การ ตรวจสอบสเปกของคอมพิวเตอร์ด้วยตนเอง นั้นไม่ใช่เรื่องยาก เพราะว่า ระบบปฏิบัติการ Windows จะมีบอกคุณสมบัติของ หน่วยประมวลผลกลาง (CPU), หน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU), หน่วยความจำแรม (RAM), อุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล (Storage Device) อย่าง ฮาร์ดดิสก์ (Harddisk) ฯลฯ เอาไว้อยู่แล้ว แต่ในส่วนของ เมนบอร์ด (Mainboard) (บางคนเรียก Motherboard หรือ MOBO) มันก็อาจจะยุ่งยากกว่าฮาร์ดแวร์ส่วนอื่นนิดหน่อย
แต่ถึงจะบอกว่ายุ่งยาก แต่มันก็ไม่ยากหรอกนะครับ ทำอย่างไรมาอ่านกันเลย ...
วิธีแรกที่เราจะมาแนะนำ จะเป็นการใช้โปรแกรม Command Prompt ที่มีมาพร้อมกับตัวระบบปฏิบัติการ Windows อยู่แล้วนะครับ เรียกใช้งานด้วยการกด "ปุ่ม Windows+R" พิมพ์ลงไปว่า "cmd" แล้วหลังจากนั้นให้กด "ปุ่ม Enter"
เมื่อหน้าต่าง Command Prompt เปิดขึ้นมาแล้ว เราสามารถใช้คำสั่ง Windows Management Interface Command (WMIC) เพื่อตรวจสอบข้อมูลผู้ผลิต, ชื่อรุ่น และซีเรียลนัมเบอร์ ของมันได้ง่าย ๆ โดยให้เราพิมพ์คำสั่งด้านล่างนี้ลงไปครับ
wmic baseboard get product,manufacturer,version,serialnumber |
แล้วกด "ปุ่ม Enter" ครับ อย่างเครื่องที่ผู้เขียนใช้ ผลิตโดย Dell Inc., รุ่น 0T0MHW และซีเรียลนัมเบอร์ H98..../CN... ครับ
Windows System Information ก็สามารถบอกรายละเอียดของเมนบอร์ดได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม เหมือนจะใช้วิธีนี้ไม่ได้กับทุกยี่ห้อนะครับ เหมือนจะใช้ได้กับเมนบอร์ดของ Dell, Gigabyte และ MSI แต่ใช้ไม่ได้กับ Asus, Dell, และ Razer (อย่างไรก็ลองทำดูก่อนได้นะครับ เผื่อว่าจะได้)
เรียกใช้งานด้วยการกด "ปุ่ม Windows+R" พิมพ์ลงไปว่า "msinfo32" แล้วตามด้วยกด "ปุ่ม Enter"
รุ่นของเมนบอร์ดจะอยู่ตรง Baseboard Manufacturer, BaseBoard Product และ BaseBoard Version แต่ถ้ามันแสดงผลว่า Information is not available ให้เราใช้วิธีการอื่นแทนครับ
ถ้า cmd และ Windows System Information ใช้ไม่ได้ เราก็คงต้องใช้ โปรแกรมบุคคลที่สาม (3rd-Party Software) ช่วยแล้วล่ะ ก็จะขอแนะนำเป็น โปรแกรม CPU-Z ที่เป็นโปรแกรมฟรี มีความสามารถเยอะ ใช้ดูสเปกคอมพิวเตอร์ได้อย่างละเอียด
ดาวน์โหลดโปรแกรม CPU-Z
หลังจากที่ดาวน์โหลดโปรแกรม CPU-Z ลงมาแล้วก็จัดการติดตั้งโปรแกรม (Install) ให้เรียบร้อย ทันทีที่เราเปิดโปรแกรมขึ้นมา ตัว CPU-Z จะทำการรวบรวมข้อมูลสเปกเครื่องทั้งหมดมาแสดงผลให้อัตโนมัติ แน่นอนว่ามีสเปกของเมนบอร์ดที่คุณกำลังใช้งานอยู่ด้วย โดยดูได้ในแท็บ Mainboard ดังภาพด้านล่าง
อีกหนึ่งโปรแกรมที่มีความสามารถเหมือนกับ CPU-Z แต่ว่าหน้าตาของผู้ใช้งาน (User Interface) จะแลดูเป็นมิตรกว่า การใช้งานก็ไม่ต่างกัน ดาวน์โหลดโปรแกรมมาติดตั้ง แล้วเปิดโปรแกรมเพื่อดูรายละเอียดได้เลย
ดาวน์โหลดโปรแกรม Speccy
คลิกที่ "แท็บ Motherboard" เพื่อดูรายละเอียดของเมนบอร์ดที่เราใช้ ชอบตรงบอกสเปกช่อง PCI-E และจำนวนช่องที่ว่างให้ด้วย
บางคนที่ไม่ได้ใช้ระบบปฏิบัติการ Windows แต่ใช้ระบบปฏิบัติการ Linux แล้วอยากตรวจสอบรุ่นเมนบอร์ดที่ใช้งานอยู่ ก็สามารถเช็คได้ผ่าน Terminal นะ
โดยการกด "ชุดปุ่ม Ctrl + Alt + T" เพื่อเรียกหน้าต่าง Terminal ขึ้นมา จากนั้นให้พิมพ์คำสั่งด้านล่างนี้ลงไป
sudo dmidecode -t 2 |
ก็จะมีสเปกบอกขึ้นมาดังภาพด้านล่างนี้ครับ
ภาพจาก https://www.makeuseof.com/tag/how-to-find-out-what-motherboard-you-have/
หวังว่าบทความวิธีเช็ครุ่นเมนบอร์ดนี้จะมีประโยชน์ต่อคุณผู้อ่านบ้างไม่มากก็น้อยนะครับ
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |