เป็นที่ทราบกันดีว่า ระบบปฏิบัติการต่าง ๆ ในยุคนี้มักจะเต็มไปด้วย ซอฟต์แวร์ที่ไม่จำเป็น (Bloatware) จากทางผู้ผลิตใส่แถมมาให้ด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นซอฟต์แวร์ขยะที่ไม่มีใครคิดอยากใช้ ครั้นจะมาไล่ลบเอง หลายครั้งก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะไม่รู้ว่ามีตัวไหนบ้าง ? ตัวไหนที่ลบได้ลบไม่ได้ ? หรือบางตัวอาจจะมีวิธีถอนการติดตั้งที่ซับซ้อน บางคนก็เลยเลือกที่จะปล่อยมันให้รกเครื่องไว้แบบนั้นเลย
เพื่อแก้ปัญหานี้ จึงมีนักพัฒนาจำนวนมาก พัฒนาสคริปต์ (Script) สำหรับลบโปรแกรมที่ไม่จำเป็นขึ้นมา หรือที่เรียกว่า "Debloat Script" โดยนิยมอัปโหลดอยู่บน กิตฮัป (Github) ทำงานง่ายแค่ดาวน์โหลดมาแล้วก็คลิกเพียงไม่กี่ครั้ง ก็สามารถลบ Bloatware ออกจากเครื่องได้อย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม การใช้สคริปต์ในการลบมักก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี ในบทความนี้เราจะมาอธิบายเหตุผล ว่าทำไมเราจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ Debloat Script ?
ก็ตามชื่อของมันเลย Debloating Script คือ กลุ่มของชุดคำสั่งสำหรับลบแอปพลิเคชัน/ซอฟต์แวร์ ที่ถูกติดตั้งมาล่วงหน้า หรือที่เราเรียกกันว่า Bloatware) ออกจากอุปกรณ์ของคุณ ที่นิยมใช้กันมากที่สุดก็จะเป็น Windows Debloating Script สำหรับใช้ลบ Bloatware ที่มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ วินโดวส์ (Windows) ในบทความนี้ จะอธิบายโดยอ้างอิงกับ Windows Debloating Script เป็นหลัก
เวลาใช้งาน Windows Debloating Script มักต้องใช้งานร่วมกับ PowerShell หรือ Terminal อื่น ๆ เช่น Mintty, PuTTy หรือ Git Bash โดยแพลตฟอร์ม GitHub ถือเป็นแหล่งรวมสคริปต์ Debloat สำหรับ Windows ที่ใหญ่ที่สุด หากลองค้นหาดูจะค้นพบมากถึง 488 ผลลัพธ์ นอกเหนือจาก Github ก็ยังสามารถพบได้ใน Reddit, Quara, Tech Blog หรือเว็บไซต์ของนักพัฒนาต่าง ๆ
ภาพจาก : https://github.com/search?q=windows%20debloat&type=repositories
ตัวอย่างเช่น สคริปต์ Win11debloat ที่เราได้ทดลองดาวน์โหลดมาจาก Github ที่เคลมว่าสามารถลบ Bloatware ทั้งหมดที่มาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ Windows 11 ได้ โดยสามารถดาวน์โหลดมาเป็นไฟล์โดยตรง หรือสั่งดาวน์โหลดจากสคริปต์ผ่าน PowerShell ก็ได้ โดยจะมีตัวเลือกในการลบแล้วแต่ความต้องการของผู้ใช้งาน ว่าจะเลือกลบอะไรทิ้งบ้าง ? หรือเลือกลบทั้งหมดตามสิ่งที่ผู้พัฒนาสคริปต์มองว่าเป็น Bloatware
ภาพจาก : https://www.maketecheasier.com/why-windows-debloat-scripts-do-more-harm-than-good/
จะเห็นได้ว่าจุดประสงค์หลักของ Debloat Scripts คือ การลบแอปพลิเคชันที่ตัวผู้สร้างสคริปต์พิจารณาแล้วว่าเป็น Bloatware ออกไปโดยอัตโนมัติ แม้ว่าในทางเทคนิคแล้ว สคริปต์เหล่านี้จะสามารถช่วยลบสิ่งที่ไม่จำเป็นออกจากระบบได้ แต่ทว่ามันก็อาจนำไปสู่ปัญหาบางประการได้เช่นกัน
ในบริบทที่เราบอกว่า "ผิดพลาด" ในที่นี้ หมายถึงการที่สคริปต์ลบโปรแกรม หรือแอปพลิเคชัน ที่ไม่ได้เป็น Bloatware จริง ๆ แต่ว่าทางผู้พัฒนาสคริปต์กลับมองว่ามันเป็น และลบมันทิ้งไปโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหากับการทำงานของระบบ หรือโปรแกรมอื่นได้
ตัวอย่างเช่น Win11debloat ที่เรายกตัวอย่างไปข้างต้น ก็มีการระบุว่าซอฟต์แวร์บางตัว ที่คนส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้ใช้งาน แต่ก็มีบางคนที่ใช้งานมันอยู่ แต่ว่าทางผู้พัฒนาสคริปต์มองว่าเป็น Bloatware เช่น Bing Translator, Bing Weather, Windows Tools และ Quick Assist สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการใช้ Debloat Scripts โดยไม่ระวังอาจทำให้โปรแกรมที่คุณใช้งานอยู่อาจถูกลบไปด้วยได้
ภาพจาก : https://www.maketecheasier.com/why-windows-debloat-scripts-do-more-harm-than-good/
สคริปต์สำหรับลบ Bloatware มีคนทำออกมามากมาย ซึ่งต้องยอมรับว่า มันมีทั้งสคริปต์ที่ดี และสคริปต์ที่ไม่ดีปะปนอยู่เช่นกัน Win11debloat ที่ยกตัวอย่างไปข้างต้น ถือเป็นหนึ่งในสคริปต์ที่ได้รับการแนะนำอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมันมีตัวเลือกที่อนุญาตให้ผู้ใช้เลือกสิ่งที่จะลบได้อย่างอิสระ แต่สคริปต์อื่น ๆ อาจไม่ได้ทำงานในลักษณะเดียวกัน
ในการใช้สคริปต์เหล่านี้ ตัวระบบปฏิบัติการ Windows มักแสดงคำเตือน "Access Denied" เนื่องจากในการลบ Bloatware จำเป็นต้องเข้าถึง "โฟลเดอร์ System32" ซึ่งเป็นไดเรกทอรีสำคัญของระบบ จึงมีการป้องกันการเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาต จาก Microsoft Defender Antivirus อันเป็นซอฟต์แวร์ป้องกันภัย ที่มีหน้าที่ในการป้องกันไม่ให้แฮกเกอร์รีโมตเข้ามาควบคุมโฟลเดอร์สำคัญต่าง ๆ ได้ ซึ่งโฟลเดอร์ System32 ก็เป็นหนึ่งในนั้น
ดังนั้น หากเราต้องการให้ Debloat Script ทำงานได้ ผู้ใช้จะต้องลบสิทธิ์การป้องกันเหล่านี้ออกจาก Microsoft Defender Antivirus เสียก่อน นั่นทำให้ระบบเกิดช่องโหว่ หากสคริปต์ทำมาไม่ดี หรือแฝงเจตนาร้ายเอาไว้ ก็อาจทำให้ระบบเกิดความไม่เสถียรได้
เนื่องจากแหล่งที่มาของ Windows Debloat Scripts เหล่านี้ ไม่สามารถตรวจสอบได้ จึงไม่มีวิธีที่จะยืนยันได้ว่า มันจะไม่มีการติดตั้งอะไรเพิ่มเติมเข้ามา
สคริปต์บางตัวอาจมีการดาวน์โหลดโปรแกรมที่ไม่จำเป็นจำนวนมากแถมมาให้โดยไม่ตั้งใจ ซึ่งหากสคริปต์ถูกเขียนขึ้นมาอย่างไม่ใส่ใจ อาจไม่มีแม้กระทั่งตัวเลือกในการยกเลิก ผลลัพธ์คือ มันเป็นการทำลายวัตถุประสงค์ของการใช้ Debloat Script ไปโดยสิ้นเชิง
สิ่งนี้สังเกตเห็นได้ยาก วิธีหนึ่งที่จะบอกได้ว่าสคริปต์อาจกำลังสร้างปัญหาให้คือ การที่มันขอให้คุณติดตั้งระบบปฏิบัติการ Windows ใหม่ ซึ่งเมื่อเราทำตามขั้นตอนทั้งหมดจนเสร็จสิ้น ท้ายที่สุดก็อาจมีซอฟต์แวร์เพิ่มเติมเข้ามา แทนที่จะลดจำนวนลง
หากหลังการทำงานของสคริปต์เสร็จสิ้น เราเริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติในการทำงานของซอฟต์แวร์ เช่น เปิดโปรแกรมแล้วมีแจ้งเตือน ''the file is open in another program" เราอาจจะแก้ไขปัญหาด้วยการทำความสะอาด Windows Registry นั่นเอง
