ในยุคดิจิทัลที่่กอย่างเชื่อมต่อกันอย่างไร้พรมแดน การนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการธุรกิจ กลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หนึ่งในกลยุทธ์ที่เป็นที่นิยม และได้รับความสนใจอย่างมากในแวดวง IT คือการใช้ Crowdsourcing หรือการกระจายงานไปยังกลุ่มคนภายนอกผ่านอินเทอร์เน็ต ที่ช่วยลดต้นทุน และเพิ่มความรวดเร็วในการทำงาน
ในบทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับความหมาย, ประเภท ข้อดีข้อสังเกต และตัวอย่างของการใช้ Crowdsourcing ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาธุรกิจ IT ในปัจจุบัน ถ้าพร้อมแล้ว เรามาเริ่มกันเลยดีกว่า ...
คำว่า "คราวด์ซอร์สซิ่ง (Crowdsourcing)" ถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549)โดยบรรณาธิการสองท่านจากนิตยสาร Wired ได้แก่ เจฟฟ์ ฮาว และมาร์ก โรบินสัน คำนี้ใช้เพื่ออธิบายถึงวิธีที่ธุรกิจต่าง ๆ ใช้อินเทอร์เน็ตในการจ้างงานกลุ่มคนจำนวนมาก แทนการใช้พนักงานประจำ โดยการนำคำว่า “Crowd” (กลุ่มคน) และ “Outsourcing” (การจ้างงานภายนอก) มารวมกันเป็นคำใหม่ว่า “Crowdsourcing”
ภาพจาก : https://www.freepik.com/
คราวด์ซอร์สซิ่งเปิดโอกาสให้บริษัทสามารถกระจายงานให้คนจากที่ต่าง ๆ ทั้งใน และต่างประเทศ ซึ่งช่วยให้ธุรกิจเข้าถึงทักษะ และแหล่งความรู้ที่หลากหลายโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับจ้างพนักงานประจำบริษัท
สิ่งที่เป็นแกนหลักของการคราวด์ซอร์สซิ่งคือการเปิดรับปัญหาให้สาธารณะได้รับทราบ และขอให้มีการส่งแนวทางแก้ไขเข้ามาจากกลุ่มคนหลากหลาย โดยไอเดียที่ได้รับจะถือเป็นทรัพย์สินของผู้ที่เผยแพร่ปัญหานั้น ผู้ที่ส่งแนวทางแก้ไขอาจได้รับค่าตอบแทน เช่น เงินรางวัล, การยกย่อง หรือแม้แต่เพียงแค่ความพึงพอใจ
การคราวด์ซอร์สซิ่งเป็นกระบวนการที่เปิดโอกาสให้กลุ่มคนจำนวนมากมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูลหรือทรัพยากร ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทหลักดังนี้เลย
เป็นการนำความเห็น และแนวคิดจากคนจำนวนมากมาประมวลผลร่วมกัน โดยมีความเชื่อว่าการประเมินหรือการแก้ปัญหาโดยกลุ่มคนหลากหลายจะมีความแม่นยำมากกว่าการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญเพียงคนเดียว ตัวอย่างเช่น การคาดเดาน้ำหนักของวัตถุ หรือตัวเลขในลักษณะเกมการทายจำนวน ซึ่งมักจะมีความแม่นยำเมื่อมาจากการเฉลี่ยของหลายความคิดเห็น
ภาพจาก : https://www.freepik.com/
คือการร่วมมือกันระหว่างกลุ่มคนในการสร้างเนื้อหา ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ตัวอย่างเช่น Wikipedia ที่ให้คนทั่วโลกสามารถเพิ่ม และแก้ไขข้อมูลได้ อีกทั้งซอฟต์แวร์ โอเพนซอร์ส (Open-Source) ที่มีนักพัฒนาจากหลายประเทศร่วมกันพัฒนา ก็เป็นตัวอย่างของการสร้างสรรค์จากฝูงชนเช่นกัน
ภาพจาก : https://www.telediario.mx/comunidad/como-funciona-wikipedia
เป็นการให้สาธารณชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือก หรือแสดงความคิดเห็นผ่านการโหวต ตัวอย่างเช่น การลงคะแนนเลือกนโยบาย หรือการโหวตเพื่อเลือกผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่ชื่นชอบ ซึ่งกระบวนการนี้ใช้หลักการของประชาธิปไตยในการตัดสินใจ
ภาพจาก : https://www.freepik.com/
เป็นการระดมเงินทุนจากกลุ่มคนจำนวนมากเพื่อสนับสนุนโครงการ หรือไอเดียต่าง ๆ โดยผู้ร่วมสนับสนุนอาจบริจาคเงินในจำนวนที่ไม่มากแต่เมื่อรวมกันแล้วสามารถช่วยให้โครงการหรือธุรกิจนั้นเป็นจริงได้ ตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มระดมทุนออนไลน์ที่ให้ผู้คนช่วยกันสนับสนุนธุรกิจ หรือกิจกรรมการกุศลต่าง ๆ
