DevOps เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับองค์กรต่าง ๆ สำหรับกับ การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) ในยุคนี้ ซึ่งหลายท่านอาจคุ้นชินหรือได้ยินผ่านมาบ้าง คำเหล่านี้ล้วนเป็นคำศัพท์ทางเทคนิคที่หลายคนอาจไม่รู้ความหมายที่แท้จริงของมัน แล้วความหมายของคำศัพท์เหล่านี้คืออะไร ? เหตุใด DevOps จึงกลายเป็นแนวทางสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ? เรามาหาคำตอบในบทความนี้กันดูเลย ...
ภาพจาก : https://emudhra.com/blog/what-is-digital-transformation
DevOps เป็นการสมาสคำว่า "Development (การพัฒนา)" และ "Operations (ปฏิบัติการ)" เข้าด้วยกัน มันคือการผสมผสานระหว่างปรัชญา, วัฒนธรรม, แนวทางปฏิบัติ และเครื่องมือต่าง ๆ ที่ช่วยยกระดับความสามารถขององค์กรในการส่งมอบแอปพลิเคชันและบริการต่าง ๆ ด้วยความรวดเร็ว โดยเน้นการพัฒนา และปรับปรุงผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องด้วยความเร็วที่มากกว่ากระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ และการจัดการโครงสร้างพื้นฐานแบบเดิม ๆ
ซึ่งความรวดเร็วนี้ส่งผลให้องค์กรสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น และสามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นนั่นเอง
ภาพจาก : https://www.qiminfo.ch/de/what-is-devops-the-definition-and-how-its-used/
แนวคิด DevOps ช่วยลบกำแพงกั้น ระหว่างทีมพัฒนา (Development) และทีมปฏิบัติการ (Operations) ในบางองค์กร ทีมทั้งสองอาจรวมกันเป็นทีมเดียว โดยวิศวกรจะทำงานครอบคลุมวงจรการสร้างแอปพลิเคชันทั้งหมด ตั้งแต่การพัฒนา, การทดสอบ, การปรับใช้ ไปจนถึงการดูแลระบบ ส่งผลให้วิศวกรมีความสามารถหลากหลาย ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ด้านใดด้านหนึ่ง
นอกจากนี้ ในบางโมเดลของ DevOps ทีมประกันคุณภาพ (QA) และทีมรักษาความปลอดภัย (Security) อาจมีการบูรณาการอย่างใกล้ชิดกับทีมพัฒนา และปฏิบัติการมากขึ้น รวมถึงตลอดทั้งวงจรการสร้างแอปพลิเคชัน แนวทางที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยร่วมกันทั้งทีมนี้ บางครั้งเรียกว่า DevSecOps
ทีมเหล่านี้จะใช้แนวทางปฏิบัติเพื่อทำให้งานที่เคยเป็นแบบแมนนวล และใช้เวลานาน กลายเป็นกระบวนการอัตโนมัติ พวกเขาใช้ชุดเทคโนโลยี และเครื่องมือต่าง ๆ ช่วยในการทำงาน และพัฒนาแอปพลิเคชันได้อย่างรวดเร็ว และเชื่อถือได้ เครื่องมือเหล่านี้ยังช่วยให้วิศวกรสามารถทำงานต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ (เช่น การปรับใช้โค้ดหรือจัดสรรโครงสร้างพื้นฐาน) ซึ่งโดยปกติแล้วจะต้องอาศัยความช่วยเหลือจากทีมอื่น ส่งผลให้ทีมทำงานได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
ภาพจาก : https://aws.amazon.com/devops/what-is-devops/
จำเป็นต้องมีเครื่องมือสำหรับการวางแผนกำหนดการ และติดตามงาน เพื่อให้ทีม DevOps รู้ว่ามีงานอะไรบ้าง, งานที่กำลังดำเนินอยู่คืออะไร และมีความเสี่ยงที่จะล่าช้าหรือไม่ เครื่องมืออย่าง Confluence และ Jira ช่วยให้ทีม DevOps บริหารจัดการโครงการได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ รวมถึงส่งมอบผลิตภัณฑ์ตรงตามเวลา
ผู้พัฒนาต้องการใช้เครื่องมือที่รวดเร็วในการปรับใช้งานสภาพแวดล้อมสำหรับการพัฒนา และทดสอบ ไม่ต้องรอการแก้ไขนานเมื่อมีบางอย่างผิดพลาด การใช้คอนเทนเนอร์ของ Docker ช่วยให้แน่ใจว่ามีความสม่ำเสมอกันตลอดรอบการพัฒนา เครื่องมือยอดนิยมอื่น ๆ สำหรับขั้นตอนนี้ ได้แก่ Kubernetes, Terraform, Chef, Ansible และ Puppet
มีเครื่องมืออย่าง Jenkins, CircleCI และ GitLab CI ซึ่งช่วยลดเวลาและความพยายามที่ใช้ในการทดสอบ โดยไม่กระทบต่อคุณภาพของโค้ด หรือประสบการณ์ของผู้ใช้งาน
เมื่อมีการนำซอฟต์แวร์ไปใช้จริงแล้ว จะต้องมีการตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่ามีประสิทธิภาพการทำงานที่คงที่ช่วยเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า ขั้นตอนนี้ยังเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ประสิทธิภาพและการบันทึกข้อมูล การแจ้งเตือนอัจฉริยะเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ การรวบรวมความคิดเห็นของลูกค้า เป็นต้น เครื่องมือสำหรับดำเนินการเหล่านี้ ได้แก่ Prometheus, Grafana, Elastic (ELK), Stack, Splunk และ Sumo Logic เป็นต้น
ภาพจาก : https://fractal.ai/blog/3-key-benefits-of-devops/
DevOps เน้นการทำงานด้วยความรวดเร็ว ช่วยให้คุณสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อตอบสนองลูกค้าได้เร็วขึ้น ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดได้ดีขึ้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนผลลัพธ์ทางธุรกิจ โมเดล DevOps ช่วยให้ทีมพัฒนา และทีมปฏิบัติการของบรรลุผลลัพธ์เหล่านี้ได้ ตัวอย่างเช่น การใช้สถาปัตยกรรมแบบไมโครเซอร์วิส (Microservices) และการส่งมอบอย่างต่อเนื่อง (Continuous Delivery) ช่วยให้ทีมสามารถดูแลควบคุมบริการต่าง ๆ และปล่อยอัปเดทได้รวดเร็วขึ้น
DevOps เน้นการย่นระยะเวลา และเพิ่มความถี่ในการปล่อยอัปเดท ส่งผลให้สร้างสรรค์นวัตกรรม และปรับปรุงผลิตภัณฑ์ได้เร็วขึ้น ยิ่งปล่อยฟีเจอร์ใหม่แก้ไขบั๊กได้เร็วเท่าไร ก็ยิ่งตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เร็วเท่านั้น และสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันได้มากขึ้น การผสมผสานแนวทางปฏิบัติอย่าง Continuous Integration (CI) และ Continuous Delivery (CD) ช่วยให้การปล่อยซอฟต์แวร์เป็นอัตโนมัติตั้งแต่ขั้นตอนการรวบรวมโค้ดไปจนถึงการปรับใช้จริง
DevOps เน้นย้ำเรื่องความน่าเชื่อถือของการปรับปรุงแอปพลิเคชัน และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งนี้ช่วยให้สามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์ได้อย่างรวดเร็ว และเชื่อถือได้ ขณะเดียวกันก็รักษาประสบการณ์ที่ดีสำหรับผู้ใช้งานปลายทาง โดยใช้แนวทางปฏิบัติอย่าง Continuous Integration (CI) และ Continuous Delivery (CD) เพื่อทดสอบว่าการเปลี่ยนแปลงแต่ละอย่างนั้นใช้งานได้จริงและปลอดภัย นอกจากนี้ การติดตามผล (Monitoring) และการบันทึก Log (Logging) ยังช่วยให้คุณทราบข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพของระบบแบบเรียลไทม์อีกด้วย
DevOps ช่วยให้บริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน และกระบวนการพัฒนาได้อย่างคล่องตัว ไม่ว่าจะมีปริมาณงานมากแค่ไหน ระบบอัตโนมัติ และความสม่ำเสมอจะช่วยให้คุณดูแลระบบที่ซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น แนวทาง Infrastructure as Code ช่วยให้จัดการสภาพแวดล้อมการพัฒนา การทดสอบ และการใช้งานจริง ได้อย่างสม่ำเสมอ และมีประสิทธิภาพ
DevOps เน้นวัฒนธรรมที่ให้ความสำคัญกับความเป็นเจ้าของผลงาน และความรับผิดชอบ สิ่งนี้ช่วยให้ทีมพัฒนา และทีมปฏิบัติการทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งสองทีมจะแบ่งปันความรับผิดชอบร่วมกัน และบูรณาการกระบวนการทำงานเข้าด้วยกัน ส่งผลให้ลดความล่าช้าและประหยัดเวลามากขึ้น (เช่น ลดช่วงเวลาส่งมอบงานระหว่างทีมพัฒนา และทีมปฏิบัติการ รวมถึงการเขียนโค้ดที่คำนึงถึงสภาพแวดล้อมในการใช้งานด้วย)
DevOps ช่วยให้คุณทำงานได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันก็ยังควบคุมทุกอย่างได้อย่างปลอดภัย และเป็นไปตามข้อกำหนด คุณสามารถนำแนวทาง DevOps มาใช้โดยไม่ต้องแลกกับความปลอดภัย ด้วยการใช้ระบบตรวจสอบความถูกต้องแบบอัตโนมัติ การควบคุมอย่างละเอียด และเทคนิคการจัดการการตั้งค่าต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น การใช้ Infrastructure as Code และ Policy as Code ช่วยให้คุณกำหนดและติดตามความถูกต้องได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้จะมีปริมาณงานมาก
ภาพจาก : https://www.qiminfo.ch/de/what-is-devops-the-definition-and-how-its-used/
การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) คือ การนำเทคโนโลยีมาปรับโฉมวิธีการดำเนินธุรกิจ ไม่ใช่แค่การมีเว็บไซต์หรืออีเมล์อีกต่อไป แต่เป็นการบูรณาการเทคโนโลยีเข้ากับทุกกระบวนการ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพ สร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า และตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของลูกค้ายุคใหม่
เทคโนโลยีช่วยให้ธุรกิจวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก นำไปสู่การปรับปรุงกระบวนการ เพิ่มประสิทธิภาพ และตัดสินใจได้อย่างชาญฉลาดยิ่งขึ้นคือหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ไม่ใช่แค่เครื่องมือแต่ยังรวมถึงวัฒนธรรมองค์กร โดยมุ่งเน้นการทำงานเป็นทีม, ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง, คิดค้นนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง และพร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ
ข้อมูลเพิ่มเติม : Digital Transformation คืออะไร ? ต่างจาก Digitization, Digitalization อย่างไร ? พร้อมตัวอย่าง
DevOps ช่วยให้บริษัทสามารถส่งมอบคุณค่าให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยการพัฒนา, ทดสอบ และปรับใช้ฟีเจอร์ใหม่ ๆ และการปรับปรุงต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ธุรกิจสามารถก้าวทันกระแสดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว และปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ตลาดที่ไม่แน่นอนได้อย่างคล่องตัว
การผสานทีมพัฒนา และทีมปฏิบัติการผ่าน DevOps ช่วยส่งเสริมการทำงานร่วมกัน และการสื่อสารที่ดีขึ้น นำไปสู่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่มากขึ้น ซึ่งการส่งมอบฟีเจอร์ใหม่ ๆ และการปรับปรุงต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพนั้น ถือเป็นหัวใจสำคัญในโลกยุคดิจิทัล และ DevOps คือเครื่องมือที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายนั้น
ภาพจาก : https://smartway2.com/blog/8-successful-examples-of-digital-transformation/
อย่างไรก็ตาม อิทธิพลของ DevOps ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ด้านเทคนิคเท่านั้น DevOps ยังส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่เน้นการพัฒนา และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล การนำวัฒนธรรมนี้มาใช้ ช่วยให้บริษัทสามารถปรับตัวและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา
DevOps จึงเป็นส่วนผสมลับที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจให้ก้าวไปข้างหน้าในยุคดิจิทัล สำหรับองค์กรที่ต้องการอยู่รอด และเติบโตในโลกดิจิทัล บริการด้าน DevOps จึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้
หลังจากที่เราเข้าใจถึงบทบาทของ DevOps ในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลแล้ว เราจะมาเจาะลึกถึงแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมที่สุด (Best Practices) ของ DevOps แนวทางเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการนำ DevOps ไปใช้ได้อย่างสำเร็จ และมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับองค์กรที่ต้องการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล
ภาพจาก : https://www.peerbits.com/blog/role-of-devops-in-digital-transformation.html
CI/CD เป็นหนึ่งในแนวทางปฏิบัติที่สำคัญที่สุด โดยเน้นการนำกระบวนการพัฒนา, ทดสอบ และปรับใช้โค้ด ไปสู่ระบบอัตโนมัติ ช่วยให้ทีมพัฒนาสามารถส่งมอบฟีเจอร์ใหม่ ๆ และการปรับปรุงต่าง ๆ ได้เร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การนำกระบวนการเหล่านี้ไปสู่ระบบอัตโนมัติ จะช่วยให้ทีม DevOps สามารถโฟกัสไปที่การพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ และการปรับปรุง แทนที่จะเสียเวลากับการทดสอบ และปรับใช้ระบบแบบแมนนวล
อีกแนวทางปฏิบัติที่สำคัญสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล คือ การนำระบบโครงสร้างพื้นฐาน และการจัดการการตั้งค่าไปสู่ระบบอัตโนมัติ โดยใช้เครื่องมือและสคริปต์ต่าง ๆ เพื่อช่วยลดข้อผิดพลาด และเพิ่มประสิทธิภาพ
วิธีนี้ช่วยให้ทีมสามารถนำความเชี่ยวชาญที่มีไปใช้ในการพัฒนาฟีเจอร์ และการปรับปรุงที่สร้างสรรค์ แทนที่จะต้องจมอยู่กับการจัดการโครงสร้างพื้นฐานแบบแมนนวลเดิม ๆ ที่น่าเบื่อ
สถาปัตยกรรมไมโครเซอร์วิส (Microservices) คือการออกแบบแอปพลิเคชันขนาดใหญ่ ให้กลายเป็นบริการย่อย ๆ ที่ทำงานอิสระแต่ละบริการจะมีหน้าที่เฉพาะเจาะจงสื่อสารกันผ่านระบบ API
ข้อดีของไมโครเซอร์วิสคือ ความรวดเร็วในการพัฒนา และปรับเปลี่ยนแก้ไข แต่ละบริการสามารถเลือกใช้ภาษาเขียนโปรแกรมที่เหมาะสม และปรับปรุงส่วนใดส่วนหนึ่งโดยไม่กระทบส่วนอื่น เหมือนกับการแบ่งงานเป็นทีมย่อย ๆ แต่ละทีมมีหน้าที่ชัดเจน ทำให้การทำงานคล่องตัว และรวดเร็วขึ้น
การเพิ่มประสิทธิภาพ และการทำงานอย่างต่อเนื่องของระบบมีความสำคัญอย่างยิ่งใน DevOps โดยการติดตามผลและการสังเกตระบบ ถือเป็นหัวใจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายนี้ ด้วยเครื่องมือ และเทคนิคที่ทันสมัย ทีมสามารถตรวจจับ และแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ป้องกันความล่าช้าในการส่งมอบบริการคุณภาพสูงให้กับลูกค้า
การให้ความสำคัญกับการติดตามผลและการสังเกตระบบ จะช่วยให้ทีมมั่นใจได้ว่าระบบ และแอปพลิเคชันต่าง ๆ ทำงานอย่างต่อเนื่องในระดับที่เหมาะสม ส่งผลต่อประสบการณ์การใช้งานที่ราบรื่นและไม่ติดขัดของผู้ใช้
วิธีการพัฒนาแบบ Agile มักถูกนำมาใช้ใน DevOps โดยช่วยให้ทีมสามารถทำงานร่วมกันแบบแบ่งเป็นรอบ (Iterative) ซึ่งจะช่วยปรับปรุงการสื่อสารและความร่วมมือระหว่างทีม นอกจากนี้ยังช่วยให้ทีมสามารถส่งมอบฟีเจอร์ใหม่ ๆ ได้เร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ข้อมูลเพิ่มเติม : Agile Software Development คืออะไร ? สำคัญกับการพัฒนาซอฟต์แวร์อย่างไร ?
มาดูตัวอย่างขององค์กรชื่อดังที่ประสบความสำเร็จในการนำ DevOps ไปใช้งานกัน
ตัวอย่างแรกของเราคือ เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) ได้ทำการ เปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลอย่างมากในช่วงสิบปีที่ผ่านมา หนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงนี้คือการนำแนวทาง DevOps มาใช้ ด้วยการนำกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ และเครื่องมือทันสมัยมาใช้ Netflix สามารถปล่อยฟีเจอร์ใหม่ แก้ไขบั๊ก และปรับขนาดโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
องค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของกลยุทธ์ DevOps ของ Netflix คือ การใช้สถาปัตยกรรมไมโครเซอร์วิส (Microservices Architecture) วิธีนี้ช่วยให้ Netflix แบ่งแอปพลิเคชันออกเป็นบริการเล็ก ๆ ที่แยกกันได้ ซึ่งสามารถใช้งานแยกกันได้
ภาพจาก : https://help.netflix.com/th/node/412
Etsy แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ได้เปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยการนำแนวทาง DevOps มาใช้ เพื่อรองรับผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้น บริษัทฯ ได้นำกระบวนการ เครื่องมือ และเทคนิคต่าง ๆ มาใช้เพื่อปรับกระบวนการปล่อยฟีเจอร์ใหม่ แก้ไขบั๊ก และปรับขนาดโครงสร้างพื้นฐาน
องค์ประกอบสำคัญของกลยุทธ์ DevOps ของ Etsy คือ การพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง (Continuous Integration) และการส่งมอบอย่างต่อเนื่อง (continuous delivery) (CI/CD) ผ่านเครื่องมือต่างๆ เช่น Jenkins และ Travis CI บริษัทฯ สามารถทำการสร้าง ทดสอบ และปรับใช้โค้ดโดยอัตโนมัติ ช่วยให้มั่นใจว่าสามารถตรวจพบ และแก้ไขบั๊กได้อย่างรวดเร็ว และฟีเจอร์ใหม่ ๆ จะถูกปล่อยให้ผู้ใช้ได้ทันทีที่พร้อมใช้
ภาพจาก : https://www.gelato.com/blog/how-to-make-money-on-etsy
DevOps เป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับองค์กรที่ต้องการก้าวไปข้างหน้าในยุคดิจิทัลที่รวดเร็ว DevOps ช่วยให้ส่งมอบบริการแก่ลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว, ปรับตัวตามตลาดได้ทันใจ และทีมทำงานร่วมกันได้มีอย่างมีประสิทธิภาพ เทคนิคสำคัญอย่าง CI/CD, ระบบโครงสร้างพื้นฐานอัตโนมัติ, การตรวจสอบ และแนวทาง Agile คือหัวใจสำคัญในการนำ DevOps ไปใช้ และช่วยให้ธุรกิจก้าวสู่ระบบดิจิทัลได้สำเร็จ
|