ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

Internet คืออะไร ? และ ประวัติความเป็นมาของอินเทอร์เน็ต ใครเป็นผู้สร้างขึ้นมา ?

Internet คืออะไร ? และ ประวัติความเป็นมาของอินเทอร์เน็ต ใครเป็นผู้สร้างขึ้นมา ?
ภาพจาก : https://www.freepik.com/free-vector/3d-earth-graphic-symbolizing-global-trade-illustration_14803715.htm
เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 51,598
เขียนโดย :
0 Internet+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0+%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B9%87%E0%B8%95+%E0%B9%83%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%B6%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B2+%3F
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

Internet คืออะไร ? และ ประวัติความเป็นมาของอินเทอร์เน็ต ใครเป็นผู้สร้างขึ้นมา ?

ทุกวันนี้ อินเทอร์เน็ต (Internet) แทบจะเป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิตของเราเลยก็ว่าได้ เพราะหากลองคิดดูว่าถ้าตอนนี้ไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้แล้ว วัน ๆ คงไม่รู้จะทำอะไรเหมือนกัน แต่เคยสงสัยไหมว่าอินเทอร์เน็ตที่เราใช้งานกันอยู่ทุกวันนี้นั้น คืออะไรกันแน่ ? พวกมันมาจากไหนกันนะ ? ใครเป็นผู้สร้าง ? แล้วเราจะสามารถสร้างอินเทอร์เน็ตมาใช้งานเป็นของตัวเองได้รึเปล่า ?

บทความเกี่ยวกับ Internet อื่นๆ

เนื้อหาภายในบทความ

อินเทอร์เน็ตคืออะไร ? (What is the Internet ?)

อินเทอร์เน็ต (Internet) ที่เราใช้งานกันอยู่ทุกวันนี้เป็น "ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์" ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่ทำการเชื่อมต่อเครือข่ายคอมพิวเตอร์ขนาดน้อยใหญ่ต่าง ๆ มากมายจากทั่วโลกเข้าด้วยกัน ทำให้เราสามารถใช้งานในการสืบค้นหาสิ่งที่ต้องการแบบออนไลน์ได้อย่างไร้ขีดจำกัด หรือใช้เพื่อพูดคุยสนทนากับเพื่อนอีกซีกโลกหนึ่งก็ทำได้อย่างง่ายดาย เรียกได้ว่ามันเป็นสิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกและมีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตของเราค่อนข้างมากเลยทีเดียว

Internet คืออะไร ?
ภาพจาก : https://s33644.pcdn.co/wp-content/uploads/2019/10/The-global-internet-protocol-IP.jpg

ใครเป็นผู้สร้างอินเทอร์เน็ต ? (Who invented the Internet ?)

ความคิดเรื่องเครือข่ายที่สามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ทั่วโลกแบบไร้สายนั้นมีมาตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แล้วเสียอีก แต่กว่าจะสามารถพัฒนาเป็น อินเทอร์เน็ต เพื่อใช้งานกันได้เหมือนในปัจจุบันนี้ก็กินเวลาไปกว่า 60 กว่าปีเลยทีเดียว เพราะนวัตกรรมในขณะนั้นยังไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาเครือข่ายดังกล่าว

ผุดไอเดีย เชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ทั่วโลกเข้าด้วยกัน

จนกระทั่งในช่วงปี ค.ศ. 1962 (พ.ศ. 2505) โดย J.C.R. Licklider นักวิจัยของ สถาบัน MIT ได้เสนอไอเดียการทำ Intergalactic Network (เครือข่ายอวกาศ) ขึ้นมา ซึ่ง Licklider ได้อธิบายเกี่ยวกับเครือข่ายนี้เอาไว้ว่ามันจะเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ทั่วโลกเข้าด้วยกันและแบ่งปันข้อมูลแก่กันและกันได้อย่างรวดเร็ว

และเขาก็ได้ผลักดันแนวคิดนี้จนสามารถดึงความสนใจและถูกเสนอให้เป็นหัวหน้าโครงการ DARPA (Defense Advanced Research Project Agency) และโน้มน้าวให้เพื่อนร่วมงานอย่าง Ivan Sutherland และ Bob Taylor รวมทั้งดึงความสนใจจาก Lawrence G. Robert นักวิจัยของ MIT ให้ร่วมมือกันพัฒนาโครงการนี้ไปอีกขึ้นหนึ่ง

J.C.R. Licklider หัวหน้าโครงการ DARPA
ภาพจาก : https://media.techeblog.com/images/internet_history.jpg