Crowdsourcing เป็นวิธีที่หลายบริษัทในสายงาน IT ใช้เพื่อรับมือกับงานเฉพาะที่ไม่ได้มีความจำเป็นต้องจ้างพนักงานประจำ เช่น การเขียนโค้ด หรือการออกแบบกราฟิก บริษัทสามารถจ้างบุคคลภายนอกมาทำงานเหล่านี้ได้ ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการมีพนักงานประจำแต่สามารถทำงานได้ตามต้องการในช่วงเวลาที่จำเป็น
นอกจากนี้ การคราวด์ซอร์สซิ่งยังสามารถใช้ในการประเมินการทำงานของหลาย ๆ คนในงานเดียวกันได้ เช่น หากบริษัทต้องการโลโก้ใหม่ อาจจะให้ดีไซเนอร์หลายคนลองออกแบบตัวอย่างโลโก้ที่หลากหลาย โดยจ่ายค่าตอบแทนเล็กน้อยสำหรับตัวอย่างแต่ละแบบ จากนั้นบริษัทก็สามารถเลือกโลโก้ที่ชอบที่สุด และว่าจ้างมืออาชีพ เพื่อปรับปรุง และพัฒนาโลโก้ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้นนั่นเอง
ตัวอย่างที่ชัดเจนก็ Netflix ที่ใช้ Crowdsourcing เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มความบันเทิงให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยในปี ค.ศ. 2006 (พ.ศ. 2549) Netflix ได้เปิดตัวการแข่งขัน Netflix Prize เพื่อค้นหานักพัฒนาที่สามารถปรับปรุงอัลกอริทึมในการแนะนำภาพยนตร์ และซีรีส์ให้แม่นยำยิ่งขึ้น ผู้ชนะจะได้รับรางวัลถึง 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดย Netflix ได้แบ่งปันชุดข้อมูลที่ประกอบด้วยการให้คะแนนภาพยนตร์แบบไม่ระบุตัวตนกว่า 100 ล้านรายการ เพื่อกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมพัฒนาอัลกอริทึมที่สามารถทำนายการให้คะแนนภาพยนตร์ได้แม่นยำมากขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้คือ ทีมผู้ชนะสามารถพัฒนาอัลกอริทึมที่มีความแม่นยำสูงขึ้นจากระบบเดิมของ Netflix ถึง 10.06%
ภาพจาก : https://www.linkedin.com/posts/tom-alder_in-2006-netflix-offered-1-million-to-anyone-activity-7203727270102921216-9N9l
Crowdsourcing นับเป็นกระบวนการที่มีข้อดีหลายประการที่สำคัญในธุรกิจ IT ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุน เพิ่มความรวดเร็ว และการได้ร่วมงานกับบุคลากรที่มีทักษะเฉพาะทางซึ่งอาจไม่มีในทีมงานประจำ เช่น หากงานหนึ่งต้องใช้เวลาสัปดาห์โดยพนักงานคนเดียว บริษัทสามารถย่นเวลาให้เหลือเพียงไม่กี่ชั่วโมงด้วยการแบ่งงานเป็นส่วนเล็ก ๆ แล้วมอบหมายให้ฟรีแลนซ์หลายคนช่วยกันทำงานให้สำเร็จ
งานด้าน IT ที่สามารถใช้การคราวด์ซอร์สซิ่งได้มีมากมาย เช่น การสร้างเว็บไซต์, การแปลงาน หรือแม้กระทั่งการพัฒนาโปรแกรมใหม่ บางบริษัทที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ยังอาจใช้การคราวด์ซอร์สซิ่งเพื่อรับความคิดเห็นจากผู้บริโภคหลายกลุ่ม ซึ่งแทนที่จะใช้การสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก บริษัทสามารถเข้าถึงผู้ใช้ทั่วโลกผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งช่วยให้ได้ข้อมูลเชิงลึกจากมุมมอง และภูมิหลังที่หลากหลาย อีกทั้งยังเสริมสร้างความภักดี และความผูกพันของผู้บริโภคที่มีต่อแบรนด์ได้
จากทั้งหมดที่กล่าวมา Crowdsourcing เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถใช้ประโยชน์จากกลุ่มคนภายนอก ในการร่วมสร้างสรรค์ และพัฒนาโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยประโยชน์ที่ช่วยลดต้นทุน, เพิ่มความรวดเร็ว และขยายโอกาสให้บริษัทเข้าถึงผู้ที่มีความสามารถเฉพาะทางจากทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยี, การออกแบบกราฟิก หรือแม้แต่การรับฟังความคิดเห็นจากผู้บริโภค ถึงแม้จะมีข้อควรระวังในเรื่องของความลับบริษัท และการควบคุมคุณภาพของผลงาน แต่การใช้ Crowdsourcing ยังคงเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ และเสริมศักยภาพให้กับธุรกิจในยุคดิจิทัลนั่นเอง
|