แผ่น Optical Disc (ออปติคอลดิสก์) เป็นสื่อเก็บข้อมูลชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย แม้จะมีสื่อเก็บข้อมูลอย่าง แฟลชไดร์ฟ (Flash Drive) หรือบางคนก็หันมาใช้การ เก็บข้อมูลบนคลาวด์ (Cloud Storage) กันแล้ว แต่สื่ออย่าง Optical Disc ก็ยังคงได้รับความนิยม เนื่องจากความทนทานในการเก็บรักษาข้อมูล และต้นทุนการผลิตแผ่นที่ค่อนข้างต่ำ
ถ้าเอ่ยถึงแผ่น Optical Disc ที่เราคุ้นเคยกัน ทุกคนก็น่าจะรู้จักกันแค่แผ่น ซีดี (CD), ดีวีดี (DVD) และ บลูเรย์ (Blu-Ray) แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มันเต็มไปด้วยความพยายามจากหลายบริษัทที่ต้องการสร้างมาตรฐานแผ่น Optical Disc ของตนเองขึ้นมา แต่ท้ายที่สุดมันก็ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่เป็นที่แพร่หลาย จนค่อย ๆ เลือนหายไปจากท้องตลาด และความทรงจำของผู้ใช้อย่างเรา
บทความนี้จะมาย้อนระลึกความหลังกันสักหน่อย ว่ามันมีแผ่น Optical Disc อะไรบ้างที่เคยถูกสร้างขึ้นมา ? แล้วไม่ประสบความสำเร็จจนไม่ได้ไปต่อ
ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับเทคโนโลยีแผ่น Optical Disc กันก่อนสักเล็กน้อยดีกว่า ว่ามันคืออะไร ?
แผ่นออปติคอลดิสก์ เป็นสื่อเก็บข้อมูลชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเป็นแผ่นกลมแบน ตัวแผ่นมีคุณสมบัติในการสะท้อนแสง สามารถเก็บข้อมูลได้โดยอาศัยความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพบนพื้นผิวของตัวแผ่น โดยใช้ลำแสงในการอ่าน และเขียนข้อมูล
แผ่น Optical Disc ที่เป็นที่รู้จัก สามารถพบเห็นได้บ่อยคือ ซีดี (CD), ดีวีดี (DVD) และบลูเรย์ (Blu-Ray)โดยมันถูกนำมาใช้แทน แผ่นฟลอปปีดิสก์ (Floppy Disk) แบบดั้งเดิม เนื่องจากน้ำหนักเบากว่า, ความจุสูงกว่ามาก และมีความทนทานกว่าด้วย เนื่องจากไม่เสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายจากหัวอ่าน หรือสนามแม่เหล็ก ทนทานต่ออุณหภูมิที่ร้อน หรือเย็นจัดได้ดีกว่า ทำให้มันมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน สามารถเก็บข้อมูลเอาไว้ประมาณ 30 ปี
เปรียบเทียบแผ่น Optical Disc ที่เปิดตัวในปี ค.ศ. 1972 (พ.ศ. 2515) กับแผ่น DVD
ภาพจาก : https://www.computerhistory.org/storageengine/optical-laser-disc-player-is-demonstrated/
อย่างไรก็ตาม ในแง่ของฐานะสื่อจัดเก็บข้อมูลที่สามารถพกพาได้ แผ่นออปติคัลในปัจจุบันก็เสื่อมความนิยมลงไปมากพอสมควร โดยมันเริ่มถูกแทนที่ด้วยแฟลชไดรฟ์แบบที่เชื่อมต่อผ่าน พอร์ต USB และ ฮาร์ดไดรฟ์แบบพกพา (Portable Harddisk) แต่ในด้านการเผยแพร่สื่อบันเทิงก็ยังคงได้รับความนิยมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นเกม, แผ่นเพลง หรือแผ่นภาพยนตร์
หลังจากทำความรู้จักกับแผ่น Optical Disc กันไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทีนี้ เรามาดูกันดีกว่าว่า ในบรรดาแผ่น Optical Disc ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาหลากหลายประเภทนั้น มีตัวไหนบ้าง ? ที่ไปไม่รอด จนเลือนหายไปตามกาลเวลา
มาเริ่มต้นกันที่แผ่น Optical Disc ที่เคยได้รับความนิยมอยู่ในระดับหนึ่ง แต่เอาจริง ๆ ก็มีผู้ใช้อยู่ไม่มากนักที่มีเครื่องเล่นแผ่นชนิดนี้อยู่ นั่นคือ แผ่น LaserDisc (LD)
แผ่น LD อยู่ในยุคเดียวกับม้วนวิดีโอเทป Video Home System (VHS) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบระหว่างแผ่น LD กับเทป VHS มันถือเป็นอะไรที่เปิดโลกมากทีเดียว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแผ่น LD จะอยู่ในรูปแบบแผ่น และใช้เลเซอร์ในการอ่านข้อมูล แต่ข้อมูลที่บันทึกอยู่บนแผ่นยังคงอยู่ในรูปแบบแอนะล็อก ซึ่งยังมีความหนาแน่นของข้อมูลต่ำ ทำให้ตัวแผ่นมีขนาดใหญ่เท่ากับแผ่นเสียงไวนิล และในการใช้งาน ผู้ใช้ก็จะต้อง "พลิกแผ่น" ในระหว่างรับชมภาพยนตร์ เว้นแต่ว่าคุณจะฐานะมีอันจะกิน จนสามารถซื้อเครื่องเล่นเล่นราคาแพงที่มีคุณสมบัติสามารถพลิกแผ่นอัตโนมัติได้
ประเทศเดียวที่ แผ่น LD ประสบความสำเร็จได้รับความนิยมจากผู้ใช้คือ ประเทศญี่ปุ่น ในปัจจุบัน แผ่น และเครื่องเล่น LD กลายเป็นของหายากในหมู่นักสะสมจากหลายประเทศ และยังมีภาพยนตร์บางเรื่องที่สามารถหาได้เฉพาะในรูปแบบแผ่น LD เท่านั้น เช่น Star Wars ภาคต้นฉบับ
ภาพจาก : https://en.wikipedia.org/wiki/LaserDisc
ก่อนที่จะมีเครื่องเล่น DVD ภาพยนตร์แบบดิจิทัลที่อยู่ในรูปแบบ VCD ได้รับความนิยมอย่างมาก และต้องยอมรับอย่างน่าเศร้าว่า มันยังถูกใช้ในฐานะสื่อภาพยนตร์ละเมิดลิขสิทธิ์ เนื่องจากแผ่น VCD เหล่านี้ แท้จริงเป็นเพียงแผ่น CD ธรรมดา ๆ ที่ไดร์ฟ CD-ROM ทั่วไปสามารถอ่าน และเขียนได้ ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำมาก ในขณะที่ม้วนวิดีโอ VHS มีต้นทุนการผลิตที่สูงกว่ามาก
แผ่น VCD ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศในโซนเอเชีย คนไทยอย่างเรารู้จักแผ่นชนิดนี้เป็นอย่างดี แต่มันไม่ค่อยเป็นที่นิยมในทวีปอื่นมากนัก ทำให้ชาวต่างชาติบางคนอาจไม่รู้จักมันเลยด้วยซ้ำ
คุณภาพของสื่อ VCD มีความเทียบเท่า แทบไม่ต่างจากวิดีโอ VHS เนื่องจากยังมีบิทเรทค่อนข้างต่ำ ความคมชัดจึงไม่สูงมากนัก อย่างไรก็ตาม แผ่น CD มีความทนทาน ต่อการใช้งาน และเสื่อมสภาพช้ากว่าเทป VHS อีกทั้ง ตัวเครื่องเล่น VCD ยังมีโครงสร้างกลไกการทำงานที่เรียบง่ายกว่าเครื่องเล่น VHS อีกด้วย ทำให้ราคาของเครื่องเล่นแผ่น VCD มีราคาถูก
ดังนั้น แผ่น VCD จึงอาจไม่ใช่ของแปลกสำหรับประเทศในแถบเอเชีย แต่สำหรับคนส่วนใหญ่ในทวีปอื่น ๆ อาจไม่เคยรู้จักแผ่น VCD เพราะเปลี่ยนจากเทป VHS ไปใช้แผ่น DVD แทนโดยตรง
ภาพจาก : https://obsoletemedia.org/video/disc/
ถ้าหากแผ่น VCD เป็นสื่อที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักแล้ว แผ่น Super VCD ก็คงจะเป็นสื่อที่ "ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักยิ่งกว่า" โดยเดิมที แผ่น Super VCD ถูกตั้งใจให้เป็นสื่อชนิดใหม่ ที่สืบทอดต่อจาก VCD แต่ด้วยความที่มันต้องมาต่อสู้โดยตรงกับแผ่น DVD ซึ่งก็ต้องเรียนตามตรงว่า แผ่น Super VCD ไม่มีทางชนะในสงครามนี้ได้เลย
แผ่น Super VCD มีพื้นที่จัดเก็บเพิ่มขึ้นจากแผ่น VCD แค่เพียง 100-150 MB เท่านั้น โดยความจุแผ่นจะอยู่ที่ 800 MB ซึ่งเพียงพอสำหรับเก็บภาพยนตร์ "คุณภาพเต็ม" ได้ 35 นาที ที่ความละเอียด 480x480 พิกเซล หรือ 480x576 พิกเซล ซึ่งเป็นคุณภาพความละเอียดภาพที่มากกว่า VCD ถึงสองเท่า แต่ต้องแลกกับช่วงเวลาในการเล่นที่ลดลงอย่างมาก ซึ่งลองนึกภาพว่าในการรับชมภาพยนตร์ให้จบหนึ่งเรื่อง การที่ผู้ชมต้องเปลี่ยนแผ่นทุก 30 นาที คงทำให้เสียจังหวะ และอารมณ์อยู่ไม่น้อย
มาถึงแผ่นที่ไม่เป็นที่แพร่หลาย หรือเป็นที่รู้จักกันเสียที ในช่วงต้นปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ. 2543) ที่ประเทศจีน ทางรัฐบาลจีน และบริษัทจีนหลายแห่ง ได้ร่วมมือกันจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดมาตรฐานแผ่น Optical Disc รูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Enhanced Versatile Disc (EVD)
ในทางกายภาพแล้ว แผ่น EVD มีลักษณะเหมือนกับแผ่น DVD และไดร์ฟ DVD ทั่วไป ในทางเทคนิคแล้วก็สามารถอ่านแผ่น EVD ได้ โดยเป้าหมายของมาตรฐาน EVD นั้น ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้งานแทน DVD ที่มีค่าธรรมเนียมในการใช้งาน ซึ่งเพิ่มต้นทุนในการผลิตเครื่องเล่น DVD ดังนั้น ทางประเทศจีนจึงสร้าง EVD เพื่อเป็นทางเลือกขึ้นมา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคุณสมบัติของ EVD จะทำงานแทน DVD ได้เป็นอย่างดี แต่มันก็ไม่ได้รับความนิยม มีภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องเท่านั้น ที่ถูกเผยแพร่ในสื่อประเภทนี้ โดยใน Wikipedia มีการระบุไว้เพียง 4 เรื่อง เท่านั้น คือ
สุดทาย มาตรฐาน EVD ก็ถูกละทิ้งไม่ได้ไปต่อภายในระยะเวลาไม่นาน และเชื่อว่าหลายคนน่าจะไม่เคยได้ยินแผ่น EVD มาก่อน
แผ่น Universal Media Disc หรือ UMD จากบริษัท Sony ก็ถือได้ว่าเป็นแผ่น Optical Disc ชนิดหนึ่ง ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเช่นกัน โดยมันเป็นสื่อเก็บข้อมูลที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อใช้งานกับเครื่องเล่น PlayStation Portable (PSP) ถึงแม้ว่า PSP จะเป็นเครื่องเกมที่ขายดี ทำยอดขายไปได้กว่า 82.5 ล้านเครื่อง แต่ทว่า แผ่น UMD ไม่ได้มียอดขายสูงขนาดนั้น
อันที่จริง แผ่น UMD ถือว่ามีเทคโนโลยีที่น่าสนใจมาก เพราะตัวแผ่นมีขนาดเล็กมาก จนสามารถอยู่ในเครื่องเล่นพกพาที่มีขนาดไม่ต่างจากสมาร์ทโฟน แต่สามารถเก็บข้อมูลได้ถึง 1.8 GB เลยทีเดียว ในยุคนั้นถือว่าเป็นอะไรที่ล้ำสมัยมาก
คาดการณ์ว่า อันที่จริง Sony มีวางแผนหวังว่า UMD จะเป็นสื่อชนิดใหม่ที่ประสบความสำเร็จ แต่สุดท้ายแล้วมันก็ไม่ได้รับความนิยมอย่างที่ตั้งใจไว้ อย่างแรกเลย คุณภาพวิดีโอบนหน้าจอ PSP นั้นดูยอดเยี่ยมก็จริง แต่เมื่อถูกแสดงผลบนโทรทัศน์กลับไม่คมชัด อีกทั้ง ต่อมาไม่นาน ไดร์ฟแบบ Solid State Drive (SSD) และความเร็วของอินเทอร์เน็ตก็พัฒนาขึ้นมาก จนทำให้แผ่น optical สำหรับอุปกรณ์พกพาไม่จำเป็นอีกต่อไป ในที่สุด PlayStation Vita ซึ่งเป็นรุ่นต่อจาก PSP ก็ได้ยกเลิกการใช้ไดรฟ์ UMD ที่ซับซ้อน และเพิ่มต้นทุน เหลือไว้เพียงแค่ความทรงจำในประวัติศาสตร์
ภาพจาก : https://www.psdevwiki.com/psp/index.php?title=File:UMD_Inside_PSP.jpg
|
แอดมินสายเปื่อย ชอบลองอะไรใหม่ไปเรื่อยๆ รักแมว และเสียงเพลงเป็นพิเศษ |