ในแวดวงคอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ ภายในอุปกรณ์จะมีวงจรที่ซับซ้อนอยู่มากมาย แต่โดยมากแล้วหลัก ๆ จะมีสิ่งที่เรียกว่า "แผงวงจรแม่ (Motherboard)" หรือที่บ้านเรานิยมเรียกกันว่า "แผงวงจรหลัก (Mainboard)" ซึ่งก็ถือเป็นชิ้นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญมาก เพราะมันเป็นศูนย์รวมที่คอยประสานงานให้ชิ้นส่วนอื่น ๆ ที่มีอยู่ในระบบสามารถสื่อสารทำงานร่วมกันได้
แต่รู้หรือไม่ว่า นอกจากแผงวงจรแม่ (Motherboard) แล้ว อันที่จริงมันมีสิ่งที่เรียกว่าบอร์ดลูกสาว (Daughterboard) อยู่ด้วยนะ โดยในอดีต Daughterboard มีความแพร่หลายมาก แต่ในปัจจุบันนี้แม้จะยังคงมีการใช้งานอยู่ แต่ผู้ใช้งานทั่วไปน้อยคนนักที่จะรู้จักมัน
ในบทความนี้ เราจะมาเล่าว่า Daughterboard คืออะไร ? มีความสัมพันธ์กับ Motherboard อย่างไร ?
การจะเข้าใจ Daughterboard ได้ เราต้องรู้จักหน้าที่ของ Motherboard เสียก่อน ซึ่งเราเคยมี บทความอธิบาย Motherboard อย่างละเอียด ไปแล้ว ในบทความนี้เลยจะขออนุญาตอธิบายแค่เพียงสั้น ๆ แล้วกัน
Motherboard เปรียบเสมือนหัวใจที่มีอยู่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด บางคนอาจคิดว่า Motherboard มีแค่ในคอมพิวเตอร์ นั่นเป็นความเข้าใจผิดนะ ที่หลายคนคิดเช่นนั้น อาจมีเหตุผลมาจากการที่ผู้ใช้สามารถ "เลือกซื้อ" Motherboard ที่ต้องการใช้งานได้ด้วยตนเอง ในขณะที่ Motherboard ในอุปกรณ์อื่น ๆ จะเป็นสิ่งที่ผู้ผลิตออกแบบ และผลิตมาอย่างเฉพาะเจาะจงเลย อย่างในเครื่องซักผ้า, สมาร์ททีวี, เครื่องเกมคอนโซล, สมาร์ทโฟน, รถยนต์ ฯลฯ ก็มี Motherboard อยู่ภายในทั้งนั้น
Motherboard ของกล้อง Sony A7C
ภาพจาก : https://th.aliexpress.com/item/32702083057.html
หน้าที่หลักของ Motherboard จะประกอบไปด้วย
ในความเป็นจริงแล้ว "Daughterboard" นั้นยังมีอยู่อีกหลายชื่อเรียก บ้างก็เรียกว่า "Daughtercard" บ้างก็ " Mezzanine Board" หรือแม้แต่ "Piggyback Board"
โดยมันเป็นแผ่นวงจรที่ทำมาติดตั้งภายใน Motherboard เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ ในอดีตได้รับความนิยมอยู่พอสมควร สมมติผู้ผลิต Motherboard ต้องการเพิ่มคุณสมบัติการทำงานใหม่เข้าไป จะมีอยู่ 2 ทางเลือก คือ ออก Motherboard รุ่นใหม่มาเลย หรือเอาคุณสมบัติใหม่ดังกล่าวมาใส่ใน Daughterboard แล้วให้ผู้ซื้อนำมันไปประกอบเข้ากับ Motherboard ของเดิมแทน
ในปัจจุบันนี้ก็ยังมีการใช้งานอยู่ แต่อาจจะไม่เป็นที่พูดถึงบ่อยเท่าในอดีต เหตุผลก็เพราะ Motherboard ทุกวันนี้มีฟีเจอร์ใส่มาอย่างครบครัน ไม่มีอะไรที่ผู้ใช้จะต้องมาอัปเกรดด้วย Daughterboard ทีหลังอีกต่อไป
Daughterboard สามารถเชื่อมต่อกับ Motherboard ได้หลายวิธี แล้วแต่การออกแบบ เช่น ผ่านปลั๊ก, ช่องเสียบ, หัว Pins หรือแม้แต่การบัดกรี ในปัจจุบันนี้ Daughterboards นิยมใช้ในการเพิ่มขีดความสามารถในการเชื่อมต่อ เช่น เพิ่มจำนวนพอร์ต USB, เพิ่มช่องรับสัญญาณต่าง ๆ ฯลฯ
USB-C Daughterboard
ภาพจาก : https://www.etsy.com/listing/1300642459/usb-c-daughterboard-for-mechanical
มาถึงตรงนี้ อยากจะบอกว่า ระวังอย่าสับสนกับ Expansion Card ที่เชื่อมต่อ Motherboard ผ่าน Expansion Slot ซึ่งมันมีลักษณะคล้ายคลึงกันก็จริง แต่มันไม่เหมือนกัน ตัวอย่างที่น่าจะเห็นภาพชัดเจนง่าย ๆ การ์ดจอ (Graphic Card) ถือว่าเป็น Expansion Card (หมายเหตุ ในอดีตการ์ดจอเคยมีเป็น Daughterboard แต่ปัจจุบันอยู่ในรูปแบบ Expansion Cards หมดแล้ว)
แต่เมื่อคุณต้องการติดตั้งการ์ดจอในแนวตั้ง คุณอาจจำเป็นต้องใช้ Graphic Expansion Riser Adapt เข้ามาช่วยในการเปลี่ยนทิศทางของพอร์ต PCIE เจ้า Graphic Expansion Riser Adapt ถือว่าเป็น Daughterboard หรืออีกกรณีหนึ่ง หากคุณต้องการเพิ่มหน่วยความจำ แต่ว่าพอร์ต M.2 ที่มีอยู่ถูกใช้งานไปครบแล้ว ก็สามารถซื้อ Daughterboard มาเพิ่มจำนวนพอร์ต M.2 ได้
ภาพจาก : https://www.ebay.com/itm/176417567069
Daughterboard และ Motherboard ต่างก็เป็นส่วนประกอบสำคัญในคอมพิวเตอร์ หรือระบบอิเล็กทรอนิกส์ ถึงโครงสร้างจะคล้ายคลึงกัน แต่มันก็มีความแตกต่างกันอยู่หลายด้าน ดังต่อไปนี้
Daughterboard | Motherboard | |
หน้าที่ | เป็นวงจรรองที่เชื่อมต่อ กับแผ่นวงจรหลักเพื่อเพิ่มความสามารถ | แผ่นวงจรหลัก ถือเป็นศูนย์กลางของระบบอิเล็กทรอนิกส์ |
ฟังก์ชัน | เพิ่มพอร์ต หรือคุณสมบัติการทำงานบางอย่างที่ไม่มีใน Motherboard | เป็นที่อยู่ของ CPU, RAM และพอร์ตต่าง ๆ |
การเชื่อมต่อ | การสื่อสารทำผ่าน Mototherboard | เป็นเส้นทางสื่อสารหลักระหว่าง CPU, RAM และอุปกรณ์ต่อพ่วงต่าง ๆ |
ฟอร์มแฟกเตอร์ | ไม่มีตายตัว สามารถเพิ่มความสามารถให้ Motherboard ได้โดยไม่ต้องดัดแปลง | มีหลายขนาดเช่น ATX, Micro-ATX ฯลฯ |
Daughterboard มีบทบาทสำคัญต่อการขยาย หรือเพิ่มประสิทธิภาพของระบบคอมพิวเตอร์ ด้วยการเชื่อมต่อตัวมันเองเข้ากับ Motherboard เป็นการอัปเกรดที่ทำได้ง่าย และประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าการซื้อ Motherboard ใหม่
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |