นอกจากสินค้าอุปโภคบริโภค (Consumer Goods) และสินค้าอุตสาหกรรม (Industrial Goods) แล้ว เรายังสามารถแบ่งประเภทสินค้าได้จาก "ลักษณะการผลิต" ตามประเภทของโรงงานผลิตต่าง ๆ อีกด้วย โดยก่อนหน้านี้เราได้พูดถึงสินค้าประเภท OEM และ OEM License (Software) กันไปแล้ว แต่นอกจากสินค้าจากโรงงานแบบ OEM แล้วก็ยังมีสินค้าจากโรงงาน OBM และ ODM อีกด้วยเช่นกัน ส่วนมันเป็นอย่างไรนั้น มาอ่านกันเลย
OEM (Original Equipment Manufacturer) เป็นสินค้าที่เกิดจาก โรงงานรับจ้างผลิตสินค้าให้กับแบรนด์อื่น ๆ ตามเงื่อนไข หรือสเปกที่ผู้ว่าจ้างระบุ โดยอาจเป็นการผลิตชิ้นส่วนของสินค้าบางอย่างให้ผู้ว่าจ้างนำเอาไปประกอบขึ้นเองหรือผลิตสินค้าทั้งหมดก็ได้
โดยโรงงานผลิตสินค้าตามสั่งส่วนมากจะเป็นโรงงานที่มีความพร้อมด้านเครื่องจักรและกำลังผลิตที่ค่อนข้างมาก จึงทำให้ผู้ว่าจ้างสามารถลดความเสี่ยงในการจัดตั้งโรงงานของตนเองขึ้นมาได้ (หากสินค้าไม่ได้รับความนิยมก็ไม่ขาดทุนมากนัก หรือหากต้องการย้ายฐานการผลิตก็สามารถทำได้เช่นกัน)
ภาพจาก : https://www.dealermarketing.com/take-the-headache-out-of-oem-rebates/
แม้ว่าทางผู้ว่าจ้างจะไม่สามารถควบคุมคุณภาพสินค้าได้ทุกขั้นตอนเพราะจ้างโรงงาน OEM ในการผลิตสินค้า แต่สินค้าจากโรงงาน OEM ส่วนมากแล้วก็จะต้องผ่านการตรวจเช็คคุณภาพสินค้าจากบริษัทผู้ว่าจ้างก่อนวางจำหน่าย จึงทำให้ผู้บริโภคสามารถวางใจเรื่องคุณภาพของสินค้าได้
อย่างไรก็ตาม โรงงาน OEM นี้ก็อาจก่อให้เกิดปัญหาเรื่อง สินค้าเลียนแบบ ที่แอบอ้างใช้ชื่อแบรนด์ของสินค้าชนิดนั้น ๆ ได้เช่นกัน ซึ่งทางผู้ว่าจ้างก็อาจเลี่ยงปัญหาดังกล่าวโดยการจ้างโรงงานที่มีความเชี่ยวชาญแตกต่างกันในการผลิตชิ้นส่วนและนำสินค้ามาประกอบขึ้นด้วยตนเอง ถึงแม้ว่าวิธีดังกล่าวอาจเพิ่มต้นทุนของสินค้าแต่มันก็สามารถช่วยลดปัญหานี้ไปได้ส่วนหนึ่งเลยทีเดียว
สมมุติว่ารถยนต์คันนึง ภายใน ก็มีส่วนประกอบต่างๆ มากมาย อาทิเช่น เครื่องยนต์ เกียร์ เพลา เบาะนั่ง คอนโซล ล้อยาง ฯลฯ อีกมากมาย สมมุติว่ารถยนต์ยี่ห้อ H กว่าจะผลิตรถยนต์แต่ละรุ่นมาได้ก็จะต้องสั่งของมาจากหลายๆ แหล่ง อาทิเช่น
และทุกชิ้นส่วน ของรถยนต์ทั้งหมดก็จะถูกส่งมาจากหลายๆ แหล่ง หลายบริษัท อาทิเช่น จากบริษัท A, B, C, D ... แล้วสุดท้ายก็นำมาประกอบกันใน โรงงานประกอบรถยนต์ยี่ห้อ H เป็นต้น ซึ่งชิ้นส่วนที่ผลิตเหล่านี้ จะไม่สามารถส่งให้รถยนต์ยี่ห้ออื่นๆ ได้ เนื่องจากมีสัญญา และข้อผูกพันธ์ ที่ได้ตกลงทำกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ODM (Original Design Manufacturing) คือสินค้าที่เกิดขึ้นจาก โรงงานที่ช่วยดูแลการผลิตตั้งแต่ขั้นตอนก่อนการผลิต (Pre-production), การพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์, ไปจนถึงดำเนินการผลิตสินค้าให้แก่ผู้ว่าจ้างนำเอาไปติดตราสินค้าเพื่อทำการจัดจำหน่ายต่อไป
ภาพจาก : https://www.bbcosme.com.tw/oem.html
ซึ่งสินค้าที่มาจากโรงงาน ODM นี้อาจเป็นสินค้าที่ทางโรงงานร่วมกันพัฒนากับผู้ว่าจ้างที่เป็นสินค้าเฉพาะสำหรับแบรนด์นั้น ๆ ที่มีราคาต้นทุนสูง หรือสินค้าทั่วไปที่ทางโรงงานพัฒนาขึ้นและนำไปเสนอขายให้กับลูกค้าหลาย ๆ เจ้าที่มีต้นทุนต่ำลงมาก็ได้เช่นกัน
การใช้สินค้าจากโรงงาน ODM ที่มี บริการแบบครบวงจร นี้ก็ทำให้ผู้ว่าจ้างสามารถมุ่งความสนใจไปที่การวางแผนการตลาดได้อย่างเต็มที่ เพราะไม่จำเป็นต้องพะวงกับขั้นตอนการพัฒนาและผลิตสินค้ามากนัก และถึงแม้ว่าทุนในการผลิตสินค้าประเภทนี้จะค่อนข้างสูงเนื่องจากเป็นการพัฒนาสินค้าขึ้นมาใหม่ (โดยเฉพาะสินค้าที่ผูกขาดกับแบรนด์ของตนเอง) แต่เมื่อหักลบกับค่าจ้างแรงงานในการวิเคราะห์พัฒนาสินค้าและด้านอื่น ๆ ลงไปแล้วก็ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าอยู่ไม่น้อย
โรงงานสิ่งทออาจเข้าไปติดต่อขอทำการค้าแบบ ODM กับแบรนด์ที่มีชื่อเสียงด้านเสื้อผ้า โดยพูดคุยตกลงกันและเสนอออกแบบเสื้อผ้าให้กับแบรนด์นั้น ๆ ทำให้เจ้าของแบรนด์สามารถมุ่งความสนใจไปที่การทำการตลาดได้เพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเต็มที่
Original Brand Manufacturing (OBM) นั้นก็คือโรงงานของแบรนด์นั้น ๆ โดยเฉพาะเลย ซึ่งโรงงานนี้จะดำเนินการศึกษาและพัฒนาสินค้าตั้งแต่ขั้นแรก ไปจนถึงการผลิตสินค้าและรับผิดชอบด้านการจัดจำหน่ายสินค้าของแบรนด์ตนเอง
ภาพจาก : https://dribbble.com/shots/3701995-Crowdfunding-Service-Animation
ต้นทุนการผลิตสินค้าประเภทนี้อาจไม่เท่ากันในแต่ละล็อต เพราะทางบริษัทสามารถ ควบคุมราคาทุนของสินค้าได้อย่างอิสระ (และสามารถผลิตตามกำลังที่ต้องการในแต่ละล็อตได้) อีกทั้งยังสามารถควบคุมคุณภาพของสินค้าได้ในทุกขั้นตอนการผลิตเพราะสามารถตรวจสอบคุณภาพสินค้าได้ในทุกขั้นตอน และสินค้าจากโรงงานประเภทนี้ก็ยากต่อการเลียนแบบเนื่องจากมีเพียงแค่ทางบริษัทเท่านั้นที่รู้ขั้นตอนการผลิตนั่นเอง
แต่โรงงานประเภทนี้ก็มีทุนจัดตั้งที่สูงและทำให้ทางบริษัทต้องจ้างแรงงานจำนวนมากเพื่อดำเนินการผลิตสินค้า ซึ่งหากไม่ได้มีความต้องการสินค้าในปริมาณมาก หรือมีความจำเป็นต้องย้ายถิ่นฐานการผลิตก็เสี่ยงต่อการขาดทุนสูงเลยทีเดียว
เครื่องฟอกอากาศยี่ห้อ S มีโรงงานผลิตเอง มีการซื้อเครื่องจักร จ้างคนงาน พนักงาน ทั้งหมด โดยออกค่าใช้จ่ายเอง และทั้งหมด ก็ทำตลาดภายใต้แบรนด์ S เป็นต้น
สินค้า OEM | สินค้า ODM | สินค้า OBM | |
ประเภทโรงงาน | รับจ้างผลิตสินค้า | รับจ้างผลิตและออกแบบสินค้า | สินค้าโรงงานของบริษัทนั้น ๆ เป็นเจ้าของแบรนด์เอง |
การพัฒนาและออกแบบสินค้า | ผู้ว่าจ้าง | โรงงาน, โรงงานและผู้ว่าจ้าง | บริษัทพัฒนาและออกแบบด้วยตนเอง |
การตรวจสอบคุณภาพสินค้า | ไม่สามารถตรวจสอบคุณภาพได้ทุกขั้นตอน | ไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างละเอียด | ตรวจสอบคุณภาพได้ทุกขั้นตอน |
ต้นทุนสินค้า | ปานกลาง | สูง (โดยเฉพาะสินค้าผูกขาดแบรนด์) | ต่ำ (ควบคุมราคาต้นทุนเองได้) |
ทุนจัดตั้งโรงงาน / แรงงาน | ไม่ต้องลงทุนจัดตั้งโรงงานและจ้างแรงงานด้วยตนเอง | ไม่ต้องลงทุนจัดตั้งแรงงานและจ้างแรงงานด้วยตนเอง | ทุนในการจัดตั้งแรงงานและจ้างแรงงานสูง |
สำหรับผู้บริโภคแล้วนั้น สินค้าที่มาจากโรงงานทั้งแบบ OEM, ODM และ OBM อาจจะไม่ต่างกันมากนัก แต่สำหรับผู้ประกอบการและเจ้าของแบรนด์ต่าง ๆ นั้น การเลือกประเภทโรงงานที่ใช้ผลิตสินค้าก็มีความสำคัญค่อนข้างมากและส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจอย่างแน่นอน
|
ตัวเม่นผู้รักในการนอน หลงใหลในการกิน และมีความใฝ่ฝันจะเป็นนักดูคอนเสิร์ตแต่เหมือนศิลปินที่ชื่นชอบจะไม่รับรู้ว่าโลกนี้มียังประเทศไทยอยู่.. |