ภาพจาก : https://www.maketecheasier.com/why-windows-debloat-scripts-do-more-harm-than-good/
Debloat Scripts มักเป็นสาเหตุของข้อผิดพลาดในการอัปเดต ระบบปฏิบัติการ Windows ซึ่งเป็นสิ่งที่นักพัฒนามักไม่ได้บอกคุณ โดยสาเหตุก็มาจาก
นอกจาก Debloat Scripts จะลบซอฟต์แวร์ที่ไม่จำเป็นออกไปแล้ว บ่อยครั้งที่มันอาจจะลบไฟล์ระบบที่สำคัญบางตัวทิ้งไปด้วย ส่งผลให้ระบบอาจเจอข้อผิดพลาดในการทำงาน เนื่องจากการขาดไฟล์เหล่านี้
เมื่อตัวระบบปฏิบัติการ Windows 11 มีการอัปเดตสะสม ไฟล์ Registry จะมีการปรับแต่งเกิดขึ้นเล็ก ๆ น้อย ๆ ซึ่งคุณสมบัติใหม่ ๆ ที่ถูกเพิ่มเข้ามา จะต้องอาศัยค่า Registry ที่ได้รับการปรับแต่งมาแล้ว แต่ Debloat Scripts อาจมีการเข้าไปแก้ไข หรือลบ Registry บางตัวไป ส่งผลให้ตัวระบบปฏิบัติการทำงานได้ไม่เสถียร
นั่นเป็นเหตุผลว่า หากจะทำอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับการลบ หรือแก้ไขค่า Registry อย่าลืมสร้าง จุดคืนค่าระบบ (System Restore Point) เอาไว้เสียก่อน
เรื่องน่ากังวลที่ใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับการใช้สคริปต์จาก บุคคลที่สาม (3rd-Party) หรือจากแหล่งที่ไม่รู้จัก เนื่องจากบางสคริปต์อาจมีมัลแวร์แฝงมาในรูปแบบ เพย์โหลด (Payload) โดยถ้าหากคุณเปิดใช้งาน Windows Defender หรือ โปรแกรมแอนตี้ไวรัส (Antivirus Software) เอาไว้อยู่ ก็ยังพอมีความปลอดภัยอยู่บ้าง เนื่องจากสคริปต์อาจถูกบล็อกไม่ให้เปิดใช้งานได้
อย่างไรก็ตาม หากแฮกเกอร์ใช้ ช่องโหว่ Zero-Day ตัวแอนตี้ไวรัสอาจยังไม่สามารถรู้จักวิธีการรับมือกับภัยคุกคามรูปแบบใหม่ได้
การลบแอปพลิเคชัน หรือซอฟต์แวร์ ที่ไม่ต้องการออกจากระบบปฏิบัติการนั้น ทำได้หลายวิธี ไม่จำเป็นต้องใช้ Debloat Script ก็สามารถจัดการได้เช่นกัน โดยสิ่งที่สามารถทำได้อย่างปลอดภัย ก็จะมีดังต่อไปนี้
มีแอปพลิเคชัน และซอฟต์แวร์อยู่หลายตัว ที่เก่าแก่ตกยุคไปแล้ว แต่ทว่า มันยังคงมีอยู่ในตัวระบบปฏิบัติการ Windows อยู่ เช่น สไคป์ (Skype) ซึ่งการถอนการติดตั้งเหล่านี้สามารถทำได้ง่าย
หากเป็นการติดตั้งระบบปฏิบัติการใหม่ สามารถสร้างตัวติดตั้งแบบปรับแต่งได้ ซึ่งมีเครื่องมือสำหรับจัดการงานนี้ให้เลือกใช้อยู่มากมายหลายตัว เช่น MSMG Toolkit, Tiny11, AtlastOS ฯลฯ
ภาพจาก : https://www.tomshardware.com/how-to/make-lightweight-windows-11-image-tiny11-builder
โปรแกรมที่ติดตั้งล่วงหน้าส่วนใหญ่ หรือ Bloatware ที่อยู่ในระบบปฏิบัติการ Windows โดยเฉพาะใน Windows 11 ใช้พื้นที่บน ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ (HDD) น้อยมาก อันที่จริง ปล่อยทิ้งไว้เฉย ๆ โดยไม่ต้องสนใจมันเลยก็ได้ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ทรัพยากรของระบบแต่อย่างใด แค่อาจจะรำคาญสายตาไปบ้างเท่านั้นเอง
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |