หากเรานึกถึงการออกแบบ งานดีไซน์ของประเทศญี่ปุ่น เราก็มักจะเห็นอะไรที่มันมีความน่ารัก, ไม่ก็ความเรียบง่ายตามวิถีเซน แต่สื่อความหมายได้อย่างโดดเด่นในสไตล์มินิมอล
ภาพจาก : https://rare-gallery.com/4598404-one-piece-monkey-d-luffy-hokusai-waves-the-great-wave-off-kanagawa-anime.html
แม้เรื่องความสวยงามจะเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับปัจเจคของแต่ละคน แต่ในสายตาของคนนอกเกาะแล้ว เว็บไซต์ส่วนใหญ่ของญี่ปุ่นจะมีดีไซน์ที่ไม่ค่อยสวยงามเท่าไหร่นัก แนวทางการออกแบบที่เว็บไซต์ญี่ปุ่นนิยมกัน มักจะเต็มไปด้วยแบนเนอร์ขนาดใหญ่, ข้อความหนาทึบ, มีเนื้อหาหลายคอลัมน์, มีรูปภาพขนาดเล็กเป็นจำนวนมากเรียงกันอย่างยุบยับ ฯลฯ มันเป็นดีไซน์ที่แตกต่างจากแนวทางการออกแบบเว็บไซต์ของทางตะวันตก ที่เน้นความเรียบง่าย อ่านข้อมูลได้สะดวก ดูสะอาดตา
ทำไมเว็บไซต์ของประเทศญี่ปุ่นถึงเป็นอย่างนั้น เรามาทำความเข้าใจ และหาคำตอบไปพร้อมกันได้ในบทความนี้ โดยเหตุผลจะถูกวิเคราะห์แยกออกเป็นหัวข้อ ดังต่อไปนี้
ก่อนอื่น เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้นสำหรับผู้ที่ไม่เคยเข้าเว็บไซต์ของประเทศญี่ปุ่นมาก่อน โดยมาดูภาพเปรียบเทียบของเว็บไซต์เดียวกันในเวอร์ชันสากลที่เป็นภาษาอังกฤษ กับเวอร์ชันท้องถิ่นสำหรับคนญี่ปุ่น ซึ่งเราจะเห็นแนวทางการออกแบบที่แตกต่างอย่างชัดเจน
ลองมาดูเว็บไซต์ของบริษัท Honda ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น โดยในเว็บไซต์เวอร์ชันภาษาอังกฤษจะมีความเรียบง่าย จัดระเบียบด้วยการนำเมนูเข้ามาช่วยลดปริมาณข้อมูลที่ต้องแสดงผลบนหน้าหลัก ในขณะที่เวอร์ชันญี่ปุ่นจะพยายามแสดงผลทุกเมนู พร้อมข้อมูลอย่างละเอียด
เว็บไซต์ Honda เวอร์ชันภาษาอังกฤษ
เว็บไซต์ Honda เวอร์ชันภาษาญี่ปุ่น
การดีไซน์เว็บไซต์ออกเป็น 2 รูปแบบที่ว่านี้ เป็นเรื่องปกติของการออกแบบเว็บไซต์ในสไตล์ญี่ปุ่น ที่ทุกเว็บที่มีเวอร์ชันต่างประเทศด้วยนิยมทำกัน เราจะเห็นความแตกต่างของ ประสบการณ์ผู้ใช้งาน (UX) ได้อย่างชัดเจน
ทางตะวันตกจะนิยมใช้พื้นที่ว่าง ในการแบ่งเขตพื้นที่ในการแสดงผลข้อมูล เพื่อหลีกเลี่ยงความยุ่งเหยิง ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกข้อมูลจากจุดหนึ่ง ไปยังอีกจุดหนึ่งได้อย่างง่ายดาย ไม่รู้สึกว่ามันแออัดจนเกินไป
ในทางตรงกันข้าม เว็บไซต์ของประเทศญี่ปุ่นจะพยายามแสดงข้อมูลแก่ผู้ใช้ให้ได้มากที่สุด เท่าที่พื้นที่จะอำนวยให้ได้ ข้อมูลจะถูกเรียงแทบจะติดกัน ให้ผู้ใช้สามารถอ่านข้อมูลได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องกระโดดข้ามเนื้อหาไปมา เพราะทุกอย่างถูกรวบไว้ในที่เดียวกันแล้ว
เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่าย ๆ การออกแบบเว็บไซต์ในสไตล์ตะวันตก ผู้ใช้จะเหมือนเดินทางจากจุดหนึ่ง ไปยังอีกจุดหนึ่ง มีจุดพักระหว่างการเดินทาง ส่วนสไตล์ญี่ปุ่นนั้นคุณเหมือนยืนอยู่กลางถนนที่มีทุกอย่างรายล้อมคุณไว้แล้ว
ภาษาญี่ปุ่นนั้นมีรูปแบบที่ซับซ้อน โดยมีการใช้ตัวอักษรถึง 4 รูปแบบ ประกอบไปด้วย ฮิรางานะ, คาตากานะ, คันจิ และภาษาอังกฤษ A-Z/0-9 ซึ่งทั้ง 4 รูปแบบี้อาจปรากฏอย่างครบถ้วนภายในกลุ่มเมนู หรือประโยคเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้น ฮิรางานะ, คาตากานะ และคันจิ ยังสามารถจัดวางให้อ่านในแนวตั้งได้ด้วย การจัดวางแบบนี้อาจจะแปลกตาในภาษาอังกฤษ รวมถึงภาษาไทยแต่มันเป็นเรื่องปกติของภาษาญี่ปุ่น
ความยุ่งยากด้านฟอนต์ของภาษาเหล่านี้ ส่งผลกระทบกับแนวทางการออกแบบเว็บไซต์โดยตรง ที่เราเห็นว่ามันดูวุ่นวาย มีทั้งแบนเนอร์ และคอลัมน์ในแนวตั้ง และแนวนอน แต่ในสายตาของคนญี่ปุ่นมันก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว
ภาพจาก : https://kakaku.com/electricity-gas/
ด้วยความฟอนต์ที่ใช้ต้องมีอย่างน้อยถึง 4 รูปแบบ แถมข้อมูลที่อัดมาเต็มหน้า การออกแบบจึงต้องมีการลำดับความสำคัญของเนื้อหา และจัดเรียงให้เป็นระเบียบ หากคุณสังเกตให้ดี ขนาดฟอนต์จะมีความสม่ำเสมอ มีเฉดสีที่เหมือนกันเกือบทั้งหน้าเว็บไซต์
นอกจากนี้ ขนาดของฟอนต์ มักจะนิยมเลือกใช้งานฟอนต์ขนาดเล็กเป็นหลัก เพื่อให้ง่ายต่อการแสดงข้อมูลจำนวนมากบนหน้าจอ ในส่วนของขนาดฟอนต์ เว็บไซต์ของประเทศญี่ปุ่นมักจะเลือกใกล้เคียงกันหมด ต่างจากเว็บตะวันตกที่จะนิยมใช้ขนาดฟอนต์ตัวใหญ่ตัวเล็กมาตัดกัน เพื่อความน่าสนใจให้กับเนื้อหา
และจากเหตุผลที่ว่ามา เพื่อให้ข้อมูลยังสามารถแยกออกจากกันได้โดยใช้พื้นที่สิ้นเปลืองน้อยที่สุด "กล่อง" จึงเป็นเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้ ด้วยการเรียงกล่องติดกัน และนำข้อความไปบรรจุเอาไว้ภายในกล่อง
ไม่ว่ามันจะดูแปลก หรือไม่สวย แต่มันก็ได้ผลดี และช่วยให้ข้อมูลแสดงผลอย่างเป็นระเบียบ อ่านง่าย มีความชัดเจน
ภาพจาก : https://www.nicovideo.jp/
ดีไซน์ของเว็บไซต์ที่เต็มไปด้วยข้อความจำนวนมากไม่ได้เกิดขึ้นมาจากความบังเอิญ แต่มันมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่สามารถสืบย้อนกลับไปได้
ในอดีตชาวญี่ปุ่นจะมีการทำสื่อที่เรียกว่า "Chirashi" ใบปลิวที่รวบรวมรายการสินค้าประจำถิ่น ส่งแนบไปกับหนังสือพิมพ์ฉบับเช้า ซึ่งชาวญี่ปุ่นจะพึ่งพามันในการเลือกซื้อสินค้าภายในเมือง ซึ่งมีครอบคลุมทุกชนิดตั้งแต่มันฝรั่งยันที่ดิน
มีเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2005 (พ.ศ. 2548) ทาง Walmart ได้เข้าซื้อหุ้น Seiyu ที่เป็นเชนซุปเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ของประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง Walmart ต้องการให้ยกเลิกการพิมพ์ Chirashi เนื่องจากทาง Walmart มองว่า มันเป็นของล้าสมัยที่ผลาญเงิน ไปอย่างเปล่าประโยชน์ แต่ด้วยความสามัคคีของเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดที่พยายามคัดค้านอย่างหนัก ทำให้ Walmart ยอมรับฟัง และคงสถานะของ Chirashi เอาไว้อยู่
นอกจาก Seiyu จะยังคงทำ Chirashi ต่อไปแล้ว ยังมีการนำมันมาเผยแพร่ผ่าน อินเทอร์เน็ต เพิ่มขึ้นมาอีกด้วย เพื่อเข้าถึงลูกค้าอายุน้อย ที่ไม่นิยมสมัครรับหนังสือพิมพ์กันแล้ว
ดังนั้น ในมุมมองของลูกค้าไม่ว่าจะเด็ก หรือผู้ใหญ่ พวกเขาก็ชินกับการกวาดตามองหาข้อมูลที่ต้องการจากรายการทั้งหมดอยู่แล้ว และพวกเขาก็ชอบวิธีการนี้มากกว่าที่จะไปไล่หาตามหมวดหมู่ให้เสียเวลา
ภาพจาก : https://www.shufoo.net/pntweb/shopDetail/4081/54703732111900/
ชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่มักต้องการทราบรายละเอียดของสินค้าเพิ่มเติมก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ ดังนั้นในโบรชัวร์ มันเลยมีบรรทัดฐานว่า โบรชัวร์ที่เผยแพร่ในประเทศญี่ปุ่นจะอัดแน่นไปด้วยข้อความบรรยายจำนวนมาก และอีกเวอร์ชันสำหรับเผยแพร่ในต่างประเทศ
โดยความแตกต่างหลักคือ เวอร์ชันของประเทศญี่ปุ่นจะมีข้อมูลเชิงเทคนิค หรือรายละเอียดเยอะเป็นพิเศษ เพื่อให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมในการเลือกซื้อสินค้าของชาวญี่ปุ่น ในขณะที่เวอร์ชันสากลที่เผยแพร่ในต่างประเทศจะให้ข้อมูลด้านผลประโยชน์ที่ผู้ใช้จะได้รับ โดยอาจจะไม่เอ่ยถึงเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังการทำงานเลย เนื่องจากชาวตะวันตกจะไม่ค่อยสนใจว่ามันทำงานอย่างไร ? พวกเขาสนใจแค่ว่ามันทำประโยชน์อะไรได้บ้างมากกว่า
นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจพบว่า ผู้ซื้อที่เป็นผู้ชายมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจซื้อสินค้าโดยพิจารณาจากคุณสมบัติที่เป็นประโยชน์มากกว่าผู้หญิง และไม่ว่าจะเป็นผู้ชายยุคเก่าที่มักจะมีอำนาจในการตัดสินใจซื้อของใช้ภายในบ้าน หรือผู้ชายยุคใหม่ที่มักจะปรึกษาภรรยาก่อนก็ตาม พวกเขาก็ต้องการข้อมูลไปเกลี้ยกล่อม ซึ่งพวกเขาไม่จำเป็นต้องเข้าใจมันจริง ๆ ก็ได้ แต่ฝ่ายขายจะพยายามทำทุกวิถีทางให้ผู้ซื้ออ่านแล้วรู้สึกว่า "โอ้ ฉันรู้แล้วว่าจะไปป้ายยาภรรยาให้ยอมซื้อได้อย่างไร ?"
ภาพจาก : https://www.shufoo.net/pntweb/shopDetail/205306/11921332063025/
อย่างที่พวกเราน่าจะรู้กันดีอยู่แล้ว ว่าการที่จะทำให้คนคลิกซื้อสินค้าบนเว็บไซต์ เป็นเรื่องที่มีความท้าทาย บางเว็บไซต์เลือกที่จะแสดงข้อมูลเพียงเล็กน้อย เพื่อหลอกล่อให้ผู้ชมคลิกอ่านต่อ แต่หลายเว็บไซต์ในประเทศญี่ปุ่นเลือกใช้วิธีการตรงกันข้าม พวกเขาเลือกที่จะโชว์แทบทุกอย่างเอาไว้ที่ด้านหน้าเลย และสามารถคลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้
มันเป็นเทคนิคเดียวกับที่ร้านอาหารญี่ปุ่นชอบทำ เวลาไปทานร้านอาหารญี่ปุ่น เรามักจะเห็นอาหารจำลองจัดแสดงเอาไว้ที่หน้าร้าน มันช่วยให้เรามองเห็นภาพได้ทันทีว่าภายในร้านขายอะไร และมีเมนูอะไรบ้างอย่างรวดเร็ว และเห็นภาพได้อย่างชัดเจน ซึ่งเว็บไซต์ของประเทศญี่ปุ่นก็นำเทคนิคนี้มาประยุกต์ใช้เช่นกัน
ภาพจาก : https://www.anaexperienceclass.com/the-story-behind-plastic-foods-in-japan/
ระบบโทรศัพท์ของประเทศญี่ปุ่นนั้นต้องบอกว่ามาก่อนกาลกว่าชนชาติอื่น ญี่ปุ่นเป็นประเทศแรก ๆ ที่มีเครือข่ายอินเทอร์เน็ต 3G ในตอนที่คนส่วนใหญ่บนโลกยังใช้โทรศัพท์จมือถือจอขาวดำ ทำได้แค่ส่งโทรเข้าออก กับรับ SMS โทรศัพท์มือถือแบบฝาพับที่ชาวญี่ปุ่นใช้งานกันนั้น มีหน้าจอสี, มีกล้อง, วิดีโอคอล, ส่งรูป และอินเทอร์เน็ตได้แล้ว
โทรศัพท์ถ่ายรูปได้ Kyocera VP-210 วางจำหน่ายตั้งแต่ปี ค.ศ. 1999 (พ.ซ. 2542)
ภาพจาก : https://stepphase.com/reviews/mobile-reviews/kyocera-vp-210-the-first-camera-phone-in-history/
อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่หน้าจอโทรศัพท์มีขนาดเล็ก หน้าเว็บไซต์จึงออกแบบให้เน้นข้อความเป็นหลัก เพื่อให้ง่ายต่อการรับชมบนมือถือ และการออกแบบก็เป็นการพยายามแสดงข้อมูลให้ได้มากที่สุดบนพื้นที่จำกัด ซึ่งแนวทางการออกแบบในรูปแบบนั้น ก็สืบทอดมาสู่การออกแบบเว็บไซต์ด้วย
ภาพจาก : https://medium.com/@Ticketbis/the-challenge-of-designing-ux-and-ui-in-japan-71db210dce5b
แม้เว็บไซต์ของประเทศญี่ปุ่นจะดูวุ่นวาย และรกในสายตาของคนทั่วไป แต่หลังจากอ่านบทความนี้มาจนถึงบรรทัดนี้ก็น่าจะพอเข้าใจถึงเหตุผลของมันแล้ว ว่ามันมีที่มาจากวัฒนธรรมในการรับสื่อ และการซื้อของนั่นเอง
นอกจากนี้ ในความดูรกที่เราเห็นนั้น ในความเป็นจริง แม้ข้อมูลจะถูกอัดแน่น เต็มไปด้วยข้อความมากมาย แต่มันก็มีระเบียบในรูปแบบของมันอยู่
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |