หากคุณเคยเลือก ซื้อการ์ดจอ (Graphic Card) ด้วยตนเอง ก็จะเห็นได้ว่ามันมีตัวเลือกที่หลากหลายมาก แม้จะใช้ ชิปประมวลผลกราฟิก (GPU) ตัวเดียวกันก็ตาม โดยสิ่งที่น่าจะสร้างความสงสัยให้กับผู้ซื้อมากที่สุดคือ ยี่ห้อเดียวกัน ใช้ชิป GPU ตัวเดียวกันด้วย แต่ผู้ผลิตทำออกมาให้เลือกซื้อทั้งแบบที่มี 2 พัดลม กับ 3 พัดลม (บางรุ่นอาจมีแค่ 1 พัดลมด้วยซ้ำไป แต่เป็นส่วนน้อย ในบทความนี้เลยจะขอข้ามรุ่น 1 พัดลมไปเลย)
คำถามที่ผู้ซื้อหลายคนน่าจะสงสัยกันมากที่สุดคือ ซื้อการ์ดจอแบบ 2 พัดลม หรือ 3 พัดลมดี ? ประสิทธิภาพมันแตกต่างกันมากหรือเปล่า ? โดยเฉพาะในด้านของการระบายความร้อน แบบไหนที่ระบายความร้อนได้ดีกว่ากัน ?
การ์ดจอที่วางขายในท้องตลาดส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้จะมีอยู่ 2 รูปแบบคือ การ์ดจอแบบ 2 พัดลม (Dual-Fan) กับแบบ 3 พัดลม (Triple-Fan)
การ์ดจอทั้ง 2 รูปแบบนี้ ต่างก็มีข้อดี และข้อเสีย ที่แตกต่างกัน เราจะมาอธิบายให้อ่านกันในบทความนี้กัน ...
การ์ดจอแบบ 2 พัดลม มีข้อได้เปรียบกว่าการ์ดจอแบบ 3 พัดลม ตรงที่สามารถทำงานในสถานะปกติได้เงียบกว่า เนื่องจากพัดลมที่เป็นแหล่งกำเนิดเสียงมีจำนวนน้อยกว่า นอกจากนี้ ยังได้เปรียบเรื่องขนาดของตัวการ์ดที่สามารถออกแบบมาได้เล็กกว่ามาก สำหรับคนที่ชอบ เคสคอมพิวเตอร์ (Computer Case) ขนาดเล็ก แบบ Micro-ATX หรือ ITX ส่วนใหญ่ก็จำเป็นต้องเลือกใช้การ์ดจอแบบ 2 พัดลม ด้วยเหตุผลด้านขนาดนี่แหละ
นอกจากนี้ ราคาของการ์ดจอแบบ 2 พัดลมก็มักจะถูกกว่าการ์ดจอแบบ 3 พัดลม อีกด้วย ทำให้เป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่มีงบจำกัดในการประกอบคอมพิวเตอร์
จุดประสงค์หลักในการมีอยู่ของพัดลมในการ์ดจอคือ การระบายความร้อนที่เกิดขึ้นในขณะที่ GPU กำลังทำงาน เมื่อมีพัดลม 2 ตัว กระแสลมจะเกิดการรวมศูนย์ พุ่งไปยัง GPU โดยตรง ช่วยให้การระบายความร้อนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตามปกติแล้วในการทำงานของมัน พัดลมตัวหนึ่งจะทำหน้าที่ในการดูดอากาศเย็นในบริเวณโดยรอบ ส่วนอีกตัวทำหน้าที่ดูดอากาศร้อนออกจากตัวการ์ดจอ
การ์ดจอแบบ 2 พัดลม จะมีขนาดตัวการ์ดที่เล็ก และสั้นกว่าการ์ดจอแบบ 3 พัดลม อยู่พอสมควร ทำให้ประหยัดพื้นที่ในการติดตั้งการ์ดภายในเคสคอมพิวเตอร์กว่ามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่ชอบเคสคอมพิวเตอร์สไตล์ ITX ที่มีขนาดเล็ก นอกจากนี้ ตัวการ์ดที่มีขนาดเล็กยังทำให้มันติดตั้งได้ง่าย ไม่ต้องกังวลว่าจะไปติดชิ้นส่วนอื่น ๆ ที่อยู่บน แผงวงจรหลัก หรือ เมนบอร์ด (Mainboard)
การมีพัดลม 2 ตัว หมายความว่ามันมีแหล่งกำเนิดเสียงรบกวนน้อยกว่าพัดลม 3 ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสถานการณ์ที่ระบบกำลังใช้ทรัพยากรในการทำงานต่ำอยู่ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ระบบทำงานหนัก การ์ดจอที่มี 2 พัดลม ตัวพัดลมอาจจะต้องทำงานด้วยความเร็วรอบหมุนที่สูงกว่าการ์ดจอแบบ 3 พัดลม เพื่อเร่งระบายความร้อนที่เกิดขึ้น นั่นทำให้เสียงที่เกิดขึ้น "อาจ" ดังกว่าการทำงานของพัดลม 3 ตัว ก็เป็นได้
ภาพจาก : https://edgeup.asus.com/2023/asus-geforce-rtx-4080-noctua-edition-announced/
สำหรับการ์ดจอแบบ 3 พัดลม ตัวการ์ดมักจะติดตั้ง ฮีตซิงค์ (Heatsink) หรือแผงระบายความร้อนขนาดใหญ่กว่า มาให้ ซึ่งก็จะช่วยให้ตัวการ์ดจอมีอุณหภูมิต่ำได้ง่ายกว่า ส่งผลให้การ์ดจอสามารถทำงานที่สภาวะความร้อนสูงได้ดีกว่า โดยไม่ถูกลดความเร็วจากความร้อน (Thermal Throttling) ได้โดยง่าย
นอกจากนี้ การ์ดจอแบบ 3 พัดลม หลายรุ่นยังออกแบบมาได้บางกว่าการ์ดจอแบบ 2 พัดลมอีกด้วย ในการติดตั้งบนมาเธอร์บอร์ด และเคสคอมพิวเตอร์บางรุ่นจะจัดการกับพื้นที่ได้ง่ายกว่า ไม่ไปเบียดเบียนพื้นที่ในการติดตั้งฮาร์ดแวร์ตัวอื่น ๆ
พัดลมที่เพิ่มเข้ามาอีก 1 ตัว ช่วยเพิ่มศักยภาพในการระบายความร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ GPU ระดับสูงที่สร้างความร้อนจำนวนมาก ด้วยพัดลมสามตัว การไหลเวียนของอากาศจะกระจายอย่างสม่ำเสมอมากขึ้นทั่วทั้งตัวการ์ดจอ ทำให้การกระจายความร้อนดีขึ้น และอุณหภูมิโดยรวมต่ำลง ซึ่งเป็นคุณสมบัติการทำงานที่ค่อนข้างสำคัญสำหรับคนที่ต้องการโอเวอร์คล็อก เพื่อให้การ์ดจอยังสามารถทำงานได้อย่างมีเสถียรภาพ ทำให้การ์ดจอแบบ 3 พัดลม เป็นตัวเลือกที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการดันการ์ดจอให้ทำงานแบบเต็มขีดจำกัด
ในทางทฤษฏีแล้ว การมีพัดลม 3 ตัว ก็เหมือนมีแหล่งกำเนิดเสียง 3 ตัว การทำงานของมันก็เลยจะเกิดเสียงรบกวนดังกว่า ซึ่งการ์ดจอรุ่นเก่าในอดีตก็เป็นแบบนั้น แต่สำหรับการ์ดจอแบบ 3 พัดลม รุ่นใหม่ ๆ ในปัจจุบันนี้ ทางผู้ผลิตได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีควบคุมความเร็วรอบการหมุนของพัดลมที่ฉลาดมาก ร่วมกับการออกแบบกลไกที่ช่วยลดเสียงรบกวนในขณะที่ทำงาน จนทำให้การ์ดจอแบบ 3 พัดลม บางรุ่นสามารถทำงานได้เงียบกว่าการ์ดจอแบบ 2 พัดลมด้วยซ้ำไป นอกจากนี้ ยังมีระบบโปรไฟล์สำหรับพัดลม เพื่อให้ผู้ใช้งานได้เลือกปรับสมดุลระหว่างความเย็น กับเสียงรบกวนได้ตามต้องการ
ภาพจาก : https://www.techpowerup.com/review/asus-geforce-rtx-4060-dual-oc/37.html
ส่วนมากแล้ว การ์ดจอแบบ 3 พัดลม จะมีดีไซน์ และระบบไฟ RGB ที่สวยงามกว่า ทำให้เมื่อติดตั้งภายในเคสแล้วมีความสวยงามที่โดดเด่น จากพัดลมที่มากกว่า, จำนวนแสงไฟที่มี ฯลฯ ทำให้ภาพรวมภายในเคสมองแล้วมีความสุนทรีย์ แต่ทั้งนี้ ความสวยงามเป็นเรื่องที่ค่อนข้างปัจเจค ผู้ใช้บางคนอาจจะชอบการ์ดขนาดเล็กแบบ 2 พัดลมมากกว่า
อันที่จริง ในการใช้งานทั่วไป ประสิทธิภาพของการ์ดจอแบบ 2 พัดลม และ 3 พัดลม นั้นแทบจะไม่มีความแตกต่างกันเลย แต่ถ้ายังลังเลไม่รู้จะตัดสินใจอย่างไรดี ลองพิจารณาดูจากปัจจัยอื่น ๆ ดังต่อไปนี้
หากพฤติกรรมการใช้งานคอมพิวเตอร์ของคุณมีการใช้ทรัพยากรเครื่องอย่างหนักหน่วง เช่น เล่นเกมที่ความละเอียดสูง หรือใช้งานซอฟต์แวร์ด้านกราฟิกเป็นหลัก การเลือกใช้งานการ์ดจอแบบ 3 พัด ที่มีศักยภาพในการระบายความร้อนออกจาก GPU ได้ดีกว่า ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ
การ์ดจอแบบ 3 พัดลม มักมีขนาดใหญ่ และยาวกว่าการ์ดจอแบบ 2 พัดลมมาก ดังนั้น ก่อนซื้อมาใช้ควรวัดพื้นที่ว่างภายในเคสที่คุณใช้งานอยู่ก่อนด้วย ว่าสามารถใส่การ์ดจอขนาดไหนได้บ้าง ถ้าเป็นเคสแบบ ITX ส่วนใหญ่แล้วก็จะรองรับได้แค่การ์ดจอแบบ 2 พัดลม เท่านั้น นอกจากนี้ ยังควรคำนึง การไหลเวียนของอากาศ (Airflow) ภายในเคสด้วยว่า ตัวการ์ดจะไปบดบังทางลมหรือไม่ เพื่อลดปัญหาความร้อนสะสมภายในเคส
หากเสียงรบกวนเป็นสิ่งที่คุณให้ความสำคัญ โดยเฉพาะหากคอมพิวเตอร์ของคุณติดตั้งในบริเวณที่มีความเงียบสงัดมาก หรือหูของคุณมีความไวต่อเสียง ความดังของพัดลมในขณะที่การ์ดจอกำลังทำงานก็ควรนำมาพิจารณาด้วยเช่นกัน หรือเลือกการ์ดจอรุ่นที่มีซอฟต์แวร์ให้ปรับความเร็วรอบพัดลมได้ เพื่อที่เราจะได้มาปรับหาจุดสมดุลระหว่างประสิทธิภาพ กับเสียงรบกวนที่ยอมรับได้
ท้ายที่สุด และอาจเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดด้วย นั่นก็คืองบประมาณที่คุณมี เพราะการ์ดจอแบบ 3 พัดลม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรุ่นที่เป็นระดับเรือธง แสงสีจัดเต็ม ราคาจะแพงกว่ารุ่นทั่วไปมาก อีกทั้ง โดยเฉลี่ยแล้ว การ์ดจอแบบ 3 พัดลม ก็มีราคาสูงกว่าการ์ดจอแบบ 2 พัดลม เป็นทุนเดิมอยู่แล้วด้วย ดังนั้น หากงบประมาณมีจำกัด หรือต้องการประหยัดเงิน การ์ดจอแบบ 2 พัดลม จะมีราคาที่เป็นมิตรกว่ามาก
ท้ายที่สุดแล้ว การตัดสินใจว่าจะเลือกซื้อการ์ดจอที่มีพัดลมสองตัว หรือสามตัว ขึ้นอยู่กับความต้องการ และลำดับความสำคัญของคุณ เพราะทั้งสองแบบสามารถให้ประสิทธิภาพการระบายความร้อนได้ดีตามความต้องการของตัว GPU อยู่แล้ว
สิ่งสำคัญคือ พิจารณาว่าปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความร้อน, พื้นที่ว่าง, เสียงรบกวน และงบประมาณ บางคนก็อาจจะสนแค่ความสวยงาม หรือชอบแบบกะทัดรัด การประเมินปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้เราตัดสินใจเลือกซื้อการ์ดจอได้ง่ายขึ้น
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |