมีใช้กันมานานหลายสิบปีแล้วในหมู่นักดาราศาสตร์ มือถือกล้องเทพในตำนานอย่าง Nokia 808 PureView ที่เปิดตัวตั้งแต่ปี ค.ศ. 2012 (พ.ศ. 2555) ก็ใช้เทคนิค Pixel Binning ในการทำงานเช่นกัน
Pixel Binning เป็นเทคนิคที่ใช้ในการประมวลผลภาพ โดยอาศัยการรวมพิกเซล (Pixel) จำนวน 4 พิกเซล หรือมากกว่าที่อยู่ติดกัน มาสร้างเป็น Superpixel (หรือที่ทาง Samsung เรียกว่า "Tetrapixel" หรือ "Nonapixel") เพื่อเก็บข้อมูลของสัญญาณแสงเพิ่มเติม
การรวมพิกเซลนี้ไม่ใช่การทำงานระดับฮาร์ดแวร์ แต่เป็นการใช้ซอฟต์แวร์ในการประมวลผลข้อมูลจาก Superpixel ที่ถูกจำลองขึ้นมาเพื่อเก็บข้อมูลแสงเสมือนว่ามันเป็นพิกเซลขนาดใหญ่
ตัวอย่างเช่น iPhone 14 Pro มีเซนเซอร์ความละเอียด 48 MP แต่เมื่อทำการ Pixel binning รวม 4 พิกเซล เป็น 1 พิกเซลขนาดใหญ่ ที่มีขนาด 2x2 รูปถ่ายที่ได้ก็จะถูกลดความละเอียดจาก 48 MP เหลือเพียง 12 MP หรือใน Galaxy S22 ใช้วิธีรวม 9 พิกเซล เป็น 1 พิกเซล ที่มีขนาด 3x3 จากเซนเซอร์ความละเอียด 108 MP ภาพที่ได้ก็จะมีขนาดเพียง 12 MP ซึ่งการทำแบบนี้ จะช่วยให้ตัวเซนเซอร์สามารถเก็บข้อมูลแสงได้ละเอียดมากขึ้น แม้ภาพที่ได้จะมีขนาดเล็กลง แต่คุณภาพ และรายละเอียดของภาพจะดีขึ้นกว่าเดิมมาก โดยที่ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดของเซนเซอร์
ภาพจาก : https://news.samsung.com/global/samsungs-108mp-isocell-bright-hm1-delivers-brighter-ultra-high-res-images-with-industry-first-nonapixel-technology
นอกจากนี้ Pixel Binning ยังเป็นการทำให้การประมวลภาพเร็วขึ้นกว่าเดิมด้วย เนื่องจากความละเอียดภาพมีขนาดที่เล็กลง แน่นอนว่า หากผู้ใช้ไม่ต้องการให้กล้องบนสมาร์ทโฟนไม่ทำ Pixel Binning ทางผู้ผลิตส่วนใหญ่ก็จะมีตัวเลือกให้ผู้ใช้ตัดสินใจเปิด/ปิดได้ อย่างถ้าเป็นใน iPhone ผู้ใช้ก็สามารถเลือก ถ่ายภาพที่ความละเอียด 48 MP ได้ในโหมด ProRaw
Pixel Binning อาจจะอ่านแล้วเป็นวิธีการทำงานของเซนเซอร์ที่ชาญฉลาด อย่างไรก็ตาม Superpixel ที่เกิดจากการรวม Pixel ขนาดเล็ก แท้จริงแล้วก็เป็นความพยายามที่จะเพิ่มความละเอียดของเซนเซอร์ลงไปในพื้นที่ขนาดเล็ก แม้มันจะช่วยให้เก็บข้อมูลแสงได้มากขึ้น แต่มันก็เป็นการทำงานด้วยซอฟต์แวร์ หากนำพิกเซลขนาดเท่ากันที่อยู่บนเซนเซอร์ขนาดใหญ่ มันก็ยังสามารถเก็บข้อมูลรายละเอียดภาพได้ดีกว่า
ถ้า Pixel Binning นั้นดีจริง ผู้ผลิตกล้องคงนิยมนำเทคโนโลยีนี้มาใช้งานในกล้อง DSLR หรือ Mirrorless เพื่อสร้างกล้องความละเอียด หลายร้อยล้านพิกเซลบนเซนเซอร์ขนาดเท่าเดิมนานแล้วล่ะ ปัญหาของ Superpixel คือในการทำงาน มันจะเก็บข้อมูลของแต่ละพิกเซลมาคาดการณ์ว่าควรจะนำข้อมูลของพิกเซลไหนมาใช้งาน และควรจะประมวลผลภาพให้ออกมามีผลลัพธ์เป็นแบบไหน ?
ถึงแม้ว่า ซอฟต์แวร์ของกล้องสมาร์ทโฟน ในสมัยนี้ก็มีความชาญฉลาดมาก มีการนำ เทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูล ทำให้ได้ภาพที่มีคุณภาพสูงออกมา แต่บางครั้งผลลัพธ์ที่ได้ก็ทำให้ภาพออกมาเหมือนถูกปรับแต่งแสงสีมากจนเกินเหตุอยู่ดี การที่สีภาพมันสดกว่าที่ควรจะเป็น หรือแสงดูสีเพี้ยนไปจากความเป็นจริง สาเหตุก็มาจากการวิเคราะห์ข้อมูลแสงที่ผิดพลาดนั่นเอง
สุดท้ายแล้ว Pixel Binning ก็เป็นเพียงวิธีการแก้ไขปัญหาวิธีหนึ่ง ที่ช่วยเพิ่มความละเอียดสูงสุดให้เซนเซอร์, เพิ่มความเร็วในการถ่ายภาพด้วยการลดความละเอียดของภาพลง และช่วยให้การในที่แสดงน้อยทำได้ดีขึ้น
แต่หากคุณต้องการนำภาพถ่ายที่ได้มาครอปใช้งานในภายหลัง หรือซูมเพื่อดูรายละเอียด การถ่ายภาพที่ความละเอียดสูงสุดที่เซนเซอร์ทำได้ด้วยการปิดคุณสมบัติ Pixel Binning ก็จะได้รายละเอียดภาพที่ดีกว่าอย่างแน่นอน
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |