เชื่อว่าตอนเด็กหลายๆ คนก็น่าจะเคยทำพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในการใช้สระน้ำร่วมกับผู้อื่นมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นการลงสระโดยที่ไม่ได้อาบน้ำหรือล้างตัวก่อนเล่นน้ำ, การนำเอาอาหารหรือเครื่องดื่มมารับประทาน, การว่ายน้ำทั้งที่ป่วยหรือรู้สึกไม่สบาย หรือการ “ปล่อยของ” ลงในสระว่ายน้ำ (ทั้งที่เป็นของเหลวและของแข็ง - คงไม่ต้องพูดต่อว่าคืออะไร) เพราะถึงแม้ว่าจะรู้ว่ามันไม่ดีแต่ก็ขี้เกียจเกินกว่าจะขึ้นสระมาทำธุระและกลับลงไปใหม่อีกรอบอยู่ดี
ดังนั้นเมื่อโตขึ้นก็พยายามจะเลี่ยงการลงเล่นน้ำในพื้นที่สาธารณะอย่างสระว่ายน้ำ หรือสวนน้ำอยู่ตลอดเพราะเชื่อว่าเด็กบางคนที่ร่วมสระเดียวกันก็น่าจะมีความคิดไม่ต่างกันเท่าไรนัก (และยิ่งเมื่อได้ยินเพื่อนเล่าว่าเคยไปเล่นสวนน้ำแห่งหนึ่งแล้วเจอวัตถุแปลกปลอมลอยน้ำผ่านหน้าไปก็ทำให้บอกลาสวนน้ำไปอย่างถาวรเลย)
ภาพจาก : https://www.cdc.gov/healthywater/swimming/materials/buttons-banners.html
ซึ่งปัญหาเรื่องสุขอนามัยในการใช้งานสระน้ำร่วมกันนี้ก็ดูเหมือนจะเป็นปัญหาที่พบกันทั่วไปในหลายๆ พื้นที่ เพราะจากการศึกษาของสถาบันวิเคราะห์คุณภาพน้ำในสหรัฐอเมริกาก็พบว่า มีผู้ที่ยอมรับว่าเคยทำพฤติกรรมไม่พึงประสงค์เหล่านี้อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
โดยจากผลการศึกษาเปรียบเทียบสุขอนามัยในการใช้งานสระน้ำร่วมกับผู้อื่นก็พบว่ามีผู้ใช้บริการสระน้ำที่เคยทำพฤติกรรมไม่พึงประสงค์เหล่านี้อยู่จำนวนหนึ่ง และมีการทำพฤติกรรมบางอย่างเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยในช่วงระยะเวลา 3 ปีถัดมา (แม้ว่าจะเก็บข้อมูลกับกลุ่มตัวอย่างคนละกลุ่ม แต่ก็สังเกตได้ว่าผู้คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มพฤติกรรมที่ไม่ต่างกันมากนัก) ซึ่งข้อมูลข้างต้นนี้เป็นการแสดงผลเฉพาะผู้ที่ยอมรับตามตรงเท่านั้น ทางสถาบันเชื่อว่ายังมีผู้ที่อาจไม่กล้าตอบตามจริงอีกส่วนหนึ่ง
ภาพจาก : https://scholarworks.bgsu.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=1099&context=ijare
แน่นอนว่าพฤติกรรมเหล่านี้ไม่เพียงแต่จะเพิ่มความเสี่ยงในการ "ปนเปื้อน" ของน้ำในสระที่ทำให้ไม่น่าใช้งานเท่านั้น แต่มันอาจเป็นสาเหตุของ RWI (Recreational Water Illnesses) หรืออาการป่วยจากการลงเล่นน้ำในพื้นที่สาธารณะที่ทางศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อของประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ CDC (Centers for Disease Control and Prevention) จัดว่าเป็นหนึ่งในประเภทของอาการป่วยจากเชื้อแบคทีเรียและปรสิตอีกด้วย
ภาพจาก : https://www.njpma.org/managers-corner
เพราะถึงแม้ว่าสาร “คลอรีน” ที่ผสมอยู่ในน้ำนั้นจะมีความสามารถในการฆ่าเชื้อโรค, แบคทีเรีย และปรสิตบางชนิดได้ แต่สำหรับเชื้อปรสิตขนาดใหญ่อย่าง Cryptosporidium ที่ปนเปื้อนอยู่ในอุจจาระนั้นไม่สามารถถูกทำลายได้ด้วยคลอรีน (ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีใครปล่อยหนักลงในสระ แต่หากลงเล่นน้ำทั้งที่มีอาการท้องเสียก็เพิ่มความเสี่ยงในการแพร่เชื้อได้เช่นกัน) จึงทำให้เด็กบางคนที่กลืนหรือสำลักน้ำในสระอาจได้รับเชื้อเข้าไปและเกิดอาการท้องร่วงหรือท้องเสียในวันถัดไปได้
หรือหากน้ำในสระ ไม่มีระดับปริมาณคลอรีนที่เหมาะสม และเพียงพอต่อการจัดการกับเชื้อแบคทีเรียหรือปรสิตแล้วนั้น ความเสี่ยงต่อการติดโรคจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรียต่างๆ ที่ปนเปื้อนในสระน้ำก็พุ่งสูงขึ้นอย่างน่ากลัวเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย Pseudomonas ที่ทำให้เกิดผื่นคัน, Legionella ที่ก่อให้เกิดไข้และอาการไอ หรืออาการท้องเสียจาก E. Coli (Escherichia Coli), Norovirus, Shigella, Giardia และเชื้ออื่นๆ ที่มีการแพร่กระจายผ่านสารคัดหลั่งของมนุษย์
ภาพจาก : https://www.cdc.gov/healthywater/swimming/swimmers/rwi.html
ผู้ให้บริการสถานที่ต่างๆ ควรที่จะให้ความสำคัญกับสุขอนามัยของผู้ใช้บริการ โดยตรวจเช็คค่าความเป็นด่าง (pH) ของน้ำให้อยู่ที่ 7.2 - 7.8 ส่วนปริมาณของคลอรีนในน้ำที่เหมาะสมของสระว่ายน้ำและสวนน้ำจะอยู่ที่ราว 1 - 3 ppm (ส่วนในล้าน) สำหรับสปา, บ่อออนเซ็น และโรงอาบน้ำสาธารณะก็ควรมีปริมาณคลอรีนราว 3 - 10 ppm หรือมีโบรมีน (สารเคมีที่ใช้ในการฆ่าเชื้อในน้ำอุณภูมิสูง) อยู่ที่ 4 - 8 ppm รวมทั้งทำการ ตรวจวัดค่า pH และระดับคลอรีนในน้ำอย่างสม่ำเสมอ
ภาพจาก : https://www.cdc.gov/healthywater/swimming/materials/infographic-inspection.html
ส่วน ผู้ใช้บริการสระน้ำ หรือสวนน้ำ ก็ไม่ควรละเลยสุขอนามัยของตนเองและผู้อื่น ช่วยกันรักษาความสะอาด, ไม่ทำพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมขณะลงเล่นน้ำ, หลีกเลี่ยงการกลืนน้ำภายในสระว่ายน้ำสาธารณะ รวมทั้งไม่นำเอาเด็กเล็กที่ยังไม่สามารถควบคุมพฤติกรรมการขับถ่ายได้ลงมาเล่นน้ำร่วมกับผู้อื่น
ภาพจาก : https://www.cdc.gov/healthywater/swimming/swimmers/steps-healthy-swimming.html
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าน้ำในสระจะมีการปนเปื้อนเชื้อโรคและแบคทีเรียต่างๆ อยู่จำนวนมาก แต่มันก็ไม่ได้เป็นสถานที่ที่ควรหลีกเลี่ยงอย่างถาวร เพราะจำนวนผู้ป่วยจาก RWI ก็ไม่ได้มีจำนวนสูงจนน่ากังวลมากนัก และร่างกายของเราก็มีการ สัมผัสกับเชื้อโรคจากพื้นที่อื่นๆ เป็นประจำ ทุกวันอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นราวจับบนรถสาธารณะ, ลูกบิดประตู, คีย์บอร์ด หรือแม้แต่สมาร์ทโฟนที่เราใช้งานกันเป็นประจำทุกวันก็อาจมีเชื้อโรคแฝงอยู่มากกว่าน้ำในพื้นที่สาธารณะก็เป็นได้
และในช่วงนี้ที่ยังคงมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา COVID-19 ก็อาจหลีกเลี่ยงการใช้บริการสระน้ำ หรือสวนน้ำไปสักระยะหนึ่งเพื่อความปลอดภัย เพราะไม่เพียงแต่จะเสี่ยงกับเชื้อโรคและแบคทีเรียต่างๆ ที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำแล้ว ยังเสี่ยงต่อโรคระบาดที่มีการแพร่กระจายในอากาศอีกด้วยเช่นกัน
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |