ดาวน์โหลดโปรแกรมฟรี
       
   สมัครสมาชิก   เข้าสู่ระบบ
THAIWARE.COM | ทิปส์ไอที
 

เว็บ Cookie คืออะไร ? ทำไมเวลาเข้าเว็บไซต์ บางเว็บถึงมีคำร้องขอใช้งาน ทำไมบางเว็บไม่มี ?

เว็บ Cookie คืออะไร ? ทำไมเวลาเข้าเว็บไซต์ บางเว็บถึงมีคำร้องขอใช้งาน ทำไมบางเว็บไม่มี ?
ภาพจาก : https://www.freepik.com/free-photo/wooden-tray-cookies-yellow_7734147.htm
เมื่อ :
|  ผู้เข้าชม : 156,176
เขียนโดย :
0 %E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B9%87%E0%B8%9A+Cookie+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B9%87%E0%B8%9A%E0%B9%84%E0%B8%8B%E0%B8%95%E0%B9%8C+%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B9%87%E0%B8%9A%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99+%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B9%87%E0%B8%9A%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B5+%3F
A- A+
แชร์หน้าเว็บนี้ :

Cookie คืออะไร ? ทำไมเวลาเข้าเว็บไซต์ บางเว็บถึงมีคำร้องขอใช้งาน

คุกกี้ (Cookie) ชื่อนี้ ที่นอกจากจะเป็นชื่อของขนมทานเล่น ที่หลายคนชอบรับประทานแล้ว มันยังเป็นชื่อของข้อมูลขนาดเล็กที่ได้มาจากการเชื่อมต่อระหว่างเว็บไซต์ กับเครื่องคอมพิวเตอร์ด้วย มันมีชื่อเต็มยศว่า HTTP Cookie บ้างก็เรียกว่า เว็บคุกกี้ (Web Cookie), อินเทอร์เน็ตคุกกี้ (Internet Cookie), เบราว์เซอร์คุกกี้ (Browser Cookie) หรือถ้าจะเรียกสั้นๆ ว่า "คุกกี้ (Cookie)" อย่างเดียว ก็ไม่ได้ผิดอะไร (ต่อไปนี้ขอเรียกสั้นๆ ว่า "คุกกี้") เป็นเทคโนโลยีเก่าแก่ที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1994 (พ.ศ. 2537)

บทความเกี่ยวกับ website อื่นๆ

เนื้อหาภายในบทความ

เว็บ Cookie คืออะไร ? ทำไมเวลาเข้าเว็บไซต์ บางเว็บถึงมีคำร้องขอใช้งาน ทำไมบางเว็บไม่มี ?
ภาพจาก https://flic.kr/p/8EHzud

Cookie เป็นไฟล์ข้อความ (Text File) ขนาดเล็ก ที่ถูกเก็บบันทึกเอาไว้ในคอมพิวเตอร์ของเรา ไฟล์ Cookie จะถูกสร้างขึ้นโดยอัตโนมัติเมื่อเราใช้เว็บเบราว์เซอร์เข้าชมเว็บไซต์ต่าง ๆ 

โดย Cookie จะช่วยให้ประสบการณ์ในการใช้อินเทอร์เน็ตของผู้ใช้ได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น โดยมันทำหน้าที่จดจำข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเว็บไซต์ ตัวอย่างเช่น หากเราเข้าเว็บขายสินค้าออนไลน์ แล้วเรามีสินค้าใส่เอาไว้ในตะกร้า หากไม่มี Cookie เมื่อเราปิดหน้าเว็บไป สินค้าในตะกร้าก็จะหายไปด้วย

แต่ด้วยความสามารถของ Cookie เว็บจะสามารถจดจำได้ว่ามีสินค้าอะไรอยู่ในตะกร้าบ้าง หรือจะเป็นพวกข้อมูลการเข้าระบบของ Facebook หากเราต้องการให้ตัวเว็บจดจำการเข้าระบบของเราไว้ตลอด ไม่ต้องมาใส่รหัสผ่านเข้าระบบใหม่ทุกครั้งที่เข้าใช้งาน ก็ต้องอาศัยเจ้า Cookie นี่แหละ

ตามปกติแล้ว เมื่อ Cookie ถูกสร้างขึ้น มันจะไม่มีการบันทึกข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ แต่ถ้ามีความจำเป็น ข้อมูลก็จะถูกเข้ารหัสเอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้มี บุคคลที่สาม (3rd Party) แอบเข้ามาขโมยข้อมูลส่วนตัวของคุณไปใช้งานได้ ผู้ที่อ่านได้จะมีแต่เซิร์ฟเวอร์ที่เป็นเจ้าของ Cookie เท่านั้น

บางเว็บไซต์ได้เพิ่มความปลอดภัยไปอีกขั้น ด้วยการสร้าง Cookie แบบไม่ระบุตัวตน (Anonymous) แต่มีเอกลักษณ์เฉพาะขึ้นมา และเก็บข้อมูลส่วนบุคคลไว้บนเซิร์ฟเวอร์ของตนเอง เมื่อจำเป็นต้องใช้งาน Cookie เว็บไซต์ก็จะใช้ Cookie แบบไม่ระบุตัวตนนั้นเสมือนกุญแจสำหรับเปิดข้อมูลในเซิร์ฟเวอร์

ตัวอย่างข้อมูลใน Cookie

HMP1 1 hotmail.msn.com/ 0 1715191808 
32107852 1236821008 29449527 * 

Session Cookie

เราสามารถมอง Session Cookie ว่าเป็นหน่วยความจำชั่วคราวของเว็บไซต์ก็ได้ มันจะคอยบันทึกความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นบนหน้าเว็บเอาไว้ หากไม่มีมัน เราจะถูกตอบสนองเหมือนเพิ่งเข้าเว็บไซต์ดังกล่าวเป็นครั้งแรก

Session Cookie จะไม่มีการเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ของคุณเลย และข้อมูลส่วนตัวของคุณ ซึ่งอย่างที่เราบอกเอาไว้ข้างต้นว่าคุกกี้ตัวนี้ทำหน้าที่เหมือนหน่วยความจำชั่วคราว ดังนั้น เมื่อเราปิดตัวเว็บเบราว์เซอร์ ไฟล์ Session Cookie ก็จะถูกทิ้งทันที

Persistent Cookie

Persistent Cookie มีอีกหลายชื่อเรียก ไม่ว่าจะเป็น First-Party Cookie, Permanent Cookie หรือ Stored Cookie มันเป็นคุกกี้ที่ทำหน้าที่เสมือนเป็นหน่วยความจำถาวรของเว็บไซต์ ช่วยให้เว็บไซต์ข้อมูลของเรา เพื่อให้ในอนาคตที่เราเข้ามาเยี่ยมชมเว็บไซต์อีกครั้ง การตั้งค่าทุกอย่างจะยังเหมือนที่เราเคยตั้งเอาไว้

หากไม่มี Persistent Cookie แล้ว เว็บไซต์จะไม่สามารถจดจำข้อมูลการตั้งค่าเมนูบนเว็บ, ธีม, ภาษาที่เลือก, หรือ Boorkmark ในเว็บได้เลย และมันยังมีบทบาทสำคัญอีกอย่างในส่วนของระบบ User authentication หากเราทำการปิดคุกกี้ตัวนี้ไป เราจะต้องทำการรับรองเพื่อยืนยันเข้าระบบใหม่ทุกครั้งที่เข้าเว็บ

ส่วนใหญ่แล้ว Persistent Cookie จะมีอายุการใช้งาน 1- 2 ปี หากเราไม่มีการเข้าใช้งานเว็บไซต์ภายในระยะเวลาที่คุกกี้ยังไม่หมดอายุ ตัวเว็บเบราว์เซอร์ก็จะทำการลบคุกกี้ดังกล่าวให้อัตโนมัติ

อย่างไรก็ตาม Persistent Cookie มีข้อเสียอยู่เช่นกัน คือ เจ้าของเว็บไซต์ดังกล่าวจะสามารถติดตามพฤติกรรมการใช้งานของเราผ่านคุกกี้ตัวนี้ได้ด้วย

Secure Cookie

เป็น Cookie ที่สามารถส่งผ่านการเชื่อมต่อที่ถูกเข้ารหัส (Encrypted connection) เอาไว้แล้วเท่านั้น เช่น HTTPS ทำให้เป็น Cookie ที่มีความปลอดภัยสูงมาก ยากต่อการถูกดักอ่านข้อมูล

ตราบใดก็ตามที่ Secure Cookie ทำงานอยู่ ข้อมูลของผู้ใช้จะไม่ถูกส่งผ่านชาแนลเชื่อมต่อที่ไม่ได้เข้ารหัส ซึ่งมันจะช่วยปกป้องข้อมูลสำคัญของเราไม่ให้ "ถูกดัก" ระหว่างที่มีการรับส่งข้อมูลได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการเข้ารหัสเอาไว้แล้ว นักพัฒนาก็ไม่ควรใช้คุกกี้ชนิดนี้ในการรับส่งข้อมูลที่มีความสำคัญ เพราะด้วยหลักการทำงานของมัน มันแค่ปกป้องความลับภายในคุกกี้เท่านั้น แต่แฮกเกอร์สามารถใช้การโจมตีด้วยการเข้าควบคุม Secure Cookie ผ่านช่องทางเชื่อมต่อที่ไม่ปลอดภัยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบางเว็บไซต์ที่มีทั้งระบบ HTTP และ HTTPS ในเว็บเดียวกัน

HTTP-Only Cookie

HTTP-Only Cookie เป็น Cookie ที่ไม่สามารถเข้าถึงได้จากฝั่ง Client-side API เช่น JavaScript ข้อจำกัดนี้ทำให้ Cookie ชนิดนี้ปลอดภัยจากการถูกโจมตีด้วยเทคนิค Cross-site scripting หรือที่เรียกกว่า XSS (เทคนิคนี้จะเป็นการฝังโค้ดอันตรายเข้าไปบนหน้าเว็บโดยตรง ทำงานเมื่อหน้าเว็บถูกแสดงผล) อย่างไรก็ตาม มันยังสามารถถูกโจมตีด้วยเทคนิค Cross-site tracing (XST) และ Cross-site request forgery (CSRF) ได้อยู่ดีนะ

Same-Site Cookie

เป็น Cookie แบบใหม่ที่ถูกคาดหวังให้เป็นมาตรฐานใหม่ที่มีความปลอดภัยกว่าคุกกี้แบบเดิม พัฒนาขึ้นมาโดย Google ในปี ค.ศ. 2016 (พ.ศ. 2559)

โดยหลักการทำงานของมัน คือ ตัวเว็บเบราว์เซอร์จะสามารถควบคุมการรับส่งคุกกี้ระหว่างเว็บไซต์ต่างๆ ได้ ด้วยการใช้ SameSite Cookie attribute โดยสามารถกำหนดค่า Value ได้ 3 รูปแบบ คือ Strict, Lax หรือ None.

ซึ่งการเปิดใช้งานก็ง่ายมาก ด้วยการเพิ่มชุดคำสั่งเข้าไปใน Cookie ในลักษณะนี้

Set-Cookie: CookieName=CookieValue; SameSite=Lax;
Set-Cookie: CookieName=CookieValue; SameSite=Strict;

SameSite=Strict เป็นการกำหนดค่าให้ตัวเบราว์เซอร์ส่งข้อมูลใน Cookie ไปยังเป้าหมายที่มีโดเมนเหมือนกับโดเมนเดิมเท่านั้น ช่วยป้องกันการโจมตีแบบ Cross-site request forgery (CSRF) ได้

SameSite=Lax เป็นการกำหนดค่าให้ตัวเบราว์เซอร์ส่งข้อมูลใน Cookie ไปยังเป้าหมายที่มีโดเมนแตกต่างไปจากโดเมนเดิมได้ แต่จะจำกัดเฉพาะคำสั่งที่มีความปลอดภัยเท่านั้น เช่น GET ถ้าเป็นคำสั่ง POST จะไม่สามารถทำได้ รวมไปถึง 3rd Party Cookie ใน iframe ก็ไม่ได้เช่นกัน

SameSite=None เป็นการอนุญาตให้ Third-Party Cookie เข้าใช้งานได้ อย่างไรก็ตาม เบราว์เซอร์ส่วนใหญ่จะบังคับให้ใช้งาน Secure Cookie ด้วย เมื่อเป็น SameSite=None

ปัจจุบันนี้ เว็บเบราว์เซอร์ (Web Browser) ยอดนิยมอย่าง โปรแกรม Google Chrome, โปรแกรม Mozilla Firefox, โปรแกรม Microsoft Edge, โปรแกรม Opera และ โปรแกรม Safari ก็รองรับการทำงานของ Same-site Cookie แล้ว

Third-Party Cookie (3rd Party Cookie)

ถ้าคุุณเคยได้ยิน "ชื่อเสีย" ของคุกกี้มาก่อน เจ้านี่แหละคือสาเหตุของสิ่งนั้น ในขณะที่ First-Party Cookie กันก่อน มันจะจับคู่ตามชื่อของโดเมนเว็บที่เรากำลังจะเข้า แต่ Third-Party Cookie จะไม่เป็นแบบนั้น มันจะทำการจับคู่ไปยังโดเมนเว็บอื่นๆ แทน

แน่นอนว่า เมื่อมันไม่ใช่คุกกี้ที่มาจากเว็บที่เราต้องการจะใช้งาน มันจึงไม่ได้สร้างประโยชน์อะไรให้กับเราเลยสักนิด หน้าที่เพียงอย่างเดียวที่ Third-Party Cookie ทำก็คือแอบติดตามความเคลื่อนไหวของเรา มันสามารถดูประวัติการเล่นเว็บ, พฤติกรรมการออนไลน์, ลักษณะการใช้จ่าย ฯลฯ

จากความสามารถดังกล่าว จึงไม่น่าแปลกใจที่มันจะเป็นสิ่งที่นักการตลาดออนไลน์นิยมนำมาใช้ในการเพิ่มยอดขาย และยอดเพจวิว

ข่าวดี คือ ในปัจจุบันนี้เว็บเบราว์เซอร์ส่วนใหญ่จะมีตัวเลือกในการปิดกั้นการทำงานของ Third-party Cookie ให้ใช้งานได้ อย่างใน โปรแกรม Google Chrome เราสามารถตั้งได้ด้วยการไปที่ chrome://settings/content/Cookie แล้วเปิดใช้งาน "Block third-party Cookie"

เว็บ Cookie คืออะไร ? ทำไมเวลาเข้าเว็บไซต์ บางเว็บถึงมีคำร้องขอใช้งาน ทำไมบางเว็บไม่มี ?

SuperCookie

SuperCookie เป็นคุกกี้ที่มีชื่อเป็นโดเมนระดับสูงสุด เช่น .com หรือ .co.th (Cookie ธรรมดา ก็อย่างเช่น thaiware.com)

เว็บเบราว์เซอร์ส่วนใหญ่ก็จะปิดกั้นการทำงานของ SuperCookie เพราะหากไม่ได้ปิดกั้นเอาไว้ มันสามารถถูกใช้ในการขัดขวาง หรือเลียนแบบการทำงานของผู้ใช้ อย่างการส่งคำร้องไป

ไม่ให้ ทำงานได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อเราเข้าระบบของเว็บ example.com เจ้า SuperCookie ที่ชื่อว่า .com สามารถใช้ในการเข้าระบบแบบปลอมๆ หรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลของผู้ใช้ได้ ทั้งๆ ตัวมันเองไม่ใช่คุกกี้ที่มาจาก thaiware.com ด้วยซ้ำ จากความสามารถดังกล่าว จึงไม่น่าแปลกใจ ที่มันจะถูกใช้ในทางที่ผิดโดยเหล่าแฮกเกอร์

Zombie Cookie

Zombie Cookie คือ Cookie ที่จะสร้างตัวเองขึ้นมาใหม่ได้ แม้ว่ามันจะถูกลบไปแล้วก็ตาม โดยอาศัยการกระจายตัวไปยังหลากหลายตำแหน่ง เช่น Flash Local shared object, HTML5 Web storage, Client-side หรือแม้กระทั่ง Server-side เมื่อมีการตรวจพบว่า Cookie ดังกล่าวหายไป มันก็จะสร้างตัวเองขึ้นใหม่ด้วยการใช้ข้อมูลที่กระจายเก็บไว้ในที่ต่างๆ 

Cookie Wall

นี่ไม่ใช่ประเภทของ Cookie โดยตรง แต่ก็เกี่ยวข้องกันอย่างแน่นแฟ้น Cookie Wall คือ หน้าต่างแจ้งเตือนผู้ใช้ที่เข้าเว็บไซต์ โดยมันจะบังคับให้ผู้ใช้ยอมรับการใช้งาน Cookie ไม่มีตัวเลือกในการปฏิเสธ และหากเราไม่กดยอมรับ เจ้าหน้าต่างนี้ก็จะปิดกั้นไม่ให้เราเข้าใช้งานเว็บไซต์ได้ 

เว็บ Cookie คืออะไร ? ทำไมเวลาเข้าเว็บไซต์ บางเว็บถึงมีคำร้องขอใช้งาน ทำไมบางเว็บไม่มี ?
ตัวอย่าง Cookie wall
ภาพจาก https://complianz.io/definitions/what-is-a-Cookie-wall/

แม้ Cookie จะมีมานานแล้ว และมันก็มีกฏในการใช้งานของมันที่เรียกว่า Cookie Law อยู่ด้วย แต่เรื่องที่มันมีส่วนในการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลเป็นประเด็นที่เพิ่งจะเป็นกระแสสังคมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้เอง หลังจากที่สหภาพยุโรป (EU) ได้ประกาศใช้กฏหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล GDPR (General Data Protection Regulation) ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม ค.ศ. 2018 (พ.ศ. 2561)

วัตถุประสงค์ของ GDPR คือ การกำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองประชาชน ในด้านการประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคล และการเคลื่อนย้ายของข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งเป็นอำนาจที่ประชาชนควรมีอิสรภาพในการที่จะปกป้องข้อมูลส่วนตัวของตน

การมาของ GDPR ไม่ได้ยกเลิก Cookie Law แต่มันมีการปรับปรุงให้เหมาะสม เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งมีหลักการสำคัญดังต่อไปนี้

  1. Cookie Law บังคับให้ผู้ใช้งานได้รับแจ้งความยินยอมก่อนที่จะติดตั้ง Cookie บนอุปกรณ์ของผู้ใช้ หรือมีการติดตาม Cookie 
  2. การยินยอมให้ใช้งาน Cookie จะต้องได้รับการยืนยันยอมรับจากผู้ใช้ การยืนยันอาจจะใช้วิธีคลิกเพื่อดำเนินการต่อ, คลิกปุ่มยอมรับ, เลื่อนหน้าจอ หรือวิธีบางอย่างที่ผู้ใช้ต้อง "กระทำ" เพื่อยืนยัน
    Cookie Consent คือ สิ่งที่เกิดขึ้นใน ข้อ 1. และข้อ 2. นั่นเอง
  3. แม้ว่าทาง Cookie Law จะไม่ระบุว่าต้องเก็บหลักฐานที่ผู้ใช้แสดงความยินยอมเอาไว้ แต่ GDPR ต้องการหลักฐานดังกล่าว ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับกฏหมายของประเทศที่คุณอาศัยอยู่ด้วย ทั้งนี้ ประเทศไทยเองก็มี พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ที่กำลังจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิ.ย. ค.ศ. 2021 (พ.ศ.2564)
  4. ทาง Cookie Law ไม่บังคับว่าคุณต้องแสดงรายการ 3rd Party Cookie ที่ใช้ แต่ต้องบอกประเภท และวัตถุประสงค์ในการใช้งาน
  5. ไม่บังคับให้ผู้สร้าง Cookie ต้องจัดการกับ Cookie Consent ของ 3rd Party Cookie แต่ต้องแจ้งให้ผู้ใช้ทราบด้วยว่ามีการนำไปใช้ และแสดงลิงก์ไปยังข้อตกลงในการใช้งานของ 3rd Party Cookie ด้วย

สรุปง่าย ๆ ได้ว่า Cookie Consent ก็คือ สิ่งที่จะแจ้งเตือนให้ผู้ใช้ทราบว่าเว็บจะมีการใช้ Cookie อย่างไรบ้าง และเราจะยินยอมให้มีการนำไปใช้หรือเปล่านั่นเอง ซึ่งหลังจากที่ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) บังคับใช้แล้ว ทุกเว็บไซต์ที่ใช้ Cookie ก็จะมีการแจ้งเตือนให้ยอมรับการใช้งาน Cookie Consent อย่างแน่นอน 


ที่มา : www.makeuseof.com , en.wikipedia.org , www.allaboutcookies.org , www.allaboutcookies.org , www.iubenda.com , aboutcookies.org , www.cookielaw.org

0 %E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B9%87%E0%B8%9A+Cookie+%E0%B8%84%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3+%3F+%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B9%87%E0%B8%9A%E0%B9%84%E0%B8%8B%E0%B8%95%E0%B9%8C+%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B9%87%E0%B8%9A%E0%B8%96%E0%B8%B6%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99+%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B9%87%E0%B8%9A%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%B5+%3F
แชร์หน้าเว็บนี้ :
Keyword คำสำคัญ »
เขียนโดย
ระดับผู้ใช้ : Admin    Thaiware
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ
 
 
 

ทิปส์ไอทีที่เกี่ยวข้อง

 


 

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นที่ 1
8 มิถุนายน 2564 09:13:44 (IP 1.46.10.xxx)
GUEST
Comment Bubble Triangle
สิริพร พานทองถาวร
สุดยอดแหล่งรวบรวมข้อมูลที่เป็นคำตอบปัญหาเวลาใช้งานคอมฯและท่องnet
6 พฤศจิกายน 2564 07:28:31 (IP 58.8.153.xxx)
GUEST
Comment Bubble Triangle
wonsuchai
ขอบคุณครับ.