Leonard Kleinrock นักวิจัยจาก MIT ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง "Packet Switching" หรือวิธีการจะช่วยให้การส่งถ่ายข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้นในปี ค.ศ. 1961 (พ.ศ. 2504) ก่อนจะตีพิมพ์อย่างเป็นทางการในปี ค.ศ. 1964 (พ.ศ. 2507) และได้นำเอาแนวคิดเรื่อง Packet Switching นี้ไปเสนอกับ Robert ว่ามันน่าจะช่วยให้การส่งถ่ายข้อมูลได้สะดวกและรวดเร็วกว่า

ก้าวกระโดดจากความเร็ว 2.4 kbps สู่ 50 kbps

ในปี ค.ศ. 1965 (พ.ศ. 2508) Kleinrock ก็ได้ร่วมมือกับ Robert และ Thomas Merrill ในการเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ TX-2 จากรัฐ Massachusetts เข้ากับคอมพิวเตอร์ Q-32 ที่อยู่ในรัฐ California ด้วยสายโทรศัพท์แบบ Dial-up ขึ้นมาเป็นเครือข่ายแรก แม้ว่ามันจะมีพื้นที่ไม่กว้างมากนัก แต่ก็ถือว่าเป็นก้าวที่ดีในการเริ่มต้นทีเดียว

ข้อมูลเพิ่มเติม : KBps กับ MBps และ Kbps กับ Mbps ต่างกันอย่างไร กันแน่ ?

ถัดมาราวช่วงปี ค.ศ. 1966 (พ.ศ. 2509) Robert ได้กลับไปที่ DARPA และพัฒนาเครือข่ายนี้ขึ้นมาร่วมกับทางรัฐบาลของสหรัฐอเมริกาในนาม ARPRANET (Advanced Research Projects Agency Network) หรือโครงการวิจัยเครือข่ายขั้นสูงและได้ตีพิมพ์เกี่ยวกับงานวิจัยชิ้นนี้ในปีถัดมา

ซึ่งภายในงานสัมมนาที่ Robert ได้อธิบายเกี่ยวกับงานวิจัยชิ้นนี้ของเขา มันก็บังเอิญมีคอนเซปต์การทำงานคล้ายกับงานของ Donald Davies และ Roger Scantlebury จาก NPL (National Physical Laboratory) ของประเทศอังกฤษ ไม่เพียงเท่านั้น ทาง RAND (Research And Development) เองได้ตีพิมพ์งานวิจัยเกี่ยวกับการใช้งาน Packet Switching Network สำหรับเพิ่มความปลอดภัยของการส่งต่อข้อความเสียงในกองทัพสหรัฐในช่วงปี ค.ศ. 1964 (พ.ศ. 2507) เพราะในขณะนั้นก็เป็นช่วงคาบเกี่ยวของการเกิดสงครามเย็นระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตพอดี ดังนั้นจึงให้ความสำคัญและความสนใจในประเด็นนี้ค่อนข้างมาก

ARPRANET (Advanced Research Projects Agency Network)
ภาพจาก : https://www.timetoast.com/timelines/evolucion-de-la-internet-067fd4a2-af88-480d-90c2-bbb7abb235d9

ซึ่งเมื่อผู้คนจากทั้ง 3 แหล่งวิจัยนี้ได้มาพบปะกันและมองเห็นว่าทั้งสามแหล่งมีแนวคิดเกี่ยวกับการทำงานของ Network ที่พวกเขาสร้างขึ้นมาที่มีความคล้ายคลึงกันและน่าจะสามารถเกื้อหนุนกันไปได้ในทางที่ดี จึงแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน และทาง APRANET ก็ได้รับเอาระบบของ MIT เข้ามาประยุกต์เพิ่มเติมจนสามารถอัปเกรดความเร็วจากเดิม 2.4 kbps ให้พุ่งสูงขึ้นไปถึง 50kbps เลยทีเดียว

เริ่มเครือข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างคอมพิวเตอร์ 4 เครื่อง

ต่อมาในปี ค.ศ. 1968 (พ.ศ. 2511) Robert ที่ได้ทุนสนับสนุนจากทาง DARPA ก็ผลักดันโครงการ ARPANET อย่างต่อเนื่อง และทาง DARPA ยังได้เปิดตัว RFQ (Request For Quotation) ขึ้นมาเพื่อช่วยพัฒนา Packet Switches ให้เสถียรมากขึ้นโดยเรียกมันว่า IMP’s (Interface Message Processor) หรือตัวประมวลผลเชื่อมต่อข้อความ ซึ่งช่วงธันวาคมของปีนั้นเองทีม BBN (Bolt Beranek and Newman) ที่นำทีมโดย Frank Heart ก็ได้นำเอาระบบ IMP’s เข้ามาพัฒนาร่วมด้วย ส่วนทางด้าน Bob Kahn ก็ดูแลเรื่องการออกแบบโดยรวมของ ARPANET 

IMP’s (Interface Message Processor)
ภาพจาก : https://arstechnica.com/tech-policy/2011/10/arpanets-coming-out-party-when-the-internet-first-took-center-stage/

หลังจากนั้น Robert และทีมของ Howard Frank ก็ได้สร้างเครือข่าย Topology และเศรษฐศาสตร์ขึ้นมาที่ Network Analytic Corporation (บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลภายในเครือข่าย) ซึ่งในปี ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) Klienrock ก็ได้ทำเอาระบบการวัดเครือข่ายนี้ไปทดลองใช้งานใน UCLA (University of California, Los Angeles) โดยเขาได้พยายามที่จะเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์จากหลาย ๆ แหล่งเข้ามาอยู่ในเครือข่ายเดียวกัน

โดยทางทีม BBN ได้เข้าไปติดตั้งระบบ IMP ที่ UCLA และได้ทดลองส่งข้อความแบบ Node-to-node ไปยังคอมพิวเตอร์อีกเครื่องที่อยู่ในมหาวิทยาลัย SRI (Stanford Research Institute) ที่ทาง Doug Elgerbart กำลังทำโปรเจคเกี่ยวกับ Augmentation of Human Intellect หรือการจำลองความฉลาดของมนุษย์ขึ้นมาพอดิบพอดี (ต่อมาก็ได้พัฒนาเป็น Hypertext ของ NLS) ซึ่งข้อความแรกที่ UCLA พิมพ์ส่งให้ทาง Stanford คือคำว่า “LOGIN” แต่มันก็ส่งไปถึงปลายทางเพียงแค่ 2 ตัวอักษรแรกเท่านั้น เนื่องจากการจัดการระบบยังไม่คงที่นัก

ต่อมาทาง SRI ก็ได้ติดต่อกับ ARPANET อีกครั้งหยึ่งโดยร่วมมือกับทาง UCSB (University of California, Santa Barbara) และมหาวิทยาลัย UTAH ในการขยายเครือข่ายนี้ออกไปอีก ซึ่งทาง UCSB ก็ได้ Glen Culler และ Burton Fried มาช่วยในการเพิ่ม Node รับ - ส่งระหว่างเครือข่าย รวมทั้งได้ช่วยในการตรวจสอบสูตรทางคณิตศาสตร์ต่าง ๆ ที่จะเข้ามาช่วยให้การส่งถ่ายข้อมูลระหว่างกันลื่นไหลมากขึ้น

ในขณะที่มหาวิทยาลัย UTAH Robert, Taylor และ Sutherland เองก็ได้พัฒนาการแสดงผลแบบ 3 มิติบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และจนกระทั่งในปลายปี ค.ศ. 1969 (พ.ศ. 2512) ก็ได้เชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ทั้ง 4 เครื่องนี้เข้าด้วยกันจนสำเร็จ

การเติบโตของเครือข่าย ARPANET
ภาพจาก : https://www.dougengelbart.org/content/view/160/

กำเนิดแอปรับ-ส่งอีเมล ในชื่อ Hot

เมื่อเห็นว่าสามารถเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์เข้ากับเครือข่ายของ ARPANET ได้อย่างลื่นไหลแล้วก็ได้เพิ่มจำนวนคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งได้ปรับปรุง โปรโตคอล (Protocol) ให้เป็นแบบ Host-to-Host เพื่อเชื่อมต่อกับเครือข่ายซอฟต์แวร์ต่าง ๆ

และในปลายปี ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513) นั้นเอง ทางทีม NWG (Network Working Group) ของ S.Crocker ก็ได้พัฒนาการ Protocol แบบ Host-to-Host จนสำเร็จและเรียกมันว่า NCP (Network Control Protocol) ซึ่งเมื่อได้ทำการติดตั้ง NCP บน ARPANET เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้ใช้เครือข่ายนี้ก็สามารถที่จะพัฒนาแอปพลิเคชัน (Application) ของตนเองได้แล้ว

ในช่วงปี ค.ศ. 1972 (พ.ศ. 2515) Kahn ก็ได้ไปเข้าร่วมงาน ICCC (International Computer Communication Conference) ในฐานะของ ARPANET และได้ปล่อย Prototype ของเทคโนโลยีการเชื่อมต่อกันผ่านเครือข่ายนี้ออกมาสู่สายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรก และในช่วงเดียวกันนั้นเอง Ray Tomlinson จาก BBN ก็ได้มีการสร้างแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า “Hot” ออกมา โดยมันเป็นแอปพลิเคชันในการรับ - ส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ (Email) และเปิดซอฟต์แวร์ต่าง ๆ โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ARPANET อีกทีหนึ่ง

และในช่วงเดือนกรกฎาคม Robert ก็ได้เพิ่มฟังก์ชันให้กับตัวโปรแกรมนี้ให้มีความสามารถในการ เขียน, เลือก, แสดงรายการ, อ่าน, แนบไฟล์, ส่งต่อ และการตอบกลับหากันและกันได้ ซึ่งมันก็สร้างความตื่นเต้นให้กับผู้คนในยุคนั้นค่อนข้างมาก และการใช้งานอีเมลก็ยังคงได้รับความนิยมมาจนถึงปันจจุบันนี้

ข้อมูลเพิ่มเติม : ต้นกำเนิดของอีเมลที่มีชื่อว่า Hot นั้นก็ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับ Hotmail ของ Microsoft ที่ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1996 (พ.ศ. 2539) แต่อย่างใด

Email แรกของ Ray Tomlinson
ภาพจาก : https://pbs.twimg.com/media/EzqtUVQXoAYgu8B.jpg

กำเนิด World Wide Web

จากนั้น Robert Kahn และ Vinton Cerf ก็ได้ประดิษฐ์ TCP/IP (Transmission Control Protocol and Internet Protocol) หรือตัวควบคุมการส่งผ่านโปรโตคอลและอินเทอร์เน็ตโปรโตคอล ที่ช่วยควบคุมมาตรฐานในการสื่อสารและส่งผ่านข้อมูลระหว่างเครือข่ายขึ้นมาในการช่วยซัพพอร์ทการทำงานของเครือข่ายนี้จนสำเร็จในปี ค.ศ. 1978 (พ.ศ. 2521) ซึ่งมันก็ถือว่าเป็น TCP/IP v4 ที่เป็นมาตรฐานการใช้งานอินเทอร์เน็ตมาจนถึงปัจจุบันนี้

จากนั้นในปี ค.ศ. 1983 (พ.ศ. 2526) ทาง ARPANET ก็ได้ทดลองนำเอาระบบ TCP/IP มาประยุกต์ใช้งาน และเหล่านักวิจัยก็ได้รวบรวมเครือข่ายต่าง ๆ นี้เข้าด้วยกันและพัฒนามาเรื่อย ๆ จนกลายเป็นเครือข่ายอินเทอร์เน็ตที่เชื่อมต่อถึงกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533) ที่ Tim Berners-Lee ได้คิดค้นสิ่งที่มีชื่อว่า World Wide Web ขึ้นมา ก็ทำให้ผู้คนจำนวนหนึ่งหันมาสนใจที่จะใช้งานเจ้าอินเทอร์เน็ตนี้มากยิ่งขึ้นและได้มีการพัฒนาเรื่อยมาจนได้รับความนิยมไปทั่วโลก และทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องขวนขวายในการที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายนี้และได้ทำการจัดตั้ง ISP (Internet Service Provider) ขึ้นมาเพื่อให้ผู้ใช้ทั่วไปสามารถเชื่อมต่อกับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึง

TCP/IP (Transmission Control Protocol and Internet Protocol)
ภาพจาก : https://www.timetoast.com/timelines/evolucion-de-la-internet-067fd4a2-af88-480d-90c2-bbb7abb235d9

อินเทอร์เน็ตมาจากไหน ? (How does the Internet com from ?)

อินเทอร์เน็ต ที่เราใช้งานกันทุกวันนี้นั้นมาจาก ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ISP) จำพวก เครือข่ายต่าง ๆ อย่างในบ้านเราก็จะมี 3BB Broadbrand, TOT Fiber 2U, TrueOnline, AIS Fibre, CInternet by CAT, NT เป็นต้น ที่เป็น ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้าน (Home Broadbrand Internet) และ AIS, dtac, TrueMove H ที่เป็น ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบนเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ (Mobile Internet) เป็นต้น

ข้อมูลเพิ่มเติม : เน็ตบ้านค่ายไหนดี ? ดูโปรโมชันเน็ตบ้าน 3BB / AIS Fiber / True Online / TOT / NT Broadband

และสำหรับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในแต่ละเจ้านั้น ก็จะมีการจำกัดการเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ที่ต่างกันออกไป ทำให้บางครั้งเราไม่สามารถเข้าใช้งานบางเว็บไซต์ได้เพราะทาง ISP จำกัดการเข้าถึงไว้นั้นเอง (หรือจะมุด VPN ก็อีกเรื่องหนึ่ง)

โดยทาง ISP นี้ก็จะกำหนด หมายเลขที่อยู่ไอพี (IP Address) ให้กับผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตบนอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะเป็นชุดตัวเลขขนาด 32 บิต (Bits) ที่ได้ถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วนเท่า ๆ กัน โดย IP Address นี้จะมีตั้งแต่ IP Address ของตัวเครื่องและ IP Address ของเว็บไซต์ต่าง ๆ (จาก DNS Server) ที่ไม่ซ้ำกัน

การจ่ายที่อยู่ไอพี บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (IP Addresses Distribution in Internet)
 ภาพจาก : https://www.brickhousesecurity.com/security-cameras/ip-connections/

ซึ่งการใช้งานอินเทอร์เน็ตของเราผ่าน ISP นั้น จะสังเกตได้ว่ามันจะต้องเชื่อมต่อสายสัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้ากับอุปกรณ์สักอย่างหนึ่ง (ถ้าเป็นในสมัยตอนเราเด็ก ๆ ก็ต้องเอาสายโทรศัพท์มาเสียบที่ PC เพื่อใช้อินเทอร์เน็ต แล้วก็จะโดนที่บ้านบ่นเวลาใช้นานเกินไปจนไม่รู้ว่ามีใครโทรมาหาบ้างรึเปล่า...)

แต่สำหรับในสมัยนี้น่าจะคุ้นเคยกับการติดต่อค่ายอินเทอร์เน็ตซักค่ายให้เข้ามาติดตั้งสายแลน LAN (Local Area Network) และตัวเราเตอร์ (Router) เพื่อกระจายสัญญาณ W-Fi ออกไปให้สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึง โดยจะแยกส่วนออกจากการใช้งานสายโทรศัพท์บ้าน ทำให้เราสามารถใช้งานโทรศัพท์บ้านไปพร้อม ๆ กับการเล่นอินเทอร์เน็ตได้แล้ว หรือในบางที่ที่ไม่มีโทรศัพท์บ้านก็ยังสามารถติดตั้งเราเตอร์ไวไฟ (Wi-Fi Router) (ผ่านสายแลนในบ้านหรือคอนโดมิเนียม) ได้อีกด้วยเช่นกัน

เพราะในส่วนของ เราเตอร์ไวไฟ เหล่านี้จะใช้การเชื่อมต่อสายสัญญาณ (สายทองแดงหรือสายไฟเบอร์) ไปยังสายเคเบิลหลักที่อยู่ตามถนน (หรือเสาไฟและตู้ให้บริการสัญญาณ) ต่าง ๆ เพื่อเชื่อมต่อไฟเบอร์เข้ากับ Router นั้น ๆ ให้สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้อย่างลื่นไหล ซึ่งบริการนี้จะเรียกว่า FTTC (Fiber to the Curb) สำหรับการเชื่อมต่อเข่ากับตู้กระจายสัญญาณ และ FTTP (Fiber to the Premises) สำหรับการเชื่อมต่อสายเคเบิลและไฟเบอร์ผ่านเสาไฟต่าง ๆ เพื่อเชื่อมเข้าสู่ตัวบ้าน

ข้อมูลเพิ่มเติม : อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ADSL VDSL DOCSIS FTTX และ Leased Line คืออะไร ? ต่างกันอย่างไร ?

นอกจากนี้ยังมี FTTH (Fiber to the Home) ที่เป็นการเชื่อมต่อสายไฟเบอร์เข้ากับตัวบ้านโดยตรง (ไม่ต้องผ่านสายสัญญาณเหมือน FTTC และ FTTP) ทำให้สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตที่มีความเสถียรมากกว่า (แต่ไม่ต้องน้อยใจกันไปเพราะการติดตั้ง FTTH ก็มีขัอจำกัดค่อนข้างมาก ดังนั้นสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่เราใช้งานกันอยู่ในทุกวันนี้ส่วนมากจึงเป็น FTTCและ FTTP เสียส่วนใหญ่) และเมื่อเราติดตั้ง Router Wi-Fi เป็นที่เรียบร้อย ทาง ISP (ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต) ที่เราเลือกใช้งานก็จะปล่อยสัญญาณให้กับ Router นั้น ๆ ทำให้สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ (ตามแพ็คเกจที่ซื้อไว้)

ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (ISP) เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้อย่างไรกัน ?
(How does ISP connect to the Internet ?)

ในเมื่อเราทราบแล้วว่า อินเทอร์เน็ต ที่ใช้งานอยู่ทุกวันนี้มาจากการปล่อยสัญญาณของ ISP ที่เราสมัครไว้ แต่บรรดา ISP เหล่านี้สามารถเชื่อมต่อเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไปทั่วโลกได้ยังไงกันนะ ? เพราะผืนแผ่นดินทั่วโลกไม่ได้เชื่อมต่อกันกับทุกทวีป และแต่ละประเทศก็มี ISP เป็นของตัวเองหลากหลายเจ้า แล้วใครเป็นผู้เชื่อมต่อโครงข่ายนี้เข้าด้วยกันและบริหารจัดการสัญญาณอินเทอร์เน็ตไปทั่วโลกกันแน่ ?

คำตอบสำหรับคำถามนี้ก็ได้แก่ “การวางสายเคเบิลใต้น้ำ” ในมหาสมุทรต่าง ๆ ทั่วโลกที่ทำให้โครงข่ายอินเทอร์เน็ตทั้งหมดสามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างไร้ปัญหา แต่ก็มีบางส่วนที่ใช้งานดาวเทียมในการเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตด้วยเช่นกัน แต่น่าเสียดายที่เทคโนโลยีที่ดูล้ำสมัยกว่าอย่างดาวเทียมนั้นนอกจากจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าแล้วยังมี Bandwidth ที่จำกัด เนื่องจากระยะห่างของดาวเทียมต่าง ๆ กับพื้นผิวโลกอีกด้วย ดังนั้น 99% ของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตนั้นจึงมาจากสายเคเบิลใต้ทะเลมากกว่า

แผนผังสายเคเบิลใต้น้ำ (Submarine Cable Map) ที่มีในโลก
ภาพจาก : https://blog.telegeography.com/2021-submarine-cable-map

ส่วนการจัดการ ISP ของแต่ละประเทศนั้นก็มีการจัดการและส่งถ่ายข้อมูลระหว่างประเทศผ่าน ISP ขนาดใหญ่และเชื่อมต่อกับ NAPs (Network Access Point) หรือจุดควบคุมเครือข่ายต่าง ๆ อีกทีหนึ่งเพื่อเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกันและกัน สิ่งที่น่าสนใจคือบรรดา ISP ทั้งหมดทั่วโลก (หรือ ISP ของบางประเทศก็มีการจำกัดการใช้งานที่มากกว่าประเทศอื่นหน่อย) นั้นจะต้องเชื่อมต่อเข้ากับ NAPs เพื่อให้ผู้ใช้บริการของ ISP ต่างค่ายกันสามารถติดต่อสื่อสารกันได้อย่างไร้ปัญหาและไร้ขีดจำกัดในเรื่องของระยะทางนั่นเอง

เราจะสร้าง ISP เป็นของตนเองได้ไหม ?
(Can we create ISP by ourselves ?)

เนื่องจากการใช้งาน อินเทอร์เน็ต ทุกวันนี้ต้องพึ่งพา ISP ให้เป็นผู้ดำเนินการปล่อยสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้เราใช้งาน และสังเกตได้ว่า ISP บางเจ้าก็จำกัดการเข้าถึงเว็บไซต์ต่าง ๆ เอาไว้ด้วย ดังนั้นหากเราสามารถสร้าง ISP เป็นของตัวเองเพื่อใช้งานและเข้าถึงเว็บไซต์ต่าง ๆ ได้ก็คงจะดีไม่น้อย

ซึ่งหากใครที่มีความคิดแบบนี้ก็ต้องขอบอกเลยว่าคุณต้องเป็นคนที่ทุนหนาเอามาก ๆ เพราะการที่จะสร้าง ISP เป็นของตนเองนั้นจะจะต้องมีระบบเซิร์ฟเวอร์ ที่เป็นแม่ข่าย ของตนเองเสียก่อนจึงจะสามารถควบคุมการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ (ในขั้นตอนนี้อาจจะซื้ออุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ด้วยตัวเองหรือจ้างบริษัทจัดซื้อเอาก็ได้เช่นกัน) ถัดมาสิ่งที่สำคัญและจำเป็นในการสร้าง ISP ก็ได้แก่ IP Address นั่นเอง

ซึ่งแน่นอนว่าทางผู้ให้บริการ ISP เจ้าอื่น ๆ คงไม่ยินดีที่จะขาย IP Address ให้เพียงแค่ IP เดียวเท่านั้น แต่หากติดต่อขอซื้อเป็นจำนวนมาก ถือจะมีลุ้น 

ข้อมูลเพิ่มเติม : คุณสามารถติดต่อซื้อหมายเลขไอพี ได้จาก American Registry for Internet Numbers (ARINs) องค์กรที่ไม่หวังผลกำไร

หลังจากติดต่อซื้อ IP Address แล้วเป็นที่เรียบร้อยก็สามารถเชื่อมต่อเซิร์ฟเวอร์ ในบ้านของตนเองเข้ากับเครือข่ายอินเทอร์เน็ตได้แล้ว ! แต่แน่นอนว่าจะต้องดำเนินการวางสายเคเบิลและไฟเบอร์ต่าง ๆ ด้วยตนเอง (หรือจ้างผู้เชี่ยวชาญมาจัดการในส่วนนี้ให้) ซึ่งในขั้นตอนนี้ก็เรียกได้ว่าขูดรีดขูดเนื้อกันอยู่พอตัว ดังนั้นเมื่อถึงจุดนี้แล้ว บวกกับการที่มีหมายเลข IP Address จำนวนมากอยู่ในมือ ก็ทำให้สามารถที่จะ “ปล่อยเช่า” เครือข่าย ISP ของตนเองให้กับเพื่อนบ้านหรือคนรู้จักโดยคิดค่าใช้จ่ายรายเดือน / รายปีเพื่อหาทุนคืนได้แล้ว

ดังนั้นการสร้าง ISP เป็นของตนเองที่ทำให้ไม่ต้องเป็นคนจ่ายบิลค่าเน็ตรายเดือนให้กับค่ายเน็ตต่าง ๆ นั้นก็จะต้องสร้างค่ายเน็ตของตัวเองขึ้นมาและกลายเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการ ISP อีกเจ้าหนึ่งไปโดยปริยาย (หากไม่ได้มีเงินเหลือเผื่อใช้อยากจะทำมาใช้เองคนเดียวจริง ๆ โดยไม่หาทุนคืนล่ะนะ)

เราสามารถสร้าง อินเทอร์เน็ตส่วนตัว เป็นของตัวเองได้หรือเปล่า ?
(Can we create the Internet for personal use ?)

แน่นอนว่าการสร้าง ISP ของตนเองยังใช้เงินมากถึงขนาดนั้น แล้วการสร้างเครือข่าย อินเทอร์เน็ต ที่สามารถเชื่อมต่อไปทั่วโลกจะต้องใช้เงินมากอีกเท่าไรกัน ? ดังนั้นมันจึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของตัวเองให้ยิ่งใหญ่และเข้าถึงผู้คนได้ แต่หากต้องการที่จะสร้างเครือข่ายเล็ก ๆ เป็นของตัวเองก็อาจพอมีวิธีอยู่บ้างเช่นกัน

Intranet

ซึ่งเครือข่ายเล็ก ๆ ของตนเองที่ว่านี้ก็ได้แก่ “ระบบอินทราเน็ต” (Intranet) หรือระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ใช้งานกันภายในองค์กรต่าง ๆ นั่นเอง โดยระบบนี้ก็จะต้องเชื่อมต่อกันอินเตอร์เน็ตภายนอกอีกอยู่ดี แต่เราสามารถที่จะติดตั้ง Firewall สำหรับควบคุมการเข้า - ออกของข้อมูลบางประเภทและจำกัดการใช้งานเว็บไซต์ต่าง ๆ ได้ (อย่างบางโรงเรียนก็จะเห็นว่าเล่น Facebook ไม่ได้เลยเพราะอาจารย์ล็อกเว็บไว้)

ซึ่งเครือข่าย Intranet นี้ถึงแม้จะยังเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตภายนอก แต่มันก็มีกฎในการใช้งานเป็นของตัวเองและมีความปลอดภัยในการใช้งานสูงกว่าการใช้อินเทอร์เน็ตโดยทั่วไป เพราะนอกจาก Firewall จะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ใช้กดเข้าเว็บไซต์แปลก ๆ แล้ว มันยังสามารถกันคนนอกที่ต้องการเข้ามาในระบบของเราได้อีกด้วย

เครือข่ายภายในองค์กร (Intranet)
ภาพจาก : https://ebrary.net/7002/education/why_you_need_know_firewalls

Website

หรือสำหรับใครที่ไม่ได้อยากจะสร้างระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเป็นของตัวเอง แต่อยากได้เพียงแค่ตัว Website เฉพาะเป็นของตนเองเท่านั้นก็ต้องพึ่งพาความรู้ด้าน ภาษาคอมพิวเตอร์ และการเขียนโค้ดกันมากหน่อย หรืออาจเลือกใช้บริการสร้างเว็บไซต์สำเร็จรูปจำพวก WordPress, Google Site, WIX หรือบริการอื่น ๆ ก็ทำได้เช่นกัน

สร้างเว็บไซต์เป็นของตัวเอง (Build your own Website)
ภาพจาก : https://techstudiojax.com/a-guide-on-how-to-choose-the-best-website-builder/

Mesh Network

สำหรับผู้ที่ต้องการสร้าง Mesh Network หรือโครงข่ายสำหรับเชื่อมต่อกับบุคคลอื่น ๆ โดยไม่ต้องพึ่งพาระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตนั้นก็สามารถทำได้ แต่จะต้องมีสมาชิกกลุ่มอย่างต่ำ ๆ 3 คนที่มีความรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ขั้นสูงเป็นอย่างดี จากนั้นเชื่อมต่อคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกันผ่านบริการต่าง ๆ เช่น Open Garden ที่มีความปลอดภัยในการใช้งานค่อนข้างมากแต่จำกัดจำนวนผู้ใช้งานแค่เฉพาะในกลุ่มเท่านั้น (หากมีคนใดคนหนึ่งในกลุ่มเสียสละเชื่อมต่อเข้ากับระบบอินเทอร์เนต คนอื่น ๆ ในกลุ่มก็สามารถใช้งานได้เช่นกัน) หรือ Commotion ที่สามารถเชื่อมต่อกระจายสัญญาณผ่าน Router ได้ (ไม่ต้องมีผู้เสียสละเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตโดยตรง แต่ความปลอดภัยในการใช้งานก็ค่อนข้างต่ำ)

นอกจากนี้ยังมีโปรเจค Meshnet หรือโปรเจคที่มีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งร่วมมือกันสร่างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของตนเองขึ้นมาโดยประกอบขึ้นจาก Node ที่มีชื่อว่า Cjdns (ใช้ได้กับทั้ง Windows, macOS, Linux, iOS และ Android) โดยมันจะเป็นเครือข่ายที่เน้นในเรื่องของความปลอดภัยของการรับ - ส่งข้อมูลเป็นหลัก ทั้งยังไม่มีการจำกัดการเข้าถึงเว็บไซต์ต่าง ๆ เหมือนกับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตผ่าน ISP ทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ที่ต้องการได้อย่างไร้ขีดจำกัด

และ Meshnet นี้ก็ถือว่าเป็น Open Source ที่เปิดรับผู้คนจากทุกแหล่งที่ใช้งาน Cjdns เหมือนกันผ่านเครือข่าย IPv6 ที่เข้ารหัส และหากต้องการสร้าง Mesh Local หรือเครือข่าย Mesh Network เป็นกลุ่มย่อย ๆ ของตนเองก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยอุปกรณ์ทุกเครื่องนั้นจะต้องมี Cjdns เพื่อเชื่อมต่อเครือข่ายเข้าด้วยกัน หรือหากต้องการขยายขอบเขตการใช้งานไปให้กว้างไกลกว่าเดิมก็สามารถเชื่อมต่อ Mesh Local เข้ากับ Hyberboria หรือศูนย์กลางในการเชื่อมต่อ Mesh Local จากสถานที่ต่าง ๆ เข้าด้วยกันเป็นโครงข่ายขนาดใหญ่ได้ (เชื่อมต่อกันแบบ Wireless ต่างจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ต้องเดินสายเคเบิล)

หรือสรุปง่าย ๆ ได้เลยว่าหากต้องการที่จะสร้างอินเทอร์เน็ตเป็นของตนเองนั้นก็ต้องใช้ความพยายามและความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ขั้นสูงมาก ๆ จึงจะสามารถทำได้ ทางเลือกที่ดีคือการ “เข้าร่วมกลุ่ม” กับ Meshnet เพื่อใช้งานอินเทอร์เน็ตนอกระบบ ISP ที่ใช้งานกันอยู่ในปัจจุบันนี้ได้ แต่ก็ต้องอาศัยความรู้ด้านคอมพิวเตอร์ขั้นสูงพอสมควร


ที่มา : www.makeuseof.com , www.history.com , www.internetsociety.org , en.wikipedia.org , www.internetsociety.org , history-computer.com , www.myhubintranet.com , www.techdonut.co.uk , projectmeshnet.github.io , hyperboria.net , blog.agupieware.com

0 Internet+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0+%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%99%E0%B9%87%E0%B8%95+%E0%B9%83%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%9C%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%B6%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B2+%3F
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
สมาชิก : Member    สมาชิก
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่..
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 1
7 เมษายน 2567 14:53:19
GUEST
Comment Bubble Triangle
นายเเสนดี
เมื่อเราต้องจ่ายเงินค่าอินเตอร์เนตให้กับเหล่าบรรดา ISP นั้น
เเล้วเหล่า ISP ต้องจ่ายเงินให้กับใครอีกหรือไม่ ในการเพื่อให้ได้มาซึ่งสัญญาณอินเตอร์เนต ?
เเล้วผู้ที่รับเงินจากเหล่า ISP จากทั่วโลกเขานี้ เขาผู้นั้นคือใคร หรือเขาพวกนั้นคือพวกใหน?