ช่วงนี้กระแสคีย์บอร์ดสไตล์ TKL มาแรงเหลือเกิน ทำให้ใครหลายคนเริ่มสนใจที่จะมองหาคีย์บอร์ดตัวใหม่มาใช้งานกันมากขึ้น โดยส่วนตัวก็ยอมรับว่าคีย์บอร์ดสไตล์ TKL นั้น ดูมินิมอล มีความสวยงามจริง ๆ นั่นแหละ วางบนโต๊ะแล้วดูสวยงาม ไม่รก เกะกะ อย่างไรก็ตาม การเลือกคีย์บอร์ดที่ดี เราไม่ควรดูเพียงแค่ความสวยงามเท่านั้น แต่คีย์บอร์ดเลย์เอาท์ (Layouts) และคีย์บอร์ดฟอร์มแฟคเตอร์ (Form Factor) ก็มีความสำคัญมากนะ
ในบทความนี้ก็จะมาแนะนำให้รู้จักกับคีย์บอร์ดเลย์เอาท์ (Layouts) และคีย์บอร์ดฟอร์มแฟคเตอร์ (Form Factor) แต่ละแบบให้รู้จักกัน ว่ามันแตกต่างกันอย่างไร แต่ละแบบเหมาะสมกับการใช้งานในลักษณะไหน จะได้เลือกซื้อหามาใช้งานกันได้ถูกใจมากที่สุด
ลักษณะทางกายภาพของคีย์บอร์ด (Keyboard Form Factor) คือ ขนาดของตัวคีย์บอร์ดนั่นเอง ซึ่งขนาดของคีย์บอร์ดก็จะส่งผลต่อ "จำนวนคีย์ หรือ จำนวนปุ่ม" ที่สามารถใส่เข้ามาในตัวคีย์บอร์ด ทำให้ฟอร์มแฟคเตอร์ แบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 4 รูปแบบ (จริง ๆ มีมากกว่านี้นะ แต่เราจะเน้นเฉพาะประเภทหลัก ขออนุญาตไม่กล่าวถึงพวกรูปแบบแปลก ๆ ที่เป็นกลุ่มนิชมาร์เก็ต) โดยจะแบ่งได้ดังต่อไปนี้
มาเริ่มกันที่ฟอร์มแฟคเตอร์ที่เป็นพื้นฐาน และเชื่อว่าทุกคนน่าจะต้องผ่านคีย์บอร์ดรูปแบบนี้กันมาก่อนอย่างแน่นอน นั่นก็คือ คีย์บอร์ดแบบ Full size โดยคีย์บอร์ดรูปแบบนี้จะมีคีย์อยู่ที่ประมาณ 104 คีย์ ขึ้นอยู่กับประเภทของเลย์เอาท์ที่ผู้ผลิตเลือกใช้
Wooting two HE
ภาพจาก : https://wooting.io/wooting_two_he
หัวใจหลักของคีย์บอร์ดแบบขนาดเต็ม (Full Size Keyboard) คือ ใส่ทุกปุ่มเข้ามาให้หมด โดยไม่สนว่าจะมีปุ่มที่ไม่จำเป็นถูกใส่เข้ามาหรือไม่ แต่นั่นก็ทำให้มันสมบูรณ์แบบสำหรับผู้ที่ยังไม่รู้ความต้องการในการใช้งาน ว่าความจริงตนเองต้องการใช้ปุ่มไหนบ้าง มันให้ปุ่มมาหมดเท่าที่คุณสมบัติพื้นฐานของคีย์บอร์ดสามารถมีได้ ไม่ว่าจะเป็นปุ่มทิศทาง, ปุ่มตัวเลข (Number Pad) หรือ "ปุ่ม Function"
สำหรับผู้ที่ต้องพิมพ์ตัวเลขเป็นประจำ ปุ่มตัวเลขที่มีในคีย์บอร์ดแบบ Full Size นั้นก็เป็นอะไรที่ตอบโจทย์มาก นอกเสียจากว่าคุณมีแผนที่จะซื้อคีย์บอร์ดที่เป็นแบบปุ่มกดตัวเลขอย่างเดียว (Numberic Keypad) แยกในภายหลัง
คีย์บอร์ดแบบ TKL (Tenkeyless) เป็น คีย์บอร์ดที่ไม่มีปุ่มกดตัวเลข ที่ถือว่าช่วงนี้เป็นฟอร์มแฟคเตอร์ที่กำลังได้รับความนิยม จัดเป็นจุดเริ่มต้นของการลดขนาดคีย์บอร์ดให้เล็กลง ส่วนใหญ่คีย์บอร์ดแบบ TKL จะมีปุ่มอยู่ประมาณ 88 คีย์ (ขึ้นอยู่กับเลย์เอาท์)
Varmilo VA87M Panda
ภาพจาก : https://rozetka.com.ua/varmilo_va87mn2w_llpandr/p267824831/
คีย์บอร์ดแบบ TKL ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในสังคมเกมเมอร์ เนื่องจากการตัดปุ่มชุดตัวเลข (Numeric Keypad) ออกไป ทำให้มี "พื้นที่" สำหรับขยับเมาส์ได้กว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกมเมอร์แนว FPS ที่ตั้งค่าเมาส์เซนซิทิฟแบบความเร็วต่ำ (ใครที่เล่น เกม FPS น่าจะเข้าใจดี) หรือใครที่พื้นที่โต๊ะมีจำกัด คีย์บอร์ดรูปแบบนี้ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก
และจุดเด่นที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือ เราจะสามารถวางคีย์บอร์ดให้สมมาตรกับร่างกายตรงกับหลักสรีระได้มากขึ้นด้วย เพราะแป้นพิมพ์จะอยู่ตรงกลางเลย ไม่เยื้องไปทางซ้ายมือเหมือนคีย์บอร์ดแบบ Full Size
หากคิดว่าคีย์บอร์ดแบบ TKL นั้นเล็กแล้ว เรามารู้จักกับฟอร์มแฟคเตอร์ที่เล็กขึ้นไปอีก นั่นก็คือคีย์บอร์ดแบบ 75% ถ้ามองแบบผิวเผินมันแทบจะไม่ต่างจาก คีย์บอร์ดแบบ TKL มากนัก ปุ่มที่มีให้ใช้งานก็แทบจะไม่ต่างจากที่ TKL มีให้มากนัก แต่ว่าการจัดวางปุ่มจะมีความ "แน่น" แนบชิดมากขึ้นไปอีก โดยแทบจะไม่มีช่องว่างให้สูญเปล่าเลย
ถ้าหากคุณเป็นคนที่ใช้งานคอมพิวเตอร์แบบโน๊ตบุ๊กเป็นหลักจนชินแล้ว คีย์บอร์ดแบบ 75% น่าจะเป็นตัวเลือกที่ทำให้คุณรู้สึกคุ้นเคย เพราะมันแทบไม่แตกต่างกันเลย
Drevo Excalibur
ภาพจาก : https://www.drevo.net/product/keyboard/excalibur-cherry-mx
หากคุณต้องการที่จะหาซื้อชุด Custom Keycap มาเปลี่ยนให้กับคีย์บอร์ดด้วยล่ะก็ มีคำแนะนำว่าควรหลีกเลี่ยงคีย์บอร์ดฟอร์มแฟคเตอร์รูปแบบนี้นะ เพราะ Custom Keycap ที่รองรับมีจำนวนน้อยกว่าคีย์บอร์ดแบบ TKL และคีย์บอร์ดแบบ 60% เสียอีก
คีย์บอร์ดแบบ 60% จัดว่าเป็นคีย์บอร์ดที่มีความมินิมอลที่สุดละ ด้วยการตัดปุ่มทุกอย่างที่อยู่เกินขอบเขตของ "ปุ่ม Enter" ออกไปทั้งหมดเลย รวมไปถึง "ปุ่ม Function" ก็ตัดออกเช่นกัน โดยหากจะใช้งาน "ปุ่ม Function" ก็ต้องใช้วิธีการกดคอมโบผ่าน "ปุ่ม Fn" แทน
คีย์บอร์ดแบบ 60% จะมีจำนวนปุ่มอยู่ประมาณ 61 คีย์เท่านั้น ซึ่งถ้าหากคุณเลือกใช้งานคีย์บอร์ดประเภทนี้ และชื่นชอบล่ะก็ ว่ากันว่าคุณได้เข้าสู่โลกแห่งความมินิมอล และสุนทรีย์ศาสตร์ของการใช้คีย์บอร์ดแล้ว และหากคุณเป็นสายคัสตอมคีย์บอร์ดล่ะก็ คีย์บอร์ดแบบ 60% มี "ของเล่น" ให้คุณเลือกซื้อมาแต่งคีย์บอร์ดเพียบเลยล่ะ
นอกจากนี้ด้วยความเล็กกะทัดรัดของมัน จึงเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการพกคีย์บอร์ดส่วนตัวไปใช้งานนอกสถานที่ด้วย
Keychron K6
ภาพจาก : https://www.keychronthailand.com/products/k6
อันที่จริงแล้ว เกมมิ่งคีย์บอร์ด (Gaming Keyboard) หรือว่า คีย์บอร์ดเล่นเกม ไม่ได้ถูกจัดเป็นหนึ่งในมาตรฐานของฟอร์มแฟคเตอร์ แต่ว่าเรามีความรู้สึกว่าถ้าไม่พูดถึงมัน เนื้อหาในบทความนี้ก็คงจะไม่สมบูรณ์ เป็นแน่
โดยจุดเด่นของ เกมมิ่งคีย์บอร์ด คือ การที่มันจะมีการใส่ "ปุ่ม Macro" และ "ปุ่ม Multimedia" เข้ามาด้วย ส่วนใหญ่แล้ว เกมมิ่งคีย์บอร์ด ก็มักที่จะมาในรูปแบบของฟอร์มแฟคเตอร์แบบ Full size
Corsair K100 RGB Optical
ภาพจาก : https://www.corsair.com/us/en/Categories/Products/Gaming-Keyboards/RGB-Mechanical-Gaming-Keyboards/K100/p/CH-912A01A-NA
จริงๆ แล้ว ลักษณะทางการภาพของคีย์บอร์ด (Keyboard Form Factor) ก็ไม่ใช่เพียงสิ่งเดียวที่ส่งผลต่อลักษณะทางกายภาพของตัวคีย์บอร์ด เลย์เอาท์ก็เป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน ซึ่งความนิยมของเลย์เอาท์จะแตกต่างไปตามภูมิภาคที่คุณอาศัยอยู่ โดยมาตรฐานที่เป็นที่นิยมจะมีอยู่ 3 รูปแบบ ดังต่อไปนี้
กว่า 99% ของคีย์บอร์ดที่วางตำหน่ายในท้องตลาดจะมีเลย์เอาท์อยู่เพียง 3 รูปแบบเท่านั้น โดยความแตกต่างของการจัดวางปุ่มจะแตกต่างกันอยู่เล็กน้อย (สามารถดูได้ในภาพด้านล่างนี้) โดย ANSI จะนิยมใช้ในแถบอเมริกา, ISO ในทวีปยุโรป และสุดท้าย JIS สำหรับประเทศญี่ปุ่น ส่วนคีย์บอร์ดที่วางจำหน่ายในประเทศไทยอย่างเป็นทางการส่วนใหญ่จะเป็นเลย์เอาท์แบบ ANSI
สังเกตว่า เลย์เอาท์แบบ ISO จะมี "ปุ่ม Alt GR" อยู่ทางขวามือแทน "ปุ่ม Alt" แบบปกติ โดย "ปุ่ม Alt GR" มีชื่อเต็มยศว่า "Alt Graph" มันเป็นคีย์ลัดที่ช่วยในการพิมพ์สัญลักษณ์พิเศษ เช่น สัญลักษณ์สกุลเงิน (เช่น $, ₲, ₭) ,เครื่องหมายการพิมพ์ (เช่น $, ₲, ₭), Typography และตัวอักษรเน้นเสียง (เช่น Åström, ḱṷṓn)
ภาพจาก : https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Physical_keyboard_layouts_comparison_ANSI_ISO_JIS.png
Backlit Fate Stay Night Saber Keycaps
ภาพจาก : https://www.etsy.com/listing/1052607347/backlit-fate-stay-night-saber-keycaps
เมื่อพูดถึงลักษณะทางกายภาพของคีย์บอร์ดแล้ว ก็ขอแถมในส่วนของคีย์แคปสักเล็กน้อยแล้วกัน หากคุณต้องการที่จะซื้อคีย์แคปมาเปลี่ยนให้กับคีย์บอร์ดที่ใช้งานอยู่ มีสิ่งที่คุณควรพิจารณา ดังนี้
โดยปกติแล้วฟอร์มแฟคเตอร์จะสามารถเข้ากันกับคีย์บอร์ดได้อยู่แล้วเ เว้นเสียแต่ว่าคุณใช้งานคีย์บอร์ดแบบ 75% ที่ขนาดของปุ่มมันจะแตกต่างไปจากคีย์บอร์ดแฟคเตอร์อื่น ๆ ทำให้คุณไม่สามารถ "ติดตั้ง" แทนคีย์แคปอันเดิมได้อย่างพอดี เวลาเลือกคีย์แคปมาเปลี่ยนสำหรับคีย์บอร์ดแบบ 75% จึงต้องอ่านรายละเอียดให้ดีว่าเป็นไซส์พิเศษโดยเฉพาะหรือเปล่า
ต่อมาก็เป็นเรื่องของเลย์เอาท์ หากใช้เลย์เอาท์ ANSI จะได้เปรียบตรงรองรับคีย์แคปได้เกือบทุกรูปแบบ ในขณะที่ เลย์เอาแบบ ISO หรือ JIS จะมี "บางปุ่ม" ที่มีขนาดต่างจาก ANSI ด้วยเหตุผลจากขนาดของ "ปุ่ม Enter" และ "ปุ่ม Shift" และการที่มี "ปุ่มเยอะกว่า" ถ้าต้องการเปลี่ยนแค่บางปุ่มก็ไม่ต้องระวังอะไร แต่ถ้าต้องการเปลี่ยนให้คีย์แคปเป็นธีมเดียวกันทุกปุ่ม ตอนเลือกซื้อก็ต้องอ่านรายละเอียดให้ดีด้วยว่าผลิตมาให้รองรับเลย์เอาท์แบบ ISO หรือเปล่า ผู้ผลิตบางรายก็ให้คีย์แคปมาเผื่อเลย เพื่อให้รองรับกับเลย์เอาท์ได้ทุกรูปแบบ
Hiragana Fuji Mountain Japan KeyCap รองรับทั้งเลย์เอาท์แบบ ANSI และ ISO
ภาพจาก : https://www.etsy.com/listing/1051477474/hiragana-fuji-mountain-japan-keycap-set
สุดท้ายเป็นเรื่องของ "แถวสุดท้าย" บนคีย์บอร์ด ว่ากันตามตรง เลย์เอาท์ของคีย์บอร์ดแถวสุดท้ายเป็นอะไรที่ไม่มีมาตรฐานชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพวก เกมมิ่งคีย์บอร์ด ที่จะทำให้ตัวเลือกคีย์แคปหายไปเยอะเลย ภาพด้านล่างนี้เป็นตัวอย่างของเลย์เอาท์ "แถวสุดท้าย" แบบมาตรฐาน (ภาพบน) เทียบกับแบบไร้มาตรฐาน (ภาพล่าง)
ภาพจาก : https://blog.wooting.nl/the-ultimate-guide-to-keyboard-layouts-and-form-Factor/
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |