สินค้าชิ้นใหญ่ชิ้นแรกๆ ในชีวิตของคนส่วนใหญ่ก็คงจะเป็นรถยนต์ ซึ่งราคาก็ค่อนข้างใหญ่ตามตัวของมันตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงหลักล้าน ใครที่หน้าที่การงานดีหรือมีเงินถุงเงินถังก็คงเลือกที่จะ "ซื้อสด" ได้ไม่ยาก แต่สำหรับคนทั่วไปอย่างเราๆ การจะเก็บหอมรอมริบเพื่อซื้อรถทีเดียวก็ดูจะเป็นเรื่องที่ไกลตัวมากๆ แต่สถาบันการเงินก็มีทางเลือกสำหรับการ "ซื้อผ่อน" ให้คนอย่างเราๆ เหมือนกัน
แต่การซื้อผ่อนของรถยนต์ไม่ได้เหมือนกับการรูดบัตรเครดิตผ่อนสินค้าทั่วๆ ไป ที่เมื่อวงเงินเราถึงก็จัดการแบ่งจ่ายเป็นงวดๆ แล้วเสียดอกเบี้ยตามแต่ละบัตร แต่เป็นการวางเงินดาวน์ไว้ส่วนหนึ่งของราคารถและนำส่วนที่เหลือไปกู้เงินจากทางสถาบันการเงิน (บริษัทไฟแนนซ์) แทน ซึ่งอย่างตัวผู้เขียนที่ไม่ได้ศึกษาเรื่องการวางเงินดาวน์มาก่อนก็เริ่มต้นไม่ถูกเหมือนกัน บทความนี้เลยขอมาอธิบายเป็นขั้นตอนไปสำหรับคนที่สนใจให้เข้าใจเรื่องการดาวน์รถกันมากขึ้น มาดูกันเลย
วางเงินดาวน์และจัดไฟแนนซ์เป็นค่าใช้จ่าย 2 ส่วนสำหรับการซื้อผ่อนรถยนต์ โดยเงินดาวน์จะเป็นเงินก้อนหนึ่งของราคารถ (นิยมวาง 25% ของราคารถ) และค่าใช้จ่ายส่วนที่เหลือจะถูกนำไปกู้กับทางสถาบันการเงิน (ไฟแนนซ์) ที่จะถูกแบ่งจ่ายออกเป็นงวดๆ ตามตกลง และคิดดอกเบี้ยตามระยะเวลาที่ทำการกู้เงินที่เรียกว่ายอดจัดไฟแนนซ์
ราคารถยนต์ | |
เงินดาวน์ | ยอดจัดไฟแนนซ์ (แบ่งจ่ายเป็นงวด) |
เราสามารถวางเงินดาวน์ได้มากหรือน้อยตามกำลังทรัพย์ของเราไม่มีกำหนดตายตัวว่าต้องมากกว่าหรือไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ของราคารถ แต่ลักษณะจะเป็นการยื่นข้อเสนอเจรจาระหว่างเรากับทางไฟแนนซ์มากกว่า หากวางเงินดาวน์น้อยไปไฟแนนซ์ก็จะมองว่าเราอาจจะจ่ายหนี้ไม่ไหว หรือหากวางสูงเกินไปดอกเบี้ยก็จะถูกไม่คุ้มค่าดำเนินการและถูกปฏิเสธเอาได้
ในเบื้องต้นคือเราควรมีเงินก้อนไว้สำหรับดาวน์รถ 25% ของราคารถ (ถ้ารถราคา 500,000 บาท เงินดาวน์ก็จะอยู่ที่ 125,000 บาท) ซึ่งยิ่งเราวางดาวน์ได้สูง ภาระต่อเดือนในการจ่ายค่างวดรวมทั้งดอกเบี้ยก็จะลดลงอีกด้วย ถ้าอยากวางดาวน์สูงๆ ก็ต้องลองคุยกับพนักงานขายรถ (เซลล์ขายรถ) หรือไฟแนนซ์ดู
สำหรับคนที่มีความจำเป็นที่ต้องวางดาวน์น้อยกว่า 25% จริงๆ ก็ต้องไปดูที่โปรโมชั่นของผู้จำหน่ายในแต่ละแบรนด์ที่ให้วางดาวน์ 10 - 15% หรือ 0% ก็มี แต่ก็จะต้องแลกกับดอกเบี้ยที่สูงมากและการผ่อนที่ยาวนานกว่า
แน่นอนว่าเงินที่กู้จากไฟแนนซ์ก็ต้องมีดอกเบี้ยซึ่งดอกเบี้ยของการซื้อผ่อนรถยนต์จะคิดแบบ 'อัตราดอกเบี้ยคงที่' (Flat Rate) ที่คิดดอกเบี้ยแบบตายตัวตามระยะเวลาที่เรากู้เงินกับทางไฟแนนซ์ และไม่สามารถโปะจ่ายล่วงหน้าก่อนได้ไม่เหมือนกับการกู้เงินซื้อบ้านที่ใช้ 'อัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก' (Effective Interest Rate) ที่ยิ่งโปะเร็วดอกเบี้ยก็จะน้อยลง
สำหรับการคิดดอกเบี้ยคงที่จะมีดอกเบี้ยที่ตายตัว โดยคิดจากยอดจัดไฟแนนซ์ของราคารถที่หักเงินดาวน์ออกเรียบร้อยแล้วคูณด้วยคำนวนปีที่จัดไฟแนนซ์ ซึ่งเราต้องเสียค่างวดเท่ากันทุกเดือนจนกว่าจะครบระยะเวลาไม่สามารถจ่ายโปะเพื่อลดดอกเบี้ยได้
((ราคารถ - เงินดาวน์) x ดอกเบี้ย) x จำนวนปี = ดอกเบี้ยทั้งหมด |
ยกตัวอย่าง ราคารถ 500,000 บาท วางเงินดาวน์ 20% เท่ากับ 100,000 บาท ดอกเบี้ย 5% ผ่อน 4 ปี (48 งวด) เอาไปแทนในสูตรจะเป็นดังนี้
((500,000 - 100,000)*5%)*4 = 80,000 |
เท่ากับว่าในเงื่อนไขนี้เราจะเสียดอกเบี้ยจากการจัดไฟแนนซ์ทั้งหมด 80,000 บาท
หากนำไปแบ่งเป็นงวดก็นำดอกเบี้ยทั้งหมดไปรวมกับยอดจัด และหารจำนวนงวดก็จะได้ผลลัพธ์เป็นค่างวดในแต่ละเดือน ในกรณีนี้ก็คือ
(ยอดจัด + ดอกเบี้ยทั้งหมด)/จำนวนงวด = ค่างวดในแต่ละเดือน |
(400,000 + 80,000) / 48 = 10,000 |
ก็คือในแต่ละเดือนจะต้องจ่ายค่างวดเดือนละ 10,000 บาทนั่นเอง
*ถึงแม้จะเป็นเพียงตัวอย่างแต่ค่างวดเดือนละหมื่นก็ถือว่าสูงอยู่พอสมควร เราอาจจะหาโปรโมชั่นที่ดอกเบี้ยถูกกว่านี้ วางดาวน์มากขึ้นหรือเพิ่มจำนวนค่างวดออกไปแทน เพราะถ้าค่างวดเกินกำลังเรามากๆ ก็อาจจะไม่ผ่านไฟแนนซ์เช่นกัน
สำหรับอัตราดอกเบี้ยลดต้นลดดอกจะมีวิธีคิดแตกต่างจากอัตราดอกเบี้ยคงที่โดยจะคิดตามเงินต้นที่เหลืออยู่ในแต่ละงวด เช่น เงินต้นที่กู้ 100,000 บาท เมื่อเราจ่ายงวดแรกไป 5,000 บาท งวดที่ 2 ก็จะคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นที่เหลือก็คือ 95,000 บาท
ลองคำนวณเปรียบเทียบดอกเบี้ยระหว่างอัตราดอกเบี้ยคงที่และอัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก โดยคิดที่ราคาสินค้า 1,000,000 บาท อัตราดอกเบี้ย 5% ระยะเวลาการผ่อนจำนวน 48 งวด (4 ปี) ซึ่งผลลัพธ์ออกมาดังนี้
คำนวณจาก https://www.thaiinterest.com/personal-loan/calculator.aspx
สำหรับอัตราดอกเบี้ยคงที่จะเสียดอกเบี้ยเท่ากันตลอด 4 ปีที่งวดละ 3,125 บาท (เส้นสีเขียวในกราฟซ้าย) ส่วนดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกจะเริ่มต้นที่ 3,088.32 บาท และลดลงเรื่อยๆ ตามเงินต้นที่ลดลงทุกปีซึ่งในงวดสุดท้ายดอกเบี้ยจะเหลืออยู่ที่ 437.26 บาทซึ่งเสียดอกเบี้ยถูกกว่า (เส้นสีเขียวในกราฟขวา) แต่อย่างไรก็ตามการซื้อผ่อนรถจะใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่ ไม่ใช่อัตราดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก
อย่าลืมว่าไม่ได้มีแค่ 2 ค่าใช้จ่ายนี้ในการซื้อผ่อนรถยนต์ จะใช้รถยังต้องมีค่าน้ำมัน ค่าบำรุงรักษา ค่าประกัน ค่าพรบ. รายปี และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกมากมายที่จะตามมา เราจึงควรคิดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก่อนตัดสินใจเลือกแผนที่จะดาวน์รถด้วย
เมื่อเราไม่จ่ายค่างวดครบ 3 เดือนทางไฟแนนซ์จะติดต่อมา ซึ่งภายใน 30 วันต่อมาหากเรายังไม่สามารถจ่ายค่างวดได้ จะถูกทางไฟแนนซ์ยึดรถและขายทอดตลาด ซึ่งหากเงินจากการขายรถยังไม่ครอบคลุมภาระค่าใช้จ่ายที่เหลือทางไฟแนนซ์ก็จะมาเก็บส่วนต่างจากเราต่อ
ดอกเบี้ยต่ำ | ดอกเบี้ยสูง | |
ค่างวดถูก | ดาวน์เยอะ | ผ่อนยาว |
ค่างวดแพง | ผ่อนสั้น | ดาวน์น้อย |
สิ่งสุดท้ายที่อยากแนะนำสำหรับการดาวน์รถครั้งแรกก็คือ ใจเย็นและคิดให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ ถ้ากำลังน้อยก็ควรจะรอให้พร้อมดีกว่า ควรมีเงินก้อนสำหรับการดาวน์ในระดับหนึ่งเพื่อให้ภาระที่ตามมาลดลงรวมทั้งควรมีรายได้ประจำหรือวางแผนหารายได้ที่สูงกว่าค่างวด (และรายจ่าย) ในแต่ละเดือนเพื่อให้การเงินในชีวิตประจำวันไม่ฝืดเคืองจนเกินไป
|
... |